การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1
ก การรับอาวัลตั๋วแลกเงินนั้นเกิดขึ้นได้ในกรณีนี้ใดบ้าง ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย
ข ตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่งมีบัวแดงเป็นผู้สั่งจ่าย โดยโคกสำโรงเป็นผู้จ่ายและมีการระบุชื่อบัวขาวเป็นผู้รับเงิน แต่บัวแดงผู้สั่งจ่ายมิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก บัวขาวส่งมอบตั๋วแลกเงินให้แก่บัวทองเพื่อชำระหนี้ ต่อมาบัวทองสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินฉบับนี้เพื่อชำระหนี้บัวหลวง ครั้นตั๋วแลกเงินถึงกำหนดบัวหลวงได้นำตั๋วแลกเงินไปให้โคกสำโรงผู้จ่ายจ่ายเงิน แต่โคกสำโรงปฏิเสธการจ่ายเงิน บัวหลวงได้ดำเนินการจัดทำคำคัดค้านอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ดังนี้ บัวหลวงจะฟ้องบัวทองให้รับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินได้หรือไม่ ฐานะใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
กฎหมายได้บัญญัติให้มีการรับอาวัลได้ 2 กรณี ได้แก่ การรับอาวัลตามแบบ และการรับอาวัลโดยผลของกฎหมาย
1 การรับอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา คือ ทำได้โดย
การเขียนข้อความลงบนตั๋วเงินหรือใบประจำต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสำนวนอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล ซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินก็ได้ มาตรา 939 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสี่
โดยการที่ผู้รับอาวัลลงลายมือชื่อที่ด้านหน้าตั๋วโดยไม่ต้องเขียนข้อความก็ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)
อนึ่ง เมื่อมีการรับอาวัลตามแบบใดแบบหนึ่งดังกล่าวข้างต้น กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้รับอาวัลต้องรับผิดเช่นเดียวกับบุคคลที่ตนประกัน (มาตรา 900 วรรคแรกประกอบมาตรา 940 วรรคแรก)
2 อาวัลโดยผลของกฎหมาย คือ ถ้ามีการสลักหลังโอนตั๋วเงินผู้ถือเมื่อใด กฎหมายได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่าย จึงต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย มาตรา 921 และมาตรา 940 วรรคแรก
ข หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 900 วรรคแรก บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว
มาตรา 921 การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย
มาตรา 940 วรรคแรก ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บัวแดงสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้โคกสำโรงจ่ายเงินให้แก่บัวขาวระบุชื่อบัวขาวเป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในตั๋วแลกเงินนั้นออก ตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวจึงเป็นตั๋วแลกเงินที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือซึ่งจะโอนให้กันด้วยการส่งมอบก็ชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำต้องสลักหลังแต่อย่างใด ตามมาตรา 909(6)
อนึ่งตั๋วแลกเงินที่ออกให้ใช้เงินกับผู้ถือนั้น ถ้ามีการสลักหลังเช็คแล้วมอบให้กับผู้รับโอนไป ผู้ที่ทำการสลักหลังนั้นจะมีฐานะเป็นผู้รับอาวัล (ประกัน) ผู้สั่งจ่าย การที่บัวทองได้สลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินฉบับนี้เพื่อชำระหนี้บัวหลวง บัวทองจึงมีฐานะเป็นผู้รับอาวัล (ประกัน) บัวแดงผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ดังนั้นเมื่อบัวหลวงได้นำตั๋วแลกเงินนั้นไปให้โคกสำโรงผู้จ่ายใช้เงินให้กับตน แต่โคกสำโรงปฏิเสธการใช้เงิน และบัวหลวงได้ทำคำคัดค้านโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วตามมาตรา 914 ดังนี้บัวหลวงจึงมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอากับบัวแดงผู้สั่งจ่าย บัวทองผู้รับอาวัลบัวแดงผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 940 วรรคแรก ส่วนบัวขาวผู้ที่โอนตั๋วแลกเงินด้วยการส่งมอบให้แก่บัวทองไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงิน ทั้งนี้ตามมาตรา 900 วรรคแรก
สรุป บัวหลวงสามารถฟ้องบัวทองให้รับผิดตามกฎหมายตั๋วเงินได้ในฐานะผู้รับอาวัลบัวแดงผู้สั่งจ่าย
ข้อ 2
ก การสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อโดยจำกัดความรับผิดก็ดี บางส่วนก็ดี มีเงื่อนไขก็ดี หรือขายลดก็ดี ผู้สลักหลังจะกระทำได้หรือไม่และจะส่งผลกระทบต่อคู่สัญญาซึ่งรับสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นอย่างไร ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย
ข นายรวยทำธุรกิจส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ได้รับตั๋วแลกเงินจากผู้ซื้อซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีนในมาเลเซีย ชำระราคาสินค้าด้วยตั๋วแลกเงินล่วงหน้า 3 เดือน ราคาหน้าตั๋วแลกเงินจำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ระบุนายรวยเป็นผู้รับเงิน ขณะเดียวกันนายรวยก็เป็นหนี้เงินกู้ยืมธนาคารเพื่อการส่งออกฯ จำนวน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) โดยที่ไม่มีข้อกำหนดห้ามโอน และนายรวยประสงค์จะสลักหลังตั๋วแลกเงินดังกล่าวชำระหนี้ธนาคารเพื่อการส่งออกฯ และได้มาปรึกษาท่าน ดังนี้ให้ท่านแนะนำนายรวยว่า นายรวยจะกระทำได้ด้วยการสลักหลังวิธีใดหรือไม่ดังกล่าวในข้อ(ก) อันเป็นผลให้ธนาคารเพื่อการส่งออกฯจะอยู่ในฐานะเป็นผู้รับสลักหลังโดยชอบตามหลักกฎหมายตั๋วเงิน
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
(1) การจดข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วแลกเงินระบุชื่อด้วยการจำกัดความรับผิดในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 915(1) อนุญาตให้ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน และผู้สลักหลังทุกคนสามารถกระทำได้ อันเป็นผลให้ผู้ทรงมีสิทธิบังคับไล่เบี้ยได้เพียงเท่าที่เขาได้จำกัดความรับผิดไว้นั้น
เช่น ก เป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่งราคา 50,000 บาท ก สลักหลังโอนตั๋วเงินชำระหนี้ ข โดยระบุข้อความในการสลักหลังไว้ว่า “โอนให้ ข แต่ขอรับผิดเพียง 30,000 บาท ดังนี้เป็นการจำกัดความรับผิดตามมาตรา 915(1) ซึ่ง ก มีอำนาจทำได้ การโอนสมบูรณ์ตามกฎหมาย ส่งผลให้ ข มีสิทธิฟ้องบังคับเอาหนี้เงินตามตั๋วฯ นั้นจาก ก ได้เพียง 30,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
(2) การสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อเพียงบางส่วนนั้น ผู้สลักหลังกระทำมิได้ ต้องสลักหลังโอนจำนวนเงินทั้งหมดในตั๋วแลกเงินนั้นไปยังผู้รับสลักหลังด้วย หากฝ่าฝืน การสลักหลังนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 922 วรรคสอง เท่ากับว่ามิได้สลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่ผู้รับสลักหลังเลย
เช่น ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หาก ก เป็นหนี้ ข อยู่ 40,000 บาท ก จึงสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้นให้ ข จำนวน 40,000 บาท ดังนี้การสลักหลังนั้นเป็นโมฆะ เพราะตั๋วแลกเงินมีราคา 50,000 บาท จะสลักหลังโอนเพียงบางส่วนคือ 40,000 บาทไม่ได้ ผลก็คือถือว่า ข มิได้เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินนั้นเลย จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามตั๋วนั้น และ ก ยังอยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินนั้น ถ้าได้ตั๋วแลกเงินนั้นไว้ในครอบครองอีก
(3) การสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อมีเงื่อนไขนั้น บทบัญญัติมาตรา 922 วรรคแรก ให้สิทธิผู้สลักหลังกระทำได้ เช่น ระบุว่า “ให้การสลักหลังครั้งนี้เป็นผลเมื่อสินค้าที่ ก ซื้อจาก ข มีคุณสมบัติครบถ้วนตามสัญญา” เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี การสลักหลังโอนโดยมีเงื่อนไขนี้ กฎหมายให้ถือว่าเงื่อนไขในการสลักหลังนั้นมิได้ถูกเขียนลงไว้ในตั๋วแลกเงินนั้นเลย ผู้ทรงในฐานะผู้รับสลักหลังยังมีสิทธิบริบูรณ์ตามตั๋วแลกเงินนั้น เสมือนว่าไม่มีเงื่อนไขอยู่ในตั๋วแลกเงินนั้นเลย
(4) การสลักหลังขายลดตั๋วแลกเงินระบุชื่อ ผู้สลักหลังสามารถกระทำได้ ส่งผลให้ผู้รับสลักหลังได้รับโอนตั๋วแลกเงินนั้นในราคาที่หักส่วนลด เป็นผลให้ได้กำไรจากการซื้อลดตั๋วแลกเงินดังกล่าว ขณะเดียวกันผู้สลักหลังย่อมได้รับเงินเป็นจำนวนน้อยกว่าราคาหน้าตั๋วแลกเงินนั้น
ข หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 915 ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใดๆก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ
(1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นายรวยสลักหลังโดยจำกัดความรับผิดไว้เพียงจำนวน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) ตามนัยมาตรา 915(1) อันเป็นผลให้ธนาคารเพื่อการส่งออกฯได้รับตั๋วแลกเงินนั้นไปทั้งจำนวน 500,000 บาท(ห้าแสนบาทถ้วน) เพื่อรอเรียกเก็บเงินจากผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย และเมื่อเรียกเก็บเงินได้แล้วก็มีหน้าที่ต้องคืนเงิน 100,000 บาท ให้แก่นายรวย
สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นายรวยสลักหลังโดยจำกัดความรับผิดไว้เพียงจำนวน 400,000 บาท
ข้อ 3
ก ตามหลักกฎหมายตั๋วเงินที่ท่านได้ศึกษามานั้น ผู้ทรงเช็คจะต้องนำเช็คไปยื่นให้ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คชำระเงินภายในกำหนดระยะเวลาเท่าใด และหากไม่ปฏิบัติตามจะมีผลอย่างไร จงอธิบาย
ข นายจริงจัง ได้รับเช็คธนาคารกรุงทอง จำกัด(มหาชน) สาขาหัวหมาก มาจากนายจงใจที่สั่งจ่ายให้เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าอาคารพาณิชย์ย่านรามคำแหง ต่อมานายจริงจังได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปยื่นให้ธนาคารกรุงทองฯชำระเงินตามเช็ค แต่ธนาคารกรุงทองฯปฏิเสธที่จะชำระเงินตามเช็คให้โดยให้เหตุผลว่า “เงินในบัญชีไม่พอจ่าย”
หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านายจริงจังนำเช็คไปยื่นให้ธนาคารกรุงทองฯ ชำระเงินล่วงเลยเวลานับจากวันที่ลงในเช็คไปเป็นเวลาห้าเดือนเศษ นายจริงจังจะสามารถเรียกให้นายจงใจชำระเงินตามเช็คฯให้แก่นายจริงจังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
กำหนดเวลาที่ผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คทวงถามให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คนั้น มาตรา 990 วรรคแรก ได้วางหลักให้ผู้ทรงยื่นเช็คแก่ธนาคารภายในระยะเวลาจำกัดดังนี้
– ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกัน (จังหวัดเดียวกัน) กับที่ออกเช็ค ผู้ทรงต้องยื่นเช็คนั้นให้ธนาคารใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ออกเช็ค (วันที่ลงในเช็ค) นั้น
– ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น (เช็คที่มิได้ออกและให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันหรือจังหวัดเดียวกัน) ผู้ทรงต้องยื่นเช็คนั้นให้ธนาคารใช้เงินภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ออกเช็ค (วันที่ลงในเช็ค) นั้น
ถ้าผู้ทรงเช็คละเลยเสียไม่ยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ย่อมเป็นผลเสียแก่ผู้ทรงดังนี้ คือ
1 ผู้ทรงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยผู้สลักหลังทั้งปวง และ
2 ผู้ทรงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้สั่งจ่าย
และมาตรา 990 วรรคท้าย ยังได้วางหลักในกรณีที่ผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะความเสียหายดังกล่าว ให้ผู้ทรงเข้ารับช่วงสิทธิของผู้สั่งจ่ายไปไล่เบี้ยเอากับธนาคารนั้นได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงควรยื่นให้ธนาคารจ่ายเงินภายใน 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค (วันที่ลงในเช็ค) ด้วย หากยื่นเช็คเกินกว่านั้น ธนาคารมีสิทธิที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 991(2)
ข อธิบาย
มาตรา 990 วรรคแรก ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วย เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น
วินิจฉัย
กรณีดังกล่าวเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกัน ซึ่งผู้ทรงเช็คจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินภายใน 1 เดือน นับแต่วันเดือนปีที่ลงในเช็ค มิฉะนั้นจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้สลักหลัง หรือผู้สั่งจ่ายเท่าที่เสียหาย โดยจากข้อเท็จจริงนั้นปรากฏว่านายจริงจังยื่นเช็คให้ธนาคารกรุงทองฯ ใช้เงินตามเช็คล่วงเลยเวลามาถึง 5 เดือนเศษ ซึ่งแม้ว่าธนาคารกรุงทองฯ จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่า “เงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย” ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายจริงจังทำให้นายจงใจเสียหายแต่ประการใด ดังนั้นนายจงใจจึงยังต้องรับผิดชอบชำระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายจริงจัง (เทียบ ฎ. 1865/2492 ฎ.1162/2515)
สรุป นายจริงจังสามารถเรียกให้นายจงใจชำระเงินตามเช็คให้แก่นายจริงจังได้