การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1

ก  ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นจะต้องรับผิดอย่างไรหรือไม่ต่อผู้ทรงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามตั๋วแลกเงิน

ข  บัวขาวเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินที่มีเมืองเก่าเป็นผู้จ่าย  บัวแดงเป็นผู้สั่งจ่ายและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  และบัวแดงเขียนคำว่า  “ตั๋วแลกเงินใบนี้ไม่จำต้องทำคำคัดค้าน”  ไว้ที่ด้านหน้าของตั๋ว  บัวขาวสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินดังกล่าวให้แก่บัวเหลืองเพื่อชำระราคาสินค้าที่ซื้อจากบัวเหลือง  ครั้นตั๋วแลกเงินถึงกำหนดใช้เงิน  บัวเหลืองได้นำตั๋วแลกเงินไปให้เมืองเก่าผู้จ่ายใช้เงิน  แต่เมืองเก่าปฏิเสธการใช้เงินเนื่องจากเมืองเก่าเห็นว่าตนมิได้เป็นลูกหนี้ของบัวแดง  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าใครบ้างที่จะต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับผิดต่อบัวเหลือง  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายตั๋วเงิน

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ผู้สั่งจ่าย  (ตั๋วแลกเงินหรือเช็ค)  หมายถึง  บุคคลที่ได้ออกตั๋วแลกเงินและสั่งให้บุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า  ผู้จ่ายจ่ายเงินให้แก่ผู้ทรง (หรือผู้รับเงิน)

ผู้สลักหลัง  หมายถึง  ผู้ทรงคนเดิม  (ซึ่งอาจจะอยู่ในฐานะของผู้รับเงินหรือผู้รับสลักหลัง)  ที่ได้ลงลายมือชื่อของตน  (ได้สลักหลัง)  ในตั๋วเงินเมื่อมีการโอนตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อต่อไปให้บุคคลอื่น (ผู้รับสลักหลัง)

โดยหลัก  บุคคลที่จะต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินก็คือ  บุคคลที่ได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน  ตามมาตรา  900  วรรคแรก  ที่ว่า  “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”

เมื่อผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินเป็นบุคคลที่ได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินตามมาตรา  900  จึงต้องรับผิดต่อผู้ทรงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามตั๋วแลกเงิน  ในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินตามมาตรา  914  ที่ว่า  “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำ ยื่นโดยชอบแล้ว  จะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”  ประกอบกับ  มาตรา  967  วรรคแรก  ที่ว่า  “ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น  บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี  รับรองก็ดี  สลักหลังก็ดี  หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง”

ข  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  900  วรรคแรก  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  937  ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้วย่อมต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

มาตรา  967  วรรคแรก  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น  บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี  สลักหลังก็ดี  หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  บัวแดงได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้เมืองเก่าจ่ายเงินให้แก่บัวขาว  และขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ออก  ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ย่อมเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อและการที่บัวแดงเขียนคำว่า  “ตั๋วแลกเงินใบนี้ไม่จำต้องทำคำคัดค้าน”  ไว้ที่ด้านหน้าของตั๋ว  จึงมีผลทำให้ผู้ทรงตั๋วแลกเงินใบนี้สามารถไล่เบี้ยเอาแก่คู่สัญญาผู้ต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินได้  โดยไม่ต้องทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงินหรือการไม่รับรองของผู้จ่ายก่อนแต่อย่างใด

ต่อมา  บัวขาวสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินดังกล่าวให้แก่บัวเหลืองเพื่อชำระราคาสินค้า  เมื่อตั๋วแลกเงินถึงกำหนดใช้เงิน  บัวเหลืองได้นำตั๋วแลกเงินไปให้เมืองเก่าผู้จ่ายใช้เงิน  แต่เมืองเก่าปฏิเสธการใช้เงินดังนี้  บัวแดงผู้สั่งจ่ายและบัวขาวผู้สลักหลังซึ่งได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วเงินจึงต้องรับผิดใช้เงินให้แก่บัวเหลืองผู้ทรงตั๋วแลกเงินตามมาตรา  900  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  914  และมาตรา  967  วรรคแรก

ส่วนกรณีเมืองเก่าซึ่งเป็นผู้จ่ายนั้น  เมื่อยังมิได้ลงลายมือชื่อรับรองตั๋วแลกเงิน  จึงไม่ต้องรับผิดต่อบัวเหลืองผู้ทรงซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามตั๋วแลกเงิน  ตามมาตรา  900  วรรคแรก  และ  937

สรุป  บัวแดงและบัวขาวจะต้องรับผิดต่อบัวเหลือง  ส่วนเมืองเก่าไม่ต้องรับผิดต่อบัวเหลือง

 

ข้อ  2

ก  “ผู้สั่งจ่ายเช็ค”  จะสามารถทำการระบุข้อความว่า  “ห้ามเปลี่ยนมือ”  ลงในเช็คได้หรือไม่  อย่างไร  จงอธิบาย

ข  นายใจกล้าสั่งจ่ายเช็คเป็นจำนวนเงิน  100,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่นางสาวใจถึงและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ในเช็คออก  พร้อมทั้งเขียนระบุข้อความว่า  “A/C  PAYEE  ONLY”  ลงที่ด้านหลังเช็ค  ชำระหนี้ให้แก่นางสาวใจถึง  ต่อมานางสาวใจถึงทำการส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่นางสาวใจดี  ดังนี้  ถือว่าการที่นางสาวใจถึงมอบเช็คชำระหนี้ให้นางสาวใจดีนั้น  ถือว่าเป็นการโอนเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ผู้สั่งจ่ายเช็คสามารถตั้งข้อจำกัดการโอนเช็คได้  โดยระบุข้อความว่า  “ห้ามเปลี่ยนมือ”  หรือ  “เปลี่ยนมือไม่ได้”  หรือคำอื่นอันได้ความทำนองเช่นเดียวกัน  เช่น  “ห้ามโอน”  หรือ  “ห้ามสลักหลังต่อ”  หรือระบุความว่า  “จ่ายให้นาย  ก  เท่านั้น”  หรือ  “จ่ายเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น  (A/C  PAYEE  ONLY  หรือ  ACCOUNT  PAYEE  ONLY)  ย่อมมีผลเป็นการห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอนเช็คนั้นต่อไปตามมาตรา  917  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

และในกรณีดังกล่าวถ้าผู้รับเงิน  (ผู้ทรง)  จะโอนเช็คนั้นต่อไปผู้ทรงจะโอนเช็คนั้นด้วยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา  917  วรรคแรกไม่ได้  แต่จะต้องโอนโดยวิธีการโอนหนี้สามัญทั่วๆไปเท่านั้น  ตาม  ป.พ.พ.  ตามมาตรา  306  คือ  ต้องทำเป็นหนังสือโอนหนี้ตามเช็คนั้นระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนและผู้โอนต้องบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังผู้สั่งจ่าย  (ลูกหนี้)  หรือให้ผู้สั่งจ่าย  (ลูกหนี้)  ให้ความยินยอมด้วยโดยทำเป็นหนังสือเช่นเดียวกัน

ข  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  899  ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้  ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน  ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

มาตรา  917  วรรคแรกและวรรคสอง  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม  ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า  “เปลี่ยนมือไม่ได้”  ดังนี้ก็ดี  หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี  ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายใจกล้าสั่งจ่ายเช็คเป็นเงินจำนวน  100,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่นางสาวใจถึงและขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ในเช็คออก  เช็คดังกล่าวจึงเป็นเช็คระบุชื่อเฉพาะ  ซึ่งหากผู้สั่งจ่ายจะระบุข้อความห้ามเปลี่ยนมือลงไว้ในเช็ค  จะต้องกระทำลงในด้านหน้าเช็คเท่านั้นตามมาตรา  917  วรรคสอง  และ  989  วรรคแรก

แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายใจกล้าผู้สั่งจ่ายได้ระบุข้อความ  “A/C  PAYEE  ONLY”  ลงในด้านหลังเช็ค  จึงไม่ถือว่าข้อความดังกล่าวมีผลตามกฎหมายแต่อย่างใดตามมาตรา  899  เช็คดังกล่าวยังคงสามารถโอนต่อไปได้ตามวิธีการโอนเช็คระบุชื่อตามปกติ  คือ  สลักหลังและส่งมอบตามมาตรา  917  วรรคแรก  แต่จากข้อเท็จจริงนางสาวใจถึงได้โอนเช็คไปโดยเพียงทำการส่งมอบให้แก่นางสาวใจดี  ดังนั้น  การโอนเช็คดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  การโอนเช็คดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3

ก  ตั๋วเงินที่มีการแก้ไขจำนวนเงิน  และที่มีการปลอมลายมือชื่อคู่สัญญาซึ่งต้องรับผิดตามมูลหนี้ในตั๋วเงินดังกล่าว  จะก่อให้เกิดผลแก่คู่สัญญาซึ่งเกี่ยวข้องกับตั๋วเงินนั้นอย่างไร  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงิน

ข  เมฆปลอมลายมือชื่อฝนสั่งให้ธนาคารกรุงทองจ่ายเงินจำนวน  50,000  บาท  ให้แก่หมอกพร้อมทั้งได้ขีดฆ่าคำว่า  “หรือผู้ถือ”  ในเช็คนั้นออกแล้วมอบเช็คนั้นชำระหนี้หมอก  หมอกเป็นหนี้ฟ้าจำนวน  150,000  บาท  จึงได้แก้ไขจำนวนเงินในเช็คเป็น  150,000  บาท  ทั้งจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวหนังสือได้อย่างแนบเนียนแล้วสลักหลังเช็คนั้นชำระหนี้ฟ้าซึ่งรับโอนไว้โดยสุจริต  อีกทั้งมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  แต่ธนาคารกรุงทองได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากเงินในบัญชีของฝนไม่พอจ่าย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ฟ้าจะบังคับไล่เบี้ยหรือว่ากล่าวเอาความจากเมฆ  ฝน  และหมอกให้ต้องรับผิดตามจำนวนเงินในเช็คพิพาทดังกล่าวได้จำนวนเท่าใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ตั๋วเงินปลอม  หมายความถึง  ตั๋วเงินที่ได้ออกมานั้นมีสภาพที่สมบูรณ์  คือ  เป็นตราสารที่มีข้อความหรือรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ครบถ้วน  แต่ต่อมาในภายหลังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางอย่าง  หรือได้มีการปลอมลายมือชื่อของคู่สัญญาคนใดคนหนึ่งในตั๋วเงิน

ตั๋วเงินปลอมนั้นอาจเกิดขึ้นได้  2  กรณี  คือ

1       ตั๋วเงินปลอมที่เกิดจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความที่สำคัญในตั๋วเงิน  เช่น  จำนวนเงินที่จะใช้  กำหนดเวลาการใช้เงิน  เป็นต้น

2       ตั๋วเงินปลอมที่เกิดจากการลงลายมือชื่อปลอมหรือลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจ

ตั๋วเงินที่มีการแก้ไขจำนวนเงิน  ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความที่สำคัญในตั๋วเงินนั้น  จะก่อให้เกิดผลแก่คู่สัญญาซึ่งเกี่ยวข้องกับตั๋วเงินนั้น  คือ

(1) กรณีที่มีการแก้ไขจำนวนเงินและการแก้ไขนั้นเห็นได้ประจักษ์  ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินนั้นเสียไปทั้งฉบับสำหรับคู่สัญญาซึ่งมิได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  แต่ยังคงใช้ได้กับคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้แก้ไข  ผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไข  และผู้ยินยอมด้วยในการแก้ไขจำนวนเงินในเช็คพิพาทนั้น (มาตรา  1007  วรรคแรกและวรรคสาม)

(2) กรณีที่มีการแก้ไขจำนวนเงินและการแก้ไขนั้นเห็นไม่ประจักษ์  ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินนั้นยังคงใช้ได้ทั้งฉบับเสมือนมิได้มีการแก้ไขเลย  ผู้ทรงซึ่งชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิที่จะบังคับเอากับผู้แก้ไขและผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขได้ตามจำนวนที่แก้ไข  หากไม่เพียงพอก็ยังมีสิทธิบังคับเอากับคู่สัญญาก่อนการแก้ไขได้ตามเนื้อความเดิมก่อนการแก้ไข  (มาตรา  1007วรรคสองและวรรคสาม)

ตั๋วเงินที่มีการปลอมลายมือชื่อคู่สัญญาซึ่งต้องรับผิดตามมูลหนี้ในตั๋วเงิน  ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินนั้นเสียไปทั้งฉบับสำหรับคู่สัญญาซึ่งถูกปลอม  อีกทั้งเป็นผลให้ผู้ทรงจะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้  และผู้ใช้เงินจะอ้างตนให้หลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมมิได้  อีกทั้งผู้ทรงจะบังคับไล่เบี้ยผ่านลายมือชื่อปลอมนั้นมิได้  (มาตรา  1008  วรรคแรก)

ข  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1007  วรรคสองและวรรคสาม  แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใดๆ  แก่วันที่ลง  จำนวนเงินอันจะพึงใช้  เวลาใช้เงิน  สถานที่ใช้เงินกับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน  ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมฆปลอมลายมือชื่อฝนสั่งให้ธนาคารกรุงทองจ่ายเงินจำนวน  50,000  บาท  ต่อมาหมอกได้แก้ไขจำนวนเงินในเช็คเป็น  150,000  บาท  แล้วสลักหลังเช็คนั้นชำระหนี้ฟ้า  เมื่อฟ้าได้รับโอนไว้โดยสุจริต  อีกทั้งมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ฟ้าจึงเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะถึงแม้เช็คพิพาทดังกล่าวจะมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม  แต่เช็คดังกล่าวคงเสียไปเฉพาะผู้สั่งจ่ายตามนัยมาตรา  1008  วรรคแรก

เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า  หมอกได้แก้ไขจำนวนเงินในเช็คทั้งจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขและตัวหนังสือได้อย่างแนบเนียน  ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นเห็นไม่ประจักษ์  ดังนั้นเมื่อธนาคารกรุงทองปฏิเสธการจ่ายเงิน  ฟ้าซึ่งเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมมีสิทธิบังคับไล่เบี้ยหมอกผู้แก้ไขจำนวนเงินและเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทได้จำนวน  150,000  บาท  หากไม่พอ  ฟ้าก็ยังมีสิทธิไล่เบี้ยเมฆผู้สั่งจ่ายให้รับผิดตามเนื้อความเดิม  คือจำนวน  50,000  บาท  ได้ตามมาตรา  1007  วรรคสองและวรรคสาม

ส่วนกรณีของฝนนั้น  ฟ้าไม่มีสิทธิบังคับไล่เบี้ยฝน  เนื่องจากฝนมิได้ลงลายมือชื่อ  อีกทั้งเช็คนั้นได้เสียไปแล้วสำหรับฝนตามนัยมาตรา  1008  วรรคแรก

สรุป  ฟ้าสามารถจะบังคับไล่เบี้ยหมอกและเมฆให้รับผิดตามจำนวนเงินในเช็คพิพาทได้  โดยสามารถไล่เบี้ยหมอกได้  150,000  บาท  และไล่เบี้ยเมฆได้  50,000  บาท  แต่ฟ้าไม่มีสิทธิบังคับไล่เบี้ยฝน

Advertisement