การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ

ข้อ 1 การมีส่วนร่วมทางการเมืองหมายถึงอะไร มีรูปแบบอย่างไร และมีความสําคัญหรือไม่อย่างไรต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แนวคําตอบ

ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมือง นักวิชาการได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมืองดังนี้

Samuel P. Huntington & Jorge I Dominguez กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทําของประชาชนที่ต้องการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล โดยที่การกระทํานั้น เป็นไปทั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ใช้กําลังหรือไม่ใช้กําลัง ทั้งที่สําเร็จและล้มเหลว

พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว กล่าวว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ตามความ สมัครใจของสมาชิกในสังคมการเมืองที่จะกระทํา โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องการมีอิทธิพลต่อ การกําหนดนโยบายหรือการทํางานของรัฐบาล ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ รวมถึงกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การถกเถียงปัญหาทางการเมือง เป็นต้น

รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ของกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง รวมกันอยู่ จึงมีลักษณะหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสามารถพิจารณาได้ดังนี้

Verba เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 4 รูปแบบ คือ

1 การใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกิจกรรมของบุคคลแต่ละคนที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปใช้อํานาจในการปกครอง

2 กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง เป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เป็นรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง

3 กิจกรรมของชุมชน เป็นกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กรที่ประชาชนร่วมกันดําเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง

4 การติดต่อเป็นการเฉพาะ โดยรูปแบบกิจกรรมที่มีการติดต่อปัญหาใดเฉพาะตัวหรือของครอบครัว กิจกรรมรูปแบบนี้จะมีอิทธิพลต่อการกําหนดนโยบายของรัฐบาลน้อยมาก

Barber J. David เห็นว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 2 รูปแบบ คือ

1 การมีส่วนร่วมโดยตรง คือ การที่ประชาชนเป็นผู้ดําเนินการปกครองตนเองโดยตรง เช่น การบริหารงาน การกําหนดนโยบาย การตัดสินใจดําเนินงานด้วยตนเอง เป็นต้น

2 การมีส่วนร่วมโดยทางอ้อม คือ การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแต่มิได้เป็นผู้ดําเนินการปกครองด้วยตนเองโดยตรง แต่เป็นการเลือกตัวแทนเข้าไปทําหน้าที่ด้วยวิธีการเลือกตั้ง โดยประชาชนอย่างเสรี

ความสําคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของ การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยผ่านกลไกต่าง ๆ หรือใช้สิทธิในการแสดง บทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้ง การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประชาธิปไตย ในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศใดจะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงหรือต่ําสามารถพิจารณาได้จากระดับ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่ามีมากหรือน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองตาม หลักการประชาธิปไตย

 

ข้อ 2 “การปกครองท้องถิ่นมีความสําคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองระดับประเทศจะเกิดขึ้นและยั่งยืนก็ต่อเมื่อเกิดการปกครองท้องถิ่นอย่างแท้จริง” จากคํากล่าวข้างต้น จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

การปกครองท้องถิ่นถือเป็นรากฐานที่สําคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นตัวกําหนดเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองในระดับประเทศ ดังนั้นหากจะพัฒนาการเมืองระดับประเทศ ให้มีเสถียรภาพและมั่นคงจะต้องเริ่มจากการปกครองในระดับท้องถิ่นก่อน

การปกครองท้องถิ่นมาจากแนวคิดในการกระจายอํานาจปกครอง เป็นวิธีที่รัฐบาลกลางได้มอบอํานาจหน้าที่บางอย่างในการปกครองและการบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นรับไปดําเนินการด้วยงบประมาณและบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นเอง เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง และดําเนินกิจการในเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นตามที่ได้รับมอบหมาย

การปกครองท้องถิ่นมีอิสระจากการปกครองส่วนกลางเพื่อให้การบริหารงานของท้องถิ่น มีความคล่องตัวและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนภายในท้องถิ่นภายในขอบเขตกฎหมาย ซึ่งท้องถิ่นสามารถกําหนดนโยบายการตัดสินใจงบประมาณ และการดําเนินการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ มีคณะบุคคล ที่ประชาชนภายในท้องถิ่นเป็นผู้เลือกตั้ง ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเปรียบเสมือนภาพจําลองของการปกครอง ระดับประเทศ คือ มีดินแดนและขอบเขตของตนเอง มีประชากร มีอํานาจอิสระในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง และมีการจัดระเบียบการปกครองภายในองค์กร

การปกครองท้องถิ่นมีความสําคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

1 การปกครองท้องถิ่นเปรียบเสมือนโรงเรียนสอนประชาธิปไตยให้ประชาชน กล่าวคือ การปกครองท้องถิ่นเป็นการปกครองที่ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปทําหน้าที่เป็นสมาชิกสภาและผู้บริหารโดยตรง การปกครองท้องถิ่นจึงเป็นการฝึกหัดให้ประชาชนได้เลือกคนดี คนมีความรู้ คนซื่อสัตย์สุจริตเข้าไป ทําหน้าที่บริหารงานในท้องถิ่น และสามารถถอดถอนบุคคลเหล่านั้นออกจากตําแหน่งได้หากการบริหารงาน ผิดพลาดหรือทําให้ท้องถิ่นเกิดความเสียหาย

2 การปกครองท้องถิ่นทําให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจะทําให้ประชาชนเกิดสํานึกในความสําคัญของตนเองต่อท้องถิ่น ประชาชน จะมีส่วนรับรู้ถึงอุปสรรค ปัญหา และช่วยกันแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นของตน

3 การปกครองท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต

4 การปกครองท้องถิ่นทําให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง

5 การปกครองท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์ โดยมิชอบ

ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นจึงเป็นสถาบันที่ให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองให้กับประชาชนในระดับพื้นฐาน ทําให้ประชาชนเรียนรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง รู้ถึงวิธีการ เลือกตั้ง การตัดสินใจทางการเมือง การต่อสู้ทางการเมือง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยพัฒนาการเมืองและการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง และส่งผลต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองในระดับประเทศให้มีเสถียรภาพ และมันคงต่อไป

 

ข้อ 3 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วยส่วนใดบ้าง ต่างจากโครงสร้างระดับชาติอย่างไร

แนวคําตอบ

การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเป็นการปกครองตามหลักการกระจายอํานาจโดยรัฐธรรมนูญ ได้กําหนดให้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ประกอบด้วย สภาท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาจาก ความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ทั้งนี้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะมีวาระใน การดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

ดังนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จึงมีโครงสร้างประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาท้องถิ่น ทําหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตรวจสอบ การทํางานของผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งทําหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งสภาท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า สภาเทศบาล

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า สภากรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า สภาเมืองพัทยา

2 ฝ่ายบริหาร คือ คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทําหน้าที่ในการบริหารกิจการ ภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนด ซึ่งฝ่ายบริหารของท้องถิ่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

– องค์การบริหารส่วนตําบล เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนตําบล

– เทศบาล เรียกว่า นายกเทศมนตรี

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด เรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

– กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

– เมืองพัทยา เรียกว่า นายกเมืองพัทยา

จากคําอธิบายข้างต้นจะเห็นได้ว่าโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งมีความแตกต่างจากโครงสร้างระดับชาติที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งมาจาก การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทําหน้าที่ออกกฎหมายขึ้นมาใช้ภายในประเทศ โดยกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา จะมีผลใช้บังคับกับประชาชนทุกคนทั่วประเทศ มิได้มีผลใช้บังคับเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเหมือนข้อบัญญัติท้องถิ่น

2 ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ทําหน้าที่ในการบริหารประเทศให้เป็นไปตามกฎหมาย และนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยปกติการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีเสียงข้างมากในสภาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารจึง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากการปกครองส่วนท้องถิ่นที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตําบล นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ

3 ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล ทําหน้าที่ในการตัดสินคดีความต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ในสังคม เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคนภายในรัฐ รวมทั้งทําหน้าที่ในการควบคุมทุก ๆ อํานาจ ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งในโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีฝ่ายตุลาการ

 

ข้อ 4 ให้นักศึกษาอธิบายความหมายของหลักการกระจายอํานาจมาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง หลักการที่รัฐมอบอํานาจ ปกครองบางสวนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทําบริการ สาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่องที่ ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้

ลักษณะสําคัญของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1 ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมาย ให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่น จึงมีหน้าที่ งบประมาณ และทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และไม่ขึ้นตรงต่อ หน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามกฎหมายเท่านั้น

2 มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง

3 มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน

4 มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาต เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ

จุดเด่นหรือจุดแข็งของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1 ทําให้มีการสนองตอบความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้ดีขึ้น เพราะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะรู้ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นได้ดีกว่า

2 เป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง

3 เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเมืองในระดับท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตย เพราะการกระจายอํานาจทําให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักรับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการกระจายอํานาจปกครอง

1 อาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อเอกภาพทางการปกครองและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจมุ่งแต่ประโยชน์ของท้องถิ่นตน ไม่ให้ความสําคัญกับส่วนรวม

2 ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอาจใช้อํานาจบังคับกดขี่คู่แข่งหรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนเอง

3 ทําให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ และบุคลากรประจําอยู่ทุกหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเหมือนการบริหารราชการส่วนกลาง

 

Advertisement