การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ
ข้อ 1 การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) หมายถึงอะไร และมีความสําคัญอย่างไรต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Politics) จงอธิบายและยกตัวอย่างการเมืองไทย
แนวคําตอบ
ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) นั้นมีหลายความหมาย ซึ่งสามารถ พิจารณาได้ดังนี้
1 หมายถึง กิจกรรมที่บุคคลมีจุดประสงค์เพื่อที่จะมีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง
2 หมายถึง การให้การสนับสนุนและเรียกร้องต่อผู้นํารัฐบาล
3 หมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย
4 หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อํานาจแทนตนเอง
5 หมายถึง กิจกรรมที่มีความตื่นตัวทางการเมือง
6 หมายถึง กิจกรรมทุกชนิดที่เป็นการเมือง
การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการปกครองส่วนท้องถิ่น
ความสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ดังนั้นหลักการประชาธิปไตยจึงต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนซึ่งเป็นหัวใจสําคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้เข้ามามีส่วนร่วมในทาง การเมืองโดยผ่านกลไกต่าง ๆ หรือใช้สิทธิในการแสดงบทบาทต่าง ๆ ได้โดยตรง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อ ผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม
นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองยังเป็นเครื่องชี้วัดถึงระดับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ประเทศใดจะมีระดับการพัฒนาประชาธิปไตยสูงหรือต่ำสามารถพิจารณาได้จากระดับ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนว่ามีมากหรือน้อย ดังนั้นรัฐจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในทางการเมือง โดยต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองตาม หลักการประชาธิปไตย
ตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของไทยตามหลักการประชาธิปไตย เช่น การเข้าร่วม ออกเสียงเลือกตั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเข้าร่วมสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง การเข้าร่วม ถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง การเข้าร่วมเสนอกฎหมายและเสนอนโยบาย การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
ความสําคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ประชาชนในท้องถิ่นจัดการปกครองและดําเนิน กิจการบางอย่างโดยดําเนินการกันเองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้นการมีส่วนร่วม ทางการเมืองของประชาชนจึงเป็นหัวใจสําคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะถ้าประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามา มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการดําเนินการต่าง ๆ ของท้องถิ่นจะทําให้การบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในท้องถิ่นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดําเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผลให้การดําเนินการต่าง ๆ ของท้องถิ่นเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีความเป็นธรรม ลดการทุจริต และความขัดแย้งในการทํางาน รวมทั้ง เป็นวิธีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ความเป็นเจ้าของชุมชน และเสริมสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่น
ตัวอย่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย เช่น การเข้าร่วมออกเสียง เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าร่วมเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การเข้าร่วมถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น
ข้อ 2 จงอธิบายความหมาย วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ และข้อดีข้อเสียของการปกครองส่วนท้องถิ่นมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น
ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคํานิยามไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้างก็คือสํานวนและรายละเอียด ปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจหรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใน ท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอํานาจ การปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจากการกระจายอํานาจ ของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจและบริหารงานภายใน ท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการกระจายอํานาจทางการ ปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การภายใต้การบังคับบัญชาของ รัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่น ของตนเท่านั้น
วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
แฮรีส จี. มอนตากู Harris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลางหรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด
วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วย การปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ
ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็น ผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครองท้องถิ่น โดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบายและควบคุม ให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน
อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัด ความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมด หรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น
วัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น
1 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ทั้งทางด้านการเงิน ตัวบุคคล ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการดําเนินการ
2 เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
3 เพื่อให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อุทัย หิรัญโต อธิบายว่า องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครอง – ส่วนท้องถิ่น มี 8 ประการ คือ
1 สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) หมายความว่า หากประเทศใดกําหนดเรื่องการ ปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งกว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น
2 พื้นที่และระดับ (Area and Level) โดยปัจจัยที่มีความสําคัญต่อการกําหนดพื้นที่ และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และ ความสํานึกในการปกครองตนเองของประชาชน
3 การกระจายอํานาจและหน้าที่ ซึ่งการที่จะกําหนดให้ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่มากน้อย เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการปกครองของรัฐบาลเป็นสําคัญ
4 องค์กรนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม นโยบายนั้น ๆ
5 การเลือกตั้ง สมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง
6 อิสระในการปกครองท้องถิ่น สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติกิจการ ภายในขอบเขตของกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของหน่วยงาน ทางราชการ
7 งบประมาณเป็นของตนเอง มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บภาษีตามขอบเขต ที่กฎหมายให้อํานาจในการจัดเก็บ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะทํานุบํารุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
8 การควบคุมดูแลของรัฐ เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วท้องถิ่นนั้นยังคงอยู่ในการกํากับ ดูแลจากรัฐ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม แต่มีอิสระในการดําเนินงานของ หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น
ข้อดีของการปกครองส่วนท้องถิ่น
1 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการปกครองโดยผู้แทนจากส่วนกลาง เพราะ
1) ท้องถิ่นต้องการนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นทั้งนี้เพราะท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปในด้านเขตพื้นที่ ประชากร ประเพณี วัฒนธรรม และความแตกต่างจําเพาะของท้องถิ่นนี้เองทําให้ ปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน หากจะให้รัฐบาลกลางเข้าไปดูแลรัฐบาลกลางก็ไม่สามารถดูแลทั่วถึงได้
2) หลักการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนําเอาพลังชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นได้เต็มที่
3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นระบบการปกครองที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงทุกคน อันจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการปกครองโดยส่วนกลางที่ไม่สามารถ เข้าถึงประชาชนทุกคนได้
4) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการกระจายความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นหลักที่ช่วยลดภาระของรัฐบาลกลางในการดูแลท้องถิ่น
5) การบริหารโดยท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริหารงานโดยตัวแทนรัฐบาลกลาง
2 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะ
1) รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ รูปแบบการจําลองการปกครองแบบประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า
2) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิหน้าที่ของตัวเองและเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น
3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าการปกครองในระดับชาติ
4) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต
5) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์โดยมิชอบ
3 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยทําให้เกิดความมั่นคงของชาติ
4 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนหลักเสรีภาพ และหลักสิทธิมนุษยชน
5 การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าการปกครองจากส่วนกลาง
ข้อเสียของการปกครองส่วนท้องถิ่น
1 การปกครองท้องถิ่นที่ไม่ดีเปิดโอกาสให้เกิดปัญหาหลากหลายวุ่นวายได้
2 การปกครองท้องถิ่นที่ไม่ดีอาจทําลายความมั่นคงของชาติ
3 การปกครองท้องถิ่นมีโอกาสทําลายประชาธิปไตย
4 การปกครองท้องถิ่นมีโอกาสสร้างผู้มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่น
5 การปกครองท้องถิ่นเปิดโอกาสให้มีการทําลายผลประโยชน์สาธารณะ
6 การปกครองท้องถิ่นที่ไม่ดีจะทําให้เกิดการทุจริตมากยิ่งขึ้น
ข้อ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะใด และรัฐบาลกํากับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยวิธีการใดบ้าง
แนวคําตอบ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะของการ กระจายอํานาจการปกครอง (Decentralization) กล่าวคือ รัฐบาลได้มอบอํานาจการปกครองบางส่วนให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นไปจัดทําบริการสาธารณะบางอย่าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอํานาจอิสระใน การบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง และ ไม่ต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาล รัฐบาลทําได้เพียงแค่ควบคุมกํากับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น
นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดการภารกิจระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล
1 ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดภารกิจระหว่างภารกิจของรัฐบาลกับภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ
ภารกิจของรัฐบาล จําแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) ภารกิจทางปกครอง ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การอํานวยความยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้เป็นภารกิจโดยแท้ ของรัฐบาลที่รัฐบาลจะเป็นผู้ดําเนินการเอง
2) ภารกิจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม เช่น การขนส่ง การเดินรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข การไฟฟ้า การประปา ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลก็ได้ ”
3) ภารกิจทางสังคม ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางสังคม เช่น การให้บริการ การศึกษา การรักษาพยาบาล การสาธารณสุข การกีฬา การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลก็ได้
ภารกิจของท้องถิ่น จะเกิดขึ้นจากลักษณะของสภาพชุมชนเอง โดยภารกิจดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปสอดส่องดูแลได้โดยทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโดยลักษณะของภารกิจ ก็เป็นเรื่องของความต้องการเฉพาะแต่ละชุมชน เช่น การรักษาความสะอาด การกําจัดขยะมูลฝอย การให้มี น้ําสะอาด ตลาด โรงฆ่าสัตว์ สุสาน ฌาปนสถาน ฯลฯ
2 ความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล
แม้รัฐบาลจะกระจายอํานาจการปกครองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการ บริหารงาน แต่รัฐบาลยังคงมีอํานาจในการควบคุมกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยผ่านผู้ว่าราชการ จังหวัดและนายอําเภอ ซึ่งการควบคุมกํากับดูแลนั้นจะต้องกระทําเท่าที่จําเป็นตามที่กฎหมายกําหนด และต้อง เป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศโดยส่วนรวม
วิธีการควบคุมกํากับดูแลการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกได้ เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การ
1) การควบคุมกํากับดูแลโดยตรง แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
(1) การควบคุมกํากับดูแลตัวบุคคลหรือองค์กร เป็นการควบคุมสถานภาพ ทางกฎหมายของคณะบุคคลหรือบุคคลคนเดียวที่อยู่ในรูปของคณะบุคคล (เช่น คณะเทศมนตรี สภาเทศบาล นายกเทศมนตรี) อย่างเช่นกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ ตําแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอํานาจเสนอความเห็น ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตําแหน่งได้
(2) การควบคุมกํากับดูแลการกระทํา โดยการกระทําที่สําคัญขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกํากับดูแลของรัฐบาล ได้แก่ การให้ความเห็นชอบต่องบประมาณ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง
2) การควบคุมกํากับดูแลโดยอ้อม แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
(1) การให้เงินอุดหนุน นับเป็นมาตรการในการควบคุมกํากับดูแลโดย ทางอ้อมประการหนึ่ง โดยทุกปีรัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(2) การใช้สัญญามาตรฐาน ในการจัดทําสัญญาต่าง ๆ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกําหนดว่า จะต้องทําตามแบบที่อยู่ในส่วนที่แนบท้ายระเบียบ และการเปลี่ยนแปลงสัญญาจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับความ เห็นชอบจากอัยการจังหวัด
ข้อ 4 การปกครองท้องถิ่นไทยปัจจุบันสอดคล้องกับหลักการปกครองตนเองของท้องถิ่น (Local Self : Government) นักศึกษาเข้าใจว่าอย่างไร อธิบาย
แนวคําตอบ
การปกครองท้องถิ่นไทยปัจจุบัน เป็นการจัดรูปการปกครองตามหลักการปกครองตนเอง (Local Self Government) ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง โดยตนเอง และเพื่อตนเอง โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอิสระเป็นอย่างสูงในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสามารถจัดทํากิจการ ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความจําเป็นภายในท้องถิ่นของตนได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีความเป็น อิสระทั้งในทางการคลังและบุคลากร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายแม่บทและเป็นจุดเริ่มต้นของ การกระจายอํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นดูแลปกครองตนเองตาม เจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติเกี่ยวกับ การปกครองส่วนท้องถิ่นไทย โดยมีสาระสําคัญพอสรุปได้ดังนี้
1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น คือ การให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นในการกําหนด นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็น อิสระด้านการเงินและการคลัง
2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกําหนดให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นแยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของ สภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี
3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม
4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษี และอากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิใน การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่าง เป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่ จําเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกตรองตนเองตามเจตนารมณ์ของ ประชาชนในท้องถิ่นหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้