การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
คําสั่ง ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ
ข้อ 1 หลักการปกครองประเทศไทยปัจจุบันมีอะไรบ้าง มีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไรในหลักการแต่ละหลักการ จงอธิบายมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
หลักการปกครองประเทศไทยปัจจุบันมี 3 หลัก คือ หลักการรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หลักการแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) และหลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization)
1 หลักการรวมอํานาจปกครอง (Centralization) หมายถึง หลักการจัดวางระเบียบ บริหารราชการแผ่นดินโดยรวมอํานาจในการปกครองไว้ให้แก่หน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง อันได้แก่ กระทรวง กรม และมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง โดยให้ขึ้นต่อกันตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา ซึ่งเป็นผู้ดําเนินการปกครองตลอดทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ
ลักษณะสําคัญของหลักการรวมอํานาจปกครอง
1) มีการรวมกําลังทหารและกําลังตํารวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง เพื่อให้การบังคับบัญชาเป็นไปอย่างเด็ดขาดและทันท่วงที
2) มีการรวมอํานาจวินิจฉัยสั่งการไว้ในส่วนกลาง
3) มีการลําดับชั้นการบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ลดหลั่นกันไป (Hierarchy)
จุดเด่นหรือจุดแข็งของหลักการรวมอํานาจปกครอง
1) การที่รัฐบาลมีอํานาจแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาเขต ทําให้นโยบาย แผน หรือคําสั่งเกิดผลได้ทั่วประเทศอย่างทันที
2) ให้บริการและประโยชน์แก่ประชาชนโดยเสมอหน้าทั่วประเทศ ไม่ได้ทําเพื่อท้องถิ่นใดโดยเฉพาะ
3) ทําให้เกิดการประหยัด เพราะสามารถหมุนเวียนเจ้าหน้าที่และเครื่องมือเครื่องใช้ไปยังจุดต่าง ๆ ของประเทศได้ โดยไม่ต้องจัดซื้อจัดหาประจําทุกจุด 4) มีความเป็นเอกภาพในการปกครองและการบริหารงาน การปกครองในท้องถิ่นเป็นไปแนวเดียวกัน
5) มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ทําให้บริการสาธารณะดําเนินการไปโดยสม่ำเสมอ และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน
จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการรวมอํานาจปกครอง
1) ไม่สามารถดําเนินกิจการทุกอย่างให้ได้ผลดีทั่วทุกท้องที่ในเวลาเดียวกัน เพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ทั่วถึง
2) การปฏิบัติงานมีความล่าช้า เพราะมีแบบแผนและขั้นตอนมากมายตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา
3) ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
4) ไม่อาจตอบสนองความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง เพราะความหลากหลายของความแตกต่างในแต่ละท้องถิ่น
2 หลักการแบ่งอํานาจปกครอง (Deconcentration) หมายถึง หลักการที่การบริหาร ราชการส่วนกลางได้จัดแบ่งอํานาจวินิจฉัยและสั่งการบางส่วนไปให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาค โดยให้มีอํานาจใน การใช้ดุลยพินิจ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ตลอดจนริเริ่มได้ในกรอบแห่งนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางไว้
ลักษณะสําคัญของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง
1) เป็นการบริหารโดยใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งไปจากส่วนกลางไปประจําตามเขตการปกครองในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง ได้แก่ จังหวัด อําเภอ ตําบล และ หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็อยู่ในระบบการบริหารงานบุคคลของรัฐบาลกลางอันเดียวกัน
2) เป็นการบริหารโดยใช้งบประมาณซึ่งส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติและควบคุมให้เป็นไปตามวิธีการงบประมาณแผ่นดิน
3) เป็นการบริหารภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง
จุดเด่นหรือจุดแข็งของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง
1) หลักการนี้เป็นก้าวแรกที่จะนําพาไปสู่การกระจายอํานาจการปกครอง
2) ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นในการมาติดต่อในเรื่องที่ราชการส่วนภูมิภาคมีอํานาจวินิจฉัยสั่งการ เพราะไม่ต้องรอให้ส่วนกลางมาวินิจฉัยสั่งการ
3) เป็นจุดเชื่อมระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทําให้การติดต่อประสานงานระหว่างทั้ง 2 ส่วนดีขึ้น
4) มีประโยชน์ต่อประเทศที่ประชาชนยังไม่รู้จักการปกครองตนเอง
จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการแบ่งอํานาจปกครอง
1) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการที่ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้าไปบริหารงานในท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่เชื่อในความสามารถของท้องถิ่น
2) เกิดความล่าช้าในการบริหารงาน เพราะต้องผ่านระเบียบแบบแผนถึง 2 ระดับ คือ ระดับส่วนกลางและระดับส่วนภูมิภาค
3) ทําให้ระบบราชการมีขนาดใหญ่โต เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ
4) ทําให้ทรัพยากรที่มีคุณค่าบางอย่างในท้องถิ่นไม่เกิดประโยชน์ เช่น บุคลากร เจ้าหน้าที่ เพราะถูกส่งมาจากที่อื่น
5) บุคลากร เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติงานในท้องถิ่น ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่อาจจะเนื่องมาจากไม่ใช่คนในพื้นที่จึงไม่เข้าใจพื้นที่ และอาจเกิดความขัดแย้งกับคนในพื้นที่
3 หลักการกระจายอํานาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง หลักการที่รัฐมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง ให้ไปจัดทําบริการสาธารณะบางอย่างโดยมีอิสระตามสมควร เป็นการมอบอํานาจให้ทั้งในด้านการเมืองและการบริหาร เป็นเรื่อง ที่ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่ที่จะกําหนดนโยบายและควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายท้องถิ่นของตนเองได้
ลักษณะสําคัญของหลักการกระจายอํานาจปกครอง
1) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมาย ให้มีส่วนเป็นนิติบุคคล หน่วยการปกครองท้องถิ่นจึงมีหน้าที่ งบประมาณ และทรัพย์สินเป็นของตนเองต่างหาก และไม่ ขึ้นตรงต่อหน่วยการปกครองส่วนกลาง ส่วนกลางเพียงแต่กํากับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น
2) มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง
3) มีอํานาจอิสระในการบริหารงาน จัดทํากิจกรรมและวินิจฉัยสั่งการได้เองพอสมควรด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตน
4) มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่รัฐอนุญาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการต่าง ๆ
จุดเด่นหรือจุดแข็งของหลักการกระจายอํานาจปกครอง
1) ทําให้มีการสนองตอบความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้ดีขึ้น เพราะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะรู้ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นได้ดีกว่า
2) เป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง
3) เป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเมืองในระดับท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตยเพราะการกระจายอํานาจทําให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักรับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น
จุดด้อยหรือจุดอ่อนของหลักการกระจายอํานาจปกครอง
1) อาจก่อให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อเอกภาพทางการปกครองและความมั่นคงของประเทศ ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นอาจมุ่งแต่ประโยชน์ของท้องถิ่นตน ไม่ให้ความสําคัญกับส่วนรวม
2) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งอาจใช้อํานาจบังคับกดขีคู่แข่งหรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนเอง
3) ทําให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ และบุคลากรประจําอยู่ทุกหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเหมือน การบริหารราชการส่วนกลาง
ข้อ 2 จงอธิบายความหมาย วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ และข้อดีของการปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวคําตอบ
ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่น
ความหมายของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้มีผู้ให้ความหมายหรือคํานิยามไว้มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคํานิยามเหล่านั้นต่างมีหลักการที่สําคัญคล้ายคลึงกัน จะมีต่างกันบ้างก็คือสํานวนและรายละเอียด ปลีกย่อย ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
เดเนียล วิท (Daniel Wit) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลกลาง ให้อํานาจหรือกระจายอํานาจ (Decentralization) ไปให้หน่วยการปกครองท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนใน ท้องถิ่นได้มีอํานาจในการปกครองร่วมกันทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนในการบริหารท้องถิ่น ตามหลักการที่ว่าถ้าอํานาจ การปกครองมาจากประชาชนในท้องถิ่นแล้ว รัฐบาลของท้องถิ่นก็ย่อมเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนและ เพื่อประชาชน ดังนั้นการบริหารการปกครองท้องถิ่นจึงจําเป็นต้องมีองค์กรของตนเอง อันเกิดจากการกระจายอํานาจ ของรัฐบาลกลาง โดยให้องค์กรอันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง มีอํานาจในการตัดสินใจและบริหารงานภายใน ท้องถิ่นในเขตอํานาจของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การปกครองท้องถิ่นเป็นผลจากการกระจายอํานาจทางการ ปกครองของรัฐบาลไปให้กับองค์การในระดับท้องถิ่น ซึ่งองค์การนั้นต้องไม่เป็นองค์การภายใต้การบังคับบัญชาของ รัฐบาลกลาง และต้องมีอํานาจอิสระในการกําหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดําเนินการใด ๆ ภายใต้ท้องถิ่น ของตนเท่านั้น
วิลเลี่ยม วี. ฮอลโลเวย์ (William V. Holloway) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง องค์การที่มีอาณาเขตแน่นอน มีประชากรตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ มีอํานาจการปกครองตนเอง มีการบริหาร การคลังของตนเอง และมีสภาท้องถิ่นที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
แฮรีส จี. มอนตากู (Harris G. Mongtagu) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครอง ซึ่งหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้มีการเลือกตั้งโดยอิสระ เพื่อเลือกผู้ทําหน้าที่บริหารการปกครองท้องถิ่น มีอํานาจอิสระ พร้อมความรับผิดชอบซึ่งตนสามารถที่จะใช้ได้โดยปราศจากการควบคุมของหน่วยการบริหารราชการส่วนกลาง หรือภูมิภาค แต่ทั้งนี้หน่วยการปกครองท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้บทบังคับว่าด้วยอํานาจสูงสุดของประเทศ ไม่ได้ กลายเป็นรัฐอิสระใหม่แต่อย่างใด
วิลเลี่ยม เอ. ร็อบสัน (William A. Robson) กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง หน่วย การปกครองซึ่งรัฐได้จัดตั้งขึ้นและให้อํานาจปกครองตนเอง (Autonomy) มีสิทธิตามกฎหมาย (Legal Rights) และต้องมีองค์กรที่จําเป็นในการปกครอง (Necessary Organization) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมความมุ่งหมายของ การปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ
ประทาน คงฤทธิศึกษาการ กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง ระบบการปกครองที่เป็น ผลสืบเนื่องมาจากการกระจายอํานาจทางการปกครองของรัฐ และโดยนัยนี้จะเกิดองค์การทําหน้าที่ปกครอง ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งองค์การนี้จัดตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ก็มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย และควบคุมให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของตน
อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองที่รัฐบาลมอบอํานาจให้ ประชาชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจัดการปกครองและดําเนินกิจการบางอย่าง โดยดําเนินการกันเองเพื่อบําบัดความต้องการของตน การบริหารงานของท้องถิ่นมีการจัดเป็นองค์การ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่รัฐบาลต้องควบคุมด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จะปราศจากการควบคุมของรัฐหาได้ไม่ เพราะการปกครองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐทําให้เกิดขึ้น
วัตถุประสงค์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น
1 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ทั้งทางด้านการเงิน ตัวบุคคล ตลอดจนเวลาที่ใช้ในการดําเนินการ
2 เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
3 เพื่อให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อุทัย หิรัญโต อธิบายว่า องค์ประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น มี 8 ประการ คือ
1 สถานะตามกฎหมาย (Legal Status) หมายความว่า หากประเทศใดกําหนดเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศนั้นจะมีความเข้มแข็งกว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยกฎหมายอื่น
2 พื้นที่และระดับ (Area and Level) โดยปัจจัยที่มีความสําคัญต่อการกําหนดพื้นที่ และระดับของหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายประการ เช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และ ความสํานึกในการปกครองตนเองของประชาชน
3 การกระจายอํานาจและหน้าที่ ซึ่งการที่จะกําหนดให้ท้องถิ่นมีอํานาจหน้าที่มากน้อย เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองและการปกครองของรัฐบาลเป็นสําคัญ
4 องค์กรนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายแยกจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ มีขอบเขตการปกครองที่แน่นอน มีอํานาจในการกําหนดนโยบาย ออกกฎ ข้อบังคับควบคุมให้มีการปฏิบัติตาม นโยบายนั้น ๆ
5 การเลือกตั้ง สมาชิกองค์การหรือคณะผู้บริหารจะต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชน ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อแสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน โดยเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง
6 อิสระในการปกครองท้องถิ่น สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองในการปฏิบัติกิจการภายใน ขอบเขตของกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลาง และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของหน่วยงานทางราชการ
7 งบประมาณเป็นของตนเอง มีอํานาจในการจัดเก็บรายได้ การจัดเก็บภาษีตามขอบเขต ที่กฎหมายให้อํานาจในการจัดเก็บ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้เพียงพอที่จะทํานุบํารุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
8 การควบคุมดูแลของรัฐ เมื่อได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้วท้องถิ่นนั้นยังคงอยู่ในการกํากับดูแล จากรัฐ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม แต่มีอิสระในการดําเนินงานของหน่วย การปกครองท้องถิ่นนั้น
ข้อดีของการปกครองส่วนท้องถิ่น
1 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า การปกครองโดยผู้แทนจากส่วนกลาง เพราะ
1) ท้องถิ่นต้องการนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไปในด้านเขตพื้นที่ ประชากร ประเพณี วัฒนธรรม และความแตกต่างจําเพาะของท้องถิ่นนี้เอง ทําให้ปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน หากจะให้รัฐบาลกลางเข้าไปดูแล รัฐบาลกลางก็ไม่สามารถดูแลทั่วถึงได้
2) หลักการปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนําเอาพลังชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นได้เต็มที่
3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นระบบการปกครองที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงทุกคน อันจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนของการปกครองโดยส่วนกลางที่ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกคนได้
4) การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการกระจายความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นหลักที่ช่วยลดภาระของรัฐบาลกลางในการดูแลท้องถิ่น
5) การบริหารโดยท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริหารงานโดยตัวแทนรัฐบาลกลาง
2 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะ
1) รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ รูปแบบการจําลองการปกครองแบบประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า
2) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยให้ประชาชนเห็นความสําคัญในสิทธิหน้าที่ของตัวเองและเรียนรู้ประชาธิปไตยมากขึ้น
3) การปกครองส่วนท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าการปกครองในระดับชาติ
4) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเตรียมผู้นําทางการเมือง และคัดสรรผู้นําทางการเมืองที่มีความสามารถให้แก่ประเทศในอนาคต
5) การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการต่อต้านการผูกขาดอํานาจและผลประโยชน์โดยมิชอบ
3 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยทําให้เกิดความมั่นคงของชาติ
4 การปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุนหลักเสรีภาพ และหลักสิทธิมนุษยชน
5 การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าการปกครองจากส่วนกลาง
ข้อ 3 หลักธรรมาภิบาลคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้หรือไม่ อย่างไร
แนวคําตอบ
ธรรมาภิบาล (Governance) ตามแนวคิดของนายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด หมายถึง การใช้ อํานาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง รวมถึงกลไก กระบวนการ ความสัมพันธ์ และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างซับซ้อน
ธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หมายถึง แนวทางสําคัญในการจัดระเบียบ ให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมไปถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทา ป้องกัน หรือแก้ไขเยียวยาภาวะวิกฤต ภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีส่วนร่วม อันเป็น คุณลักษณะสําคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญ และกระแสโลกยุคปัจจุบัน
องค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล
ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ได้กําหนดหลักการสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีหรือหลักการบริหารจัดการที่ดีหรือ หลักธรรมาภิบาลไว้ 6 ประการ ดังนี้
1 หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็น การปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอําเภอใจหรืออํานาจของบุคคล
2 หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจําชาติ
3 หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทํางานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่าง ตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชน ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้
4 หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และเสนอความเห็น ในการตัดสินใจปัญหาสําคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ
5 หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสํานึกในความรับผิดชอบ ต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความ คิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทําของตน
6 หลักความคุ้มค่า ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจํากัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน
หลักธรรมาภิบาลส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ดังนี้
1 การมีส่วนร่วม (Participation) กล่าวคือ การเมืองท้องถิ่นจะไม่ใช่เรื่องของผู้นําที่มี อํานาจแล้วใช้อํานาจควบคุมหรือกระทําต่อประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเมืองท้องถิ่นจะเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การเข้าชื่อ เสนอร่างกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น การเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบ การเข้าร่วมประชุมในเรื่องต่าง ๆ การ ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้แทน การประท้วงหรือกดดันในบางกรณีที่เห็นว่าเกิดความไม่ถูกต้อง เป็นต้น
2 การเปิดกว้าง (Openness) กล่าวคือ การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีลักษณะเป็น ระบบเปิด คือ การเลือกตั้งผู้ที่เข้ามาบริหารท้องถิ่นจะทําแบบชัดเจน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ในเรื่อง ต่าง ๆ เช่น ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเท่าไร และนําไปใช้อะไรบ้าง เป็นต้น
3 ความโปร่งใส (Transparency) หรือความซื่อสัตย์ กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เช่น เอกสาร เผยแพร่ข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วารสาร ป้าย/บอร์ดประชาสัมพันธ์ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการประชุมสภาท้องถิ่น เป็นต้น
4 ความรับผิดชอบ (Responsibility) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะก่อให้เกิด ความรับผิดชอบในการแสดงการกระทําของผู้นําต่อประชาชน โดยการเคารพและยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง และมีความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทําของตน ซึ่งเป็นความชอบธรรมและความรับผิดชอบทาง การเมืองที่ตัวแทนผู้มาจากการเลือกตั้งมีต่อประชาชนผู้เลือกตั้งในแง่ที่ว่า ตัวเขาเข้าไปทํางานอะไร ผลงานเป็น ประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือส่วนตัว ต้องอธิบายได้ว่าทําไมต้องทําเช่นนั้น
5 การตรวจสอบได้ (Accountability) กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีพันธะ ความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบได้ นั่นคือ การสร้างกระบวนการให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบได้ว่า การทํางานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความโปร่งใสจริง ดังนั้นในทุกขั้นตอนของการดําเนินการจึงสามารถ ให้รายละเอียดของข้อมูลต่อสาธารณะได้
ข้อ 4 ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมีอะไรบ้าง จงอธิบายมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย มีดังนี้
1 ปัญหาการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยการปกครองท้องถิ่น ได้แก่
1) มีค่าใช้จ่ายสูง (Cost) คือ เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นขึ้นมามาก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นด้วย เช่น การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) หรือการยกฐานะของเทศบาลขึ้นมาก็ต้อง มีการเพิ่มคน เพิ่มอุปกรณ์ และเพิ่มค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนอาจต้องมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาใช้ ดังนั้นการจัดตั้ง หน่วยการปกครองท้องถิ่นให้มากขึ้นจึงต้องมองในแง่ของการประหยัดด้วย เพราะในบางตําบลมีเพียงหมู่บ้านเดียว และมีประชากรจํานวนไม่มากนัก
2) ความไร้ประสิทธิภาพ (Inefficiency) คือ ในการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่สามารถหาคนที่มีความรู้เพียงพอมาทํางานได้ ดังนั้นความก้าวหน้าในการพัฒนาท้องถิ่นจึงไม่สามารถทําได้ดีเท่าที่ควร
3) ความเฉื่อยชา (Inertia) จากการใช้คนในพื้นที่เข้ามาบริหารอํานาจ เพราะบางครั้ง แทนที่จะทําให้ท้องถิ่นก้าวหน้า แต่กลับทําให้ท้องถิ่นเฉื่อยชาลง เนื่องจากยึดติดกับความคิดดั้งเดิม
4) ความไม่เสมอภาค (Inequality) ทําให้เกิดความเหลื่อมล้ําหรือความไม่ เท่าเทียมกันของหน่วยงาน เพราะท้องถิ่นบางแห่งรวยจนไม่เท่ากัน บางแห่งมีทรัพยากรมาก บางแห่งมีคนที่มี ความคิดริเริ่มมาก แต่บางแห่งผู้นําไม่มีวิสัยทัศน์และความรู้เพียงพอ ซึ่งในระยะแรกของการจัดตั้ง อบต. ขึ้นจะมีการจัดสรรเงินให้กับหน่วยงานนั้นเท่ากันทุก อบต. แต่ต่อมาได้พิจารณาเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของหน่วยงาน การจัดสรรรายได้จึงเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ถ้า อบต. ใดมีรายได้มากก็จัดสรรเงินให้น้อยลง แต่ถ้ามีฐานะไม่ดีนัก หรือมีรายได้น้อยก็จะจัดสรรเงินให้มากขึ้น จึงทําให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานเล็ก ๆ เพราะบางครั้งทั้ง อบต. มีคน อยู่เพียง 50 – 60 คน แต่ได้รับเงินมาเป็นล้าน แล้วก็จะนํามาแบ่งกันได้มาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอีก เพราะเมื่อมีการคิดที่จะยกเลิก อบต. ขึ้นมา หน่วยงานเล็ก ๆ ก็ต่อต้านเนื่องจากกลัวเสียประโยชน์จากเงินอุดหนุนของรัฐบาล
5) ความเห็นแก่ตัว (Selfishness) คือ ท้องถิ่นมักจะไม่ค่อยบังคับใช้กฎหมายที่ทําให้ ตนเองเสียประโยชน์ เช่น ไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยและญาติพี่น้อง ให้ความสําคัญกับประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ประโยชน์สาธารณะ เพราะถือว่ามีอํานาจอยู่ในมือ ซึ่งในวงการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นการจัดเก็บภาษีมาบํารุงท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ถูกปล่อยปละละเลย เพราะมัวแต่คิดว่าหากมีการจัดเก็บภาษีขึ้นจะทําให้ฐานเสียงน้อยลงไป
6) ความอ่อนแอ (Weakness) ของประชาชนหรือชุมชน คือ การยอมสยบต่อ ผู้มีอิทธิพล ซึ่งถ้าหากกลไกของหน่วยงานต้องไปสยบต่อผู้มีอิทธิพลมาก ก็จะทําให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม
7) ความเป็นเจ้าของ (Possessiveness) ของผู้กุมอํานาจ คือ นักการเมืองประจํา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพื้นที่เดิมมักเป็นพวกอนุรักษนิยม มีการผูกขาดอํานาจ ไม่ยอมให้มีการคลายอํานาจ ไปสู่เบื้องล่าง
8) การทุจริต (Corruption) เกิดจากการควบคุมไม่ได้ กฎหมายมีช่องโหว่ และ ประชาชนไม่สนใจ
9) การแยกตัว (Separatism) คือ การกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง เอาจทําให้เกิดการแยกตัวเป็นรัฐอิสระขึ้นได้
2 ปัญหาผู้นําท้องถิ่น เนื่องจากว่าผู้นําท้องถิ่นเป็นผู้ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่ผู้นําท้องถิ่นกลับหวงอํานาจที่ชาวบ้านนับถือไว้วางใจ จึงทําให้ผู้นําท้องถิ่นมีอิทธิพลในการกดขี่ ข่มขู่ และชี้นําชาวบ้านให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น การออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้นําในการ เรียกร้องผลประโยชน์ตามความต้องการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าอยากให้การเมืองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาไปสู่ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาผู้นําท้องถิ่นก่อน
3 ปัญหาพรรคการเมือง เนื่องจากว่าพรรคการเมืองเป็นกลุ่มบุคคลที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการ พัฒนา แต่พรรคการเมืองกลับเข้ามาครอบงําการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์และฐานอํานาจ ที่สําคัญ ซึ่งพรรคการเมืองพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือการเมืองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ได้ โดยอาศัยระบบราชการ กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดตั้งตัวแทนของพรรคเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างฐานอํานาจของตนเองจากท้องถิ่นขึ้นไปก่อน ซึ่งจะเห็นได้จากนักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่สังกัด พรรคการเมืองมักจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่านักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงทําให้ พรรคการเมืองสามารถใช้การเมืองส่วนท้องถิ่นเป็นฐานอํานาจที่สําคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อํานาจทางการเมือง และแสวงหาผลประโยชน์จากอํานาจทางการเมืองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไม่จํากัด การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับ ท้องถิ่นจึงเป็นการทําเพื่อรักษาและสร้างฐานอํานาจของพรรคการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น และนโยบายของแต่ละ พรรคการเมืองที่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่สอดคล้องกัน และบางครั้งก็ยกเลิกแนวนโยบายของพรรคการเมืองเดิม ทําให้เกิดเป็นปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นที่แก้ไขได้ยาก
4 ปัญหากลุ่มผลประโยชน์ เนื่องจากว่ากลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมายในการจัดตั้งคือ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในการเข้าไปดูแลผลประโยชน์เมื่อมีการเรียกร้อง จึงทําให้กลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามามีบทบาทในการชี้นําการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการ กําหนดนโยบายของการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอ ความคิดเห็น การเรียกร้องให้ดําเนินการ หรือการคัดค้านการดําเนินการบางอย่างในประเด็นสาธารณะ ซึ่งมี ผลประโยชน์ทับซ้อนในการเอื้อประโยชน์ต่อกันกับนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นในลักษณะของการครอบงําและชี้นํานักการเมืองส่วนท้องถิ่น อยู่เบื้องหลังในการกําหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ ของซาวบ้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากต้องการให้การเมืองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ก่อน