การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3314 การบริหารชุมชนเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 10 ข้อ ให้เลือกทําเพียง 4 ข้อ โดยระบุข้อที่ทําให้ชัดเจน

ข้อ 1 จงอภิปรายถึงสภาวะปัจจุบันของการอยู่อาศัยของประชากรโลก รวมทั้งแนวโน้มการอยู่อาศัยของประชากรโลกในชุมชนเมืองมาพอสังเขป ?

แนวคําตอบ

สภาวะปัจจุบันของการอยู่อาศัยของประชากรโลก

ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา พบว่าการเปลี่ยนแปลงของประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นผลของภาวะเจริญพันธุ์มากกว่าภาวะการตายหรือการย้ายถิ่น กล่าวคือ อัตราการเพิ่มที่มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้เพราะภาวะเจริญพันธุ์มีแนวโน้มลดลง แต่ในปัจจุบันการย้ายถิ่นกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยพื้นที่พัฒนามากจะเป็นพื้นที่รับประชากรเข้า (เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ) ส่วนพื้นที่พัฒนาน้อยก็จะเป็นพื้นที่ส่งประชากรออก (เช่น เอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา) ซึ่งคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะสูงถึง 8.1 พันล้านคน โดยมีการกระจายตัวเหมือนเดิม ยกเว้นแอฟริกาและยุโรปเท่านั้นที่เปลี่ยนไป นั่นคือ แอฟริกามีสัดส่วนประชากรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 17 ส่วนยุโรปกลับมีสัดส่วนประชากรลดลงจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 8 เท่านั้น

ความหนาแน่นของประชากรโลกคิดเป็น 51 คนต่อตารางกิโลเมตร แต่เนื่องจากการกระจายตัวของประชากรในแต่ละพื้นที่นั้นไม่เท่ากัน จึงมีผลทําให้ความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไปด้วย เอเชียซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดก็จะมีความหนาแนนของประชากรสูงที่สุดด้วยคือ 130 คนต่อ ตารางกิโลเมตร สูงกว่าความหนาแน่นของโลกมากกว่า 2 เท่า และสูงกว่าพื้นที่ถัดไปคือแอฟริกาเกือบ 4 เท่า รองลงมาจากแอฟริกาคือ ยุโรป ซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรตํากว่าแอฟริกาเพียงเล็กน้อย คือ 32 และ 34 คนต่อตารางกิโลเมตร ตามลําดับ ถัดลงไปคือ ลาตินอเมริกา/แคริบเบียน และอเมริกาเหนือ ส่วนโอเชียเนียม ความหนาแน่นของประชากรต่ำที่สุดเพียง 4 คนต่อตารางกิโลเมตรเท่านั้น

แนวโน้มการอยู่อาศัยของประชากรโลกในชุมชนเมือง

ปัจจุบันประชากรโลกอาศัยอยู่ในชุมชนเมืองมากกว่าชนบท ซึ่งพบว่าปี ค.ศ. 2007 คือปีแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรชุมชนเมืองมีจํานวนมากกว่าประชากรชนบท โดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดการพัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความแตกต่างอย่างมากด้านโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท เป็นปัจจัยสําคัญที่ผลักดันให้ ประชากรจํานวนมหาศาลจากชนบทหนีความยากจน โดยการเคลื่อนย้ายเชิงพื้นที่เข้าสู่เขตเมืองเพื่อตั้งถิ่นฐาน และมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงทางประชากรดังกล่าวส่งผลให้เมืองใหญ่และชุมชนเมืองขยายตัวอย่าง รวดเร็ว ซึ่งได้มีการประมาณว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จํานวนเมืองใหญ่และประชากรที่อาศัยในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นอีก หลายเท่าตัว จนอาจเกินศักยภาพของผู้บริหารนครจะรองรับหรือตอบสนองความต้องการของประชากรเมืองได้

กระแสการย้ายถิ่นที่นับวันจะเติบโตขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มอย่างรวดเร็วของประชากรโลก จากการคาดประมาณของโครงการประชากรแห่งสหประชาชาติ พบว่า เนื่องจากอัตราเพิ่มประชากรโลกช่วงปี ค.ศ. 1985 1990 เป็นประมาณร้อยละ 1.7 ต่อปี ประชากรโลาจะยังคงเพิ่มจํานวนประมาณ 90 ล้านคนต่อปี

แต่ในอนาคต จํานวนอาจจะต่ำกว่านี้แต่ก็เพียงเล็กน้อย เนื่องจากอัตราเพิ่มประชากรจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง โดยที่ช่วงปี ค.ศ. 2020 2025 คาดว่าอัตราเพิ่มจะลดลงเป็นร้อยละ 1.0

ปัจจุบันประชากรเมืองทั่วโลกมีจํานวนเพิ่มขึ้นประมาณ 60 ล้านคนต่อปี ด้วยอัตราเพิ่มขึ้นที่ สูงกว่าอัตราเพิ่มประชากรในเขตชนบทถึง 3 เท่า และประชากรเมืองเพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 3 ของประชากรโลก เมื่อปี ค.ศ. 1960 เป็นประมาณร้อยละ 47 หรือประมาณ 2.3 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1999 โดยสัดส่วนประชากรที่ อาศัยในเขตเมืองของประเทศกําลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากร้อยละ 22 เป็นร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61 เป็นเพียงประมาณร้อยละ 76 ในช่วงเวลา เดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการคาดประมาณว่าภายในปี ค.ศ. 2020 ประชากรโลกจํานวนกว่าครึ่งหรือประมาณ 3.6 พันล้านคน จะตั้งถิ่นฐานในเขตเมือง และที่เหลืออีกจํานวนประมาณ 3 พันล้านคน อยู่ในเขตชนบท

 

ข้อ 2 จงวิเคราะห์ถึงผลกระทบในเชิงปัญหาจากการเพิ่มของประชากรโลกมาสัก 5 ข้อ พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม

แนวคําตอบ

ผลกระทบอันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก

1 ปริมาณความต้องการน้ำจืด (Fresh Water) เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำจืดที่จําเป็นต่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้เพราะมนุษย์จะพยายามขยายพื้นที่อยู่อาศัยออกไปเรื่อย ๆ อาจจะถมที่ดินหรือสร้างบ้านจัดสรรก็ทําให้เกิดการบุกรุกเบียดเบียนแหล่งน้ำจืด ส่งผลให้ระบบวงจรของน้ำที่ระเหยจากแหล่งน้ำเป็นไอน้ำขึ้นไปกลายเป็นเมฆแล้วก็กลั้นตัวลงมาเป็นฝนมีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 75 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ถึงปี ค.ศ. 2050 โดยมีการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี ค.ศ. 2050 จะมีน้ำจืดเหลือเพียง 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำจืดในปี ค.ศ. 1950 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น เขื่อน แม่น้ำ ฯลฯ ในหลาย ๆ ประเทศ ก็จะประสบกับปริมาณน้ำลดน้อยถอยลงและแห้งแล้ง หรือบางภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกในบางฤดูกาลก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากการบุกรุกแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ และทําลายป่าไม้นั่นเอง

แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและ สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น สร้างนิสัยและพฤติกรรมในการใช้น้ำที่มีสํานึกต่อส่วนรวม และจะต้องช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรน้ำจืดที่มีอยู่อย่างจํากัด ให้สามารถดํารงอยู่ได้อย่างสมดุลของระบบนิเวศ และพอเพียงต่อการนํามาใช้ประโยชน์ของมนุษย์ในอนาคต

2 ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์มักจะมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ด้วย เช่น มีแม่น้ำ ลําธาร ป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า พืชพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นอาหารของปลาและสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบห่วงโซ่อาหาร เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนเกิดความแห้งแล้ง พื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้ก็ เกิดปัญหาความเดือดแห้งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อประมาณ 65 ล้านกว่าปีที่ผ่านมานี้ สิ่งมีชีวิตได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ 100 ถึง 1,000 เท่าของอัตราปกติ โดยที่มนุษย์มิใช่เป็นเพียงพยาน ผู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตดังกล่าว

แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ จะต้องมีการจัดสรรและเลือกใช้อย่างเป็นระบบที่ เหมาะสมสําหรับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต ไม่เกิดการสูญเสียทรัพยากร ชีวภาพอย่างสูญเปล่า เช่น ปลูกฝังจิตสํานึกของประชาชนในชุมชน เข้าใจถึงความสําคัญของความหลากหลาย ทางชีวภาพ มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผสมผสานให้เข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการควบคุมดูแล

โดยรัฐจําเป็นต้องออกกฎหมายคุ้มครองหรือมีการทําข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการควบคุมดูแล การค้าขายนําเข้าและส่งออกสายพันธุ์พืชและสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เป็นต้น

3 การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อนหรือภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการกระทําของมนุษย์ และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสังคมเมืองและภาคอุตสาหกรรม ที่ปล่อยมลพิษหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จนเกิดการสะสมและทําลายชั้นโอโซน (Ozone Layer) ซึ่ง เรียกว่า “ภาวะเรือนกระจก” ก็มีแนวโน้มทําให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบให้น้ําแข็งขั้วโลกละลาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อแหล่งอาหาร สภาวะทางธรรมชาติ และตัวมนุษย์เองด้วย

แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ จะต้องมีมาตรการในการลดก๊าซ CO ในภาคคมนาคม และขนส่ง มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเอื้อกับอุตสาหกรรมที่เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซ CO2 รัฐบาลควร มีนโยบายสนับสนุนหรือแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ มีการใช้พลังงานทดแทนและ พลังงานหมุนเวียน และควรมีการนําเทคโนโลยีสะอาด (Green Technology) มาใช้มากขึ้น เช่น พลังงานจาก แสงอาทิตย์ พลังงานจากน้ำ พลังงานจากลม พลังงานจากชีวมวล เป็นต้น

4 การประมงหรือการจับปลาในมหาสมุทร (Oceanic Fish Catch) การจับสัตว์น้ำทาง ทะเลส่งผลต่อการลดลงของปริมาณกุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 – 1988 อัตราการจับสัตว์น้ำเหล่านี้ เพิ่มขึ้นมาก จาก 19 ล้านตัน มาเป็น 83 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของจํานวนประชากรเสียอีก แต่หลังปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา อัตราการจับปลาก็ลดลง ซึ่งในปี ค.ศ. 1996 ลดลงเหลือ 16 กิโลกรัมต่อคน อย่างไรก็ตาม การจับสัตว์น้ำก็ยังมีมากอยู่ เพราะว่าคนนิยมบริโภคอาหารทะเลกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งอัตราการจับสัตว์น้ำลดลงนั้น เป็นผลมาจากสัตว์น้ำเริ่มลดจํานวนลงและสูญพันธุ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีจํานวนเพิ่มมากขึ้นและยังมีการใช้ ทรัพยากรเหล่านี้อย่างฟุ่มเฟือย นักชีววิทยาทางทะเลได้กล่าวไว้ว่า อัตราการจับสัตว์น้ำในปัจจุบันนี้มีประมาณปี 93 ล้านตัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อจํานวนประชากรโลก และอีกไม่นานมนุษย์เราก็อาจจะมีอาหารเหล่านี้ รับประทานกันได้น้อยลงและยากขึ้น

แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ จะต้องมีมาตรการเพื่อควบคุมการทําประมงนอกน่านน้ำ มีการกําหนดเขตการประมง เขตฤดูปลาวางไข่ และเขตรักษาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ รัฐจะต้องออกกฎหมายห้าม การประมงโดยเครื่องมือทําลายล้างชนิดต่าง ๆ เช่น อวนรุน อวนลาก การระเบิดปลา เป็นต้น โดยให้ชาวประมง หันมาใช้เครื่องมือที่ไม่ทําลายแทน มีการกําหนดความสามารถในการจับสัตว์น้ำของชาวประมงและชนิดของ เครื่องมือทําการประมงที่ชัดเจน กฎหมายควรกําหนดบทบัญญัติในเรื่องการห้ามครอบครองเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรง จากเดิมที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะจับกุมได้ก็ต่อเมื่อมีการลงมือ ทําการประมงแล้วเท่านั้น อีกทั้งจะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสุขอนามัยสัตว์น้ำด้วย

5 งานหรือการมีงานทํา (Jobs) ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้าง งานและตําแหน่งงาน ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โลกมีจํานวนแรงงานเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าคือ จาก 1.2 พันล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2.7 พันล้านคน จากข้อมูลขององค์การแรงงานสากล (The United Nations International Labor Organization : LO) ได้คาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานกว่า 1 พันล้านคน หรือ 30% ของคนในวัยแรงงาน และในช่วงอีกครึ่งศตวรรษต่อไปจะมีคนตกงานประมาณเกือบ 2 พันล้านคน ซึ่งมากกว่าตําแหน่งงาน ที่มีอยู่ประมาณ 1.9 พันล้านตําแหน่ง โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาในประเทศกําลังพัฒนา ทั้งนี้เพราะประเทศ เหล่านั้นมีอัตราการเกิดและจํานวนประชากรมาก และเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจํานวนมากด้วย ในขณะที่ตําแหน่ง งานที่มีอยู่ มีจํานวนอัตราตําแหน่งเติบโตน้อยกว่าแรงงาน

แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ จะต้องมีการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินโดย การจัดทํางบประมาณแบบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง หรือใช้มาตรการทางด้านภาษี โดยการลดภาษี เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคของภาคประชาชนเพิ่มขึ้น และยังจะส่งผลดีต่อการลงทุนและ การจ้างงาน นอกจากนี้รัฐบาลควรมีนโยบายการศึกษาเพื่อวางแผนการศึกษาให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยศึกษา และต้องกําหนดโครงสร้างการศึกษาให้เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ให้การศึกษาที่ ตรงกับความต้องการของตลาดและความจําเป็นของประเทศ เป็นต้น

 

ข้อ 3 เมืองและชุมชนเมือง คืออะไร มีคุณลักษณะที่สําคัญอย่างไร จงอธิบายโดยละเอียด ?

แนวคําตอบ

เมือง (City/Urban มีความหมายดังนี้

– การตั้งถิ่นฐานถาวรขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างถาวร (เช่น บ้านเรือน) มีสิ่ง อํานวยความสะดวกด้านการสาธารณูปโภค (เช่น ประปา ไฟฟ้า ถนน)

– เมืองจะเป็นที่อยู่อาศัยของพลเมืองจํานวนมาก มีความหนาแน่นของประชากรอยู่ใน ระดับสูง ประชากรของแต่ละเมืองจะประกอบไปด้วยคนต่างเพศ ต่างสถานภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม

– เมืองจะมีระบบการบริหารและการปกครองเป็นของตนเอง

– เมืองจะประกอบด้วยองค์กรทางสังคมต่าง ๆ มากมาย

– เมืองจะเป็นศูนย์รวมของขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เช่น ในเชิงทางประวัติศาสตร์ เมืองจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และการศึกษา การตลาดและการพาณิชยกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารขององค์กรเอกชนต่าง ๆ การศาสนาและประเพณี

– เมืองบางแห่งอาจเกิดขึ้นเพื่อทําหน้าที่พิเศษเฉพาะด้าน เช่น เมืองหน้าด่านและป้อมปราการทําหน้าที่ป้องกันตนเองและป้องกันเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบเมืองเดียวกัน

– เมืองกลายเป็นผู้ใช้และผู้ผลิตที่เพิ่มค่าทางเศรษฐกิจของวัตถุดิบและการบริโภค/อุปโภคอย่างมากมาย จนกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สําคัญของประเทศ เช่น การค้า การธนาคาร การบริหารอุตสาหกรรม การขนส่งคมนาคม แหล่งขายปลีก ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของรัฐบาล

ชุมชนเมือง (Urban Community) หมายถึง ชุมชนที่ประกอบไปด้วยคนทุกสถานะทั้งคน รวยและคนจนรวมกันอยู่อย่างแออัดในพื้นที่ มีความสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อนแตกต่างจากสังคมในชนบท และเนื่องจากการที่ชุมชนเมืองจะประกอบไปด้วยผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีจํานวนจํากัด คนในชุมชนเมืองจึงมักจะ มีความเป็นอยู่หนาแน่น จนกระทั่งเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งมักจะมีปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น

คุณลักษณะที่สําคัญ

1 ในฐานะที่เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย ถือเป็นบทบาทโดยทั่วไปของเมืองหรือชุมชนเมือง เพราะเมื่อประชาชนเลือกที่จะอยู่อาศัยในเมืองนั้น ๆ แล้ว เมืองจึงไม่อาจปฏิเสธบทบาทตามความคาดหวังของผู้ ที่อยู่อาศัย ดังนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ของเมืองจะต้องดําเนินไปได้อย่างราบรื่นและเป็นปกติสุข ซึ่งกิจกรรมหลักก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ดิน่ารื่นรมย์ การสร้างให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่เมือง การสร้างกิจกรรมทางสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้คน และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างได้ผล

2 ในฐานะที่เป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค ได้แก่ ความพยายามของประเทศต่าง ๆ ที่จะให้เมืองเป็นศูนย์กลางการติดต่อ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องการให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

3 ในฐานะที่เป็นเมืองนําการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศต่าง ๆ จะใช้ เมืองมหานครซึ่งมีศักยภาพในทางเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม การขนส่ง และการบริการในสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เป็นตัวช่วยให้เกิดการขยายตัวในทางเศรษฐกิจ หรือเหนี่ยวนําให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

4 ในฐานะเป็นเมืองนานาชาติ จากการเป็นเมืองนานาชาติจะเป็นไปเพื่อรองรับความ ต้องการของมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของโลก นอกจากนี้ฐานะที่ ได้เปรียบของเมืองในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศยิ่งจะเอื้อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันได้ ในลักษณะนี้ เมืองมหานครของหลาย ๆ ประเทศจะมีการเชื่อมสัมพันธ์ในกิจกรรมที่สนใจร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อประโยชน์ ในทางเศรษฐกิจ เช่น การเป็นเมืองท่า เมืองพี่เมืองน้อง เมืองพันธมิตร เป็นต้น

 

ข้อ 4 จงวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นต่อการพัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization Development) ในโลกปัจจุบันมาพอสังเขป ? แนวคําตอบ

ความสัมพันธ์ของประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นต่อการพัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization Development) ในโลกปัจจุบัน

สถานการณ์ในปัจจุบันของการอยู่อาศัยของมนุษย์ในโลกนั้นเป็นลักษณะการอยู่อาศัยในโลกแห่ง ชุมชนเมือง (Urban World) กล่าวคือ ปัจจุบันประชากรโลก (World Population) มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งนั้นได้เข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนเมือง โดยเฉพาะเมืองในประเทศกําลังพัฒนานั้น จะมีอัตราการเข้ามาอยู่อาศัยของประชากรเพิ่มมากขึ้นมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จนกระทั่งบางประเทศได้ กลายเป็นชุมชนเมืองไปร้อยเปอร์เซ็นต์เล้ว ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกแห่งชุมชนเมืองอย่าง แท้จริง

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กําหนดให้วันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2011 เป็นวันที่ประชากรโลก มีจํานวนครบ 7 พันล้านคน ซึ่งเรียกว่า “Day of 7 Billion” และในปัจจุบันนี้จํานวนประชากรโลกก็มีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งมนุษย์ทุกคนก็มีความปรารถนาที่ต้องการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ อาหาร และน้ําสะอาด มีบ้านอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่สะอาด และทํางานในสถานที่ที่ปลอดภัย มีการควบคุมป้องกัน

มลพิษตลอดจนพิษภัยอันตรายจากโรคต่าง ๆ มีการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนแต่เนื่องจากความต้องการในการอยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนเมืองมีมาก ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความเป็นเมืองหรือการสร้างบ้านแปลงเมือง ชุมชนเมืองและการอยู่ อาศัยของมนุษย์บนโลกโดยรวม ซึ่งจะทําให้เกิดปัญหาความต้องการในด้านการบริโภค อุปโภค การขาดแคลนและ ทรัพยากรสิ่งจําเป็นพื้นฐานตามมา เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน และทรัพยากรประเภทอื่น ๆ

จากแนวโน้มของประชากรที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของการเจริญเติบโตของชุมชนเมืองที่เพิ่มมากเช่นกัน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชุมชนเมืองจะต้องรับภาระหนักในปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลต่อสังคมและคุณภาพชีวิต เช่น ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความแออัด มลภาวะ ขาดการบริการขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการกระจายโอกาสในด้านต่าง ๆ ไปสู่ประชากรโดยรวม โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและมาตรฐานในการ ใช้ชีวิตซึ่งควรจะมีในสังคมเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของชาตินั้น ๆ

การที่ประชากรในโลกประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แนวทางการแก้ไขปัญหาของสังคมโลกจากการยอมรับในประชาคมนานาชาติในปัจจุบัน ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืน (Sustainable Technologies) การสร้างชุมชนเมือง (Urbanization) และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน (Community-Based Natural Resource Management) โดยเฉพาะการจัดการชุมชนเมืองเป็นสิ่งที่จําเป็น เนื่องจากแนวโน้มพฤติกรรมการอยู่อาศัยของผู้คนที่เข้ามาอยู่รวมกันในชุมชนเมืองอยู่ตลอดเวลา แต่กลุ่มคนที่ได้รับ ผลกระทบหรือเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือคนจนในเมืองที่จําเป็นต้องมีการบริหารจัดการ และการดูแล แก้ไขอย่างเหมาะสม

 

ข้อ 5 ขอให้ท่านอธิบายชุมชนเมืองโดยอาศัยกรอบแนวคิดทฤษฎีชุมชนเมือง (Urban Theory) มา 3 ทฤษฎีหรือ 3 กรอบแนวคิด ?

แนวคําตอบ

นักวิชาการที่สนใจศึกษาเมืองและความเป็นเมือง และได้รวบรวมจนกลายเป็นทฤษฎีชุมชนเมือง (Urban Theory) ซึ่งนักวิชาการที่สําคัญ มีดังนี้

1 George Simmel มีแนวคิดสําคัญเกี่ยวกับทฤษฎีชุมชนเมือง ดังนี้

1) เขียนหนังสือชื่อ “The Culture of the Metropolis” ซึ่งวิเคราะห์ถึงกระบวนการ และธรรมชาติของสินค้าและการแลกเปลี่ยน

2) ให้ความสนใจมหานครที่ทันสมัยและเป็นวัฒนธรรมของชุมชนเมืองโดยทั่วไป

3) ในปี ค.ศ. 1903 เขียนหนังสือชื่อ “The Metropolis and Mental Life” พบว่า แรงกดดันจากมหานครรุนแรงเกินกว่าหรือมิอาจชดเชยด้วยเสรีภาพที่เกิดในเมืองเล็ก ๆ

4) มหานคร (Metropolis) จะเป็นที่รวมหนาแน่นและบูรณาการทั้งมิติของพื้นที่

(Space) และเวลา (Time)

– ความเป็นไปได้ในการดําเนินกิจกรรมและหน้าที่ของคนในชุมชนเมืองมหานครในต้นศตวรรษที่ 20 วิธีหนึ่งคือ จําเป็นต้องใช้นาฬิกาแบบพกพา

(Pocket Watch)

– คนในเมืองอยู่ภายใต้แรงกดดันในที่มีความตรงต่อเวลา

5) ปัจจัยสําคัญในการแลกเปลี่ยนในเมืองสมัยใหม่ คือ เงิน อํานาจที่แฝงเร้น การบูรณาการความหลากหลายของหน้าที่ให้มีความเป็นไปได้

6) คนที่มั่งคั่ง (Wealth) เท่านั้นจะสร้างความมั่นคงในสินค้าหรือบริการได้ โดย

ไม่จําเป็นต้องใช้กําลังไปบังคับหรือจูงใจด้วยอุดมการณ์เช่นในอดีต หรือมีความ เป็นอิสระ แต่ความสัมพันธ์จะอยู่ที่ปัจจัยสําคัญคือ เงิน และเงินสามารถเชื่อมปฏิสัมพันธ์ของผู้คนให้เป็นรูปแบบเดียวกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

2 Walter Benjamin มีทัศนะเกี่ยวกับเมืองคล้ายกับ George Simmel ซึ่งแนวทาง การศึกษาของเขาสนใจที่จะวิเคราะห์ในเชิงปรัชญา การสนทนาถึงธรรมชาติของสัจจะ ศีลธรรม และเงื่อนไขในการ ดํารงอยู่ของมนุษย์ นอกจากนี้เขายังสนใจศึกษาในเชิงวิภาษวิธีที่รู้จักในนาม การวิพากษ์เชิงลึก (Immanent Critique)

Walter Benjamin เขียนหนังสือชื่อ “The Exegetical City” ซึ่งมีแนวคิดสําคัญเกี่ยวกับ ทฤษฎีชุมชนเมือง ดังนี้

1) เมืองมหานครเป็นปัจจัยกระตุ้นสําคัญต่อความคิดของเขาที่สะท้อนออกมาในเรื่องของธรรมชาติของประสบการณ์ของมนุษย์

2) สนใจศึกษาเมืองเนเปิลส์ (Naples) ในประเทศอิตาลี พบว่า

– จะมีศิลปะหรือการออกแบบเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขสิ่งที่มีมาแต่ก่อนหน้านั้นอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นเรื่องของพลวัตในการออกแบบศิลปะของเมือง คือ การไม่มีที่สิ้นสุดในกฎเกณฑ์หรือวิถีชีวิตของเมือง

– มีคุณลักษณะที่เรียกว่า “Porosity” ของตึกรามและบริเวณส่วนตัวส่วนรวม

– เมืองเนเปิลส์ เป็นเมืองที่กําลังพัฒนามากกว่าเมืองใด ๆ ในยุโรป เมืองเป็นโลกความเป็นจริงของชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะของชนชั้นกลาง

3) เมืองมอสโคว์จะคล้ายกับเมืองเนเปิลส์มาก วิถีชีวิตของคนในเมืองจะสบาย ๆไม่เคร่งครัดด้วยกฎระเบียบแบบในเบอร์ลิน

3 Henri Lefebvre มีแนวคิดสําคัญเกี่ยวกับทฤษฎีชุมชนเมือง ดังนี้

1) เขียนหนังสือชื่อ “The Production of City

2) สนใจเชิงสหวิชาทั้งวรรณกรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ ปรัชญา การวางแผน และกําหนดนโยบาย ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ Kart Marx เมืองเป็นระบบย่อย (Sub-System) ของระบบสังคมที่วิวัฒนาการมาสู่ระบบทุนนิยม (จากปฏิสัมพันธ์ ในเครือข่ายการค้า ความคิด การเกษตรกรรมจากชนบทมาสู่เมือง กฎหมาย ระบบการคลัง ฯลฯ)

– ระบบที่มีการจัดการดังกล่าวอาจนําไปสู่ความล้มเหลวได้ ดังนั้นจึงไม่มีระบบใดที่มีอยู่จริงหรือจะใช้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

3) เขียนหนังสือชื่อ “The Right to the City” (สิทธิที่มีต่อเมือง) มองชุมชนเมือง เป็นที่รวมของทุกสิ่ง และการทดลองในสิ่งต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในเมือง

– หนังสือนี้มีอิทธิพลต่อนักคิดหนุ่มสาวทั้งสถาปนิก นักวางแผน นักการเมืองนักวิชาการ ซึ่งส่งผลต่อรายละเอียดของความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองของพื้นที่ และสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองกับเศรษฐกิจสังคมอื่น ๆ

4) มองคล้าย Marx ในแง่ที่ว่า เมือง คือ ที่ที่จะใช้คุณค่าและเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนในคุณค่าตลอดจนการรวมคุณค่าเข้าด้วยกัน

5) เมืองเป็นระบบที่เป็นทางการในเชิงความสัมพันธ์ของการผลิต หรือในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพ มนุษย์ และวัตถุดิบ ซึ่งคุณค่าในการแลกเปลี่ยน คือ ราคาของสินค้าที่ผลิตเพื่อค้าขาย โดยอาศัยปัจจัยการผลิตในเชิงทุนนิยม

6) ในขณะที่มีการใช้ทุนมากขึ้นจึงมีการแปลงทั้งขนาดและพื้นที่ให้เป็นไปในเชิงการค้ามากขึ้น

7) การแบ่งแยกการใช้แรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงยุคต้นทุนนิยม ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ขยายขอบเขตออกไปเหนือเมือง เป็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในขณะที่จะเกิดความแตกต่างระหว่างคนที่มั่งคั่งกับคนจนอย่างสุดขั้ว

8) ด้วยอํานาจและการพิชิตชัยชนะของระบบตลาดหรือทุนนิยมดังกล่าว เมืองจึงเป็นศูนย์กลางของการทํางานในเชิงพาณิชย์และผู้เสียเปรียบทางสังคมที่อยู่อย่างกระจายโดยรอบ โดยไม่สามารถเข้าถึงความมั่งคั่งนั้นได้

9) เรียกเมืองในเชิงทุนนิยมนั้นว่า “สังคมของระบบโครงสร้างที่ได้มีการกําหนดหรือควบคุมการบริโภคไว้แล้ว หรือต่อมานิยมเรียกสังคมผู้บริโภค (Consumer Society)”

10) ตามเหตุผลดังกล่าวสิทธิของผู้บริโภคก็ไม่ได้มีกันทุกคน และการบริโภคก็ไม่ใช่ในเชิงสินค้าหรือการบริการเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งอื่น ๆ เช่น สุนทรียภาพสัญลักษณ์ ฯลฯ

11) ด้วยเหตุที่เมืองพยายามที่จะรวมเอาสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้บริการในเชิงการค้า ดังนั้นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ วิถีชีวิตต่าง ๆ จึงไม่อาจเหลืออยู่ต่อไป หรือยากที่จะเข้าใจ หรือเป็นเพียงการเก็บไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ดูในพิพิธภัณฑ์

12) แนวคิดดังกล่าวเกิดความตระหนักไปทั่วโลกในการศึกษาชุมชนเมืองให้เข้าใจถึงสิ่งที่แตกต่างและรากฐานที่มาของเอกลักษณ์ วัฒนธรรมในเชิงประวัติศาสตร์

13) แนวคิดของเขายังกระตุ้นให้เกิดการตระหนักในเรื่องของอิทธิพลของทั้งความเป็นชนบท และเมืองในระบบทุนนิยมในหมู่นักวางแผน

 

ข้อ 6 การผังเมือง (City Planning) คืออะไร มีคุณค่า ความหมาย ความสําคัญอย่างไรต่อการบริหารชุมชนเมือง หากปราศจากสิ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ?

แนวคําตอบ

การผังเมือง (City Planning) มีความหมายอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1 การวางแผนการเจริญเติบโตล่วงหน้าระยะยาว เพื่อให้เมืองนั้นสามารถดํารงอยู่อย่างยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข มีความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ มีความสมดุลในระบบนิเวศของเมือง

2 การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีเหตุผลโดยการวางกฎระเบียบที่เหมาะสมเพื่อสร้าง ความมั่นใจให้คนในชุมชนเมืองมีชีวิตที่ดี มีคุณค่าในการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในชุมชนเมืองนั้น และเพื่อให้เมือง และการดําเนินกิจกรรมของเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณค่าของการผังเมือง

1 ส่งเสริมให้เมืองพัฒนาไปในแนวทางที่ถูกต้องและมีระเบียบ

2 เพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาเมือง

3 เสริมสร้างให้เกิดประโยชน์สาธารณะโดยรวมในชุมชนเมือง

ความสําคัญของการผังเมืองต่อการบริหารชุมชนเมือง

1 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง มีระเบียบ ทั้งนี้เนื่องจาก การบริหารชุมชนเมืองจะมีหลักแนวคิด ปรัชญาที่ได้นํามาใช้ในการวางแผน เช่น เรื่องการตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดี เรื่องการพัฒนาอย่างสมดุล หรือแผนการดําเนินงานในด้านต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง ซึ่งในขั้นที่จําเป็นที่ต้องขับเคลื่อนเมืองไปสู่อนาคตก็จําเป็นที่จะต้องอาศัยแผนเป็นเครื่องกําหนดทิศทาง ดังนั้นก็ต้องอาศัย หลักการแนวคิดต่าง ๆ ในเชิงวิชาการด้วยเช่นกัน เช่น การออกแบบเมือง จัดการทางด้านสถาปัตยกรรมหรือ ภูมิสถาปัตย์ จัดการทางด้านวิศวกรรมโยธา วิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ตลอดจนมิติทางด้านรัฐศาสตร์ก็ตาม ก็ควรนับเข้ารวมอยู่ในด้านการวางแผนด้วยก็จะทําให้เกิดความครอบคลุมรอบด้าน

2 เพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาเมือง การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ควรที่จะมีความ สมดุล กล่าวคือ ในเมืองควรจะมีความสมดุลทั้งในด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม รวมตลอดทั้งพัฒนา ทางด้านศีลธรรมและจริยธรรมด้วย

3 เพื่อเสริมสร้างให้เกิดประโยชน์สาธารณะโดยรวมในชุมชนเมือง ประโยชน์สาธารณะนั้น ก็จะได้จากการวางแผนที่ดี ซึ่งก็หมายถึง ในรายละเอียดของแผนนั้นจะมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับการเดินทางการศึกษา สําหรับประชาชนที่ต้องการศึกษา สําหรับประชาชนที่ทํางาน ทําธุรกิจ ถ้าเมืองมีการวางแผนไปในทิศทาง ที่ถูกต้องทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์จากการบริหารเหล่านั้นร่วมกัน

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีการผังเมือง

1 ลดพื้นที่ทําการเกษตร ทําลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ

2 นําไปสู่การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว (Private Transport) และเพิ่มจํานวนรถยนต์ส่วนตัวโดยไม่จําเป็น ซึ่งจะนํามาสู่ความแออัดของการจราจร ปัญหามลพิษทางอากาศ เสียง และทัศนียภาพ

3 เกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม

4 นําไปสู่ปัญหาการขาดสายใยทางสังคม (Social Fabric)

5 พื้นที่ชายเมืองที่เคยเป็นปอดของเมืองและแหล่งทัศนียภาพของเมืองที่สร้างความรื่นรมย์จะหดหายไป เป็นต้น

 

ข้อ 7 จงนําเสนอกรอบความคิดตลอดจนแนวทางในการจัดการปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับชุมชนเมืองมาโดยละเอียด ?

แนวคําตอบ

กรอบความคิด

อุทกภัย เป็นหนึ่งในสาธารณภัย โดยคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (2552) ได้ให้ความหมายของอุทกภัยว่าหมายถึง เหตุการณ์ที่มีน้ำท่วมพื้นดินสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งมีสาเหตุจากมี ปริมาณน้ำฝนมากจนทําให้มีปริมาณน้ำฝนส่วนเกินมาเติมปริมาณน้ำผิวดินที่มีอยู่ตามสภาพปกติ จนเกินขีด ความสามารถการระบายน้ำของแม่น้ำลําคลอง และยังมีสาเหตุมาจากการกระทําของมนุษย์ โดยการปิดกันการไหล ของน้ำตามธรรมชาติ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา จนเป็นอันตรายต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

การเกิดอุทกภัยโดยปัจจัยหลักจากธรรมชาติ แบ่งได้ 3 กรณี คือ

1 น้ำจากฟ้า ซึ่งอาจเป็นลักษณะฝน หิมะ ละอองหรือลูกเห็บ

2 น้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ โดยมีการระบายน้ำส่วนเกิน ในปริมาณมากทิ้งไปเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อแหล่งน้ำดังกล่าว หรือเกิดเขื่อนฟังอ่างเก็บน้ำแตก จนทําให้เกิดน้ำหลากขึ้น

3 น้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน เกิดจากระดับน้ำทะเลยกตัวสูงในช่วงน้ำขึ้นแล้วท่วมพื้นที่

โดยตรง และน้ำทะเลไหลย้อนเข้าสู่ลําน้ำ เพิ่มระดับน้ำในลําน้ำจนเอ่อท่วมพื้นที่สองฝั่ง

แนวทางในการจัดการปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับชุมชนเมือง สรุปได้ดังนี้

1 การวางแผนบริหารจัดการอุทกภัย

ชุมชนเมืองมักจะประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจําทุก ๆ ปี เนื่องจากชุมชนเมืองส่วนใหญ่ มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นทางผ่านของแม่น้ำและลําคลองจํานวนมาก และได้รับอิทธิพลจากการขยายตัวเมืองทําให้ กลายเป็นแหล่งธุรกิจและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการไหลและการระบายน้ําออกจากพื้นที่ แม้ปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักในเขตพื้นที่ตัวเมืองจะมีการท่วมขังอยู่บ่อยครั้งก็ตาม ด้วยสรรพกําลังและ ความสามารถในการระบายน้ําของหน่วยงานที่มีอยู่ก็ยอมจะทําให้คลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากเป็นลักษณะของมวลน้ำมหาศาลที่ไหลบ่ามาจากนอกพื้นที่โดยเฉพาะผ่านทางลําคลองที่มีอยู่รอบด้าน ก็จะเป็นการยากที่จะสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ จึงจําเป็นต้องนําไปสู่การกําหนดนโยบายและการวางแผนการจัดการ ปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติในด้านต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ แนวทางการป้องกันและลดผลกระทบการเตรียมความพร้อม ในการรับมือ การเตรียมความพร้อมสําหรับการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงแผนการจัดการหลังจากเกิด ภัยพิบัติทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เช่น การดําเนินการลอกท่อระบายน้ำในเขตชุมชน ขุดลอกคูคลองแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งกําจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่อุทกภัยได้อย่าง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน เป็นต้น

2 การสร้างคันกั้นน้ำถาวร

พื้นที่ที่ติดแม่น้ำส่วนใหญ่ยังไม่มีแนวคันกั้นน้ำที่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง สําคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ดํารงชีวิตและอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการที่มีงบประมาณมหาศาลและยังส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจํานวนมาก ซึ่งจะต้องมีการสํารวจ ผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชน รวมถึงจะต้องเป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนรวมในการตัดสินใจผ่านทางการทําประชาพิจารณ์ และการตรวจสอบความโปร่งใสในการดําเนินการทุกขั้นตอนเสียก่อน เพราะอาจกลายเป็นปัญหากับ ท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงได้

3 การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

การแก้ไขปัญหากับภัยน้ำท่วมนั้นมีความจําเป็นในการสร้างความร่วมมือกับองค์กร ภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อผนึกกําลังต่อสู้กับมวลน้ำที่มีปริมาณมหาศาลที่พร้อมจะเข้า โจมตีเมือง นั่นคือ การขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการในจังหวัด เพื่อดําเนินการ ฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการเตรียมรับมือกับสาธารณภัยในเขตพื้นที่จังหวัด รวมไปถึงการขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่สําคัญ เช่น เครื่องสูบน้ำ อาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น

นอกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ภาคเอกชนนับเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาท สําคัญในการสนับสนุนยุทธปัจจัยในการต่อสู้กับมวลน้ำที่มีปริมาณมหาศาลนี้ ด้วยการสนับสนุนหลายช่องทาง เช่น บริจาคทราย ถุงบรรจุกระสอบทราย เป็นต้น รวมไปถึงสื่อมวลชนที่มีการติดตามและรายงานสถานการณ์ ช่วงเกิดภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง มีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

การสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ำนั้น แม้จะมีระบบ บริหารจัดการที่ดีเพียงใด ย่อมบรรลุผลได้ยาก หากไม่สามารถจัดการคนได้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการความขัดแย้ง และการเฝ้าระวังการทั้งคันกั้นน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่จําเป็นอย่างมากในการสร้างความเข้าใจระหว่างพื้นที่ประสบภัยกับ พื้นที่เหนือแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงการมีมิตรไมตรีที่ดีของผู้อยู่เหนือแนวคันกั้นน้ำในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีการสร้างสิ่งอํานวยความสะดวก เช่น สะพาน การจัดส่งอาหารยาและเวชภัณฑ์ กรณีที่ประชาชนไม่ย้ายเข้าศูนย์อพยพ

นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครหรือกลุ่มจิตอาสาจํานวนมากที่จะเข้าร่วมช่วยเหลือ ทั้งใน เรื่องการกรอกกระสอบทราย การทําอาหาร หรือการจัดกิจกรรมคลายเครียดในศูนย์พักพิงนั้นด้วย

4 การจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว

การจัดเตรียมศูนย์พักพิงเพื่อรองรับกับผู้ประสบภัยจะต้องคํานึงถึงวิถีชีวิตความรู้สึกที่มี ต่อชุมชน และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เป็นสําคัญ โดยมีแนวทางปฏิบัติที่สําคัญ คือ การตั้งศูนย์พักพิง ขนาดเล็กในพื้นที่ขึ้น นอกจากจะทําให้การบริหารจัดการความคล่องตัวสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังทําให้การบริการมี ความใกล้ชิด เป็นกันเอง สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของคนในแต่ละพื้นที่เป็นสําคัญ โดยอาจจะอาศัยสถานที่ที่ มีความเป็นสาธารณะและผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น โรงเรียน วัด มัสยิด อาคารหน่วยงานราชการใน พื้นที่ เป็นต้น

 

ข้อ 8 จงอธิบายถึงปรัชญาและกรอบแนวคิดการบริหารชุมชนเมือง ตลอดจนแนวทางในการบริหารชุมชนเมืองใด ๆ มาโดยสังเขป แต่ให้เห็นเป็นรูปธรรม ?

แนวคําตอบ

การบริหารชุมชนเมืองใด ๆ นั้น ควรที่จะต้องคํานึงถึงปรัชญาทางการบริหาร กรอบแนวคิด ด้านการบริหาร แนวทางในการบริหาร ตลอดจนการวางแผนการบริหาร

ปรัชญาทางการบริหาร

ปรัชญาทางการบริหาร คือ การที่ต้องเข้าใจว่าเมืองนั้นคือที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และมนุษย์เข้ามาอยู่ในเมืองเพราะเห็นว่าเมืองนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของตนได้มากกว่าชนบท ดังนั้นปรัชญาทางการบริหารนั้นก็ต้องยึดถือหลักการว่า เมืองนั้นจะตอบสนองความจําเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ให้ได้ ซึ่งปรัชญาทางการบริหารนั้น ประกอบด้วย

1 ความเข้าใจในระบบนิเวศ คือ การเข้าใจในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ในบริเวณชุมชนเมืองนั้นโดยยึดเอาผู้อยู่อาศัยหรือคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งต้องทําให้ระบบนิเวศของเมืองมีความสมดุลกัน

และตระหนักว่าในระบบนิเวศของเมืองนั้นถือว่าทุกหน่วยของสิ่งมีชีวิต (ไม่ว่าจะเป็นคน, พืช, สัตว์) และสิ่งไม่มีชีวิต \ (เช่น ที่ดิน, ภูมิอากาศ, โครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น) มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และมีผลซึ่งกันและกันทั้งโดยทางตรง หรือทางอ้อม และมองว่าทุก ๆ ส่วนในระบบนิเวศมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน

2 ต้องตอบสนองปัจจัยพื้นฐาน คือ เมืองจะต้องตอบสนองความจําเป็นพื้นฐานในเรื่อง ของปัจจัย 4 ซึ่งได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม หรือสามารถตอบสนองในเรื่องความต้องการ ตามลําดับขั้นของมนุษย์ 5 ลําดับขั้นได้ คือ

1) ความต้องการทางด้านกายภาพ/ชีวภาพ

2) ความต้องการความปลอดภัยในชีวิต

3) ความต้องการที่จะเข้าร่วมในสังคม

4) ความต้องการที่จะได้รับความสําเร็จในหน้าที่การงาน

5) ความต้องการที่จะได้รับความสําเร็จในชีวิตตามอุดมการณ์ที่ตัวเองได้ตั้งไว้

 

3 พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ/สังคม/จิตวิทยา คือ การเข้าใจพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคม/จิตวิทยา ในชุมชนเมืองนั้นว่าเป็นอย่างไร

พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ/สังคม/จิตวิทยา ได้แก่

– ลักษณะโครงสร้างประชากร

– ลักษณะความคิด/ความเชื่อ/ค่านิยม

– ลักษณะการทํางานเป็นทีม/เด่นคนเดียว

– ลักษณะอาชีพที่นิยม

– ลักษณะวัฒนธรรม/ประเพณี

– ลักษณะชอบอยู่โดด เป็นหมู่พวก/เป็นย่าน

– ลักษณะชีวิตเป็นแบบอยู่นิ่ง/ผจญภัย/ขอบแข่งขัน/ประกอบการ เป็นต้น

4 ศักยภาพดั้งเดิม คือ การเข้าใจในลักษณะทางกายภาพและคุณค่าทางความคิดที่สามารถนํามาบูรณาการและพัฒนาได้ กล่าวคือ ในลักษณะทางกายภาพจะต้องเข้าใจถึง

– ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชนเมืองว่าเป็นลักษณะใด เป็นแบบแหล่ง/ย่าน/ ปากน้ำ/ปากอ่าว/ศูนย์กลางทางทะเล เป็นต้น

– โครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งได้แก่ เป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค/ท่าเรือน้ำลึก

โครงการการพัฒนา หรือในทางด้านประวัติศาสตร์ คือ การฟื้นฟูประเพณีตามแต่ โบราณ หรือการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น

สําหรับด้านคุณค่าทางความคิดนั้นจะต้องคํานึงถึงจิตวิญญาณ เป้าหมายเจตจํานงหรือ วิสัยทัศน์ทางการพัฒนาในแง่ต่าง ๆ ตลอดจนการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ แล้วนํามาเผยแพร่และนําไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น

5 บทบาทของเมือง คือ การวางตําแหน่งของเมือง และการกําหนดบทบาทของเมืองว่าจะเป็นเมืองในลักษณะใด เช่น การเน้นบทบาทของเมืองที่จะเป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว เมืองพาณิชยกรรม หรือเมืองสําหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

6 แนวคิดความยั่งยืน คือ การพัฒนาให้มีความยั่งยืน และไม่ผลักภาระไปให้คนรุ่นหลัง เป็นการพัฒนาอย่างสมดุลที่คํานึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างครอบคลุมทุก ๆ ด้าน คือ ต้องพัฒนาทางด้านสังคม ทางด้าน การศึกษา ทางด้านการเมือง การขนส่ง ไม่ใช่เน้นพัฒนาทางด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว หรือพัฒนาทางด้าน ความทันสมัยอย่างเดียว

กรอบด้านการบริหาร ในการบริหารชุมชนเมืองใด ๆ จะต้องคํานึงถึงกรอบทางด้านการบริหาร ดังนี้

1 ทางด้านเศรษฐกิจ คือ กิจกรรมในทางเศรษฐกิจของเมืองนั้น เมืองควรจะเป็นแหล่ง

– ตลาด/แหล่งแรงงาน/แหล่งสร้างแรงงาน

– แหล่งผลิต/จําหน่ายจ่ายแจก/แลกเปลี่ยน

– ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค/ประเทศ/โลก

 

2 ทางด้านสังคม คือ การคํานึงถึงคนที่อยู่ในเมืองต้อง

– อยู่อย่างผาสุกบนความเท่าเทียมกัน

– มีกิจกรรมทางสังคม/มีสวัสดิการความปลอดภัย/มีเกียรติภูมิ/มีส่วนร่วม

 

3 ทางด้านการเมือง ในการบริหารชุมชนเมืองจะต้องคํานึงถึงทางด้านการเมือง คือ

1) การเมืองขององค์กรการบริหาร

– อาจแบ่งได้เป็น 3 ระบบ คือ ระบอบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และ ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

– ระบบการเมืองในฐานะที่ช่วยเหลือ/การให้อิสระในการบริหารงาน

2) การเมืองในฐานะความเป็นพลเมือง (ในประชาคมเมือง)

– ขบวนการเคลื่อนไหวพื้นฐาน หรือ Basic Movement

– ประชาสังคม (Civil Society)

– ธรรมาภิบาล (Good Governance) สาระสําคัญในการปฏิบัติงานหรือแนวทางในการบริหาร

การปฏิบัติงานหรือการบริหารชุมชนเมือง ซึ่งถือเป็นฝีมือของผู้บริหารและความสําเร็จโดยรวม ของคนในเมืองนั้น โดยมุ่งตอบสนองต่อผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนนั้นเป็นหลัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสําคัญ 3 ประการ ดังนี้

1 เกียรติภูมิ คือ การทําให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมีเกียรติภูมิ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ตนเองเป็นคนท้องถิ่นนั้น

2 ความรับผิดชอบ คือ การที่คํานึงถึงว่าตัวเองมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง ถ้าทํางาน ผิดพลาดควรรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือมีการปรับปรุงแก้ไข

3 ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ แผนงานต้องบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องใช้จ่ายเงินของภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้จากประชาชนอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

การวางแผนการบริหารงาน

– การนําเอาปรัชญา/ระบบวิธีคิดมาวางแผน

– การจัดวางระบบความสัมพันธ์ของโครงสร้างเบื้องบน (Super Structure)

– วางแผนทางด้านสังคม/เศรษฐกิจ

– วางแผนการใช้พื้นที่ในการปฏิบัติคือการใช้ผังเมือง

 

ข้อ 9 ปัญหาของการจัดการจราจรและการขนส่งในชุมชนเมืองอยู่ที่ไหนอย่างไร ? แนวคําตอบ

ปัญหาของการจัดการจราจรและการขนส่งในชุมชนเมือง

1 ปัญหาการให้บริการขนส่ง เป็นปัญหาที่มีผลทําให้การบริการขนส่งไม่บรรลุผล มีอุปสรรค หรือปรากฏในลักษณะความไม่แน่นอนในการบริการ (Unreliable Service) ซึ่งได้แก่ ปัญหาความแออัด ปัญหาความจุ ของการขนส่งไม่เหมาะสม ปัญหาราคาการขนส่งที่แพง ปัญหาความปลอดภัย ปัญหาความสะดวกสบาย เป็นต้น

2 ปัญหาผลกระทบภายนอกจากการจราจรและการขนส่ง เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ เสียง ทัศนะที่มองเห็น (Visual Intrusion) ภาพสถานที่ ยานยนต์ ตลอดจนสิ่งอํานวยความสะดวกที่มีสภาพไม่น่าดู หรือไม่เป็นระเบียบสวยงาม หรืออาจเป็นผลกระทบด้านราคาที่ดินสูงขึ้น และผลกระทบต่อโครงสร้างสังคมและ ชุมชนจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วไม่เหมาะสมที่เกิดจากการจราจรและการขนส่ง

3 ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งเอง เป็นปัญหาที่กลับมาสร้างความยุ่งยากให้กับ การจราจรและการขนส่งในเมือง ซึ่งได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วทําให้การบริการไม่มีประสิทธิภาพ จนผู้ใช้ไม่นิยมใช้บริการจึงต้องเลิกกิจการไป หรือเมืองที่ขยายตัวจากการอพยพเข้ามาอยู่อาศัย จากชนบทส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างไม่สิ้นสุด จนในที่สุดก็ส่งผลต่อขีดความสามารถในการ ให้บริการ เช่น ปัญหาการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่ตามชานเมืองและจังหวัดเขตติดต่อกรุงเทพฯ ปัญหาการกระจาย ความเจริญ รายได้ การพัฒนาอุตสาหกรรม การใช้รถยนต์ส่วนตัว การใช้ที่ดิน ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

 

ข้อ 10 จงอธิบายถึงแนวทางการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและการขนส่งในชุมชนเมืองที่มีและใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มาโดยละเอียด ?

แนวคําตอบ

ยอดพล ธนาบริบูรณ์ ได้รวบรวมระบบวิธีการและเทคนิคในการจัดการจราจรและการขนส่ง ที่ใช้ในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก รวมประมาณ 66 วิธีการ โดยจําแนกได้เป็น 6 มาตรการใหญ่ ๆ ได้แก่

1 การสร้างข้อจํากัดในการจราจร (Traffic Constrain Techniques) มี 12 วิธีการ เช่น เลขคู่และเลขคี, ระบบเซลล์จราจร, ภาษีผู้ใช้, ถนนคนเดิน เป็นต้น

2 การปรับปรุงระบบการขนส่งสาธารณะ (Public Transportation Improvement Techniques) มี 25 วิธีการ เช่น ถนนสําหรับรถบัสเท่านั้น, ทางรถบัส, ลําดับความสําคัญการขนส่งที่สัญญาณไฟ จราจร, กลยุทธ์การจัดการการขนส่งพิเศษ, ตัวรวมกัน, รถบัสสองชั้น, Superbus เป็นต้น

3 การใช้มาตรการด้านเวลากับการขนส่ง (Peak-Period Dispersion Techniques) มี 3 วิธีการ เช่น การย้ายชั่วโมงทํางาน, สัปดาห์ทํางานที่สั้นลง เป็นต้น

4 การร่วมเดินทางไปด้วยกัน (Ride Sharing Techniques) มี 5 วิธีการ เช่น การ รวมกลุ่มกันใช้รถคันเดียว, โปรแกรมการใช้รถร่วมกัน เป็นต้น

5 มาตรการควบคุมการจอดรถ (Parking Control Techniques) มี 17 วิธีการ เช่น จอดแล้วโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ (Park and Ride), ภาษีที่จอดรถ, ที่จอดรถผู้โดยสาร เป็นต้น

6 มาตรการควบคุมการใช้ที่ดิน (Land Use Control Techniques) มี 4 วิธีการ เช่น การย้ายโรงเรียนออกนอกตัวเมือง, เมืองใหม่, การย้ายอาคารผู้โดยสาร เป็นต้น

Advertisement