การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3314 การบริหารชุมชนเมือง

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 7 ข้อ ให้เลือกทําเพียง 4 ข้อ โดยระบุข้อที่ทําให้ชัดเจน

ข้อ 1 การเพิ่มของประชากรโลกในปัจจุบันซึ่งมีอยู่ถึง 7,500 ล้านคนได้ส่งผลให้เกิดอะไรอย่างไรบ้าง จงอธิบายและยกตัวอย่าง

แนวคําตอบ (คําบรรยาย)

ผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก มีดังนี้

1 ด้านแหล่งน้ำจืด (Fresh Water) เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำจืด เพราะว่ามนุษย์ก็จะพยายามขยายพื้นที่อยู่อาศัยออกไปเรื่อย ๆ อาจจะถมที่ดินหรือสร้างบ้านจัดสรรก็ทําให้ เกิดการบุกรุกเบียดเบียนแหล่งน้ำจืด ส่งผลให้ระบบวงจรของน้ำที่ระเหยจากแหล่งน้ำเป็นไอน้ำขึ้นไปกลายเป็นเมฆ แล้วก็กลั่นตัวลงมาเป็นฝนมีปริมาณลดน้อยลง 74% ตั้งแต่ปี 1950 และคาดการณ์ว่าจะถึงปี 2050 ซึ่งจะส่งผลกระทบ ต่อแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น เขื่อน แม่น้ำ ฯลฯ ในหลาย ๆ ประเทศก็ประสบกับปริมาณน้ำลดน้อยถอยลงและแห้งแล้ง หรือบางภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกในบางฤดูกาลก็เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากการบุกรุกแหล่งกักเก็บน้ำต่าง ๆ และทําลายป่าไม้ด้วย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะประสบกับปัญหาปริมาณน้ำลดน้อยถอยลง ปริมาณน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภคที่จะส่งไปยังประชากรก็ลดลงด้วย ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าแหล่งน้ำจืดเพื่อการบริโภคอุปโภคจะมี ปัญหาส่งผลกระทบต่อน้ำเพื่อการชลประทาน และอัตราของน้ำเฉลี่ยต่อคนก็จะลดน้อยถอยลง

2 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์มักจะมี ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ด้วย เช่น มีแม่น้ำ ลําธาร ป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า พืชพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นอาหารของปลาและ สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบห่วงโซ่อาหาร เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนเกิดความแห้งแล้ง พื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหล่านี้ก็เกิดปัญหาความเดือดแห้งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อประมาณ 65 ล้านกว่าปี ที่ผ่านมานี้ สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ได้สูญพันธุ์ไป 100 – 1000 เท่า ซึ่งนอกจากภัยธรรมชาติแล้วยังเกิดจากมนุษย์ ที่ทําลายด้วย อย่างในพื้นที่ชุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์อาจเคยมีนกเป็ดน้ำ สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ นับวันก็จะลดน้อยถอยลงและสูญพันธุ์ไป รวมทั้งสัตว์ป่าบางชนิดก็จะสูญพันธุ์ไปด้วย เช่น กูปรี ละมั่ง เลียงผา จามรี เป็นต้น

3 ด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อนหรือภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการกระทําของมนุษย์ และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากสังคมเมืองและภาคอุตสาหกรรม ที่ปล่อยมลพิษหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเกิดการสะสมและทําลายชั้นโอโซน (Ozone Layer) ซึ่งเรียกว่า “ภาวะเรือนกระจก” ก็มีแนวโน้มทําให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบทําให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อแหล่งอาหาร สภาวะทางธรรมชาติ และตัวมนุษย์เราเองด้วย

4 ด้านการประมงหรือการจับปลาในมหาสมุทร (Oceanic Fish Catch) การจับสัตว์น้ำทางทะเลส่งผลต่อการลดลงของปริมาณกุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ตั้งแต่ปี 1950 – 1988 อัตราการจับสัตว์น้ำเหล่านี้ เพิ่มขึ้นมากจาก 19 ล้านตัน มาเป็น 88 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของจํานวนประชากรเสียอีก แต่หลังปี 1988 เป็นต้นมาอัตราการจับปลาก็ลดลง ซึ่งในปี 1996 อัตราการจับสัตว์น้ำเหล่านี้ลดลงถึง 16 กิโลกรัม/คน ลดลง ประมาณ 9% อย่างไรก็ตามการจับสัตว์น้ำก็ยังมีมากอยู่ เพราะว่าคนนิยมบริโภคอาหารทะเลกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งอัตราการจับสัตว์น้ำลดลงนั้น เป็นผลมาจากสัตว์น้ำเริ่มลดจํานวนลงและสูญพันธุ์ ก็ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีจํานวน เพิ่มมากขึ้นและยังมีการใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างฟุ่มเฟือย นักชีววิทยาทางทะเลได้กล่าวไว้ว่า อัตราการจับสัตว์น้ำ

ในปัจจุบันนี้มีประมาณปี 93 ล้านตัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อจํานวนประชากรโลก อีกหน่อยมนุษย์เราก็อาจจะมีอาหารเหล่านี้รับประทานกันน้อยลงและยากขึ้น

5 ด้านการมีงานทําหรือการจ้างงาน (Jobs) ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานและตําแหน่งงาน ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้มีจํานวนแรงงานเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว ประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานของโลกจาก 1.2 พันล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 2.7 พันล้านคน องค์การแรงงาน ระหว่างประเทศได้คาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานถึง 1 พันล้านคน พอถึงครึ่งศตวรรษที่ 21 นี้ (ประมาณปี 2050) จะมี คนตกงานประมาณเกือบ 2 พันล้านคน ซึ่งมากกว่าตําแหน่งงานที่มีอยู่ประมาณ 1.9 พันล้านตําแหน่ง และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นปัญหาในสังคมที่กําลังพัฒนา เพราะว่ามีอัตราการเกิดและจํานวนประชากรมาก และก็เข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นจํานวนมากด้วย ในขณะที่ตําแหน่งงานที่มีอยู่ มีจํานวนอัตราตําแหน่งเติบโตน้อยกว่าแรงงานเสียอีก

6 ด้านพื้นที่การเพาะปลูก (Cropland) ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ผ่านมาอัตราการเพิ่มประชากรโลกมีจํานวนมากกว่าพื้นที่การเพาะปลูกต่าง ๆ พื้นที่การเพาะปลูกโดยเฉลี่ยต่อจํานวนประชากรที่มีจํานวนลดน้อยถอยลง ซึ่งก็ได้ส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าอาหารหรือตลาดอาหารต่าง ๆ ด้วย หากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกก็ยิ่งทําให้พื้นที่เพาะปลูกและผลิตผลมีจํานวนลดน้อยลงไป

7 ด้านป่าไม้ (Forests) การที่มีจํานวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทําให้เกิดการบุกรุกตัดไม้ ทําลายพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น เพื่อการเพาะปลูกต่าง ๆ ที่อยู่อาศัย และการขยายตัว ของเมือง เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่ป่ามีจํานวนลดน้อยลง และพื้นที่ป่าต่อประชากรหนึ่งคนก็ลดลงด้วย โดยเฉพาะ ในประเทศกําลังพัฒนา แต่ก็มีบางพื้นที่ที่มีจํานวนป่าเพิ่มขึ้นคือ ยุโรป และรัสเซีย

8 ด้านที่อยู่อาศัย (Housing) การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกมีแนวโน้มเติบโตและรวดเร็วมาก ความต้องการที่อยู่อาศัยหรือการสร้างบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยก็เพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาโดยทั่วไปของมนุษย์ที่ต้องการ มีที่อยู่อาศัยคือ ที่อยู่อาศัยมักจะมีราคาสูงมากอย่างเช่นในเมือง ที่ดินก็จะมีราคาแพงมากส่งผลให้บ้านก็มีราคาแพง ตามไปด้วย ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยในสังคมเมืองก็หาซื้อได้ลําบาก จึงจําเป็นต้องอยู่อาศัยในที่มีพอดํารงชีพได้ ซึ่งก็มักจะเป็นแหล่งชุมชนแออัด ซึ่งอาจเกิดจากการขาดการวางผังเมือง หรือการใช้ที่ดินไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดปัญหา ความแออัด แหล่งเสื่อมโทรม ปัญหาของเสียและของเหลือใช้ต่าง ๆ เป็นต้น

9 ด้านพลังงาน (Energy) ในช่วง 200 กว่าปีมานี้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ก็เริ่มมีการใช้พลังงานต่าง ๆ ที่มีความทันสมัยมากขึ้น จากเดิมที่ใช้พื้น ถ่านกลายมาเป็นใช้น้ํามัน ก๊าซ ฯลฯ และยิ่งมี การพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาเมืองและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งพัฒนาความทันสมัยในด้านต่าง ๆ แล้ว ก็ยิ่งมีความต้องการที่จะใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะใช้พลังงานที่มาจากน้ำมันและก๊าซมาก แต่ไม่ค่อย พัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากนัก เช่น พลังงานแสงแดด พลังงานใต้ผืนพิภพ พลังงานลม เป็นต้น ก็เพิ่งจะเริ่มมีการตื่นตัวในการพัฒนาไม่กี่ปีมานี้เอง ซึ่งความเป็นเมืองนี้เองที่เป็นศูนย์กลางทําให้มีการใช้พลังงาน อย่างมาก ความต้องการในการใช้พลังงานของประชากรโลกก็มีจํานวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากว่าประเทศกําลังพัฒนา ก็มักจะพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและมีการใช้พลังงานเป็นอย่างมากด้วย ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าช และน้ำมัน ซึ่งได้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การที่มีความต้องการใช้พลังงานมาก ก็ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานชีวมวลด้วย จากที่เคยปลูกพืชเพื่อการบริโภคก็ต้องปลูกพืชเพื่อผลิตเป็นพลังงาน เช่น การปลูกอ้อย มันสําปะหลัง และข้าวโพด ฯลฯ เพื่อนําไปผลิตเป็นพลังงานที่เรียกกันว่า ไบโอดีเซล เป็นต้น

10 ด้านการสร้างชุมชนเมืองหรือพัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization) ประชากรโลก มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งมนุษย์ทุกคนก็มีความปรารถนาที่ต้องการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ อาหารและน้ำสะอาด มีบ้านอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่สะอาด และทํางานในสถานที่ที่ปลอดภัย มีการควบคุมป้องกันมลพิษตลอดจนพิษภัยอันตรายจากโรคต่าง ๆ มีการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนแต่เนื่องจากความต้องการ ในการอยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนเมืองมีมาก ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความเป็นเมืองหรือการสร้างบ้านแปลงเมือง ชุมชนเมืองและการอยู่อาศัยของมนุษย์บนโลกโดยรวม ซึ่งจะทําให้เกิดปัญหาความต้องการในด้านการบริโภค อุปโภค การขาดแคลน ทรัพยากรและสิ่งจําเป็นพื้นฐานตามมา เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน และทรัพยากรประเภทอื่น ๆ เป็นต้น

ข้อ 2 จงอธิบายความหมายและความสําคัญของ “เมือง” และ “ชุมชนเมือง” ต่อสังคมมนุษย์โลกมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 47309 หน้า 39, 55, 59 – 60)

นิยามและการเกิดขึ้นมาของเมืองหรือชุมชนเมือง เมือง (City/Urban) มีความหมายดังนี้ คือ

– การตั้งถิ่นฐานถาวรขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างถาวร (อันได้แก่ บ้านเรือน) มีสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการสาธารณูปโภค (เช่น ประปา ไฟฟ้า และถนน เป็นต้น)

– เมืองจะเป็นที่อยู่อาศัยของพลเมืองจํานวนมาก มีความหนาแน่นของประชากรอยู่ในระดับสูง ประชากรของแต่ละเมืองจะประกอบไปด้วยคนต่างเพศ ต่างสถานภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม

– เมืองจะมีระบบการบริหารและการปกครองเป็นของตนเอง

– เมืองจะประกอบด้วยองค์กรทางสังคมต่าง ๆ มากมาย

– เมืองจะเป็นศูนย์รวมของขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เช่น ในเชิงทางประวัติศาสตร์ เมืองจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และการศึกษา การตลาดและการพาณิชยกรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารขององค์กรเอกชนต่าง ๆ การศาสนาและประเพณี

– เมืองบางแห่งอาจเกิดขึ้นเพื่อทําหน้าที่พิเศษเฉพาะด้าน เช่น เมืองหน้าด่านและป้อมปราการทําหน้าที่ป้องกันตนเองและป้องกันเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบเมืองเดียวกัน

– เมืองกลายเป็นผู้ใช้และผู้ผลิตที่เพิ่มค่าทางเศรษฐกิจของวัตถุดิบและการบริโภค/อุปโภคอย่างมากมาย จนกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สําคัญของประเทศ เช่น การค้า การธนาคาร การบริหารอุตสาหกรรม การขนส่งคมนาคม แหล่งขายปลีก ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของรัฐบาล

Urban คือ เมืองหรือชุมชนเมือง (Urban Community) คือ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีสาระสําคัญหรือจุดร่วมของความเป็นเมือง อันได้แก่ ความเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ ความหนาแน่น วิถีชีวิต หรือในแง่ของการเมืองการบริหาร เป็นต้น

ความสําคัญของเมืองหรือชุมชนเมือง มีดังนี้

1 ในฐานะที่เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย หน้าที่นี้ถือเป็นบทบาทโดยทั่วไปของเมืองหรือ ชุมชนเมือง เพราะเมื่อประชาชนเลือกที่จะอยู่อาศัยในเมืองนั้น ๆ แล้ว เมืองจึงไม่อาจปฏิเสธบทบาทตามความคาดหวังของผู้ที่อยู่อาศัย ดังนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ของเมืองจะต้องดําเนินไปได้อย่างราบรื่นและเป็นปกติสุข ซึ่งกิจกรรมหลักได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ดีน่ารื่นรมย์ การสร้างให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์แก่เมือง การสร้างกิจกรรมทางสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างได้ผล

2 ในฐานะที่เป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค ได้แก่ ความพยายามของประเทศต่าง ๆ ที่จะให้เมืองเป็นศูนย์กลางการติดต่อ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องการให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3 ในฐานะเป็นเมืองนานาชาติ จากการเป็นเมืองนานาชาติจะเป็นไปเพื่อรองรับความ ต้องการของมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของโลก นอกจากนี้ฐานะที่ได้เปรียบของเมืองในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศยิ่งจะเอื้อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันได้ ในลักษณะนี้ เมืองมหานครของหลาย ๆ ประเทศจะมีการเชื่อมสัมพันธ์ในกิจกรรมที่สนใจร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อประโยชน์ ในทางเศรษฐกิจ เช่น การเป็นเมืองท่า เมืองพี่เมืองน้อง เมืองพันธมิตร เป็นต้น

4 ในฐานะที่เป็นเมืองน้ำการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศต่าง ๆ จะใช้ เมืองมหานครซึ่งมีศักยภาพในทางเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม การขนส่ง และการบริการในสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เป็นตัวช่วยให้เกิดการขยายตัวในทางเศรษฐกิจ หรือเหนี่ยวนําให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อ 3 คํากล่าวในยุคร่วมสมัยที่ว่า “ปัญหาของสังคมโลกคือปัญหาของสังคมเมือง” คืออะไร อย่างไรจงอธิบาย ?

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 47309 หน้า 182 – 187)

ปัญหาของสังคมโลกคือปัญหาของชุมชนเมือง

มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาที่ต้องการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ อาหาร และน้ำสะอาด มีบ้านอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่สะอาด และทํางานในสถานที่ที่ปลอดภัยมีการควบคุมป้องกันมลพิษ ตลอดจนพิษภัยอันตรายจากโรคต่าง ๆ มีการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน แต่เนื่องจากความต้องการในการอยู่อาศัย ของประชาชนในชุมชนเมืองมีมากประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว ส่งผลให้สภาวะแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเกิดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในเมือง

การวิเคราะห์ปัญหาของสังคมโลกในปัจจุบัน นอกจากจะพิจารณาปัจจัยรอบด้านในเชิงระบบ แล้วก็อาจพิจารณาปัญหาโดยจําแนกแยกส่วนวิเคราะห์ หรือการขีดวงจํากัดในการพิจารณาและแก้ไขปัญหาด้วยก็ได้ ซึ่งชุมชนเมืองเป็นระบบของสังคมหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในแง่รับ และในแง่ส่งผลต่อปัจจัยใน ส่วนย่อย หรือส่วนใหญ่ที่เป็นสิ่งแวดล้อมของระบบเมือง ในขณะเดียวกันภายในระบบของเมืองเองก็มีปฏิสัมพันธ์ ที่ส่งผลและรับผลซึ่งกันและกันด้วย

 

สถานการณ์ที่เป็นปัญหาสําคัญของโลก มี 5 ประการ คือ

1 ความยากจนข้นแค้นท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องความจนนี้ Macawber ได้ให้ ทัศนะไว้ในลักษณะการกําหนดระดับ/ขนาดหรือเกณฑ์มาตรฐานแบ่งความไม่จนออกจากความจนว่า ความจนอาจมี ปัจจัยที่สําคัญเป็นเครื่องบ่งชี้ ได้แก่ในด้านเศรษฐกิจ เช่น ความไม่มีอํานาจและต้องพึ่งพาผู้อื่น ขัดสนหรือจนในแง่ ของสุขภาพอนามัย การได้รับการศึกษาอย่างไม่พอเพียง การไม่มีความสะอาดของที่อยู่อาศัย ความเป็นส่วนตัว หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เป็นต้น

คนจนในเมือง (Urban Poor) หรือคนระดับล่าง (Urban Underclass) คือ กลุ่มประชากร ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองตามย่านต่าง ๆ ซึ่งตกอยู่ในภาวะความยากจนมาช้านาน โดดเดี่ยวจากสังคม ผืนวิถี ของปทัสถานและค่านิยมอันดีงามของสังคมและเป็นผู้ที่สิ้นหวัง

2 ความทรุดโทรมของสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ ดิน และสารเคมี หรือปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่ เป็นอาหารและเพื่อเป็นพลังงาน หรือควรที่จะอนุรักษ์ไว้เพื่อใช้ในระยะยาวและเพื่อการศึกษาวิจัย

3 ปัญหาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เป็นปัญหาในเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ใน สังคมและชุมชน โดยต้องพิจารณาปัญหาทั้งระบบในภาพรวมทั้งประเทศหรือโลก เช่น ปัญหาการขาดการวางผังเมือง หรือการใช้ที่ดินไม่ถูกต้อง ปัญหาความแออัดแหล่งเสื่อมโทรม ปัญหาของเสียและของเหลือใช้ต่าง ๆ เป็นต้น

4 ปัญหาการเสื่อมศรัทธาในสถาบันต่าง ๆ เป็นปัญหาเชิงระบบของชุมชนที่เปลี่ยนแปลง และการขยายตัวโดยขาดทิศทาง เช่น ปัญหาการปฏิเสธค่านิยมแบบดั้งเดิม การแยกตัวของคนรุ่นหนุ่มสาว การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

5 ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเงิน และการจ้างงานต่าง ๆ อาจจําแนกสาเหตุหลักได้ 2 ประการ คือ

– การเพิ่มขึ้นของจํานวนประชากร ได้ก่อให้เกิดปัญหาความต้องการในการบริโภค การขาดแคลนทรัพยากร และสิ่งจําเป็นพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน เป็นต้น

– การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้ก่อให้เกิดความ ต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานชีวิตให้สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรเกินความจําเป็นพื้นฐานของตน อย่างสิ้นเปลืองด้วย

ข้อ 4 จงอธิบายเมืองและชุมชนเมือง โดยอาศัยกรอบความคิดเชิงทฤษฎี ไม่ว่าจากศาสตร์สาขาใดมาโดยละเอียด

แนวคําตอบ (คําบรรยาย)

นักวิชาการที่สนใจศึกษาเมืองและความเป็นเมือง และได้รวบรวมจนกลายเป็นทฤษฎี ชุมชนเมือง (Urban Theory) ซึ่งนักวิชาการที่สําคัญ มีดังนี้

  1. George Simmel มีแนวคิดสําคัญเกี่ยวกับทฤษฎีชุมชนเมือง ดังนี้

1) เขียนหนังสือชื่อ “The Culture of the Metropolis” ซึ่งวิเคราะห์ถึงกระบวนการและธรรมชาติของสินค้าและการแลกเปลี่ยน

2) ให้ความสนใจมหานครที่ทันสมัยและเป็นวัฒนธรรมของชุมชนเมืองโดยทั่วไป

3) ในปี ค.ศ. 1903 เขียนหนังสือชื่อ “The Metropolis and Mental Life” พบว่า แรงกดดันจากมหานครรุนแรงเกินกว่าหรือมิอาจชดเชยด้วยเสรีภาพที่เกิดในเมืองเล็ก ๆ

4) มหานคร (Metropolis) จะเป็นที่รวมหนาแน่นและบูรณาการทั้งมิติของพื้นที่ (Space) และเวลา (Time)

– ความเป็นไปได้ในการดําเนินกิจกรรมและหน้าที่ของคนในชุมชนเมืองมหานครในต้นศตวรรษที่ 20 วิธีหนึ่งคือ จําเป็นต้องใช้นาฬิกาแบบพกพา (Pocket Watch)

– คนในเมืองอยู่ภายใต้แรงกดดันในที่มีความตรงต่อเวลา

5) ปัจจัยสําคัญในการแลกเปลี่ยนในเมืองสมัยใหม่ คือ เงิน อํานาจที่แฝงเร้นการบูรณาการความหลากหลายของหน้าที่ให้มีความเป็นไปได้

6) คนที่มั่งคั่ง (Wealth) เท่านั้นจะสร้างความมั่นคงในสินค้าหรือบริการได้ โดยไม่จําเป็นต้องใช้กําลังไปบังคับหรือจูงใจด้วยอุดมการณ์เช่นในอดีต หรือมีความ เป็นอิสระ แต่ความสัมพันธ์จะอยู่ที่ปัจจัยสําคัญคือ เงิน และเงินสามารถเชื่อมปฏิสัมพันธ์ของผู้คนให้เป็นรูปแบบเดียวกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด

2 Walter Benjamin มีทัศนะเกี่ยวกับเมืองคล้ายกับ George Simmel ซึ่งแนวทาง การศึกษาของเขาสนใจที่จะวิเคราะห์ในเชิงปรัชญา การสนทนาถึงธรรมชาติของสัจจะ ศีลธรรม และเงื่อนไขในการ ดํารงอยู่ของมนุษย์ นอกจากนี้เขายังสนใจศึกษาในเชิงวิภาษวิธีที่รู้จักในนาม การวิพากษ์เชิงลึก (Immanent Critique)

Walter Benjamin เขียนหนังสือชื่อ “The Exegetical City” ซึ่งมีแนวคิดสําคัญเกี่ยวกับ ทฤษฎีชุมชนเมือง ดังนี้

1) เมืองมหานครเป็นปัจจัยกระตุ้นสําคัญต่อความคิดของเขาที่สะท้อนออกมาในเรื่องของธรรมชาติของประสบการณ์ของมนุษย์

2) สนใจศึกษาเมืองเนเปิลส์ (Naples) ในประเทศอิตาลี พบว่า

– จะมีศิลปะหรือการออกแบบเพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขสิ่งที่มีมาแต่ก่อนหน้านั้น

อยู่ตลอดเวลา หรือเป็นเรื่องของพลวัตในการออกแบบศิลปะของเมือง คือการไม่มีที่สิ้นสุดในกฎเกณฑ์หรือวิถีชีวิตของเมือง

– มีคุณลักษณะที่เรียกว่า “Porosity” ของตึกรามและบริเวณส่วนตัวส่วนรวม

– เมืองเนเปิลส์ เป็นเมืองที่กําลังพัฒนามากกว่าเมืองใด ๆ ในยุโรป เมืองเป็นโลกความเป็นจริงของชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะของชนชั้นกลาง

3) เมืองมอสโคว์จะคล้ายกับเมืองเนเปิลส์มาก วิถีชีวิตของคนในเมืองจะสบาย ๆไม่เคร่งครัดด้วยกฎระเบียบแบบในเบอร์ลิน

3 Henri Lefebvre มีแนวคิดสําคัญเกี่ยวกับทฤษฎีชุมชนเมือง ดังนี้

1) เขียนหนังสือชื่อ “The Production of City”

2) สนใจเชิงสหวิชาทั้งวรรณกรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ ปรัชญา การวางแผน และกําหนดนโยบาย ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ Karl Marx เมืองเป็นระบบย่อย (Sub-system) ของระบบสังคมที่วิวัฒนาการมาสู่ระบบทุนนิยม (จากปฏิสัมพันธ์ ในเครือข่ายการค้า ความคิด การเกษตรกรรมจากชนบทมาสู่เมือง กฎหมาย ระบบการคลัง ฯลฯ)

– ระบบที่มีการจัดการดังกล่าวอาจนําไปสู่ความล้มเหลวได้ ดังนั้นจึงไม่มี

ระบบใดที่มีอยู่จริงหรือจะใช้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

3) เขียนหนังสือชื่อ “The Right to the City” (สิทธิที่มีต่อเมือง) มองชุมชนเมือง เป็นที่รวมของทุกสิ่ง และการทดลองในสิ่งต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในเมือง

– หนังสือนี้มีอิทธิพลต่อนักคิดหนุ่มสาวทั้งสถาปนิก นักวางแผน นักการเมืองนักวิชาการ ซึ่งส่งผลต่อรายละเอียดของความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองของพื้นที่ และสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองกับเศรษฐกิจสังคมอื่น ๆ

4) มองคล้าย Marx ในแง่ที่ว่า เมือง คือ ที่ที่จะใช้คุณค่าและเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนในคุณค่าตลอดจนการรวมคุณค่าเข้าด้วยกัน

5) เมืองเป็นระบบที่เป็นทางการในเชิงความสัมพันธ์ของการผลิต หรือในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพ มนุษย์ และวัตถุดิบ ซึ่งคุณค่าใน การแลกเปลี่ยน คือ ราคาของสินค้าที่ผลิตเพื่อค้าขาย โดยอาศัยปัจจัยการผลิตในเชิงทุนนิยม

6) ในขณะที่มีการใช้ทุนมากขึ้นจึงมีการแปลงทั้งขนาดและพื้นที่ให้เป็นไปในเชิงการค้ามากขึ้น

7) การแบ่งแยกการใช้แรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงยุคต้นทุนนิยม ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ขยายขอบเขตออกไปเหนือเมือง เป็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในขณะที่จะเกิดความแตกต่างระหว่างคนที่มั่งคั่งกับคนจนอย่างสุดขั้ว

8) ด้วยอํานาจและการพิชิตชัยชนะของระบบตลาดหรือทุนนิยมดังกล่าว เมืองจึงเป็นศูนย์กลางของการทํางานในเชิงพาณิชย์และผู้เสียเปรียบทางสังคมที่อยู่อย่างกระจายโดยรอบ โดยไม่สามารถเข้าถึงความมั่งคั่งนั้นได้

9) เรียกเมืองในเชิงทุนนิยมนั้นว่า “สังคมของระบบโครงสร้างที่ได้มีการกําหนดหรือควบคุมการบริโภคไว้แล้ว หรือต่อมานิยมเรียกสังคมผู้บริโภค (Consumer

Society)”

10) ตามเหตุผลดังกล่าวสิทธิของผู้บริโภคก็ไม่ได้มีกันทุกคน และการบริโภคก็ไม่ใช่ในเชิงสินค้าหรือการบริการเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งอื่น ๆ เช่น สุนทรียภาพสัญลักษณ์ ฯลฯ

11) ด้วยเหตุที่เมืองพยายามที่จะรวมเอาสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้บริการในเชิงการค้า ดังนั้นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ วิถีชีวิตต่าง ๆ จึงไม่อาจเหลืออยู่ต่อไป หรือยากที่จะเข้าใจ หรือเป็นเพียงการเก็บไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ดูในพิพิธภัณฑ์

12) แนวคิดดังกล่าวเกิดความตระหนักไปทั่วโลกในการศึกษาชุมชนเมืองให้เข้าใจถึงสิ่งที่แตกต่างและรากฐานที่มาของเอกลักษณ์ วัฒนธรรมในเชิงประวัติศาสตร์

13) แนวคิดของเขายังกระตุ้นให้เกิดการตระหนักในเรื่องของอิทธิพลของทั้งความเป็นชนบท และเมืองในระบบทุนนิยมในหมู่นักวางแผน

ข้อ 5 นโยบายเมืองและการผังเมือง (City Planning) คืออะไร และมีความหมายและความสําคัญเช่นไรต่อการบริหารชุมชนเมือง

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 47309 หน้า 134, 148), (คําบรรยาย)ความหมายของการผังเมือง (City Planning) มีดังนี้

1 คือ การวางแผนการเจริญเติบโตล่วงหน้าระยะยาวเพื่อให้เมืองนั้นสามารถดํารงอยู่อย่าง ยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข มีความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ มีความสมดุลในระบบนิเวศของเมือง

2 คือ การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีเหตุผลโดยการวางกฎระเบียบที่เหมาะสมเพื่อสร้าง ความมั่นใจให้คนในชุมชนเมืองมีชีวิตที่ดี มีคุณค่าในการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในชุมชนเมืองนั้น และเพื่อให้เมือง และการดําเนินกิจกรรมของเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ความสําคัญของการผังเมืองต่อการบริหารชุมชนเมือง

1 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง มีระเบียบ ทั้งนี้เนื่องจาก การบริหารชุมชนเมืองจะมีหลักแนวคิด ปรัชญาที่ได้นํามาใช้ในการวางแผน เช่น เรื่องการตอบสนองความเป็นอยู่ ที่ดี เรื่องการพัฒนาอย่างสมดุล หรือแผนการดําเนินงานในด้านต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง ซึ่งในขั้น ที่จําเป็นที่ต้องขับเคลื่อนเมืองไปสู่อนาคตก็จําเป็นที่จะต้องอาศัยแผนเป็นเครื่องกําหนดทิศทาง ดังนั้นก็ต้องอาศัย หลักการแนวคิดต่าง ๆ ในเชิงวิชาการด้วยเช่นกัน เช่น การออกแบบเมือง จัดการทางด้านสถาปัตยกรรมหรือ ภูมิสถาปัตย์ จัดการทางด้านวิศวกรรมโยธา วิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ตลอดจนมิติทางด้าน รัฐศาสตร์ก็ตาม ก็ควรนับเข้ารวมอยู่ในด้านการวางแผนด้วยก็จะทําให้เกิดความครอบคลุมรอบด้าน

2 เพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาเมือง การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ควรที่จะมีความ สมดุลก็คือ ในเมืองควรจะมีความสมดุลทั้งในด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม รวมตลอดทั้งพัฒนา ทางด้านศีลธรรมและจริยธรรมด้วย

3 เพื่อเสริมสร้างให้เกิดประโยชน์สาธารณะโดยรวมในชุมชนเมือง ประโยชน์สาธารณะนั้น ก็จะได้จากการวางแผนที่ดี ซึ่งก็หมายถึง ในรายละเอียดของแผนนั้นจะมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับการเดินทาง การศึกษา สําหรับประชาชนที่ต้องการศึกษา สําหรับประชาชนที่ทํางาน ทําธุรกิจ ถ้าเมืองมีการวางแผนไปในทิศทาง ที่ถูกต้องทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์จากการบริหารเหล่านั้นร่วมกัน

ข้อ 6 จงอภิปรายถึงปัญหาของเมืองและการบริหารชุมชนเมืองของสังคมที่กําลังพัฒนามาให้เข้าใจโดยละเอียด พร้อมทั้งยกตัวอย่างด้วย ?

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 47309 หน้า 197 199)

ปัญหาของการบริหารชุมชนเมืองโดยทั่วไป มีดังนี้

1 ปัญหาในเชิงการบริหารงาน เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง อํานาจในการบริหารงาน ระบบและวิธีการบริหารงาน ตลอดจนโครงสร้างความสัมพันธ์ของอํานาจในการบริหารงานจากส่วนกลางและ การตัดสินใจในแต่ละระดับซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงการปฏิบัติงานในรายละเอียด เช่น การงบประมาณ การคลัง เป็นต้น

2 ปัญหาในเชิงกายภาพ เป็นปัญหาที่ผู้บริหารชุมชนเมืองจําเป็นต้องอาศัยการลงทุน ก่อสร้าง และการพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกตามมาตรฐานของเมือง เช่น การสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ระบบ การขนส่ง

3 ปัญหาเมืองที่ขาดการวางแผน (Urban Plan) เป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดการวางแผน การใช้ที่ดิน และการวางระบบกิจกรรมของเมือง เช่น การกําหนดสถานที่หรือย่านที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม สถานีตํารวจ เกษตรกรรม ฯลฯ

4 ปัญหาความเสื่อมของใจกลางเมืองหรือย่านใจกลางธุรกิจ (Central Business District : CBD) เป็นปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไม่จํากัด การมีที่อยู่อาศัยอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น เกิดสลัมในเมือง ตลอดจนการขาดการดูแลแก้ไขปรับปรุงสภาวะต่าง ๆ ให้สมบูรณ์

5 ปัญหาความแออัด (Congestion) เป็นปัญหาที่ทําให้เกิดความไม่สะดวกในการดําเนิน กิจกรรม การได้รับการสนองตอบอย่างไม่เพียงพอและเหมาะสม เช่น การจราจรที่แออัด บ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่แออัด การสร้างอาคารต่อสัดส่วนที่ดินไม่ถูกต้อง

6 ปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental Problem) เป็นปัญหาที่มักจะมีผลมาจากการ ที่เมืองขาดการวางแผนการใช้ที่ดิน การขาดทุนทางสังคม ความเสื่อมของเมืองอันเนื่องมาจากจํานวนประชากร และการวางระบบกิจกรรมกับพื้นที่ไม่สมดุลกัน และความแออัด เช่น ปัญหามลพิษทางดิน น้ำ อากาศ เสียง และ สายตา ฯลฯ ซึ่งถือเป็นปัญหาด้านสังคมที่จะส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของประชาชน

7 ปัญหาขยะ (Refuse Problem) ถือเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนเมืองที่เกิดความไม่สมดุล ในระบบนิเวศระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย โดยปัญหาขยะนี้จะส่งผลทั้งภายในชุมชนเมืองเอง และกระทบ ต่อภายนอกซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ

8 ปัญหาโอกาสในทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องและ มีปฏิกิริยาระหว่างกัน เช่น เมืองที่ขาดความสมดุลในการผลิตและการกระจายการใช้ทรัพยากร จะก่อให้เกิดปัญหา ช่องว่างระหว่างคนจน หรือเกิดปัญหาความไม่สมดุลต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาทางจิต ฯลฯ

ข้อ 7 การพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืน (Sustainable Transportation Development) คืออะไร จําเป็นอย่างไร จงอธิบาย

แนวคําตอบ (หนังสือเลขพิมพ์ 47309 หน้า 248), (คําบรรยาย)

การพัฒนาการขนส่งในชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Transportation Development) คือ การพัฒนาการขนส่งในชุมชนเมืองให้มีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือ การขนส่งระบบราง (Urban Rail -Mass Transportation) ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีความจําเป็นโดยเฉพาะสําหรับเมืองที่มีประชากรหนาแน่น เนื่องจาก สามารถเคลื่อนย้ายคนได้ทีละมาก ๆ สะดวก ปลอดภัย และประหยัดกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์หรือการขนส่งทางถนน การขนส่งระบบรางอาจมีได้ในหลายลักษณะ เช่น ระบบรถไฟ รถไฟฟ้า ทั้งยกระดับพื้นผิวหรือใต้ดิน เป็นต้น

การพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืน สามารถทําได้ใน 3 ลักษณะ ดังนี้

1 ใช้การขนส่งที่สะอาด

– เลือกใช้เชื้อเพลิงและยานยนต์ที่มีมาตรฐาน

– ตรวจสอบและบํารุงรักษาเครื่องยนต์

– ใช้ตัวชี้วัดที่ดีขึ้นในส่วนของการขนส่งอย่างยั่งยืน

2 เพิ่มการเข้าถึง

– ใช้กฎหมายกําหนดความเร็วของยานยนต์, การจอดรถ

– ควบคุมการใช้ที่ดินและการรักษาพื้นที่สีเขียว

– การวางแผนเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม

3 เลือกใช้การขนส่งที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

– เฝ้าระวังตําแหน่งที่มีการขนส่งคับคั่ง

– ศึกษาทางเลือกในการจัดระบบการขนส่ง

Advertisement