การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2110 ทฤษฎีและจริยธรรมการเมืองตะวันออก
คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 2 ข้อ
ข้อ 1 ให้อธิบายความแตกต่างของแนวคิดเกี่ยวกับรัฐและอํานาจดังต่อไปนี้โดยสังเขป
1.1 การปกครองแบบป้าเจ่งกับยิ้นเจ่ง
แนวคําตอบ
เม่งจื้อ แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1 การปกครองแบบเดชานุภาพ (ป้าเจ่ง) คือ การใช้อิทธิพลทางทหารและกําลังในการปกครอง ซึ่งการปกครองแบบนี้จะทําให้เกิดการเสียเลือดเนื้ออันเนื่องมาจากการรบพุ่งแย่งชิงอํานาจ
2 การปกครองแบบธรรมานุภาพ (ยิ้นเจ่ง) คือ การใช้คุณธรรมและความเมตตากรุณาในการปกครอง เพราะสามารถทําให้บรรลุความสําเร็จได้ดีกว่า แม้จะมีเขตแดนเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยชี้ให้เห็นว่า ผู้ปกครองที่ดูแลประชาชนเป็นอย่างดีเท่านั้น จึงจะได้รับการสนับสนุนและความจงรักภักดีจากประชาชน พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อผู้ปกครองของตนในสงครามได้
1.2 รัฐอิสลามกับรัฐมุสลิม
แนวคําตอบ
รัฐอิสลาม เป็นรัฐในอุดมคติ ผู้ปกครองประเทศและประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดําเนินงานด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอิสลาม ใช้รูปแบบการปกครองของอิสลาม และสร้างวิถีชีวิตของคนในรัฐ ให้ศรัทธาในความเป็นเอกภาพของพระอัลเลาะห์ ซึ่งรัฐที่พอจะอนุโลมได้ว่าเป็นรัฐอิสลาม คือ รัฐภายใต้การปกครอง สมัยพระนบีมุฮัมหมัดและคอลีฟะฮ์ทั้งสี่ ได้แก่ อาบูบัคร์ อุมาร์ อุธมาน และอาลี
รัฐมุสลิม เป็นรัฐที่เป็นจริงในโลก ผู้ปกครองประเทศและประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับรัฐอิสลาม แต่จะอนุโลมให้ใช้รูปแบบการปกครองแบบสากลได้ มีสภาปกติเหมือนทั่ว ๆ ไปที่เป็น ไม่ได้เคร่งครัดแบบรัฐอิสลาม แต่เนื้อหาอาจจะต้องสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม จะได้ไม่ขัดแย้งกัน เช่น ระบอบรัฐสภา (มาเลเซีย) ระบอบประธานาธิบดี (อียิปต์, ลิเบีย, อินโดนีเซีย) และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น
1.3 สัทธิชินโตกับลัทธิไต้ทั้ง
แนวคําตอบ
ลัทธิชินโต เชื่อว่าจักรพรรดิ (มิกาโดหรือเทนโน) เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากสุริยเทพหรือพระอาทิตย์โดยไม่ขาดสาย พระจักรพรรดิเป็นผู้ที่ทรงอวตารมาจากพระอาทิตย์ พระราชอํานาจของพระจักรพรรดิ เป็นพระราชอํานาจที่ได้รับมอบหมายมาจากพระอาทิตย์ ชาวญี่ปุ่นถือว่าพระจักรพรรดิเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ และถือว่าคนญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันทั้งหมด คือเป็นลูกพระอาทิตย์ ซึ่งความเคารพพระจักรพรรดิ ดังกล่าวเรียกว่า “ลัทธิมิกาโด” (Mikadoism)
ความที่ว่าพระจักรพรรดิมาจากสุริยเทพนี้เอง ทําให้การเมืองกับศาสนาแยกจากกันไม่ออก ดังนั้นระบบการปกครองของญี่ปุ่นจึงเป็นระบบที่เรียกว่า “ไซเซอิ-อิทชิ” ซึ่งแปลว่า “การรวมกันแห่งศาสนาและการปกครอง” โดยมีพระจักรพรรดิหรือเทนโนเป็นศูนย์รวม เป็นสัญลักษณ์ของชาติและความสามัคคีของประชาชน
ลัทธิใต้ท้ง เป็นแนวคิดที่เป็นอุดมคติสูงสุด เป็นอุดมคติทางการเมืองในรูปสากลนิยม ซึ่งเป็นเหมือนรัฐในอุดมคติ ไม่มีการแบ่งชาติชั้นวรรณะ ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลก มีชาติเพียงชาติเดียวคือมนุษยชาติ ประชาชนทุกคนมีงานทํา มีความเสมอภาคด้านความเป็นอยู่ เด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีการคัดเลือกประชาชนที่เป็นคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ให้ปกครองโดยพรรคหรือคณะใด ๆ รัฐบาลที่เลือกมานี้มีรัฐบาลเดียวคือรัฐบาลโลก ถ้าทําได้ตามนี้ก็จะทําให้เกิด “มหาสันติสุข” (ไท้เพ้ง)
1.4 หลักการปกครองที่ดีตามแนวคิดของขงจื้อกับเหลาจื้อ
แนวคําตอบ
หลักการปกครองที่ดีตามแนวคิดของขงจื้อ ได้แก่
1 การปกครองที่ดีควรมีจุดมุ่งหมายในการนําสวัสดิการและความสุขมาสู่ประชาชนทั้งมวล โดยต้องมีผู้ปกครองที่มีความสามารถในการบริหารซึ่งไม่ใช่มาจากชาติกําเนิด ความร่ำรวย หรือตําแหน่ง แต่มาจากการได้รับการศึกษาที่เหมาะสม
2 การปกครองที่ดีคือการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และจะต้องมีลักษณะ “คุ้มครอง มากกว่าปกครอง” รัฐบาลต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทําให้เกิดความสงบสุขในแต่ละแว่นแคว้นได้
3 ผู้ปกครองที่ดีต้องมีคุณธรรม ต้องทําตนเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน และต้องคํานึงถึง ประโยชน์ของประชาชนเป็นสําคัญ
4 ผู้ปกครองประเทศต้องแก้ปัญหาภายในให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เท่าเทียมกัน และความขัดแย้งในสังคม
5 ผู้ปกครองควรใช้ปัญญาที่สุจริตเป็นเครื่องปกครองคน ไม่ควรใช้ความฉลาดแกมโกง ควรใช้ความกล้าหาญ หลีกเลี่ยงความทะเยอทะยาน ใช้ความเมตตากรุณา ละความโลภ ควรเป็นนักปราชญ์ ทําประโยชน์แก่ผู้ใต้ปกครอง เข้าใจความรู้สึกของผู้ใต้ปกครองและอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้ใต้ปกครอง
หลักการปกครองที่ดีตามแนวคิดของเหลาจื้อ ได้แก่
1 การปกครองที่ดีที่สุดคือการปกครองโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับประชาชนมากเกินไป ให้ทุกคน มีอิสระเสรีเต็มที่ รัฐบาลอย่าไปก้าวก่ายเสรีภาพของประชาชน ประชาชนก็อย่าก้าวก่ายเสรีภาพซึ่งกันและกัน การปกครองประเทศจะต้องไม่มีการทําร้ายซึ่งกันและกัน
2 ควรใช้ความนุ่มนวลในการปกครองประเทศ โดยกล่าวว่า “เมื่อปกครองประเทศด้วย ความนุ่มนวล ประชาชนก็จะซื่อสัตย์และจริงใจ เมื่อปกครองประเทศด้วยความรุนแรง ประชาชนก็จะใช้เล่ห์กล และหลอกลวง”
3 การปกครองควรทําให้เป็นรัฐเล็ก ๆ มีพลเมืองน้อย ๆ เพื่อให้ปกครองง่าย เพราะการ มีคนมากเรื่องก็ยุ่งมาก มีคนน้อยเรื่องก็ยังน้อย
4 ผู้ปกครองที่ดีจะต้องปกครองแบบแม่ปกครองลูก ดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น และมีคุณธรรม
5 ผู้ที่จะเป็นนักปกครองต้องมีดวงแก้ว 3 ดวง คือ ความเมตตา ความประหยัด และการไม่ทําอะไรเด่นล้ำหน้าประชาชน ซึ่งความเมตตาจะทําให้เป็นผู้มีความแกล้วกล้า ความประหยัดจะทําให้เป็นผู้มีโภคทรัพย์สมบูรณ์ และการไม่ทําอะไรเด่นล้ำหน้าประชาชนจะทําให้เป็นผู้นําประชาชนได้อย่างแท้จริง
6 ผู้ปกครองที่ดีจะต้องมีการพัฒนาตนเองให้ลดละกิเลส จึงรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งปวง มีชีวิตอยู่อย่างสมถะ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน และประพฤติตนประดุจน้ำ
1.5 แนวคิดของซุงจื้อกับเอี้ยงจื้อ
แนวคําตอบ
ลัทธิซุ่งจื้อ มีหลักการสําคัญดังนี้
1 สนับสนุนให้รัฐต่าง ๆ มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ต้องใช้คุณธรรมในการปกครอง และการปกครองนั้นจะต้องทําเพื่อประชาชน ไม่ใช่ทําเพื่อผู้ปกครอง
2 เมื่อมีกษัตริย์ผู้มีปรีชาญาณองค์แรกครองบัลลังก์ ย่อมมีชนชั้น กล่าวคือ “ถ้ามนุษย์ทุกคนมีอํานาจเท่ากัน รัฐก็ไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ถ้าทุกคนยืนอยู่ในระดับเดียวกัน ย่อมไม่มีการปกครอง ตราบใดที่มีสวรรค์กับโลก ย่อมมีความแตกต่างระหว่างผู้เหนือกว่ากับผู้ด้อยกว่า”
3 ผู้ปกครองที่ฉลาดจะไม่พูดถึงวินัยที่ผิดพลาด หรือไม่ให้เหตุผลเกี่ยวกับการกระทําของเขาทั้งหมด แต่เขาจะใช้อํานาจหน้าที่แนะแนวทางแก่ประชาชน ใช้การประกาศย้ำเตือนและควบคุมโดยการลงโทษ
4 มีแนวคิดแบบนิติธรรมเนียม (Legalism) ซึ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมพลเมืองทุกคน ไม่ได้มีแนวคิดแบบเผด็จการนิยม
5 เน้นการปกครองโดยกษัตริย์ที่มีคุณธรรม และเห็นว่าสมควรให้ผู้ที่มีความรู้และกิตติคุณเพียงพอเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะกําเนิดจากชนชั้นไพร่ก็ตาม
6 ผู้ปกครองที่มีคุณธรรมควรได้รับการสนับสนุนให้อยู่ต่อไป ส่วนผู้ปกครองที่ชั่วร้ายไม่ควรได้เป็นผู้ปกครองต่อไป ควรจะถูกโค่นบัลลังก์
ลัทธิเอี้ยงจื้อ ให้ความสําคัญกับปัจเจกบุคคล โดยเห็นว่ามนุษย์ควรคํานึงถึงผลประโยชน์ของ ตนเองให้มากที่สุด อย่าไปสนใจประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งประโยชน์ของตนเองในที่นี้ไม่ใช่การเกะกะระรานคนอื่น แต่ หมายถึงการแสวงหาความสุขเฉพาะหน้า ไม่ใช่ความสุขในอนาคต ผู้ปกครองและนักการเมืองไม่จําเป็นต้องสละประโยชน์ของตนเองเพื่อผู้อื่น แต่ก็ต้องไม่เรียกร้องให้ผู้อื่นสละประโยชน์ของเขาเพื่อตนเองด้วย ประชาชนไม่ต้องทําอะไรให้กับรัฐบาล ส่วนรัฐบาลก็ไม่ต้องทําอะไรให้กับประชาชน ต่างคนต่างอยู่
ข้อ 2 ให้นักศึกษาทําข้อสอบทั้งข้อ ก. และข้อ ข.
ก ศาสนาพราหมณ์แบ่งสังคมมนุษย์เป็น 4 วรรณะ อะไรบ้าง และผลของการมีวรรณะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อสังคมอินเดีย
แนวคําตอบ
ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ได้แบ่งสังคมมนุษย์ออกเป็น 4 วรรณะ คือ
1 พราหมณ์ (ชนชั้นนักบวช/ผู้ประกอบพิธี) เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องพระพรหมอันเป็น หลักการสูงสุด โดยจะทําหน้าที่เป็นครู (Guru) คือ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในด้านการให้ความรู้และปัญญาแก่สังคม ให้การศึกษาแก่ผู้อื่น ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเองและเพื่อผู้อื่น โดยเชื่อกันว่าพราหมณ์เกิดจากปากของพระพรหม และมีสีขาวเป็นสีประจําวรรณะ
2 กษัตริย์หรือขัตติยะหรือราชันย์ (ชนชั้นนักรบ) ซึ่งเป็นชนชั้นสูง มีหน้าที่รักษาความมั่นคง ของประเทศทั้งภายนอกและภายใน นอกจากนี้ยังต้องศึกษาในชั้นสูง ทําพิธีบูชาต่าง ๆ ของตนเอง และทําบุญให้ทาน โดยเชื่อกันว่ากษัตริย์เกิดจากแขนของพระพรหม และมีสีแดงเป็นสีประจําวรรณะ
3 แพศย์หรือไวศยะ (ชนชั้นกสิกร/พ่อค้า) เป็นวรรณะที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาด้าน เศรษฐกิจของอินเดียอย่างยิ่ง คือจะมีบทบาทสําคัญในเรื่องเศรษฐกิจ มีหน้าที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย การประกอบอาชีพกสิกรรมและการค้าขาย โดยเชื่อกันว่าแพศย์เกิดจากตะโพกของพระพรหม และมีสีเหลือง เป็นสีประจําวรรณะ
4 ศูทร (ชนชั้นกรรมกร/ทาส) เป็นผู้ทําหน้าที่ในด้านการใช้แรงงานและการให้บริการ เป็นพวกที่ทํางานเป็นคนงาน นายช่าง คนเลี้ยงวัวควาย คนไถนา ซึ่งต้องรับใช้ 3 ชนชั้นแรก เป็นชนชั้นที่ไม่มีสิทธิ เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่า และไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านพระเวทและใช้อาวุธ โดยเชื่อกันว่าศูทรเกิดจากเท้าของพระพรหม และมีสีดําเป็นสีประจําวรรณะ
ผลของการมีวรรณะดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอินเดีย ดังนี้
1 ทําให้ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นสังคมปิด คือ เมื่อเกิดวรรณะใดวรรณะหนึ่งแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนหรือย้ายวรรณะได้ จึงทําให้เปลี่ยนแปลงชีวิตไม่ได้
2 การทําหน้าที่ตามวรรณะทั้ง 4 นี้ถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการทําตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ทําตามความจําเป็นของสังคม และไม่ได้อยู่ภายใต้อํานาจของสังคม รัฐ หรือผู้ปกครอง
3 วรรณะจะเป็นตัวกําหนดหน้าที่ของมนุษย์ ว่าใครทําหน้าที่อะไร และแต่ละหน้าที่ก็จะไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งสามารถลดความขัดแย้งและลดการฆ่าฟันกันเพราะแย่งชิงหน้าที่กัน
4 การแบ่งวรรณะถือเป็นการจัดระเบียบของสังคมที่ยอมรับว่ามนุษย์นั้นมีสถานะทาง สังคมสูง-ต่ำ ลดหลั่นกันตามลําดับ ทําให้มีการดูหมิ่นคนที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่า
5 ประชาชนจะผูกพันกับครอบครัว วรรณะ กลุ่มอาชีพ และหมู่บ้านมากกว่ารัฐ
6 ระบบวรรณะนี้จะก่อให้เกิดความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ อาชีพ ภาษา เผ่าพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัย สังคม และศักดิ์ศรีของมนุษย์
7 มีกลุ่มประชาชนที่มิได้อยู่ในระบบสังคม คือ พวก “จัณฑาล” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูถูกเหยียดหยามหรือถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทางศาสนาของชุมชน ไม่สามารถจะสนทนาหรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนในระบบได้ เป็นต้น
ข จงยกคุณธรรมที่ควรมีอยู่ในตัวผู้ปกครองและนักการเมืองตามทัศนะของศาสนาพุทธมาโดยละเอียดอย่างน้อย 4 หัวข้อ
แนวคําตอบ
คุณธรรมของผู้ปกครองและนักการเมืองตามทัศนะของพุทธศาสนา ได้แก่
1 พรหมวิหาร 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักธรรมประจําใจของผู้เป็นใหญ่ ประกอบด้วย
1) เมตตา หมายถึง ความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
2) กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
3) มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข ไม่ริษยา
4) อุเบกขา หมายถึง ความวางใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียง
ด้วยความรักและความซัง
2 สังคหวัตถุ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักการสงเคราะห์ ประกอบด้วย
1) ทาน หมายถึง การให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
2) ปิยวาจา หมายถึง การมีวาจาสุภาพ ไพเราะ ซาบซึ้ง จริงใจ
3) อัตถจริยา หมายถึง การบําเพ็ญประโยชน์หรือทําในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
4) สมานัตตตา หมายถึง การทําตนเสมอต้นเสมอปลาย หรือการวางตนให้เหมาะสม
3 ราชสังคหวัตถุ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับหลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ครองแผ่นดินประกอบด้วย
1) สัสสาเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบํารุงรักษาพืชพันธุ์ธัญญาหาร และส่งเสริมการเกษตร
2) ปุริสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบํารุงรักษาข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ
3) สัมมาปาสะ หมายถึง ความรู้จักผูกน้ำใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ
4) วาชเปยะ (วาจาเปยะ) หมายถึง ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ คือ รู้จักพูดรู้จักปราศรัย วาจาไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ในทางสามัคคี ทําให้เกิดความเข้าใจอันดี และเกิดความนิยมเชื่อถือ
4 อคติ 4 คือ คําสอนเกี่ยวกับความลําเอียง 4 ประการ ซึ่งมีผลกับการปกครองและ ผู้ปกครองไม่ควรประพฤติเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่
1) ฉันทาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะชอบหรือความรักใคร่
2) โทสาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะชังหรือความโกรธเกลียด
3) โมหาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะหลงหรือความโง่เขลา
4) ภยาคติ หมายถึง ความลําเอียงเพราะกลัวหรือเกรงใจ เกรงอิทธิพล