การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายโอ่งมีฐานะยากจนและป่วยเป็นโรคอัมพาตมา  2  ปี  ทำให้พูดไม่ได้  ร่างกายผอมต้องนอนอยู่กับที่ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาลตัวเอง  นายกล้าจัดให้นายโอ่งเอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทผู้รับประกันชีวิตแห่งหนึ่งวงเงิน  1  แสนบาท  โดยนายกล้าเป็นคนออกเบี้ยประกันให้  นายโอ่งมีบุตรและภรรยาอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน  แต่นายโอ่งมิได้ระบุให้บุตรและภรรยาของตนเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต นายโอ่งกลับระบุให้นายกล้าเป็นผู้รับประโยชน์  ในคำขอเอาประกันได้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างนายกล้าและนายโอ่งว่านายกล้าเป็นหลานของนายปฐมซึ่งเป็นเพื่อนของนายโอ่งและปรากฏว่านายกล้าเป็นผู้กรอกข้อความในคำขอเอาประกันแทนนายโอ่ง  แต่ให้นายโอ่งลงชื่อเป็นผู้ยื่นขอเอาประกัน  ต่อมาในระหว่างอายุสัญญา  นายโอ่งถึงแก่ความตาย  นายกล้าได้ยื่นขอรับประโยชน์แต่บริษัทประกันปฏิเสธการจ่าย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

การที่นายกล้าจัดให้นายโอ่งเอาประกันภัย  โดยนายกล้าเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน  และเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย  ไม่ถือว่านายโอ่งเป็นผู้เอาประกันภัยโดยแท้จริง  เพราะการกระทำของนายกล้ามีเจตนาหลีกเลี่ยงเรื่องส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย  โดยนายกล้าทำทีเป็นว่าให้นายโอ่งออกหน้าเป็นผู้เอาประกันภัย  ความจริงฟังได้ว่า  นายกล้าเป็นผู้เอาประกันภัย  และนายกล้าไม่มีความสัมพันธ์ในทางญาติแต่อย่างใด  เนื่องจากนายกล้าเป็นเพียงหลาน  คือ  บุตรชายนายปฐม  ซึ่งเป็นเพื่อนของนายโอ่ง  นายกล้าผู้เอาประกันภัยจึงไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของบุคคลอื่น  คือ  นายโอ่ง  ตามมาตรา  863  นายกล้าไม่มีสิทธิเรียกเงินประกัน  1  แสนบาท

สรุป  นายกล้าผู้เอาประกันภัย  ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย  คือ  ไม่มีความสัมพันธ์ในชีวิตของนายโอ่ง  ตามมาตรา  863  (ฎ. 1366/2509)

 

ข้อ  2  นายดำทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทสวรรค์ประกันชีวิต  จำกัด  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2544  ระบุให้นายแดงบุตรของนายดำเป็นผู้รับประโยชน์  มีจำนวนเงินที่เอาประกันชีวิต  1,000,000  บาท  วันที่  2  มกราคม  2544  นายดำทำสัญญาประกันชีวิตนางจันทร์ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายดำไว้กับบริษัท  ชัยประกันชีวิต  จำกัด  ระบุให้นายแดงเป็นผู้รับประโยชน์เช่นกัน  มีจำนวนเงินที่เอาประกันชีวิต  500,000  บาท  วันที่  2  มกราคม  2545  ซึ่งอยู่ในอายุกรมธรรม์  นายดำทะเลาะกับนางจันทร์อย่างรุนแรง  นายดำใช้อาวุธปืนยิงนางจันทร์ตายและใช้ปืนนั้นยิงตัวเองตายตาม

ให้วินิจฉัยว่าบริษัท  สวรรค์ประกันชีวิต  จำกัด  และบริษัท  ชัยประกันชีวิต  จำกัด  จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้นายแดงได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

วินิจฉัย

เมื่อนางดำและนางเขียวมรณะภายในอายุกรมธรรม์  ผู้รับประกันภัยจะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามกรมธรรม์ได้  หากมีเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  895  คือ

1       บุคคลนั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน  1  ปีนับแต่วันทำสัญญา

2       บุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

นายดำฆ่านางจันทร์โดยเจตนาฆ่าตัวตายโดยใจสมัครเมื่อวันที่  2  มกราคม  2545  การที่นายดำฆ่านางจันทร์ตาย  แต่นายดำมิใช่ผู้รับประโยชน์  และการที่นายดำฆ่าตัวตายโดยใจสมัครก็ได้กระทำภายหลัง  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  ทั้งสองกรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุตามมาตรา  895  ที่บริษัท  สวรรค์ประกันชีวิต  จำกัดและบริษัท  ชัยประกันชีวิต  จำกัด  จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้นายแดง

สรุป  บริษัท  สวรรค์ประกันชีวิต  จำกัด  และบริษัท  ชัยประกันชีวิต  จำกัด  จะปฏิเสธไม่ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้นายแดงไม่ได้

 

ข้อ  3  ดำได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะไว้กับบริษัท  ไทยประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  ระยะเวลาประกันตามสัญญา  10  ปี  โดยระบุให้แดงบุตรสาวเป็นผู้รับประโยชน์  ระหว่างอายุสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว  ดำประสบอุบัติเหตุโดยในขณะที่กำลังเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายอยู่นั้นก็ถูกเขียวซึ่งขับรถมาด้วยความเร็วสูงเฉี่ยวชนล้มลงหัวฟาดพื้นถึงแก่ความตายทันที  เขียวถูกจับดำเนินคดีฐานขับรถชนคนตายโดยประมาทเลินเล่อ  หลังจากที่ดำเสียชีวิตลง  บริษัทก็ได้จ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับแดงผู้รับประโยชน์เป็นเงิน  1  ล้านบาท  ต่อมาบริษัทก็ไปเรียกร้องเงินจากเขียว  ซึ่งเป็นผู้ขับรถชนดำเสียชีวิตตามจำนวนที่บริษัทได้จ่ายให้กับแดงไปแล้ว  โดยอ้างการรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันตามหลักกฎหมายประกันภัย  จงวินิจฉัยว่าข้ออ้างดังกล่าวฟังขึ้นหรือไม่  และเขียวต้องจ่ายเงินให้กับใครอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด  โดยอาศัยหลักกฎหมายใด

ธงคำตอบ

มาตรา  862  ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า  ผู้รับประโยชน์  ท่านหมายความว่า  บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

มาตรา  896  ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก  ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่  แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งมรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่  แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย

วินิจฉัย

ดำเอาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  ดำย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุนี้สัญญาจึงมีผลผูกพัน  ตามมาตรา  863  เมื่อแดงบุตรสาวถูกระบุให้เป็นผู้รับประโยชน์  ตามมาตรา  862  ย่อมมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา  ตามมาตรา 890  เพราะเป็นการประกันชีวิตโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ  เมื่อมีมรณภัยเกิดขึ้น  บริษัทฯก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิต  เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  895  และเมื่อบริษัทจ่ายเงินตามสัญญาฯ  ให้กับผู้รับประโยชน์แล้วไม่มีสิทธิในการรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกัน  เนื่องจากเป็นการทำสัญญาประกันชีวิต  จึงต้องห้ามตามมาตรา  896  เพราะสิทธิเรียกค่าสินไหมมดแทนในกรณีนี้เป็นสิทธิของทายาทของผู้เอาประกันชีวิตตามหลักกฎหมายละเมิด

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฟังไม่ขึ้น  และเขียวต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทของดำ  โดยอาศัยหลักกฎหมายละเมิด

Advertisement