การสอบภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 หนึ่งได้นำรถยนต์ของตนไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท ประกันภัย จำกัด จำนวนเงินที่เอาประกัน 4 แสนบาท สัญญากำหนด 1 ปี วนเวลาทำสัญญาหนึ่งได้กรอกข้อความลงในแบบคำขอเอาประกันภัยว่ารถยนต์ของตนมีสภาพดี ไม่เคยถูกชนมาก่อน ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์เคยพลิกคว่ำมาแล้วแต่ไม่อยากเปิดเผยให้บริษัททราบ เพราะเกรงว่าบริษัทจะไม่ยอมรับประกันในวงเงินสูงถึง 4 แสนบาท ซึ่งถ้าบริษัททราบเรื่องนี้คงจะลดจำนวนเงินที่เอาประกันภัยลงเหลือเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย หนึ่งได้ขับรถคันดังกล่าวด้วยอาการมึนเมาสุราโดยประมาทเลินเล่อไปชนเสาไฟฟ้าทำให้รถเสียหาย เสียค่าซ่อมไป 1 แสนบาท หนึ่งจึงไปเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่บริษัทปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆียะ เพราะหนึ่งได้ปกปิดความจริงในเรื่องรถยนต์ที่เคยพลิกคว่ำมาแล้ว จงวินิจฉัยว่าข้ออ้างของบริษัทฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ
วินิจฉัย
หนึ่งเป็นเจ้าของรถที่นำไปเอาประกัน ย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา 863
การที่หนึ่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 865 นั้น จะต้องเป็นข้อความจริงที่มีลักษณะสำคัญถึงขนาดว่าอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา
แต่จากข้อเท็จจริง บริษัทไม่อาจอ้างเหตุที่หนึ่งปกปิดความจริงเรื่องรถเคยพลิกคว่ำมาก่อนขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ เพราะความจริงที่ปกปิดเป็นเพียงเหตุให้บริษัทประกันภัยจะไม่ยอมรับประกันภัยในวงเงินที่สูงถึง 4 แสนบาท แต่จะรับประกันภัยในวงเงินที่เอาประกันเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น มิใช่จะจูงใจให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา จึงใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดไม่ได้ตามมาตรา 865 วรรคแรก
สรุป ข้ออ้างของบริษัทฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 ดำเป็นเจ้าของรถยนต์ เขาได้นำรถคันดังกล่าวไปให้แดงเช่าเพื่อทำเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์รับส่งคนโดยสาร ต่อมาแดงได้นำรถไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท ประกันภัย จำกัดจำนวนเงินที่เอาประกัน 2 แสนบาท สัญญากำหนด 1 ปี ระบุให้ดำเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากทำสัญญาประกันภัยไปได้ 5 เดือน ดำก็ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้กับขาวไปในราคา 4 แสนบาท โดยแดงซึ่งเป็นทั้งผู้เช่าและผู้เอาประกันภัยเป็นผู้แจ้งการซื้อขายให้บริษัททราบแล้ว ต่อมาอีก 3 เดือน ขาวได้ขับรถโดยประมาทไปชนรถยนต์บรรทุกที่จอดอยู่ริมถนน รถของขาวเสียหาย เสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน 1 แสนบาท จงวินิจฉัยว่าขาวจะเรียกให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยที่แดงได้ทำไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 875 วรรคสอง ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่งถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ
วินิจฉัย
แดงเป็นผู้เช่ารถจากดำ แม้แดงจะไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เขาก็เป็นผู้เช่าย่อมมีส่วนได้เสียตามสัญญาเช่า จึงสามารถนำรถที่เช่าไปทำสัญญาประกันภัยได้สัญญาจึงมีผลผูกพัน ตามมาตรา 863
ขาวจะเรียกให้บริษัทประกันภัยที่แดงผู้เช่าได้ทำสัญญาประกันภัยไว้ ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนนั้นไม่ได้ เพราะสิทธิตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวไม่ได้โอนตามวัตถุที่เอาประกันภัยมาที่ขาวผู้ซื้อ เนื่องจากแดงเป็นเพียงผู้เช่าและเป็นผู้เอาประกันภัยที่มีส่วนได้เสียตามสัญญาเช่าเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เอาประกันแต่อย่างใด อีกทั้งดำซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไขของกฎหมาย ดังนั้นแม้ว่าสัญญาประกันภัยจะไม่ได้กำหนดข้อห้ามโอนไว้ และแดงผู้เอาประกันได้แจ้งให้บริษัททราบแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโอนมายังขาวได้ตามมาตรา 863 และมาตรา 875 วรรคสอง
สรุป ขาวเรียกให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามสัญญาประกันภัยไม่ได้
ข้อ 3 เอกได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการสรณะไว้กับบริษัท ประกันชีวิต จำกัด จำนวนเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท สัญญากำหนด 10 ปี ระบุให้โทน้องชายเป็นผู้รับประโยชน์ โดยที่โทยังไม่ทราบว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากทำสัญญาประกันชีวิตได้ 8 เดือน โทน้องชายทำธุรกิจขาดทุน เอกสงสารน้องและต้องการช่วยเหลือ เขาจึงคิดฆ่าตัวตายเพื่อให้โทได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตจึงกินยาฆ่าแมลงเข้าไป โทมาพบเข้าจึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเขาเป็นคนขับรถเอง ระหว่างทางโทขับรถโดยประมาทด้วยความเร่งรีบจึงชนท้ายรถบรรทุกอย่างแรง ด้วยแรงกระแทกของรถทำให้เอกถึงแก่ความตายทันที โททราบเรื่องที่เอกทำสัญญาประกันชีวิตไว้ จึงไปขอรับเงินจากบริษัทประกันฯ จงวินิจฉัยว่าบริษัทจะจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่โทหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 889 ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง
มาตรา 890 จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา
มาตรา 891 วรรคแรก แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ
(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
วินิจฉัย
เอกเอาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะ ย่อมมีส่วนได้เสียตามมาตรา 863 ประกอบมาตรา 889 สัญญาประกันชีวิตมีผลผูกพัน
โทเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาฯ ที่เอกทำไว้ ดังนั้นเมื่อมีมรณะเกิดขึ้น บริษัทก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่โท ตามมาตรา 890 ประกอบมาตรา 895 วรรคแรก แม้โทจะไม่ทราบว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์เขาก็ยังคงได้รับประโยชน์ตามสัญญาอยู่เพราะไม่มีการโอนประโยชน์ให้กับใครจึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 891 และแม้เอกจะฆ่าตัวตาย หลังจากทำสัญญาประกันชีวิตได้ 8 เดือน แต่เอกก็ไม่ได้ตายเพราะฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามมาตรา 895 (1) หรือถูกโทผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา ตามมาตรา 895 (2)
สรุป บริษัท ประกันชีวิต จำกัด จึงต้องชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้แก่โทตามเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น