การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายลาดเสนอขอเอาประกันภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  โดยพนักงานของบริษัทอุตสาหะประกันภัย จำกัด  ได้จดแจ้งจำนวนเบี้ยประกันภัยลงในใบเสนอขอเอาประกันภัยและในใบเสนอขอเอาประกันภัยมีข้อความว่า  ยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆจนกว่าบริษัทจะยอมรับคำขอเอาประกันนี้  และได้ชำระเบี้ยประกันเต็มจำนวนแล้ว  ต่อมาบริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด ได้ส่งกรมธรรม์ประกันภัยไปให้นายฉลาดพร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งว่าเมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว  ให้นายฉลาดส่งเบี้ยประกันภัยไปยังบริษัททันที  

อีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมาปรากฏว่าเกิดวินาศภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  แต่นายฉลาดยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัย  ดังนี้  นายฉลาดเรียกร้องให้บริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  ใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่บริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  ปฏิเสธการจ่ายอ้างว่าสัญญายังไม่เกิดขึ้น เพราะนายฉลาดยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัย  จงวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของบริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  และนายฉลาดมีสิทธิฟ้องเรียกให้บริษัทฯ  ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  861  อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น  หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคต  ดังได้ระบุไว้ในสัญญา  และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า  เบี้ยประกันภัย

มาตรา  867  วรรคแรก  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหามีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย

ประเด็นที่  1

การที่บริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  ปฏิเสธการใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยอ้างว่าสัญญายังไม่เกิดขึ้น  เพราะนายฉลาดยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยนั้น  เห็นว่า  ตามอุทาหรณ์  การที่นายฉลาดยื่นคำขอเอาประกัน  จนกระทั่งบริษัทฯ  ออกกรมธรรม์ให้แก่นายฉลาดแล้ว  เมื่อพิจารณาตามกฎหมายเรื่องสัญญาคำขอเอาประกันของนายฉลาดถือเท่ากับเป็นคำเสนอ  ส่วนกรมธรรม์ถือว่าเป็นคำสนอง  ดังนั้นสัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นแล้ว  ส่วนการที่นายฉลาดยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันเป็นเรื่องของการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาตามมาตรา  861  ซึ่งเบี้ยประกันภัยเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหลังจากที่เกิดสัญญาขึ้น  ถือว่านายฉลาดเป็นลูกหนี้ของบริษัท

ดังนั้นการจะพิจารณาว่า  สัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่  ต้องพิจารณาจากคำเสนอและคำสนอง  ไม่ได้พิจารณาจากการที่ผู้เอาประกันต้องชำระหนี้คือจ่ายเบี้ยประกันให้บริษัทแล้วสัญญาจึงจะเกิดขึ้น  ส่วนการที่ใบเสนอขอเอาประกันภัยมีข้อความว่า  ยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆจนกว่าบริษัทจะยอมรับคำขอเอาประกันนี้  และได้ชำระเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวนแล้ว  ก็ไม่พอฟังเป็นเงื่อนไขว่า  สัญญาจะมีผลใช้บังคับต่อเมื่อนายฉลาดส่งเบี้ยประกันภัยถูกต้องตามกำหนดแล้ว  เพราะข้อความดังกล่าวมิได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย  จึงไม่ถือว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนหรือเงื่อนไขแห่งความรับผิดแต่อย่างใด  (เทียบคำพิพากษาฎีกา  1306/2514)

ประเด็นที่  2

นายฉลาดมีสิทธิฟ้องเรียกให้บริษัทฯ  ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่เมื่อสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้วต่างฝ่ายต่างมีหนี้ตามสัญญา  หนี้ของบริษัทฯ  คือใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีวินาศภัยมีขึ้น  ตามอุทาหรณ์  ปรากฏว่าเกิดวินาศภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  บริษัทจึงมีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายฉลาด  แต่นายฉลาดจะมีสิทธิเรียกให้บริษัทฯ  ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ก็ต่อเมื่อนายฉลาดต้องชำระหนี้ของตนคือจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทก่อนตามมาตรา  369  เพราะสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาต่างตอบแทน  ดังเห็นได้จากความหมายในมาตรา  861

ส่วนการฟ้องเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อนายฉลาดได้ปฏิบัติตามมาตรา  369  แล้ว  เป็นการฟ้องให้บริษัทฯปฏิบัติตามสัญญา  จึงเป็นการฟ้องบังคับคดี  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทออกกรมธรรม์ให้นายลาดแล้ว  นายฉลาดจึงนำเอากรมธรรม์  มาฟ้องบังคับคดีได้ เพราะกรมธรรม์คือหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดคือบริษัทฯตามมาตรา  867  วรรคแรก

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัท  ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  และนายฉลาดมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท  เมื่อชำระเบี้ยประกันให้บริษัทเสียก่อนโดยเอากรมธรรม์มาฟ้อง  (เทียบฎีกาที่  1306/2514)

 

ข้อ  2  นายเสริมได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันภัย  มีกำหนดตามสัญญา  1  ปี  กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย  500,000  บาท  ปรากฏว่าในระหว่างอายุสัญญา  ฐานะครอบครัวของนายเสริมยากจนลง  เนื่องจากธุรกิจของนายเสริมประสบภาวะขาดทุน  นางศรีภริยาของนายเสริมทราบว่านายเสริมได้ประกันอัคคีภัยบ้านไว้  จึงแกล้งวางเผลิงเผาบ้าน  เพื่อให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน  500,000  บาท  ดังนี้  บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่  ประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  861  อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น  หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคต  ดังได้ระบุไว้ในสัญญา  และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า  เบี้ยประกันภัย

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเสริม  จำนวน  500,000  บาท  เพราะการกระทำของนางศรีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  879  แม้นางศรีจะเป็นภริยาของนายเสริม  แต่นางศรีไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยและไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์  ดังนั้นเมื่ออัคคีภัยอันเป็นภัยที่ระบุไว้ในสัญญาเกิดขึ้น  แม้นางศรีจะแกล้งวางเพลิงเผาบ้านเพื่อหวังได้เงินเอาประกันก็ตาม  บริษัทประกันภัยก็ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่นายเสริม  ตานัยมาตรา  861

สรุป  บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน  500,000  ให้แก่นายเสริม

 

ข้อ  3  นายแดงได้ทำสัญญาประกันชีวิตนางดำภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไว้กับบริษัทประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  3  ล้านบาท  สัญญามีกำหนด  5  ปี  โดยระบุให้ตนเองและนาบเหลืองบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์ร่วมกัน  ซึ่งทั้งคู่ก็ได้เข้าถือเอาประโยชน์เรียบร้อยแล้ว  ต่อมาอีก  3  ปี  นายแดงไปได้นางเขียวเป็นภริยาอีกคนหนึ่งทำให้นางดำโกรธมากจึงเกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง  นางดำจึงไปหยิบปืนของนายแดงมาหวังจะยิงนายแดงให้ตาย  นายเหลืองบุตรชายเห็นและเข้าไปห้ามปรามนายเหลืองจึงทำปืนลั่นถูกนางดำตาย  ศาลได้พิพากษาจำคุกนายเหลือง  1  ปี  ฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนา  หลังจากนั้นทั้งนายแดงและนายเหลืองได้ไปขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ร่วมกัน  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทจะจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่ใคร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา  พิจารณาบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้  คือ

1       นายแดง  เป็นผู้เอาประกันชีวิตและเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาฯ

2       นางดำ  เป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิต

3       นายเหลือง  เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาฯ

นายแดงกับนางดำเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายแดงจึงสามารถเอาประกันชีวิตของนางดำได้  เพราะมีเหตุแห่งส่วนได้เสียตามมาตรา  863  สัญญาจึงมีผลผูกพัน  เมื่อนางดำตายบริษัทต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับนายแดงตามมาตรา  895  วรรคแรก  เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  895 (1)  หรือ  (2)  ส่วนกรณีที่นายเหลืองได้ทำปืนลั่นถูกนางดำมารดาตาย  และศาลพิพากษาให้จำคุก  1  ปี  ฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนานั้น  ก็ไม่ได้เป็นกรณีที่ผู้รับประโยชน์ได้ฆ่าผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตายโตยเจตนาตามมาตรา  895(2)  ดังนั้นนายเหลืองจึงยังคงมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์ได้เช่นเดียวกับนายแดงผู้เป็นบิดา

สรุป  บริษัทประกันชีวิต  ขำกัด  ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่นายแดงและนายเหลือง

Advertisement