การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 บริษัท ยางสยาม จํากัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยและได้ทําสัญญาว่าจ้างนายจอห์นโซในขณะที่อยู่ในประเทศไทย ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559 นายจอห์นโซได้ทําสัญญาจ้างฉบับใหม่กับสํานักงานสาขาของ บริษัท ยางสยาม จํากัด ที่ประเทศสิงคโปร์ และตกลงให้นายจอห์นโซรับตําแหน่งผู้จัดการประจํา สํานักงานสาขาฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยสํานักงานสาขาฯ ดังกล่าวเป็นผู้ชําระค่าจ้างให้แก่นาย จอห์นโซทั้งหมด เดือนละ 200,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน โดยที่สํานักงานสาขาฯ ไม่บันทึกค่าจ้าง เป็นรายจ่ายของบริษัทฯ และเดือนต่อมา นายจอห์นโซได้เดินทางกลับเข้ามาทํางานให้แก่บริษัทฯ ในประเทศไทยจนสิ้นปี พ.ศ. 2559 และนายจอห์นโซเสียชีวิตในค่ําคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2559 นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า นายจอห์นโซเป็นผู้มีสัญชาติสิงคโปร์ และมีภูมิลําเนาที่ประเทศ สิงคโปร์ และเงินค่าจ้างทุก ๆ เดือนในปี พ.ศ. 2559 นายจอห์นโซได้รับโอนเงินเข้าทางบัญชีธนาคารที่ ประเทศสิงคโปร์ของนายเอห์นโซทุกเดือน และนายจอห์นโซได้ใช้จ่ายเงินเดือนส่วนที่ได้รับในขณะที่ ตนทํางานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ทั้งหมด โดยไม่นําเงินเดือนค่าจ้างดังกล่าวเข้ามาประเทศไทยเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า รายการเงินเดือนที่นายจอห์นโซได้รับในปีภาษี 2559 ต้องเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
มาตรา 56 วรรคหนึ่ง “ให้บุคคลทุกคนเว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมา พร้อมทั้ง ข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกําหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง”
มาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ถึงแก่ความตาย เสียก่อนที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครอง ทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีปฏิบัติแทน…”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทํา ในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคหนึ่ง)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
ตามอุทาหรณ์ รายการเงินเดือนที่นายจอห์นโซได้รับในปี พ.ศ. 2559 ต้องเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 ต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะเป็น เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย เข้าเงื่อนไขมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ถึงแม้ว่า นายจอห์นโซจะเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์ มีภูมิลําเนาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และไม่ได้นําเงินเดือนค่าจ้างดังกล่าว เข้ามาในประเทศไทยเลยก็ตาม
2 ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ไม่ต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะ ถึงแม้ว่านายจอห์นโซจะอยู่ในประเทศครบ 180 วัน ในปีภาษี 2559 แต่นายจอห์นโซได้ใช้เงินเดือนส่วนที่ได้รับ ในขณะที่ตนทํางานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ทั้งหมด โดยไม่นําเงินเดือนค่าจ้างเข้าประเทศไทยเลย จึงไม่เข้า เงื่อนไขมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ใช่กรณีตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง เพราะกรณีนี้เป็น เงินได้จากกิจการของนายจ้างนอกประเทศไทย เนื่องจากนายจอห์นโซรับตําแหน่งงานประจําที่ประเทศสิงคโปร์ และเนื่องจากสํานักงานสาขาในประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ชําระค่าจ้างให้แก่นายจอห์นโซทั้งหมด โดยไม่บันทึกค่าจ้าง เป็นรายจ่ายของบริษัท ยางสยาม จํากัด ที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยเลย
3 ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ต้องนํามายื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้ เนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในประเทศไทย เข้าเงื่อนไขมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ถึงแม้ว่า นายจอห์นโซจะเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์ มีภูมิลําเนาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และไม่ได้นําเงินเดือนค่าจ้างดังกล่าว เข้ามาในประเทศไทยเลยก็ตาม
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจอห์นโซซึ่งเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินได้ถึงแก่ความตายในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ก่อนที่นายจอห์นโซจะได้ปฏิบัติตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง คือ ก่อนที่จะได้ยื่น รายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมา ดังนั้น จึงให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดก หรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแทนนายจอห์นโซตาม มาตรา 57 ทวิ วรรคหนึ่ง
สรุป รายการเงินเดือนที่นายจอห์นโซได้รับในปี พ.ศ. 2559 ที่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา คือ ค่าจ้างเดือนละ 200,000 บาท ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 และที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 รวม 7 เดือน โดยให้ เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการ เสียภาษีแทนนายจอห์นโซ ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560
ข้อ 2 ปีภาษี 2560 นางหนูนาเป็นแม่ม่าย มีบุตรคือเด็กชายช้าง อายุ 10 ขวบ และเด็กหญิงร้อง อายุ 8 ขวบ ทั้งสองศึกษาอยู่ชั้นประถมที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย นางหนูนาเปิดร้านขายส่งเครื่องสําอางที่ประตูน้ำ มีรายได้ต่อเดือน ๆ ละ 2 ล้านบาท และเป็นเจ้าของเพจดังจึงมีเงินได้จากการรับรีวิวสินค้าผ่าน เฟซบุ๊กร้าน ครั้งละ 50,000 บาท เดือนมกราคมที่ผ่านมา นางหนูนาถูกสลากออมสินได้รับรางวัล มูลค่า 10 ล้านบาท จึงนําฝากธนาคารออมสินแบบฝากเผื่อเรียกจะได้ดอกเบี้ย 100,000 บาทต่อปี ปีภาษีนี้ นางหนูนาจึงรับอุปการะเด็กหญิงชมพูอายุ 4 ขวบ มาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียน รับบุตรบุญธรรมถูกต้อง และเดือนกุมภาพันธ์ เด็กชายข้างและเด็กหญิงร้องได้เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ นมผงยี่ห้อหนึ่งได้ค่าตอบแทนคนละ 200,000 บาท และได้ทําการบริจาคเงินจํานวน 100,000 บาท ให้กับบ้านพักคนชราบางแค กรณีดังกล่าวข้างต้น ปีภาษี 2560 นี้ ก. นางหนูนามีเงินได้พึงประเมินประเภทใดบ้าง และต้องนํามาคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ข นางหนูนาจะสามารถหักลดหย่อนตนเอง บุตรและบุตรบุญธรรมทั้ง 3 คน รวมถึงหักลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทํา เบี้ยประชุม บําเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่ง งานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรืองานที่รับทําให้นั้นจะเป็นการประจํา หรือชั่วคราว
(4) เงินได้ที่เป็น
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก
(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”
มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้
(8) ดอกเบี้ยดังต่อไปนี้
(ก) ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาล เฉพาะประเภท ฝากเผื่อเรียก
(11) รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ รางวัลสลากกินแบ่งหรือสลากออมสิน ของรัฐบาล…”
มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้
(1) ลดหย่อนให้สําหรับ
(ก) ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
(ค) บุตร
(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามี หรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท
(2) บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคนในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรทั้ง (1) และ (2) การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้นําบุตรตาม (1) ทั้งหมด มาหักก่อน แล้วจึงนําบุตรตาม (2) มาหัก เว้นแต่ในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรตาม (1) ที่มีชีวิตอยู่ รวมเป็นจํานวนตั้งแต่ สามคนขึ้นไป จะนําบุตรตาม (2) มาหักไม่ได้ แต่ถ้าบุตรตาม (1) มีจํานวนไม่ถึงสามคน ให้นําบุตรตาม (2) มาหักได้ โดยเมื่อรวมบุตรตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกินสามคน
การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปี และยังศึกษาอยู่ใน มหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา หรือซึ่งเป็นผู้เยาว์…แต่มิให้หักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมิน ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42
การหักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าว ให้หักได้ตลอดปีภาษีไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ ตลอดปีภาษีหรือไม่
(7) เมื่อได้หักลดหย่อนตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แล้วเหลือเท่าใด ให้หักลดหย่อนได้อีก สําหรับเงินบริจาคดังต่อไปนี้ โดยให้หักได้เท่าจํานวนที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือนั้น
(ข) เงินที่บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล…”
วินิจฉัย
ก นางหนูนามีเงินได้พึงประเมินประเภทใด และต้องนํามาคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
1 เงินได้จากการเปิดร้ายขายส่งเครื่องสําอางเดือนละ 2 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40 (8) เพราะเป็นเงินได้จากการธุรกิจ ต้องนํามาคํานวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2 เงินได้จากการรับรีวิวสินค้าผ่านเฟซบุ๊กร้านครั้งละ 50,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2) เพราะเป็นเงินได้จากการรับทํางานให้ ต้องนํามาคํานวณเสียภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดา
3 เงินได้จากการถูกสลากออมสิน 10 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตาม มาตรา 40 (8) ไม่ต้องนํามาคํานวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตาม มาตรา 42 (11)
4 เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสินแบบฝากเผื่อเรียกจํานวน 100,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40 (4) (ก) ไม่ต้องนํามาคํานวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (8) (ก)
ข นางหนูนาสามารถหักลดหย่อนได้ดังนี้ คือ
1 นางหนูนาหักลดหย่อนในฐานะผู้มีเงินได้ 50,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ก)
2 เด็กหญิงชมพูในฐานะบุตรบุญธรรม 30,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ค) (2)
ส่วนเด็กชายช้างและเด็กหญิงซ้องแม้จะเป็นบุตรผู้เยาว์และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของนางหนูนา ก็ไม่สามารถนํามาหักลดหย่อนได้ เพราะบุตรทั้งสองมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วถึง 30,000 บาท (คนละ 200,000 บาท) โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42
3 เงินบริจาคจํานวน 100,000 บาท ที่บริจาคให้แก่บ้านพักคนชราบางแค สามารถนํามา หักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47 (7) (ข) โดยหักได้เท่าจํานวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือ
สรุป
ก เงินได้พึงประเมินของนางหนูนา คือ เงินได้จากการเปิดร้านขายเครื่องสําอาง และเงินได้จากการรับรีวิวสินค้าต้องนํามาคํานวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนเงินรางวัลสลากออมสินและ ดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวไม่ต้องนํามาคํานวณภาษี
ข นางหนูนาสามารถหักลดหย่อนตนเองและบุตรเพียง 1 คน คือหักได้เฉพาะ เด็กหญิงชมพูเท่านั้น และยังสามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ด้วย
หมายเหตุ บทบัญญัติตามมาตรา 47 ดังกล่าวข้างต้น เป็นบทบัญญัติที่ได้มีการแก้ไข เพิ่มเติมใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560
ข้อ 3 บริษัท สยามยานยนต์ จํากัด เป็นบริษัทผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2559 ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพียง 180 วันก็ได้ไปสร้างสํานักงานและ โรงงานผลิตในประเทศโอมาน โดยมีเงินได้จากการจําหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ “Siam” ในประเทศต่าง ๆ ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริการวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งได้ส่งเงินจํานวนดังกล่าวเข้ามาฝากใน ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2550 จงวินิจฉัยว่า บริษัท สยามยานยนต์ จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากรในเงินจํานวนดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 65 วรรคหนึ่ง “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี”
มาตรา 66 วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”
วินิจฉัย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะต้องเสียภาษีจากกําไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจาก กิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าย ทั้งนี้โดยไม่คํานึงว่าจะเป็นเงินได้จากกิจการหรือเนื่องจาก กิจการที่ได้กระทํา ณ ที่ใดไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือนอกประเทศไทยก็ตาม จะต้องนํารายได้เหล่านั้นทั้งหมด มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2559 บริษัท สยามยานยนต์ จํากัด จะตั้งอยู่ในประเทศไทยเพียง 180 วัน และได้ไปสร้างสํานักงานและโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศโอมานก็ตาม แต่เมื่อบริษัท สยามยานยนต์ จํากัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จึงต้องมีหน้าที่เสียภาษี เงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ดังนั้น บริษัท สยามยานยนต์ จํากัด จึงต้องนําเงินได้จากการจําหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ “Siam” ในประเทศต่าง ๆ ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง และ แอฟริกา รวมทั้งหมด 5,000 ล้านบาท มาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ประเทศไทย
สรุป
บริษัท สยามยานยนต์ จํากัด ต้องนําเงินได้จากการจําหน่ายรถยนต์ทั้งหมดจํานวน 5,000 ล้านบาท มาคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร