การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. ธนาคาร สยาม จํากัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและได้เปิดสาขาในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายประเทศ ในปี พ.ศ. 2557 ได้ให้นายสมชายซึ่งเป็นลูกจ้างไปปฏิบัติหน้าที่ (Job Description) ผู้จัดการสาขาของธนาคารฯ ประจําที่ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 และนายสมชายจะกลับมาประเทศไทยในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2557 เพื่อฉลองปีใหม่กับครอบครัว โดยนายสมชายได้รับเงินเดือน ๆ ละ 400,000 บาท และธนาคารฯ จะจ่ายเงินเดือนจํานวน 100,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของนายสมชายในประเทศไทย ส่วนเงินเดือนที่เหลืออีกจํานวน 300,000 บาท ธนาคารฯ จะโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายสมชายที่ประเทศสิงคโปร์ทุก ๆ เดือน ให้ท่านวินิจฉัยว่า เงินเดือนของนายสมชายที่ได้รับทั้งในประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์จะต้อง นํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ตามประมวลรัษฎากรให้แก่ประเทศไทย หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับ ประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทําใน ประเทศไทย หรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ เงินเดือนของนายสมชายที่ได้รับทั้งในประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ จะต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากรให้แก่ประเทศไทยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) เงินเดือนจํานวน 100,000 บาท ที่ธนาคารจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากของนายสมชายใน ประเทศไทยทุก ๆ เดือน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทําในต่างประเทศ และถือว่านายสมชายได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปี 2557 แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสมชายมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เพราะมิได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี ดังนั้น นายสมชายจึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม
(2) เงินเดือนจํานวน 300,000 บาท ที่ธนาคารโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนายสมชายที่ ประเทศสิงคโปร์ทุก ๆ เดือน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่ที่ทําในต่างประเทศ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสมชายมิได้นําเงินได้จํานวนดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย อีกทั้งนายสมชายก็มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เพราะมิได้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี ดังนั้น นายสมชายจึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม เช่นเดียวกัน
สรุป นายสมชายไม่ต้องนําเงินเดือนที่ได้รับทั้งในประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์มาเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรให้แก่ประเทศไทย
ข้อ 2 เมื่อกลางปี พ.ศ. 2557 นายขาวเริ่มทํางานเป็นพ่อครัวที่ภัตตาคารของตัวเองบริเวณถนนรามคําแหงได้รับเงินได้ต่อเดือน 50,000 บาท ต่อมาหลังจากนั้น 10 เดือน นายขาวเดินทางจากประเทศไทย ไปทํางานตามสัญญาจ้างให้เป็นพ่อครัวร้านอาหารไทยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2558 นายขาวได้รับเงินเดือนรวม 700,000 บาท โดยนายขาวได้แบ่งเงิน 200,000 บาท ที่ได้รับนั้น ให้แก่นายแดงลูกชายอายุ 17 ปี ที่กําลังเรียนอยู่ในประเทศไทย ให้ท่านวินิจฉัยว่าในปีภาษี 2558 นายขาวจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ และหักค่าลดหย่อนกรณีใดบ้าง เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงิน นายจ้างจ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน
(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”
มาตรา 11 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้
(1) ลดหย่อนสําหรับ
(ค) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วย กฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย…คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน
การหักลดหย่อนสําหรับบุตร ให้หักได้เฉพาะบุตรซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีและ ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือชั้นอุดมศึกษาหรือซึ่งเป็นผู้เยาว์ หรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือน ไร้ความสามารถ อันอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู แต่มิให้หักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าวที่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42
(ฉ) บุตรของผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนตามเงื่อนไขใน (ค) และยังศึกษาอยู่ใน สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชนหรือโรงเรียนราษฎร์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ ให้หักลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ในปีภาษี 2558 การที่นายขาวเป็นพ่อครัวที่ภัตตาคารของตัวเองได้รับเงินได้ต่อเดือน 50,000 บาท เป็นเวลา 4 เดือน รวมเป็นจํานวนเงิน 200,000 บาท นั้น เงินดังกล่าวถือเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 39 ประกอบมาตรา 40 (8) เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากธุรกิจภัตตาคารของตัวเอง และ ถือเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการที่ทําในประเทศไทยตามเงื่อนไขมาตรา 41 วรรคแรก ดังนั้นเงินได้รายการนี้ นายขาวจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคแรก ประกอบมาตรา 39 และมาตรา 40 (8)
ส่วนการที่นายขาวเดินทางจากประเทศไทยไปทํางานตามสัญญาจ้างให้เป็นพ่อครัวร้านอาหารไทย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับเงินเดือนรวม 700,000 บาทนั้น เงินจํานวนนี้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 39 ประกอบมาตรา 40 (1) เพราะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน และถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งาน ที่ทําในต่างประเทศ ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายรัษฎากรก็ต่อเมื่อนายขาวเป็นผู้อยู่ ในประเทศไทย และนําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายขาวอยู่ในประเทศไทยเพียง 4 เดือน (ประมาณ 120 วัน) ซึ่งไม่ถึง 180 วัน จึงถือว่า นายขาวมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษี 2558 อีกทั้งไม่ปรากฏว่านายขาวได้กลับเข้ามาประเทศไทยภายหลัง ไปทํางานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ดังนั้น เงินรายการนี้นายขาวจึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบมาตรา 39 และมาตรา 40 (1)
และกรณีการหักค่าลดหย่อนนั้น เมื่อนายแดงลูกชายของนายขาวมีอายุ 17 ปี และกําลังเรียนอยู่ในประเทศไทย นายขาวจึงสามารถนํานายแดงมาหักลดหย่อนได้ 17,000 บาท ตามมาตรา 47 (1) (ค) (2)
สรุป ในปีภาษี 2558 นายขาวจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะเงินได้จํานวน 200,000 บาท และสามารถนํานายแดงมาหักค่าลดหย่อนได้ 17,000 บาท
ข้อ 3 บริษัท สยามขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ จํากัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยโดยประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และได้เปิดสาขา (Branch) ในหลายประเทศ ในรอบ ระยะเวลาบัญชี 2557 บริษัทฯ มีรายได้จากการขนส่งสินค้าเข้าประเทศไทย จํานวน 800 ล้านบาท และขนสินค้าออกจากประเทศไทยจํานวน 500 ล้านบาท จงวินิจฉัยว่า บริษัท สยามขนส่งทางอากาศ ระหว่างประเทศ จํากัด (มหาชน) ต้องมีภาระการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) ตามประมวลรัษฎากรจากรายได้ดังกล่าวอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 65 วรรคแรก “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี..”
มาตรา 66 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”
วินิจฉัย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคแรก และมาตรา 66 วรรคแรก ได้บัญญัติให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะต้องเสียภาษีจากกําไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจาก กิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าย ทั้งนี้โดยไม่คํานึงว่าจะเป็นเงินได้จากกิจการหรือเนื่องจาก กิจการที่ได้กระทํา ณ ที่ใดไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือนอกประเทศไทยก็ตาม จะต้องนํารายได้เหล่านั้นทั้งหมด มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าบริษัท สยามขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ จํากัด (มหาชน) จะประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และได้เปิดสาขาในหลายประเทศ แต่เมื่อเป็นบริษัทที่จดทะเบียน จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จึงต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 วรรคแรก และมาตรา 66 วรรคแรก คือ จะต้องนํารายได้จากการขนส่งสินค้าเข้าประเทศไทยจํานวน 800 ล้านบาท และ ขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทยจํานวน 500 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท มาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ประเทศไทย
สรุป บริษัท สยามขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ จํากัด (มหาชน) จะต้องนํารายได้ทั้งหมด จํานวน 1,300 ล้านบาท มาคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร