การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ปีภาษี 2556 ตลอดทั้งปี บริษัท จิม ทอมสัน จํากัดประเทศไทย ได้ส่งนางสาวกะรัตผู้จัดการฝ่ายออกแบบลายผ้าไปประจําอยู่ที่ร้านลายไทย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของบริษัทฯ โดยเงินเดือนแต่ละเดือนบริษัทฯ จะส่งเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาปารีสเดือนละ 200,000 บาท ใน ระหว่างที่อยู่ประเทศฝรั่งเศสนางสาวกะรัตได้รับค่าจ้างพิเศษค่าออกแบบลายผ้าเพื่อใช้ในคอลเล็คชัน ฤดูร้อนจากบริษัทวิเวียนกูตูร์ ประเทศฝรั่งเศสเป็นเงินจํานวน 500,000 บาท เงินค่าจ้างทั้งหมดนั้น นางสาวกะรัตส่งกลับประเทศไทยเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาบางรักเมื่อสิ้นเดือนเมษายน อยากทราบว่าหากนางสาวกะรัตเดินทางกลับประเทศไทย 2 มกราคม 2557 เงินได้ทั้ง 2 จํานวน ของนางสาวกะรัตจะต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ นายจ้างจ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน
(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลดเงินอุดหนุนในงานที่ทํา เบี้ยประชุม บําเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรืองานที่รับทําให้นั้นจะเป็นการประจําหรือชั่วคราว”
มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้วในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับ ประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทําใน ประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 4 วรรคสองและวรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท จิม ทอมสัน จํากัดประเทศไทย ได้ส่งนางสาวกะรัตผู้จัดการฝ่าย ออกแบบลายผ้าไปประจําอยู่ที่ร้านลายไทย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของบริษัทฯ โดยจ่ายเงินเดือน ให้นางสาวกะรัตเดือนละ 200,000 บาทนั้นถือได้ว่าเงินเดือนที่นางสาวกะรัตได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และเป็นเงินได้ที่มีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะเป็นเงินได้ที่นายจ้างในประเทศไทยเป็นผู้ชาย ให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศโดยตรง จึงเป็นเงินได้เนื่องจากกิจการของนายจ้างใน ประเทศไทย ดังนั้นเงินเดือนที่นางสาวกะรัตได้รับทั้งหมด แม้บริษัทจะส่งเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาปารีส ก็จะต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคแรก
ส่วนการที่นางสาวกะรัตได้รับค่าจ้างพิเศษค่าออกแบบลายผ้าจากบริษัทวิเวียนกูตูร์ ประเทศ ฝรั่งเศสเป็นเงินจํานวน 500,000 บาทนั้น เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) เพราะเป็น เงินได้จากการรับทํางานให้ และถือเป็นเงินได้ที่มีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศไทย เพราะเป็นเงินได้ที่เกิด จากกิจการที่ทําในต่างประเทศ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปีภาษี 2556 นั้น นางสาวกะรัตมิได้เป็นผู้อยู่ใน ประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม ดังนั้นแม้นางสาวกะรัตจะได้นําเงินได้จํานวนดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยใน ปีภาษีก็ตาม นางสาวกะรัตก็ไม่ต้องนําเงินได้จํานวนดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม
สรุป นางสาวกะรัตจะต้องนําเงินได้เฉพาะที่เป็นเงินเดือนเท่านั้นมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนเงินได้ที่เป็นค่าจ้างพิเศษค่าออกแบบจํานวน 500,000 บาท ไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อ 2 นายใบเตยทํางานเป็นพนักงานเก็บเงินของบริษัท อุปกรณ์การแพทย์ จํากัด มีสํานักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครได้รับเงินเดือน ๆ ละ 40,000 บาท นายใบเตยได้นํารถยนต์ส่วนตัวของตนมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ และบริษัทฯ ได้จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แบบเหมาจ่ายให้แก่นายใบเตยเดือนละ 5,000 บาท โดยมิได้คํานึงว่านายใบเตยจะได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นหรือไม่ และไม่ต้องนําใบเสร็จ มาแสดงแก่บริษัทฯ แต่อย่างใด ในปีภาษี 2555 นายใบเตยได้รับเงินค่าน้ำมันจาก บริษัทฯ เป็นเงิน รวมตลอดทั้งปีจํานวน 60,000 บาท ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2555 รถยนต์ของนายใบเตย ถูกนายอ๊อฟขับชนโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของนายใบเตยได้รับความเสียหาย แต่นายใบ ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย นายใบเตยจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทําละเมิดของนายอ๊อฟ เพื่อเป็นค่าซ่อมรถยนต์และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจํานวน 80,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าปีภาษี 2555 นายใบเตยต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือ เงินได้ประเภทดังต่อไปนี้รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจากการจ้างแรงงาน”
มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษี เงินได้
(1) ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตําแหน่งงานหรือผู้รับทํางานให้ ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจําเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
(13) ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด เงินที่ได้จากการประกันภัยหรือการฌาปนกิจสงเคราะห์”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ โดยหลักแล้วเงินค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างอันจะได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (1) จะต้องเป็นค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างได้จ่ายไป โดยสุจริตตามความจําเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น แต่ตามข้อเท็จจริง ค่าพาหนะคือค่าน้ํามันรถยนต์ที่บริษัทฯ จ่ายให้นายใบเตยซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ที่นํา รถยนต์ส่วนตัวของตนมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ มีลักษณะเป็นการเหมาจ่าย โดยมิได้คํานึงว่าจะจ่ายไปทั้งหมด ในการนั้นหรือไม่ เงินค่าน้ํามันรถยนต์ที่บริษัทเหมาจ่ายให้แก่นายใบเตยจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น นายใบเตยจึงต้องนําเงินค่าน้ํามันรถยนต์จํานวน 60,000 บาท ไปรวมคํานวณกับเงินเดือน เพื่อนําไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนจํานวน 80,000 บาท ที่นายใบเตยได้รับจากนายอ๊อฟเป็นค่าสินไหม ทดแทนเพื่อละเมิด จึงได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (13) ดังนั้น นายใบเตยจึงไม่ต้องนําเงินจํานวน ดังกล่าวมารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สรุป
นายใบเตยต้องนําเงินค่าน้ำมันรถยนต์จํานวน 60,000 บาท ไปรวมคํานวณกับเงินเดือน เพื่อนําไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น ส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนจํานวน 80,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้อง นํามาคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข้อ 3. ในรอบระยะเวลาบัญชี 2556 บริษัท ไทยขนส่งสินค้าทางทะเล จํากัด เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้เปิดสาขา (Branch) ในประเทศเวียดนามและประเทศสิงคโปร์ โดยสํานักงานใหญ่ และสาขามีรายได้ ดังนี้
1) สํานักงานใหญ่ในประเทศไทย : มีรายได้จากการขนสินค้าออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนและอินเดีย จํานวน 200 ล้านบาท และจากประเทศปากีสถานและบังคลาเทศมาประเทศไทยจํานวน 100 ล้านบาท
2) สาขาประเทศเวียดนาม : มีรายได้จากการขนสินค้าจากประเทศเวียดนามไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาจํานวน 400 ล้านบาท และจากประเทศเม็กซิโกมาประเทศไทย จํานวน 80 ล้านบาท
3) สาขาประเทศสิงคโปร์ : มีรายได้จากการขนสินค้าจากประเทศสิงคโปร์ไปยังประเทศเยอรมนีจํานวน 300 ล้านบาท และจากประเทศเยอรมนี้มาประเทศสิงคโปร์ จํานวน 100 ล้านบาท จงวินิจฉัยว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี 2556 บริษัท ไทยขนส่งสินค้าทางทะเล จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) ตามประมวลรัษฎากรจากรายได้ทั้งหมดดังกล่าวอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 65 วรรคแรก “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี”
มาตรา 66 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”
วินิจฉัย
ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 65 วรรคแรก และมาตรา 66 บรรคแรก ได้บัญญัติให้บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะต้องเสียภาษีจากกําไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ ที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าย ทั้งนี้โดยไม่คํานึงว่าจะเป็นเงินได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ ที่ได้กระทํา ณ ที่ใดไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือนอกประเทศไทยก็ตาม จะต้องนํารายได้เหล่านั้นทั้งหมดมาเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่า บริษัท ไทยขนส่งสินค้าทางทะเล จํากัด จะประกอบกิจการขนส่งสินค้า ระหว่างประเทศทางทะเล แต่เมื่อเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จึงต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคแรก และมาตรา 66 วรรคแรก คือจะต้องนํารายได้ทั้งหมด ทั้งของสํานักงานใหญ่ในประเทศไทยจํานวน 300 ล้านบาท รายได้ของสาขาประเทศเวียดนามจํานวน 480 ล้านบาท และรายได้ของสาขาประเทศสิงคโปร์จํานวน 400 ล้านบาท รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 1,180 ล้านบาท มาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย
สรุป บริษัท ไทยขนส่งสินค้าทางทะเล จํากัด จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวล รัษฎากรจากรายได้ทั้งหมดจํานวน 1,180 ล้านบาท