การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 นายอดัม สัญชาติอังกฤษ ได้เดินทางเข้ามาซื้ออาคารชุดย่านถนนสุขุมวิทติดกับรถไฟฟ้าจํานวน 10 ห้อง เพื่อให้เช่าเป็นสํานักงานและที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นในเดือน พฤษภาคม 2555 จึงรีบเดินทางกลับไปยังประเทศอังกฤษ เพราะเกรงว่าถ้าอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วัน จะไปเข้าเงื่อนไขของประมวลรัษฎากรที่เรียกว่า “ผู้อยู่ในประเทศไทย” ส่วนธุรกิจห้องเช่า ดังกล่าวได้ให้นายอุดมสัญชาติไทยและอยู่ในประเทศไทยเป็นผู้ดูแลแทน และจัดการโอนเงินค่าเช่า ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ไปเข้าบัญชีเงินฝากของนายอดัมที่ ประเทศอังกฤษจํานวน 5 แสนบาท จงวินิจฉัยว่า นายอดัมต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม ประมวลรัษฎากรจากค่าเช่าที่ได้รับดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 41 “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ใน ประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทําในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติ ในส่วนนี้ เมื่อนําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในประเทศไทย หรือกิจการที่ทําใน ประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทําในต่างประเทศหรือ กิจการที่ทําในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นําเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี เดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอดัมประกอบธุรกิจห้องเช่า โดยการซื้ออาคารชุดเพื่อให้เช่า เป็นสํานักงานและที่อยู่อาศัยในประเทศไทย และมีรายได้จากค่าเช่าจํานวน 5 แสนบาท ซึ่งรายได้จากค่าเช่าดังกล่าว ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น แม้นายอดัมจะมิได้เป็นผู้อยู่ใน ประเทศไทย เพราะอยู่ในประเทศไทยไม่ครบ 180 วันก็ตาม นายอดัมก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าเช่า จํานวน 5 แสนบาทนั้นตามมาตรา 41 วรรคแรก
สรุป นายอดัมจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรจากค่าเช่าที่ได้รับ ดังกล่าวตามมาตรา 41 วรรคแรก
ข้อ 2 ปีภาษี 2555 นายกบสถาปนิกได้รับเงินเดือนจากการเป็นสถาปนิกประจําบริษัทเดือนละ 200,000 บาท ในปีภาษีเดียวกันนี้เอง นายกบได้ไปถ่ายแบบโฆษณาได้ค่าตอบแทนจํานวน 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยัง ได้รับมรดกเป็นหุ้นในบริษัทแห่งหนึ่ง จํานวน 10,000 หุ้น มูลค่า 10 ล้านบาท จากย่าของนายกบ และในเดือนกันยายน 2555 นายกบได้จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.บัว ซึ่งมีอาชีพเป็นครีเอทีฟบริษัทโฆษณา ตลอดทั้งปีภาษี 2555 นายกบได้นํานายยศภัสและนางกมลาบิดามารดามาอุปการะเลี้ยงดู โดยนายยศภัสบิดาอายุ 65 ปี เป็นข้าราชการเกษียณได้รับเงินบํานาญทุกเดือน ส่วนนางกมลามารดา อายุ 62 ปี เป็นแม่บ้านไม่มีเงินเดือน ดังนี้ อยากทราบว่า เงินได้พึงประเมินที่นายกบได้รับมาทั้งหมด เป็นเงินได้พึงประเมินใดบ้าง และต้องนํามาเสียภาษีทั้งหมดหรือไม่ เพราะเหตุใด และหากนายกบ แยกยื่นภาษีจาก น.ส.บัว จะสามารถนํา น.ส.บัว นายยศภัส และนางกมลามาหักลดหย่อนได้อีก หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้างเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ นายจ้างจ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชําระ และเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน
(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนสด เงินอุดหนุนในงานที่ทํา เบี้ยประชุม บําเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรืองานที่รับทําให้นั้นจะเป็นการประจําหรือชั่วคราว
(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”
มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้
(10) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้
(1) ลดหย่อนให้สําหรับ
(ก) ผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(ข) สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 30,000 บาท
(ญ) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีภริยาของ ผู้มีเงินได้คนละสามหมื่นบาท โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องมีอายุหกสิบปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และ อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้”
มาตรา 57 เบญจ “ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่ ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรีก็ได้
ในกรณีที่ภริยาแยกยื่นรายการตามวรรคหนึ่ง ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้ดังนี้
(1) สําหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 47 (1) (ก)”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า เงินได้พึงประเมินที่นายกบได้รับมาทั้งหมด เป็นเงินได้พึงประเมินใดบ้าง และต้องนํามาเสียภาษีทั้งหมดหรือไม่ เห็นว่า เงินได้พึงประเมินที่นายกบได้รับในปี ภาษี 2555 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทดังต่อไปนี้
1 เงินเดือนที่นายกบได้รับจากการเป็นสถาปนิกประจําบริษัทเดือนละ 200,000 บาท ถือเป็น เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นายกบจึงต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2 เงินค่าตอบแทนจากการถ่ายแบบโฆษณาจํานวน 1 ล้านบาท ถือเป็นเงินได้เนื่องจาก การรับทํางานให้ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร นายกบจึงต้อง นํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3 กรณีของหุ้นที่นายกบได้รับอันเป็นมรดกจากย่าจํานวน 10,000 หุ้น มูลค่า 10 ล้านบาท ถือเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40 (1) ถึง (7) จึงเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่นายกบไม่ต้องนําเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะถือเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก จึงได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (10)
ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยว่า หากนายกบแยกยื่นภาษีจาก น.ส.บัว จะสามารถนํา น.ส.บัว นายยศภัส และนางกมลามาหักลดหย่อนได้อีกหรือไม่ เห็นว่า สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่มีสิทธินํามาหักลดหย่อน ตามมาตรา 47 (1) (ข) นั้น จะต้องเป็นสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีนั้น หรือภริยามีเงินได้พึงประเมินแต่ไม่ได้แยกยืนรายการเสียภาษี ตามข้อเท็จจริง แม้ว่านายกบและ น.ส.บัว จะเป็น สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่า น.ส.บัว เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน และนายกบได้แยกยื่นรายการ เสียภาษีจาก น.ส.บัว ดังนั้นในการหักลดหย่อนให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 เบญจ) กล่าวคือ นายกบจะหักลดหย่อนในส่วนของตนเองได้เพียง 30,000 บาท เท่านั้น จะนํา น.ส.บัวมาหักลดหย่อนไม่ได้
ส่วนค่าลดหย่อนบิดามารดาตามมาตรา 47 (1) (ญ) นั้นกฎหมายกําหนดว่าจะต้องเป็นบิดามารดา ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ รวมไปถึงต้องเป็นบิดามารดาที่ได้รับการอุปการะจาก บุตรผู้เสียภาษี แต่กรณีนี้ นายยศภัสเป็นข้าราชการเกษียณอายุ 65 ปี มีรายได้เพียงพอจากบํานาญในการใช้จ่าย นายกบจึงไม่สามารถนําไปหักค่าลดหย่อนได้ แต่กรณีของนางกมลามารดาอายุ 62 ปี และเป็นแม่บ้าน ถือว่ามีรายได้ ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และอยู่ในความอุปการะของนายกบ นายกบจึงสามารถนํานางกมลามาหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร
สรุป เงินเดือน ค่าตอบแทนจากการถ่ายโฆษณา และหุ้นอันเป็นมรดกจากย่า เป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 (1), 40 (2) และ 40 (8) ตามลําดับ โดยนายกบจะต้องนําเงินได้ที่เป็นเงินเดือนและ ค่าตอบแทนจากการถ่ายโฆษณาเท่านั้นไปยื่นแบบรายการเสียภาษี และในการยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโดยการ แยกยืนภาษีนั้น นายกบสามารถนํานางกมลามาหักลดหย่อนได้ แต่จะนํา น.ส.บัว และนายยศภัสมาหักลดหย่อนไม่ได้
ข้อ 3 บริษัท คิโนะชิตะแอร์ไลน์แอนด์ทรานสปอร์ต จํากัด จดทะเบียนจัดตั้งที่ประเทศญี่ปุ่น ดําเนินธุรกิจการบินระหว่างประเทศ รอบระยะบัญชีปี 2555 บริษัทฯ ได้ขนส่งผู้โดยสารจากประเทศไทยไป ประเทศญี่ปุ่นโดยมีรายได้จากการจําหน่ายตั๋วโดยสารในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท และขนส่งผู้โดยสารจากประเทศญี่ปุ่นมาประเทศไทยมีรายได้จากการจําหน่ายตั๋วโดยสารที่ประเทศญี่ปุ่น 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการรับขนสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยจํานวน 500 ล้านบาท อยากทราบว่ารายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ จะต้องนํามาชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับ ประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร
มาตรา 67 “การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ให้เสียตามอัตราที่กําหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษี เงินได้ท้ายหมวดนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง กระทํากิจการขนส่ง ผ่านประเทศต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสารค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น
(2) ในกรณีรับขนของ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์ อื่นใดที่เรียกเก็บ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น”
วินิจฉัย
โดยหลัก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย และกิจการที่กระทําเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ ในกรณีรับขนคนโดยสาร ต้องเป็นการเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดในประเทศไทย ส่วนกรณีรับขนของต้องเป็นการขนของออกนอกประเทศเท่านั้นจึงจะมีหน้าที่เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทฯ ได้ขนส่งผู้โดยสารจากประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่นโดยมีรายได้ จากการจําหน่ายตั๋วโดยสารในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาทนั้น บริษัทฯ จะต้องนํารายได้ดังกล่าวมา ชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทยตามมาตรา 67 (1) เพราะมีการเรียกเก็บค่าโดยสารในประเทศไทย แต่กรณีรายได้จากการจําหน่ายตั๋วโดยสารที่ประเทศญี่ปุ่น 1,200 ล้านบาทนั้น บริษัทฯ ไม่ต้องนํามาชําระภาษี เนื่องจากมีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่ประเทศญี่ปุ่น มิใช่ในประเทศไทยจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 67 (1)
ส่วนรายได้จากการรับขนสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยจํานวน 500 ล้านบาทนั้น บริษัทฯ ก็ไม่ต้องนํามาชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย เพราะมิใช่การขนสินค้าจากประเทศไทยออกไป ยังประเทศญี่ปุ่นตามมาตรา 67 (2) อันจะทําให้เกิดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
สรุป
บริษัทฯ จะต้องนํารายได้จากการจําหน่ายตั๋วโดยสารในประเทศไทยจํานวน 1,000 ล้านบาท มาชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย แต่ไม่ต้องนํารายได้จากการจําหน่ายตั๋วโดยสารที่ประเทศญี่ปุ่น จํานวน 1,200 ล้านบาท และรายได้จากการรับขนสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยจํานวน 500 สํานบาท มาชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย