การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายหนึ่ง นายสอง และนายสามร่วมกันตั้งคณะบุคคลดําเนินกิจการในประเทศไทยขายวัสดุก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2555 กิจการขายวัสดุก่อสร้างได้รับเงิน 5,000,000 บาท เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2555 นายหนึ่ง นายสอง และนายสามมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกําไรจากกิจการคนละ 1,000,000 บาท แต่ปรากฏ ข้อเท็จจริงว่านายสามถึงแก่ความตายในวันที่ 30 ธันวาคม 2555 และทรัพย์สินของนายสามตกแก่ กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งของนายสาม จงอธิบายหลักเกณฑ์การนําเงินได้จากการขายวัสดุก่อสร้าง เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2555 พร้อมยกบทบัญญัติประมวลกฎหมายรัษฎากร ประกอบการอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 39 “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะฟังเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคํานวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิด้วย”

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 41 วรรคแรก “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจาก หน้าที่งานหรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สิน ที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ”

มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสียภาษี เงินได้

(14) เงินส่วนแบ่งของกําไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งต้อง เสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกําไรจากกองทุนรวม

มาตรา 56 “ให้บุคคลทุกคนเว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือย เสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้ง ข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกําหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง

ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะนิติบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ล่วงมาแล้วเกินจํานวนตาม (1) ให้ผู้อํานวยการหรือผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วน หรือคณะบุคคลนั้นที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในกําหนดเวลาและตามแบบเช่นเดียวกับวรรคก่อน”

มาตรา 56 ทวิ วรรคแรก “เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกําหนดเวลาตามมาตรา 56 ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 57 ทวิ และมาตรา 57 ตรี ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดี กําหนด แสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา 40(546X7) หรือ (8) ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่ง นายสอง และนายสามร่วมกันตั้งคณะบุคคลดําเนินกิจการในประเทศไทยขายวัสดุก่อสร้าง และมีการแบ่งเงินกําไรจากกิจการนั้น ถือว่าเป็นการตกลงเข้าทุนกันเพื่อกระทํากิจการ ร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น จึงเข้าลักษณะของการเป็นสัญญาจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 และมาตรา 1025

ในปี พ.ศ. 2555 กิจการขายวัสดุก่อสร้างได้รับเงิน 5,000,000 บาท เงินจํานวนนี้ถือว่าเป็น เงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจหรือการพาณิชย์ และเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 39 และมาตรา 40(8)

และเมื่อกิจการดังกล่าวอยู่ในรูปของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากกิจการที่ทําในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคแรก จึงต้องนําเงินได้จํานวน 5,000,000 บาทดังกล่าว ไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 วรรคสอง ส่วนกรณีเงินส่วนแบ่งกําไร ที่ทั้งสามได้รับคนละ 1,000,000 บาทนั้น ไม่ต้องนํามาเสียภาษี เพราะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42(14)

สําหรับการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีนั้น ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการเป็นผู้ยื่นรายการ เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินจํานวน 5,000,000 บาทในชื่อของห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 56 วรรคสอง โดยให้ยื่น ครั้งแรกภายในเดือนกันยายน ปี 2555 ตามมาตรา 56 ทวิ วรรคแรก และให้ยืนครั้งที่สองภายในเดือนมีนาคม ปี 2556 ตามมาตรา 56 วรรคแรก โดยไม่คํานึงว่านายสามจะได้ถึงแก่ความตายอันเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกัน แล้วหรือไม่

สรุป เงินได้จากการขายวัสดุก่อสร้างจํานวน 5,000,000 บาท เป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ ของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งผู้จัดการจะต้องนําไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ครั้ง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 2 ในปีภาษี 2555 นายเอกมีเงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้

1 เงินค่าตอบแทนในการเป็นที่ปรึกษาด้านแรงงาน จํานวนเดือนละ 50,000 บาท โดยมีสัญญาปีต่อปี

2 เงินค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือให้กับสํานักพิมพ์แห่งหนึ่ง จํานวน 100,000 บาท

3 เงินได้จากการมีบ้านให้เช่าได้รับค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท

4 เงินได้จากการเปิดร้านขายของชํา (มินิมาร์ท) เดือนละ 80,000 บาท

จงวินิจฉัยว่า เงินได้พึงประเมินของนายเอกเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใดตามประมวลรัษฎากร และต้องปฏิบัติในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีและสิ้นปีใน เงินได้พึงประเมินดังกล่าวอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทํา เบี้ยประชุม บําเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่ 5 คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชําระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชําระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา หรือจากการรับทํางานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรืองานที่รับทําให้นั้นจะเป็นการประจําหรือชั่วคราว

(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปี อันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคําพิพากษาของศาล

(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก

(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 56 วรรคแรก “ให้บุคคลทุกคนเว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้ง ข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกําหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง”

มาตรา 56 ทวิ วรรคแรก “เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกําหนดเวลาตามมาตรา 56 ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 57 ทวิ และมาตรา 57 ตรี ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดี กําหนด แสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา 40(5)(6)(7) หรือ (8) ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในปีภาษี 2555 เงินได้พึงประเมินที่นายเอกได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทดังต่อไปนี้

1 เงินค่าตอบแทนในการเป็นที่ปรึกษาด้านแรงงาน จํานวนเดือนละ 50,000 บาท ถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตําแหน่งงานที่ทํา จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

2 เงินค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือจํานวน 100,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร

3 เงินได้จากการมีบ้านให้เช่าโดยได้รับค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท เป็นเงินได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

4 เงินได้จากการเปิดร้านขายของชํา (มินิมาร์ท) เดือนละ 80,000 บาท ถือเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

เงินได้พึงประเมินที่นายเอกได้รับในปีภาษี 2555 ดังกล่าวนั้น นายเอกจะต้องปฏิบัติในการยื่น แบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีและสิ้นปี ดังนี้คือ

1 นายเอกต้องนําเงินได้พึงประเมินตามข้อ 3. คือเงินได้จากการมีบ้านให้เช่าตามมาตรา 40(5ก) และเงินได้พึงประเมินตามข้อ 4. คือเงินได้จากการเปิดร้านขายของชําตามมาตรา 40(8) ไปยื่นแบบ แสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีภายในเดือนกันยายนของปี 2555 ตามมาตรา 56 ทวิ วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร และ

2 นายเอกจะต้องนําเงินได้พึงประเมินทุกประเภทที่ได้รับในปีภาษี 2555 ไปยื่นแบบ แสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจําปี (สิ้นปี) ภายในเดือนมีนาคมของปี 2556 ตามมาตรา 56 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร

 

ข้อ 3 ในรอบระยะเวลาบัญชี 2555 บริษัท ไทยพลังงาน จํากัด ได้กู้เงินจากธนาคาร โตเกียว จํากัด ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยธนาคารฯ ไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัท ไทยพลังงาน จํากัด กับ ธนาคาร โตเกียว จํากัด ได้ทําสัญญากันที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งสัญญามีกําหนดเวลาชําระหนี้ 5 ปี และบริษัท ไทยพลังงาน จํากัด ต้องจ่ายดอกเบี้ย จํานวน 10 ล้านบาท โดยเปิดบัญชีชําระหนี้ผ่านทาง ธนาคารระหว่างประเทศไปยังประเทศญี่ปุ่น ดังนี้ ธนาคาร โตเกียว จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จากดอกเบี้ยที่ได้รับตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพราะเหตุใด อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(4) เงินได้ที่เป็น

(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

มาตรา 70 วรรคแรก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือ ในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้สําหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนําส่งอําเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่ อธิบดีกําหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นํามาตรา 54 มาใช้ บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

การหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 วรรคแรก ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1 ผู้รับเงินจะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวจะต้องมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และ

3 เงินได้ที่จ่ายจะต้องเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยเท่านั้น

ตามอุทาหรณ์ การที่ธนาคาร โตเกียว จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมายของ ประเทศญี่ปุ่น โดยไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) คือได้รับดอกเบี้ยเงินกู้จากบริษัท ไทยพลังงาน จํากัด ที่จ่ายจากประเทศไทยจํานวน 10 ล้านบาท ธนาคาร โตเกียว จํากัด จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 วรรคแรก โดยให้บริษัท ไทยพลังงาน จํากัด ซึ่งเป็นผู้จ่าย หักภาษี ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ธนาคาร โตเกียว จํากัด แล้วนําส่งอําเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกําหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น

สรุป

ธนาคาร โตเกียว จํากัด ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากดอกเบี้ยที่ได้รับนั้น โดยให้ บริษัท ไทยพลังงาน จํากัด เป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 วรรคแรก

Advertisement