การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4003 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
คําแนะนํา
ข้อสอบเป็นอัตนัยล้าน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายถึงขั้นตอนการจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญาโดยสังเขป และขั้นตอนใดสนธิสัญญาจึงจะมีผลบังคับใช้และจะต้องดําเนินการอย่างไร นอกจากนี้หากรัฐใดไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทําสนธิสัญญาจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในสนธิสัญญานั้นได้อย่างไรหรือไม่ และด้วยวิธีการใด
ธงคําตอบ
การจัดทําสนธิสัญญาภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนา ค.ศ. 1969 ว่าด้วยสนธิสัญญา มีขั้นตอน การจัดทําดังนี้ คือ
1 การเจรจา
2 การลงนาม
3 การให้สัตยาบัน
4 การจดทะเบียน
1 การเจรจา การเจรจาเป็นขั้นตอนเบื้องต้นในการทําสนธิสัญญาเพื่อกําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทําสนธิสัญญา ซึ่งองค์กรที่มีอํานาจในการเจรจาเพื่อทําสนธิสัญญาจะถูกกําหนดโดยรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ หรือในบางกรณีผู้มีอํานาจใน การเจรจาอาจจะไม่ทําการเจรจาด้วยตนเองก็ได้แต่มอบอํานาจให้ผู้อื่น เช่น ตัวแทนทางการทูต หรือคณะผู้แทน เข้าทําการเจรจาแทน แต่ต้องทําหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ซึ่งผู้แทนจะนํามามอบให้แก่รัฐคู่เจรจา หรือต่อที่ประชุมในกรณีที่มีรัฐหลายรัฐร่วมเจรจาด้วย
การร่างสนธิสัญญาเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญของรัฐคู่เจรจา จะทําความตกลงกันใน หลักการและข้อความในสนธิสัญญา โดยจะมีการประชุมพิจารณาร่างข้อความในสนธิสัญญา และตามมาตรา 9 ของ อนุสัญญากรุงเวียนนาระบุว่า ร่างสนธิสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบโดยเอกฉันท์จากรัฐคู่เจรจา เว้นแต่ที่ประชุม จะให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์
2 การลงนาม การลงนามในสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ที่จะกําหนดข้อความเด็ดขาดใน สนธิสัญญา และการแสดงความยินยอมที่จะผูกพันในสนธิสัญญาของรัฐคู่เจรจา ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญานั้น จะกระทําเมื่อผู้แทนในการเจรจาเห็นชอบกับข้อความในร่างสนธิสัญญานั้นแล้ว
การลงนามในสนธิสัญญานั้น อาจจะเป็นการลงนามเลย หรือลงนามย่อก่อนและลงนามจริง ในภายหลังก็ได้ และสนธิสัญญาที่ได้มีการลงนามแล้วนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันความรับผิดชอบของรัฐ จะต้อง มีการให้สัตยาบันเสียก่อนจึงจะสมบูรณ์
3 การให้สัตยาบัน การให้สัตยาบัน หมายถึง การยอมรับขั้นสุดท้าย เป็นการแสดงเจตนา ของรัฐที่จะรับข้อผูกพันและปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญา และการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญานั้น จะต้องมีการจัดทํา สัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) ซึ่งกระทําในนามประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล หรืออาจจะลงนามโดย รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ และในสัตยาบันสารนั้นจะระบุข้อความในสนธิสัญญา และคํารับรองที่จะปฏิบัติตาม ข้อผูกพันในสนธิสัญญานั้น
4 การจดทะเบียน เมื่อมีการทําสนธิสัญญาเสร็จแล้ว โดยหลักจะต้องนําสนธิสัญญานั้น ไปจดทะเบียนไว้กับสํานักเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ (มาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ) แต่อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาบางฉบับอาจจะไม่ได้นําไปจดทะเบียนก็ได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าสนธิสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนแล้วเท่านั้น สนธิสัญญาบางฉบับแม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน แรก รายการอาหารและขั้นตอนที่ทําให้สนธิสัญญามีผลสมบูรณ์บังคับใช้กับภาคีสมาชิกคือขั้นตอนการให้ สัตยาบัน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องนําสนธิสัญญานั้นไปจดทะเบียนต่อสหประชาชาติด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้ว ภาคี สมาชิกจะนําสนธิสัญญาดังกล่าวมาฟ้องหรือมาอ้างต่อองค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติ หรือต่อศาลยุติธรรม ระหว่างประเทศเพื่อบังคับให้เป็นไปตามสนธิสัญญานั้นไม่ได้
และการที่รัฐใดไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินการจัดทําสนธิสัญญากับรัฐอื่น สามารถ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญานั้นได้ โดยวิธีการดังต่อไปนี้
1 การลงนามภายหลัง (Deferred Signature) เป็นกรณีที่รัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน การทําสนธิสัญญานั้นแต่แรก แต่เข้ามามีส่วนในขั้นตอนหลังจากการเจรจาผ่านไปแล้วและอยู่ในระยะของขั้นตอนที่ 2 คือการลงนาม การลงนามภายหลังนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับการเข้าร่วม แต่ต่างกันตรงที่การเข้าร่วมนั้นจะมีผลผูกพัน นับแต่มีการปฏิญญาขอเข้าร่วมในสนธิสัญญา ส่วนการลงนามภายหลังนี้รัฐที่ลงนามภายหลังยังไม่มีพันธกรณี ตามสนธิสัญญา เพราะจะต้องให้สัตยาบันก่อนจึงจะถือว่าเป็นภาคีสนธิสัญญาและมีผลผูกพันรัฐนั้น
2 ภาคยานุวัติหรือการเข้าร่วม (Adhesion) คือ การที่รัฐหนึ่งรัฐใดไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการทําสนธิสัญญาตั้งแต่แรก แต่เมื่อสนธิสัญญาผ่านขั้นตอนการลงนามจนมีผลใช้บังคับ และมิได้ระบุห้ามการ ภาคยานุวัติไว้ รัฐนั้นก็อาจเข้าไปร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญานั้นในภายหลังหลังจากระยะเวลาการลงนามได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยยอมรับผูกพันตามสิทธิและหน้าที่ที่กําหนดไว้ในสนธิสัญญา ซึ่งมีผลผูกพันนับแต่วันทําภาคยานุวัติ ไม่มีผลย้อนหลัง แต่อย่างใด
อนึ่งอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ ค.ศ. 1969 ได้กําหนดว่า ความยินยอมของรัฐที่จะรับ พันธกรณีตามสนธิสัญญาด้วยการทําภาคยานุวัติ จะทําได้ในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
1) สนธิสัญญานั้นกําหนดไว้โดยตรงให้มีการทําภาคยานุวัติได้
2) ทุกรัฐที่เป็นภาคีของสนธิสัญญานั้นตกลงให้มีการภาคยานุวัติได้
ข้อ 2 จงอธิบายถึงทฤษฎีซึ่งอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในให้ชัดเจน และประเทศไทยยึดถือแนวทางของทฤษฎีใด ด้วยการดําเนินการอย่างไร ยกตัวอย่างประกอบด้วย
ธงคําตอบ
ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในประกอบไปด้วยทฤษฎี 2 ทฤษฎี
1 ทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เป็นกฎหมายคนละระบบแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แตกต่างกันทั้งที่มา การบังคับใช้ และความผูกพัน ในการนี้ถ้ากฎหมายภายในขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ยังถือว่า กฎหมายภายในสมบูรณ์อยู่ใช้บังคับได้ภายในรัฐ แต่ถ้าการบังคับใช้กฎหมายภายในดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อรัฐอื่น รัฐนั้นในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นด้วย นอกจากนี้ รัฐที่นิยมในทฤษฎีดังกล่าว เมื่อเข้าผูกพันในกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในกรณีที่จะนํากฎหมายระหว่างประเทศ มาใช้บังคับภายในประเทศ จะนํามาใช้บังคับเลยไม่ได้ จะต้องนํากฎหมายนั้นมาแปลงให้เป็นกฎหมายภายใน เสียก่อน เช่น ออกประกาศ หรือ พ.ร.บ. รองรับ เป็นต้น
2 ทฤษฎีเอกนิยม (Monism) อธิบายว่า กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน ไม่แตกต่างกัน มีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพราะกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศต่างมีเจตนารมณ์ เดียวกัน คือ เพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นสังคมภายในหรือระหว่างประเทศ แต่ก็เห็นว่า กฎหมายระหว่างประเทศมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า ดังนั้นรัฐที่นิยมทฤษฎีนี้จึงไม่ต้องทําการแปลงรูปกฎหมาย ระหว่างประเทศ เพราะกฎหมายระหว่างประเทศจะเข้ามามีผลเป็นกฎหมายภายในโดยอัตโนมัติ เพราะกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าไม่ได้
สําหรับประเทศไทยยึดถือปฏิบัติตามแนวทาง “ทฤษฎีทวินิยม หรือ Dualism” ซึ่งเห็นว่า กฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะเท่าเทียมกัน และเป็นอิสระจากกันและกัน ดังนั้นจึงไม่อาจ ที่จะนํากฎหมายระหว่างประเทศมาบังคับใช้ภายในประเทศได้โดยอัตโนมัติ แต่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนหรือ แปลงรูปกฎหมายนั้นให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อนจึงจะสามารถนํามาบังคับใช้ได้ เช่น พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ และ พ.ร.บ. สิทธิบัตร เป็นต้น
ข้อ 3 หากมีผู้มาขอความรู้จากท่านเกี่ยวกับความเป็นรัฐของ “ไต้หวัน” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน (The Republic of China) ท่านจะนําหลักเกณฑ์ใดมาอธิบายให้ท่านผู้นี้เข้าใจ อย่างชัดเจน และท่านจะสรุปให้ผู้มาขอความรู้จากท่านว่าไต้หวันมีสถานะของความเป็นรัฐหรือไม่ แตกต่างจากกรณีของฮ่องกง (Hong Kong) อย่างไร
ธงคําตอบ
1 หากมีผู้มาขอความรู้จากข้าพเจ้าเกี่ยวกับสถานะของความเป็นรัฐของ “ไต้หวัน” และกับ กรณีของฮ่องกง ข้าพเจ้าจะให้คําอธิบายแก่บุคคลดังกล่าว ดังนี้ คือ
สภาพความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศจะเริ่มเกิดขึ้นได้ จะต้องมีองค์ประกอบ ของความเป็นรัฐครบ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
1 ดินแดน กล่าวคือ รัฐต้องมีดินแดนให้ประชาชนได้อยู่อาศัย ซึ่งดินแดนของรัฐนั้น รวมทั้งพื้นดิน ผืนน้ำ และท้องฟ้าเหนือดินแดนด้วย ดินแดนไม่จําเป็นต้องเป็นผืนเดียวติดต่อกัน อาจจะเป็น ดินแดนโพ้นทะเลก็ได้ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่ได้กําหนดขนาดของดินแดนไว้ ฉะนั้นรัฐจะมีดินแดนมากน้อย เพียงใดไม่ใช่ข้อสําคัญ แต่ต้องมีความแน่นอนมั่นคงถาวร และกําหนดเขตแดนไว้แน่นอนชัดเจน
2 ประชากร กล่าวคือ มีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนที่มีความแน่นอน ซึ่งกฎหมาย ระหว่างประเทศก็ไม่ได้กําหนดว่าจะต้องมีจํานวนประชากรมากน้อยเท่าไร เพียงแต่ต้องมีจํานวนมากพอสมควรที่ จะสามารถดํารงความเป็นรัฐได้ ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนของรัฐนี้ไม่จําเป็นต้องมีชนชาติเดียวกัน อาจมี เชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน แต่มีความผูกพันทางนิตินัยกับรัฐ คือ มีสัญชาติเดียวกัน
3 รัฐบาล กล่าวคือ มีคณะบุคคลที่ใช้อํานาจเหนือดินแดนและประชากรมาทําการ บริหารงานทั้งภายในและภายนอกรัฐ จัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน จัดระเบียบการปกครองภายใน รักษา ความสงบเรียบร้อยในดินแดนของตน ดําเนินการป้องกันประเทศ ส่งเสริมความเจริญของประเทศ และรักษา สิทธิผลประโยชน์ของประชาชน
4 อํานาจอธิปไตย (หรือเอกราชอธิปไตย) กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะดําเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อํานาจอิสระภายใน หมายถึง อํานาจของรัฐในการจัดกิจการภายในประเทศ ได้อย่างอิสรเสรีแต่เพียงผู้เดียว โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ส่วนอํานาจอิสระภายนอก หมายถึง อํานาจ ของรัฐในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องฟังคําสั่งจากรัฐอื่น และได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค กับรัฐอื่น
และเมื่อมีสภาพความเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศเพราะมีองค์ประกอบที่สําคัญครบ ทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความเป็นรัฐจะเป็นที่รับรู้ในสังคมระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อได้รับการรับรอง สภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น โดยเฉพาะจากรัฐที่ตนจะเข้าไปทําการติดต่อสัมพันธ์ด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการรับรอง ความเป็นรัฐโดยรัฐอื่นนั้น มีทฤษฎีเกี่ยวกับการรับรองรัฐอยู่ 2 ทฤษฎี คือ
1 ทฤษฎีว่าด้วยเงื่อนไข (การก่อกําเนิดรัฐ) หมายความว่า แม้รัฐใหม่ที่เกิดขึ้นจะมี องค์ประกอบของความเป็นรัฐครบ 4 ประการแล้วก็ตาม สภาพของรัฐก็ยังไม่เกิดขึ้น สภาพของรัฐจะเกิดขึ้นและ มีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขที่สําคัญคือ จะต้องมีการรับรองรัฐโดยรัฐอื่นด้วย และเมื่อรัฐอื่นได้ให้การรับรองแล้ว รัฐที่เกิดขึ้นใหม่ก็จะมีสภาพบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสามารถที่จะติดต่อกับรัฐอื่นในสังคมระหว่างประเทศได้
2 ทฤษฎีว่าด้วยการประกาศ (ยืนยัน) ซึ่งทฤษฎีนี้ถือว่าการรับรองนั้นไม่ก่อให้เกิด สภาพของรัฐ เพราะเมื่อรัฐที่เกิดขึ้นใหม่มีองค์ประกอบความเป็นรัฐครบถ้วนแล้วก็ย่อมเป็นรัฐที่สมบูรณ์แม้จะ ไม่มีการรับรองจากรัฐอื่นก็ตาม และรัฐนั้นก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศทุกประการ การรับรองนั้นถือว่าเป็นเพียงการยืนยันหรือประกาศความเป็นจริง (ความเป็นรัฐ) ที่เป็นอยู่แล้วเท่านั้น
สําหรับสถานะของ “ไต้หวัน” (Taiwan) นั้น ถือว่ามีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่าง ประเทศ เพราะมีเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่สําคัญครบทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้น คือมีดินแดนและมีประชากร ที่อยู่อาศัยในดินแดนที่แน่นอน มีรัฐบาลที่ใช้อํานาจเหนือดินแดนและประชากรทําการบริหารงานทั้งภายในและ ภายนอกรัฐ และที่สําคัญคือการมีอํานาจอธิปไตย ในอันที่จะดําเนินการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระทั้งภายในและภายนอกรัฐ อาทิเช่น มีอํานาจในการจัดกิจการภายในประเทศได้อย่างอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก และ มีอํานาจในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องฟังคําสั่งจากรัฐอื่น เป็นต้น
และเช่นเดียวกันเมื่อถือว่า “ไต้หวัน” มีสถานะเป็นรัฐและมีสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่าง ประเทศแล้ว การมีฐานะเป็นรัฐของ “ไต้หวัน” จะเป็นที่รับรู้หรือเป็นที่ยอมรับในสังคมระหว่างประเทศก็ต่อเมื่อ ได้รับการรับรองสภาพความเป็นรัฐจากรัฐอื่น โดยเฉพาะจากรัฐที่ตนจะเข้าไปทําการติดต่อสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง (ปัจจุบันความเป็นรัฐของไต้หวันยังมีสถานะไม่มั่นคง เพราะมีการรับรองจากรัฐอื่นไม่มากนัก)
ส่วนกรณีฮ่องกง (Hong Kong) นั้น มีองค์ประกอบของความเป็นรัฐดังกล่าวข้างต้นไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอํานาจอธิปไตย เพราะฮ่องกงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของจีน และเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น ดังนั้น ฮ่องกงจึงไม่มีสถานะเป็นรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ข้อ 4. จงอธิบายการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี โดยวิธีที่เรียกว่า “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” มีโครงสร้างและลักษณะของการดําเนินการอย่างไร และหากเปรียบเทียบกับ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” จะแตกต่างกันในสาระสําคัญอย่างไรหรือไม่
ธงคําตอบ
การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นการระงับข้อพิพาทโดย องค์กรที่ยังไม่มีลักษณะเป็นศาลที่แท้จริง โดยอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นมา สืบเนื่องมาจากการประชุมที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1899 และปี ค.ศ. 1907 ซึ่งได้มีการผลักดัน ให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการในลักษณะถาวรขึ้นเรียกว่า “ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” มีที่ทําการอยู่ที่ กรุงเฮก โดยมีโครงสร้างเหมือนศาลทั่วไป แต่ไม่มีผู้พิพากษาอยู่ประจําศาล โดยรัฐที่เป็นภาคีสมาชิกจะส่งรายชื่อ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในด้านกฎหมายระหว่างประเทศในประเทศของตนเพื่อไปเป็นผู้พิพากษายัง ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจํานวน 4 คน และรายชื่อทั้งหมดจะรวบรวมทําเป็นบัญชีไว้ หากมีกรณีพิพาท เกิดขึ้น และคู่พิพาทสมัครใจให้นําคดีพิพาทมาให้ศาลนี้พิจารณาก็จะเรียกผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นมาตัดสิน และ กรณีที่ถือว่าศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศยังไม่มีลักษณะที่เป็นศาลอย่างแท้จริงก็เพราะว่า ถึงแม้จะมี ที่ทําการศาลอย่างถาวรก็ตาม แต่ว่ายังไม่มีผู้พิพากษาอยู่ประจําตลอดเวลาอย่างศาลทั่วไป และไม่มีการประชุมกัน ระหว่างผู้พิพากษาด้วยกันอย่างเช่นศาลทั่วไป
ส่วนการระงับข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก เป็นการระงับข้อพิพาท ทางศาลตามความหมายที่แท้จริง เนื่องจากเป็นลักษณะของการเสนอข้อพิพาทให้ศาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างถาวร โดยมี ผู้พิพากษาประจําอยู่ มีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณาความของตนเอง แตกต่างจากศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นการระงับข้อพิพาทในทางกฎหมาย และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกฎหมาย เช่นเดียวกัน
สําหรับโครงสร้างของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 นาย แต่จะเป็นคนในสัญชาติเดียวกันไม่ได้ ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตําแหน่ง 9 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่ นอกจากนั้นก็มีการเลือกตั้งซ่อม ทุก ๆ 3 ปี โดยผู้พิพากษา 5 คน จะอยู่ในตําแหน่ง 3 ปี 5 คนอยู่ในตําแหน่ง 6 ปี และ 5 คนที่เหลือ อยู่ในตําแหน่ง ได้ครบ 9 ปี ถ้ามีตําแหน่งว่างให้มีการเลือกตั้งซ่อม ผู้ที่ได้รับเลือกจะอยู่ได้เท่าเวลาของผู้ที่ตนแทน การเลือกตั้ง กระทําโดยความเห็นชอบร่วมกันของสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งในกรณีนี้สมาชิกถาวร ของคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถใช้สิทธิวีโต้ได้ มติถือเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ ศาลเลือกประธานและรองประธาน ซึ่งอยู่ในตําแหน่ง 3 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีก
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอํานาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างประเทศหรือรัฐเท่านั้น และต้องการเกิดจากความสมัครใจของรัฐคู่กรณีด้วย มีเขตอํานาจในเรื่องดังต่อไปนี้คือ
1 การตีความสนธิสัญญา
2 ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ
3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ
4 กรณีเกิดการเสียหายเพราะละเมิดพันธะระหว่างประเทศ
นอกจากนี้คู่พิพาทอาจจะขอให้ศาลพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้กําหนดไว้ในสนธิสัญญา และ ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายแก่คณะมนตรีและสมัชชาของสันนิบาตชาติด้วยในกรณีที่ถูกร้องขอ
การนําคดีขึ้นสู่ศาลโดยปกติเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง นอกจากจะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณี ทําไว้บังคับให้ต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลนี้ คําตัดสินของศาลผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติ และถือเป็นที่สุดไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา คําพิพากษาของศาลมีลักษณะเป็นพันธกรณีที่คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตาม และคําพิพากษาถือเป็นที่สิ้นสุด และผูกพัน เฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ถ้ารัฐใดไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา รัฐอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเห็นว่าจําเป็นก็อาจทําคําแนะนําหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดําเนินการเพื่อให้เกิดผล ตามคําพิพากษา
กระบวนการระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่เรียกว่าวิธีการ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (ศาลโลก) จะแตกต่างจากวิธีการที่เรียกว่า “ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” ในประเด็นที่สําคัญ คือ
1 การนําคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยปกติจะเป็นความประสงค์ของคู่กรณีเอง เว้นแต่จะมีสนธิสัญญาที่คู่กรณีทําไว้บังคับให้ต้องนําคดีขึ้นสู่ศาลนี้ แต่การนําคดีขึ้นสู่ศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของคู่กรณีเท่านั้น
2 ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือผู้พิพากษาที่ประจําอยู่ในศาล แต่ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ คือผู้พิพากษาที่คู่พิพาทเลือกมาจากบัญชีรายชื่อ (เป็นผู้พิพากษาที่ได้รับความยินยอมจากคู่กรณี)
3 การพิจารณาคดีโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะมีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีพิจารณา เป็นของตนเอง รวมทั้งมีการประชุมร่วมกันของผู้พิพากษาในศาล แต่การพิจารณาคดีโดยศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศจะไม่มีระเบียบกฏเกณฑ์และวิธีพิจารณาเป็นของตนเองรวมทั้งไม่มีการประชุมกันระหว่างผู้พิพากษา เหมือนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ