การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ศรีนวลเกิดที่จังหวัดสกลนคร ก่อน ปว. 337 ใช้บังคับจากบิดาสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นผู้อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ศรีนวลเกิดนั้นบิดากับมารดาไม่ได้ เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย บิดาเพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกับมารดาหลังจาก ปว. 337 ใช้บังคับแล้ว และก่อนวันที่ พ.ร.บ. สัญชาติฉบับที่ 2 ใช้บังคับ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศรีนวล ได้หรือเสียสัญชาติไทย อย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย”

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมาย หรือบิดาซึ่งมิได้สมรส กับมารดา หรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

มาตรา 11 “บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรี มีคําสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือ ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”

มาตรา 1557 “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่ บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศรีนวลเกิดในประเทศไทยก่อนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้ บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) จากบิดาเป็นคนสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นผู้อพยพ เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น โดยหลักศรีนวลย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม หลักดินแดนตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3)

แต่เมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว ศรีนวลจะถูกถอนสัญชาติไทยตาม ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 เพราะมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (เพราะในขณะศรีนวลเกิด บิดามารดาไม่ได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย) และแม้ว่าต่อมาบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง ที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้ว ก็ไม่ทําให้ศรีนวลซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยไปแล้วจะได้สัญชาติไทย กลับคืนมาอีก เพราะประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายพิเศษ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3120/2528)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) ซึ่งตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าบิดาของศรีนวลก็ไม่ใช่คนต่างด้าว อันจะทําให้ศรีนวลไม่ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 11 ดังนั้น ศรีนวลจึงกลับได้สัญชาติไทย โดยการเกิดตามหลักดินแดน

และเมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1557 ได้มีการแก้ไขใหม่ โดยบัญญัติให้กรณีที่บิดามารดาได้จดทะเบียน สมรสกันในภายหลังนั้น ผลของการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่เด็กเกิด (ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551) ตามมาตรา 1547 และมาตรา 1557 ดังนั้นจากผลของ ป.พ.พ. ที่ได้มีการแก้ไขใหม่ ทําให้ศรีนวลกลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) เพราะเกิด โดยบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย

สรุป

ศรีนวลจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) และ (3)

 

ข้อ 2 นายทอมคนสัญชาติออสเตรเลียทําสัญญาเช่ารถยนต์ที่จังหวัดภูเก็ตจากนายสมยศคนสัญชาติไทยขณะที่ทําสัญญานั้นนายทอมมีอายุ 19 ปีบริบูรณ์ และมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ให้นักศึกษา วินิจฉัยว่าหากมีประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลไทย นายทอมมีความสามารถทําสัญญานี้หรือไม่ อย่างไร หากตามกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งประเทศออสเตรเลียบัญญัติว่าความสามารถในการทํานิติกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งประเทศที่นิติกรรมได้ทําขึ้น และกฎหมายประเทศสิงคโปร์บัญญัติให้ บุคคลจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 4 “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ และตามกฎหมายต่างประเทศนั้นกฎหมาย ที่จะใช้บังคับได้แก่ กฎหมายแห่งประเทศสยาม ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยามบังคับ มิใช่กฎเกณฑ์แห่ง กฎหมายสยามว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย”

มาตรา 10 วรรคหนึ่ง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตาม กฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายทอมมีความสามารถในการทําสัญญาเช่า รถยนต์จากนายสมยศหรือไม่ กรณีนี้เห็นว่า การที่นายทอมคนสัญชาติออสเตรเลียได้ทําสัญญาเช่ารถยนต์ที่จังหวัด ภูเก็ตจากนายสมยศคนสัญชาติไทยในขณะที่นายทอมมีอายุ 19 ปีบริบูรณ์ และมีภูมิลําเนาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น เมื่อตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า ความสามารถและความไร้ความสามารถ ของบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของนายทอม และตามกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งประเทศออสเตรเลีย ได้บัญญัติว่าความสามารถในการทํานิติกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งประเทศที่นิติกรรมได้ทําขึ้น กรณีนี้จึงเท่ากับ ว่ากฎหมายของประเทศออสเตรเลียได้ย้อนส่งกลับมาให้กฎหมายไทยซึ่งเป็นประเทศที่นิติกรรมได้ทําขึ้นใช้ บังคับเกี่ยวกับความสามารถของนายทอม ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทย (ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วย การขัดกันฯ มาตรา 4) ซึ่งกฎหมายภายในของประเทศไทย คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 นั้นเอง

เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมพ้นภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะ เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น เมื่อนายทอมมีอายุเพียง 19 ปี และยังไม่บรรลุนิติภาวะ นายทอมจึงไม่มี ความสามารถในการทําสัญญาเช่ารถยนต์จากนายสมยศ

สรุป

นายทอมไม่มีความสามารถในการทําสัญญาดังกล่าว

 

ข้อ 3 นายบิ๊กคนสัญชาติแคนาดาได้ปลอมเช็คธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดา และได้นําเช็คฉบับดังกล่าวมาขึ้นเงินในประเทศไทย ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า การกระทําของนายบิ๊กเป็นความผิดตามกฎหมายฐานใดบ้างหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบิ๊กคนสัญชาติแคนาดาได้ปลอมเช็คธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศ แคนาดา และได้นําเช็คฉบับดังกล่าวมาขึ้นเงินที่ประเทศไทยนั้น การกระทําของนายบิ๊กดังกล่าวถือเป็นความผิด ฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า “White Collar Crimes” ซึ่งหมายถึง การกระทําความผิดโดยบุคคลที่ แต่งตัวสะอาดโก้หรู มีตําแหน่งหน้าที่ในการทํางาน เช่น ข้าราชการ นักธุรกิจ และสมุห์บัญชี เป็นต้น

ซึ่งลักษณะของการกระทําความผิดประเภทนี้ มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การทุจริต การยักยอก หรือฉ้อโกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่าง ๆ รวมตลอดถึงการขโมยหรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือ ปลอมแปลงสัญญาหรือตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นตัวแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พวกพ่อค้า หรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่าง ๆ การกระทําความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด เป็นต้น

สรุป

การกระทําของนายบิ๊กถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศ (International Fraud) ที่เรียกว่า “White Collar Crimes”

 

ข้อ 4 จงอธิบายเจตนารมณ์และผลทางกฎหมายของ Attentat Clause

ธงคําตอบ

อธิบาย

โดยเหตุที่มีความผิดบางประเภทซึ่งมีลักษณะทางการเมือง แต่หลายประเทศกําหนดไว้ไม่ให้ ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง ข้อกําหนดหรือบทบัญญัติในเรื่องนี้เรียกว่า Attentat Clause ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “บทบัญญัติเกี่ยวกับการประทุษร้าย” ซึ่งประเทศเบลเยียมนํามาใช้เป็นประเทศแรก โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายภายใน ของตนเมื่อ ค.ศ. 1865 หลังจากที่ศาลเบลเยียมปฏิเสธไม่ส่งตัวผู้กระทําความผิดฐานพยายามปลงพระชนม์ พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ไปให้ฝรั่งเศสในคดี Jacquin ค.ศ. 1854

กล่าวคือ ข้อกําหนดหรือบทบัญญัติ Attentat Clause นี้ เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6 แห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเบลเยียม ค.ศ. 1833 ซึ่งเป็นกฎหมายเดิม โดยเพิ่มข้อความลงไป อีกวรรค (clause) หนึ่ง ซึ่งมีข้อความดังนี้ “การประทุษร้ายต่อบุคคลผู้เป็นประมุขของรัฐบาลต่างประเทศหรือ บุคคลซึ่งอยู่ในเครือญาติหรือราชสกุลของประมุขนั้น ไม่ให้ถือว่าการกระทํานั้นเป็นการกระทําผิดทางการเมือง หรือเป็นการกระทําผิดเกี่ยวเนื่องกับการเมือง หากปรากฏว่าเป็นการประทุษร้ายที่เป็นความผิดฐานฆ่าคนตาย โดยเจตนา หรือลอบฆาตกรรม หรือเป็นการฆาตกรรมด้วยพยายามมาดหมายหรือด้วยการวางยาพิษ”

สําหรับเจตนารมณ์ทางกฎหมายของ Attentat Clause นี้มุ่งหมายที่จะไม่ให้ถือว่าความ ฐานประทุษร้ายต่อชีวิตที่กระทําต่อประมุขของประเทศหรือบุคคลในครอบครัวประมุขของประเทศเป็นความ ทางการเมือง

ส่วนผลของ Attentat Clause นั้นทําให้ความหมายของคดีการเมืองแคบลง กล่าวคือ เมื่อมีฆาตกรรมเข้าในลักษณะนี้แล้วย่อมส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้

Advertisement