การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นาวสาวมุ่ย หวูทิ กับพวกโจทก์เกิดที่จังหวัดอุดรธานีก่อนวันที่ 14 ธันวาคม 2515 จากบิดา นายหวู คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองมีใบสําคัญประจําตัวคนต่างด้าวชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรส ในประเทศไทยกับมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เกิดโจทก์กับน้องอีกห้าคนในประเทศไทยก่อนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337/2515 ใช้บังคับ เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337/2515 ใช้บังคับแล้วผู้ว่าราชการ จังหวัดอุดรธานีได้ใส่ชื่อโจทก์และน้องทั้งห้าคนลงในทะเบียนบ้านผู้อพยพ อ้างว่าโจทก์และน้องถูก ถอนสัญชาติไทย การกระทําของผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวมุ่ย หวูทิ กับน้องอีก 5 คน ได้เกิดที่จังหวัดอุดรธานีก่อน วันที่ 14 ธันวาคม 2515 คือก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับนั้น นางสาวมุ่ยและน้องทั้ง 5 คน ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)

และต่อมาเมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ นางสาวมุ่ยและน้องทั้ง 5 คน ก็จะไม่ถูกถอนสัญชาติไทย เพราะแม้นางสาวมุยและน้องทั้ง 5 คน จะเกิดโดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวก็ตาม แต่ในขณะที่เกิดนั้นบิดาของนางสาวมุยและน้องทั้ง 5 คน เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและได้เข้ามาอยู่ใน ราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 (3) ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้ใส่ชื่อนางสาวมุ่ยโจทก์และน้องทั้ง 5 คน ลงในทะเบียนบ้านผู้อพยพโดยอ้างว่านางสาวมุ่ยโจทก์และน้องถูกถอนสัญชาตินั้น การกระทําของผู้ว่าราชการจังหวัด ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การกระทําของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2 นายสมหวังคนสัญชาติไทยทําสัญญาที่พม่าซื้อโถลายครามอันเป็นวัตถุโบราณจํานวน 10 ใบ จากนายหม่องคนสัญชาติพม่า และขณะทําสัญญาโถลายครามฯ ก็อยู่ที่พม่า นายสมหวังและนายหม่อง ตกลงกันว่าหากเกิดกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย กฎหมายขัดกันฯ ของพม่ากําหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นทําขึ้น และ กฎหมายภายในของพม่ากําหนดว่าการซื้อขายวัตถุโบราณต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการซื้อขายโถลายครามฯ ที่ว่านี้ทําเป็น หนังสือ แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายสมหวังผิดสัญญาไม่ยอมชําระราคาและ รับมอบโถลายครามฯ นายหม่องจึงฟ้องนายสมหวังต่อศาลไทยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจาก การผิดสัญญา นายสมหวังยกข้อต่อสู้ว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตนจึงไม่ผูกพันหรือรับผิดตามสัญญา ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า สัญญาซื้อโถลายครามฯ ที่ว่านี้เป็นโมฆะหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 9 วรรคแรก “นอกจากจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นใด แห่งประเทศสยาม ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรมย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้น ได้ทําขึ้น”

มาตรา 13 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสําหรับสิ่งซึ่งเป็น สาระสําคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือ โดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่ง คู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น

สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทําถูกต้องตามแบบอันกําหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผล แห่งสัญญานั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมหวังคนสัญชาติไทยทําสัญญาที่พม่าซื้อโถลายครามอันเป็น วัตถุโบราณจํานวน 10 ใบ จากนายหม่องคนสัญชาติพม่า และขณะทําสัญญาโถลายครามฯ ก็อยู่ที่พม่า โดยนายสมหวัง กับนายหม่องได้ตกลงกันไว้ว่า หากกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับผลของสัญญาฉบับนี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย และ สัญญาซื้อขายฉบับนี้ได้ทําเป็นหนังสือ แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ดังนี้ ถ้าพิจารณาตามมาตรา 9 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ที่ว่า ความสมบูรณ์เนื่องด้วยแบบแห่งนิติกรรม ย่อมเป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่นิติกรรมนั้นได้ทําขึ้น ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ของพม่าได้กําหนดว่าแบบของสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่สัญญานั้นได้ทําขึ้น และตามกฎหมายภายใน ของพม่าก็กําหนดว่า การซื้อขายวัตถุโบราณต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ ดังนั้นสัญญาซื้อขายโถลายครามฯ ฉบับนี้ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นสัญญาที่ทําเป็นหนังสือ แต่มิได้ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 13 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้ว่า สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทําถูกต้องตามแบบอันกําหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลของสัญญา เมื่อกรณีตาม ข้อเท็จจริง กฎหมายที่ใช้บังคับแก่ผลของสัญญาได้แก่ กฎหมายไทย ซึ่งเป็นไปตามเจตนาของคู่กรณีตามมาตรา 13 วรรคแรก และตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็ไม่มีบทบัญญัติบังคับว่าการซื้อขายวัตถุโบราณต้องทํา เป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายโถลายครามฯ ระหว่างนายสมหวังกับ นายหม่องจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ

สรุป

สัญญาซื้อขายโถลายครามฯ ระหว่างนายสมหวังกับนายหม่องมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ

 

ข้อ 3 นายฮัสซันคนสัญชาติตรุก็ได้วางระเบิดเครื่องบินของประเทศเกาหลีใต้ขณะที่กําลังจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเตรียมจะบินจากประเทศไทยไปยังประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวางระเบิดเสร็จแล้วนายฮัสซัน ได้หนีกลับไปยังประเทศตุรกี และเครื่องบินลําดังกล่าวได้ระเบิดขณะที่กําลังบินอยู่เหนือทะเลหลวง การกระทําของนายฮัสซันผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970

มาตรา 1 ได้บัญญัติ ถึงลักษณะของการจี้เครื่องบินอันเป็นการกระทําความผิดฐานสลัดอากาศว่า เป็นการกระทําโดย

(1) บุคคลที่อยู่ในเครื่องบินนั้น

(2) การกระทํานั้นเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้กระทําต่อเครื่องบินลํานั้นเอง

(3) การกระทํานั้นเกิดในขณะที่เครื่องบินกําลังบินอยู่

ทั้งนี้หมายความรวมถึงการพยายามกระทําความผิดด้วยการจี้เครื่องบินจึงเป็นการกระทําจาก ผู้ที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งกําลังบิน (on board an aircraft in flight) หรือที่เราเรียกว่าเป็นการกระทําภายในนั่นเอง

ดังนั้นการกระทําภายนอก เช่น การโจมตีด้วยอาวุธต่อสู้อากาศยาน หรือก่อวินาศกรรมแก่ เครื่องบินที่จอดอยู่ในสนามบิน ย่อมไม่ใช่การจี้เครื่องบินตามอนุสัญญากรุงเฮกฯ

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทําของนายฮัสซันคนสัญชาติตุรกี เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใดหรือไม่ เห็นว่า การวางระเบิดเครื่องบินโดยนายฮัสซันนั้นได้กระทํา ในขณะที่เครื่องบินยังจอดอยู่ที่สนามบิน การกระทําดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความหมายของการกระทําภายในของ ความผิดฐานจี้เครื่องบิน ตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970 เพราะเป็น การกระทําภายนอก ไม่ใช่การกระทําของผู้ที่อยู่ในเครื่องบินซึ่งกําลังบินอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่ออนุสัญญากรุงมอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความ ปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971 ซึ่งใช้บังคับในเวลาต่อมา ได้บัญญัติให้คลุมถึงการกระทําทุกชนิดที่กระทบ ต่อความปลอดภัยของการบินระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการกระทําภายนอกด้วย ดังนั้นการกระทําของนายฮัสซัน จึงเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ ตามอนุสัญญากรุงมอนทรีลว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความปลอดภัย แห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971

สรุป

การกระทําของนายฮัสซันเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานสลัดอากาศ ตามอนุสัญญากรุงมอนทรีว่าด้วยการขจัดการกระทําโดยมิชอบต่อความปลอดภัยแห่งการบินพลเรือน ค.ศ. 1971

 

ข้อ 4 ตามกฎหมายระหว่างประเทศในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและหลักทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตาม พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 นั้น ได้กําหนด “ความผิด” ที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้อย่างไรบ้าง อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักเกณฑ์ทั่วไปของ “ความผิด” ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ได้แก่

1 จะต้องเป็นความผิดทางอาญา หรือเป็นคดีอาญาที่มีมูลที่สามารถนําตัวผู้ต้องหาขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้

2 ความผิดนั้นต้องเป็นคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ

3 จะต้องเป็นความผิดอาญาต่อกฎหมายอาญาของทั้งสองประเทศ คือประเทศที่มีคําขอและประเทศที่ถูกขอให้ส่งตัว

4 จะต้องเป็นความผิดที่มีโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่ได้กําหนดไว้ในหมวดเดียวกันหรือเรียกชื่อความผิดเป็นอย่างเดียวกันของทั้งสองประเทศหรือไม่

5 จะต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความผิดบางประเภทที่ประเทศต่าง ๆ มักจะไม่นิยมส่งผู้ร้ายข้ามแดน

Advertisement