การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นางสมศรีเกิดที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อปี พ.ศ. 2493 จากบิดามารดาเป็นญวนอพยพซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ต่อมานางสมศรีได้อยู่กิน ฉันสามีภริยากับนายสรศักดิ์คนสัญชาติไทยโดยมิได้จดทะเบียนสมรสและเกิดบุตรชาย 1 คน ในประเทศไทยก่อนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยก หลักกฎหมายประกอบด้วยว่านางสมศรีและบุตรชายได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508
มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
(3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
“ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”
พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย โดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”
มาตรา 10 “บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นางสมศรีและบุตรชายได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ กรณีของนางสมศรี
จากข้อเท็จจริง นางสมศรีเกิดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2493 จากบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และเกิดก่อนวันที่ประกาศ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลักนางสมศรี ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตามมาตรา 7 (3)
แต่เมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว นางสมศรีจะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1.(3) เพราะบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
กรณีบุตรชายของนางสมศรี
จากข้อเท็จจริง บุตรชายของนางสมศรีเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลักบุตรชายของนางสมศรี ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตามมาตรา 7 (3)
และเมื่อ พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ ย่อมมีผลทําให้บุตรของนางสมศรี ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1) ประกอบมาตรา 10 เพราะเกิดโดยมารดามีสัญชาติไทย (ขณะเกิดนางสมศรีเป็นผู้มีสัญชาติไทย) แม้ว่านางสมศรีจะถูกถอนสัญชาติไทย ในภายหลังก็ตาม
สรุป
นางสมศรีจะได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 7 (3) แต่จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1.(3) ส่วนบุตรของนางสมศรีจะได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7 (1) ประกอบมาตรา 10
ข้อ 2 มีนาหญิงสัญชาติมาเลเซียสมรสกับนายเลียวชายสัญชาติฟิลิปปินส์ กฎหมายสัญชาติมาเลเซียกําหนดว่าหญิงมาเลเซียซึ่งสมรสกับคนต่างด้าวจะไม่เสียสัญชาติมาเลเซียจนกว่าหญิงนั้นจะแสดงความจํานง สละสัญชาติมาเลเซีย และกฎหมายสัญชาติฟิลิปปินส์กําหนดว่าหญิงต่างด้าวสมรสกับชายฟิลิปปินส์ ย่อมได้สัญชาติฟิลิปปินส์ ส่วนกฎหมายภายในมาเลเซียกําหนดว่า บุคคลมีความสามารถจะทํานิติกรรม สัญญาใด ๆ ได้เมื่อมีอายุครบ 19 ปีบริบูรณ์ แต่ตามกฎหมายในฟิลิปปินส์ต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีนายังไม่ได้แสดงความจํานงสละสัญชาติมาเลเซีย ในขณะที่มีนามีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ ได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อทํานิติกรรมซื้อเครื่องกลั่นน้ํามันปาล์มจํานวน 10 เครื่อง จาก นายโชค คนสัญชาติไทย หลังจากนั้นมีนากับนายโชคมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย โดยประเด็นข้อพิพาทมีว่า มีนา มีความสามารถทํานิติกรรมฯ ที่ว่านี้หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
มาตรา 6 วรรคแรก “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติ ขึ้นไปอันได้รับมาเป็นลําดับ ให้ใช้กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับครั้งสุดท้ายบังคับ”
มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อม เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น
แต่ถ้าคนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้นย่อมจะ ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดสําหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมนั้น ได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและ กฎหมายมรดก”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุ นิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่ามีนา จะทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ํามันปาล์มจากนายโชคคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นกรณีพิพาทกันเรื่อง ความสามารถของบุคคลซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการ ขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีนามีทั้งสัญชาติมาเลเซียและสัญชาติฟิลิปปินส์อันได้รับมาเป็น ลําดับ (ไม่พร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่จะใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับมาครั้งสุดท้าย อันได้แก่กฎหมายฟิลิปปินส์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคแรก ซึ่งเมื่อพิจารณาตาม กฎหมายฟิลิปปินส์แล้ว มีนาย่อมไม่มีความสามารถทําสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายฟิลิปปินส์ กําหนดว่า บุคคลมีความสามารถจะทํานิติกรรมใด ๆ ได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อในขณะทํานิติกรรมมนา มีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ดี แม้มีนาจะไร้ความสามารถในการทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่อาจถือได้ว่ามีนาคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง ดังนี้คือ
1) คนต่างด้าวนั้นได้ทํานิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก
2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดในการทํานิติกรรมตาม ข้อ 1)
3) แต่กฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามข้อ 1) ได้
ดังนั้น การที่มีนาได้ทํานิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรม ตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของมีนา (ฟิลิปปินส์) ก็ถือว่ามีนาเป็นบุคคล ผู้ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว มีนามีความสามารถทํา นิติกรรมซื้อขายดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ เพราะถือว่ามีนาบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น ศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่ามีนามีความสามารถทําสัญญาที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง
สรุป
ศาลไทยควรวินิจฉัยว่ามีนามีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันปาล์มดังกล่าวได้
ข้อ 3 ในปัจจุบันการวินิจฉัยคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนในประเด็นแห่งคดีว่าเป็นความผิดทางการเมืองหรือไม่นั้น ไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองบัญญัติหรือกําหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงอยากทราบว่าการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีดังกล่าวข้างต้น มีแนวปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับ การนี้ไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร ให้ท่านอธิบายโดยละเอียดชัดเจนและครบถ้วน
ธงคําตอบ
ในปัจจุบันการวินิจฉัยคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในประเด็นแห่งคดีว่าเป็นความผิดทางการเมือง หรือไม่นั้น มีแนวปฏิบัติหรือหลักการของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการนี้ ดังนี้
(1) ในกรณีที่ศาลที่วินิจฉัยคดีดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่มีหลักกฎหมายภายในเกี่ยวกับ ความผิดทางการเมืองบัญญัติไว้โดยตรง ก็จะนําหลักกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย ตัวอย่างเช่น หลักกฎหมายของประเทศ ฝรั่งเศสที่มีหลักว่า การจะเป็นความผิดทางการเมืองจะต้องเป็นการกระทําที่กระทบต่อธรรมนูญการปกครองและ รัฐบาลโดยมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลง หรือล้มล้างหลักการปกครองของประเทศในหลักใหญ่ (นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ) หรือหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษที่มีหลักว่า การจะเป็นความผิดทางการเมืองได้นั้น จะต้องเป็น การกระทําความผิดในขณะที่ไม่มีความสงบทางการเมือง ระหว่างคณะบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป โดยต่างฝ่าย ต่างพยายามที่จะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับระบบการปกครองตามที่ฝ่ายตนต้องการ เป็นต้น
(2) ในกรณีที่ศาลที่วินิจฉัยคดีดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีหลักกฎหมายภายในเกี่ยวกับ ความผิดทางการเมืองบัญญัติไว้โดยตรง ก็ต้องอาศัยคําพิพากษาของศาลแห่งประเทศนั้นเป็นหลักพิจารณา ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยไม่มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองไว้โดยตรง ก็ต้องอาศัยคําพิพากษา ศาลอุทธรณ์เป็นหลักพิจารณา เพราะตามหลักกฎหมายไทยในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ถือเป็นที่สุดทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังเช่น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนายพลท้าวมาทิ้งระเบิด ที่นครเวียงจันทน์เพื่อทําการยึดอํานาจในประเทศลาว แต่ไม่สําเร็จ จึงหนีเข้ามาในเมืองไทยโดยขอลี้ภัยทางการเมือง แต่ทางฝ่ายรัฐบาลลาวขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวนายพลท้าวมาและพรรคพวกกลับไปดําเนินคดี แต่ศาลไทยปฏิเสธ ไม่ยอมส่งตัวให้ โดยถือว่านายพลท้าวมาและพรรคพวกเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง เป็นต้น
ข้อ 4 นายปิแอร์คนสัญชาติฝรั่งเศสได้ปลอมเช็คธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส และได้นําเช็คฉบับดังกล่าวนั้นมาขึ้นเงินในประเทศไทย การกระทําความผิดของนายปิแอร์ถือว่าเป็นความผิดตาม กฎหมายระหว่างประเทศฐานใดบ้างหรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วย
ธงคําตอบ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปิแอร์คนสัญชาติฝรั่งเศสได้ปลอมเช็คธนาคารแห่งหนึ่งใน ประเทศฝรั่งเศส และได้นําเช็คฉบับดังกล่าวมาขึ้นเงินที่ประเทศไทยนั้น การกระทําของนายปิแอร์ดังกล่าวถือเป็น ความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า “White Collar Crimes” ซึ่งหมายถึง การกระทําความผิด โดยบุคคลที่แต่งตัวสะอาดโก้หรู มีตําแหน่งหน้าที่ในการทํางาน เช่น ข้าราชการ นักธุรกิจ และสมุห์บัญชี เป็นต้น
ซึ่งลักษณะของการกระทําความผิดประเภทนี้ มักเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การทุจริต การยักยอก หรือฉ้อโกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจและการค้าต่าง ๆ รวมตลอดถึงการขโมยหรือบิดเบือนบัญชีบริษัทหรือ ปลอมแปลงสัญญาหรือตั๋วเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือเช็ค เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พวกพ่อค้า หรือนักธุรกิจที่โกงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ สมุห์บัญชีฉ้อโกงบริษัทที่ประกอบการธุรกิจหรือการค้าต่าง ๆ การกระทําความผิดเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าควบคุมในตลาดมืด เป็นต้น
สรุป
การกระทําของนายปิแอร์ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงระหว่างประเทศ (International Fraud) ที่เรียกว่า “White Collar Crimes”