การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ประเสริฐคนสัญชาติไทย มีภูมิลําเนาอยู่ที่อําเภอเบตง จังหวัดยะลา ประเสริฐได้เดินทางไปทํางานอยู่ที่ร้านต้มยํากุ้งในประเทศมาเลเซีย และได้อยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางแสนคําคนสัญชาติลาว โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรในประเทศมาเลเซียห้าคนก่อน ป.ว.337 ใช้บังคับ ต่อมาประเสริฐ พาครอบครัวกลับมาอยู่ประเทศไทย บุตรทั้งห้าคนขอมีสัญชาติไทย อ้างว่าพวกตนเกิดโดยบิดา เป็นผู้มีสัญชาติไทย อยากทราบว่าบุตรทั้งห้าคนได้สัญชาติไทยตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด ถ้าจะให้บุตรมีสัญชาติไทย ท่านจะแนะนําอย่างไร ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508

มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

มาตรา 7 วรรคสอง “คําว่าบิดาตาม (1) ให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรส กับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม”

ป.พ.พ. มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”

มาตรา 1557 “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่ บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บุตรทั้งห้าคนของประเสริฐเกิดในประเทศมาเลเซีย โดยมีมารดาคือ นางแสนคําเป็นผู้มีสัญชาติลาว และบิดาคือประเสริฐเป็นผู้มีสัญชาติไทยนั้น บุตรทั้งห้าคนย่อมไม่ได้สัญชาติไทย โดยการเกิดตามหลักสายโลหิต ทั้งนี้เพราะบิดาและมารดานั้นมิได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ประเสริฐจึงเป็น บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิตตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) นั้น บิดาต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่บุตรเกิด หรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. สัญชาติฯ และประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนั้นให้นําไปใช้กับผู้ที่เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมนั้นใช้บังคับด้วย ดังนั้นหากบุตรทั้งห้าคนของประเสริฐต้องการมีสัญชาติไทย สามารถทําได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 2 วิธี ดังนี้คือ

1 ให้ดําเนินการพิสูจน์ตามวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวงว่าประเสริฐเป็นบิดาของ บุตรผู้ร้องทั้ง 5 คนตามสายโลหิตจริงตาม พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 7 วรรคสอง ซึ่งจะต้อง ดําเนินการพิสูจน์กับบุตรทุกคน เมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าบุตรทั้ง 5 คนเป็นบุตรของประเสริฐจริง บุตรนั้นก็จะกลับได้ สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิตตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) ทั้งนี้แม้ประเสริฐจะมิได้ จดทะเบียนสมรสกับนางแสนคําและมิได้จดทะเบียนรับรองบุตรเหล่านั้นก็ตาม หรือ

2 ให้ประเสริฐจดทะเบียนสมรสกับนางแสนคําหรือจดทะเบียนรับรองบุตรผู้ร้องทั้ง 5 คน ว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือขอให้ศาลพิพากษาว่าบุตรเหล่านั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 ทั้งนี้เนื่องจากบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1557 ที่แก้ไขใหม่นั้นได้กําหนดให้ “การเป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่เด็กเกิด” ซึ่งผลของการเป็นบุตรโดยชอบ ด้วยกฎหมายดังกล่าว ย่อมทําให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่เดิมนั้นกลายเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เมื่อเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงทําให้บุตรผู้ร้องทั้ง 5 คน กลับได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายโลหิต ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) เช่นกัน

สรุป

บุตรทั้งห้าคนไม่ได้สัญชาติไทยตามที่กล่าวอ้าง และถ้าจะให้บุตรมีสัญชาติไทย ข้าพเจ้า จะให้คําแนะนําว่าให้ดําเนินการโดยวิธีใดวิธีหนึ่งตามที่อธิบายไว้ข้างต้น

 

ข้อ 2 นายกังเกิดจากบิดามารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติจีน แต่เกิดและมีภูมิลําเนาในประเทศสิงคโปร์ตามกฎหมายจีนบุคคลย่อมได้สัญชาติจีนหากเกิดจากบิดาเป็นจีนไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศจีน และตามกฎหมายสิงคโปร์ บุคคลย่อมได้สัญชาติสิงคโปร์หากเกิดในประเทศสิงคโปร์ กฎหมายจีนยังกําหนด ไว้อีกว่าบุคคลบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทํานิติกรรมสัญญาใด ๆ ได้เมื่ออายุครบ 19 ปี บริบูรณ์ แต่กฎหมายสิงคโปร์ต้องมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ในขณะที่นายกังมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ได้ทํานิติกรรมซื้อเครื่องแยกเมล็ดข้าวจํานวน 10 เครื่องจากนายก้อง คนสัญชาติไทยที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นนายกังกับนายก้องมีคดีขึ้นสู่ศาลไทยโดยประเด็นข้อพิพาทมีว่านายกังมีความสามารถ ทํานิติกรรมฯ ที่ว่านี้หรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่าศาลไทยควร วินิจฉัยอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481

มาตรา 6 วรรคสอง “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติ ขึ้นไป อันได้รับมาคราวเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลําเนาอยู่บังคับ ถ้าบุคคลนั้นมี ภูมิลําเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่ ให้ใช้กฎหมายภูมิลําเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ ถ้าภูมิลําเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ ในกรณีใด ๆ ที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้ บังคับได้แก่ กฎหมายแห่งประเทศสยาม”

มาตรา 10 วรรคแรกและวรรคสอง “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคล ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทํานิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นย่อมจะ ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดสําหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่าบุคคลนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมนั้น ได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและ กฎหมายมรดก”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 19 “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุ นิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลไทยควรวินิจฉัยข้อพิพาทที่ว่านี้อย่างไร เห็นว่า ปัญหาข้อพิพาทที่ว่า นายกังมีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องแยกเมล็ดข้าวจากนายก้องคนสัญชาติไทยได้หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่อง ความสามารถของบุคคล ซึ่งโดยหลักแล้วย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการ ขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายกังมีทั้งสัญชาติจีนและสิงคโปร์ซึ่งได้รับมาในคราวเดียวกัน (ได้รับมาพร้อมกัน) กรณีเช่นนี้ กฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับ คือ กฎหมายสัญชาติของประเทศที่นายกังมีภูมิลําเนาอยู่ อันได้แก่ กฎหมายสิงคโปร์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 6 วรรคสอง ซึ่งเมื่อพิจารณาตาม กฎหมายสิงคโปร์แล้ว นายกังย่อมไม่มีความสามารถทําสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ เนื่องจากตามกฎหมายสิงคโปร์ กําหนดว่า บุคคลจะบรรลุนิติภาวะและมีความสามารถที่จะทํานิติกรรมใด ๆ ได้เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เมื่อ ในขณะทํานิติกรรมนายทั้งมีอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี แม้นายกังจะไร้ความสามารถในการทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายสัญชาติ แต่ อาจถือได้ว่านายกังคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมดังกล่าวตามกฎหมายไทยได้ หากเข้าหลักเกณฑ์หรือ เงื่อนไข ดังนี้คือ

1) คนต่างด้าวนั้นได้ทํานิติกรรมขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมิใช่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

2) ตามกฎหมายสัญชาติคนต่างด้าวนั้น ถือว่าบุคคลดังกล่าวไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัดในการทํานิติกรรมตามข้อ 1)

3) แต่ตามกฎหมายไทยถือว่าคนต่างด้าวนั้นมีความสามารถทํานิติกรรมตามข้อ 1) ได้

ดังนั้น การที่นายกังได้ทํานิติกรรมในประเทศไทย ซึ่งนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวก็ไม่ใช่นิติกรรม ตามกฎหมายครอบครัวหรือกฎหมายมรดก และตามกฎหมายสัญชาติของนายกัง (สิงคโปร์) ก็ถือว่านายกัง ไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจํากัด แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายไทยแล้ว นายกังมีความสามารถทํานิติกรรม ซื้อขายดังกล่าวได้ เพราะถือว่านายกังบรรลุนิติภาวะแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ดังนั้น ศาลไทยจึงควรวินิจฉัยว่า นายกังมีความสามารถทําสัญญาฉบับที่ว่านี้ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันฯ พ.ศ. 2481 มาตรา 10 วรรคสอง

สรุป

ศาลไทยควรวินิจฉัยว่านายกังมีความสามารถทําสัญญาซื้อเครื่องแยกเมล็ดข้าวดังกล่าวได้

 

ข้อ 3. ขณะที่เครื่องบินจดทะเบียนประเทศสหรัฐอเมริกากําลังบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา นายสมานคนสัญชาติไทยซึ่งเป็นผู้โดยสารที่อยู่ในเครื่องบินลํานั้นได้ใช้อาวุธปืน จี้ผู้โดยสารคนสัญชาติแคนาดา 5 คนไว้เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้นักบินนําเครื่องไปยังประเทศคิวบา อย่างไรก็ตามนักบินได้นําเครื่องบินลงจอดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตามกําหนดการเดิม และ นายสมานถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไว้ได้ ทั้งนี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด จากกรณี ดังกล่าว การกระทําของนายสมานผิดตามอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยาน โดยมิชอบ ค.ศ. 1970 หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

วินิจฉัย

อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970

มาตรา 1 บัญญัติว่า ความผิดฐานสลัดอากาศ หมายถึงบุคคลที่อยู่ในเครื่องบินลํานั้นกระทําการอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของ อากาศยาน โดยใช้กําลังมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะยึดอากาศยาน หรือขัดขวางการควบคุมบังคับบัญชาของอากาศยาน ให้เปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามความต้องการของตน ทั้งนี้รวมถึงการพยายามกระทําความผิด

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทําของนายสมานถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศ เนื่องจาก การเรียกร้องให้นักบินเปลี่ยนทิศทาง และนําเครื่องบินโดยบังคับให้นักบินนําเครื่องไปยังประเทศคิวบาเป็นการ กระทําอันเป็นปรปักษ์ต่อความปลอดภัยของอากาศยาน ซึ่งถือเป็นการใช้กําลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางการบินตามปกติไปสู่เส้นทางการบินตามที่ตนต้องการ แม้ว่านายสมานจะถูกจับตัวได้ และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต การกระทําดังกล่าวก็ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามมาตรา 1 แห่ง อนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1970 ซึ่งรวมถึงการพยายามกระทําความผิดด้วย

สรุป

การกระทําของนายสมาน ถือเป็นความผิดฐานสลัดอากาศตามอนุสัญญากรุงเฮกว่า ด้วยการขจัดการยึดอากาศยานโดยมิชอบ ค.ศ. 1970

 

ข้อ 4 จงอธิบายหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศอังกฤษมาโดยครบถ้วน

ธงคําตอบ

อธิบาย

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคดีการเมืองของประเทศอังกฤษนั้น จะต้องประกอบไปด้วย องค์ประกอบ 3 ประการ คือ

1 ความผิดต้องได้กระทําในขณะที่ไม่มีความสงบในทางการเมือง เช่น เกิดขึ้นในระหว่างที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ฯลฯ

2 ต้องมีความขัดแย้งระหว่างพรรคหรือกลุ่มตั้งแต่สองพรรคหรือสองกลุ่มขึ้นไป

3 แต่ละพรรคหรือกลุ่มต้องการให้อีกพรรคหรือกลุ่มยอมรับระบบการปกครองของตน

เมื่อครบองค์ประกอบ 3 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศอังกฤษจะถือว่าความผิดนั้น เป็นการกระทําความผิดทางการเมืองซึ่งห้ามส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้น หากมีคําร้องขอให้ประเทศอังกฤษส่ง ผู้ร้ายข้ามแดน และมีการต่อสู้ว่าความผิดที่ผู้ถูกขอให้ส่งข้ามแดนได้กระทําลงไปนั้น เป็นความผิดทางการเมือง ประเทศอังกฤษจะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นมาใช้ในการพิจารณาคดี

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าลําพังการกระทําของพวก ก่อการร้าย (Terrorists) ที่เพียงแต่ก่อความไม่สงบต่อการปกครองของรัฐก็ดี หรือการกระทําของพวกอนาคิสต์ (Anarchist) ซึ่งยึดถือลัทธิที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลไม่ว่าในแบบใดก็ดีจึงไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองเพราะ ผู้กระทําไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้มีการปกครองไม่ว่าในรูปแบบใดเลย

Advertisement