การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4006 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ทัศนีเกิดที่จังหวัดมุกดาหารเมื่อปี พ.ศ. 2510 จากบิดาเป็นคนสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในขณะที่เกิด บิดามารดาไม่ได้เป็นสามีภริยาตามกฎหมาย บิดามารดาเพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อปี พ.ศ. 2530 อยากทราบว่า ทัศนีได้หรือเสียสัญชาติอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508
มาตรา 7 “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย (3) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337
“ข้อ 1ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือ ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”
มาตรา 1557 “การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่ บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ทัศนีได้หรือเสียสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นว่า ทัศนีเกิดที่จังหวัดมุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ. 2510 จากบิดาเป็นคนสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และเกิดก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับ (มีผล ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) โดยหลักทัศนีย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตามมาตรา 7(3)
แต่เมื่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลใช้บังคับแล้ว ทัศนีจะถูกถอนสัญชาติไทยตาม ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 เพราะมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย (เพราะในขณะทัศนีเกิด บิดามารดา ไม่ได้เป็นสามีภริยาตามกฎหมาย) และแม้ว่าต่อมาบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง (ปี พ.ศ. 2530) ทําให้บิดาเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ทําให้ทัศนีซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยไปแล้ว จะได้สัญชาติไทยกลับคืน มาอีก เพราะประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายพิเศษ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3120/2528)
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1557 ได้มีการแก้ไขใหม่ โดยบัญญัติให้กรณีที่บิดามารดา ได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังนั้น ผลของการเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาให้มีผลย้อนหลังนับแต่ วันที่เด็กเกิด (ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551) ตามมาตรา 1547 และมาตรา 1557 ดังนั้น จากผลของ ป.พ.พ. ที่ได้มีการแก้ไขใหม่ ทําให้ทัศนี้กลับมาได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(1) เพราะเกิดโดยบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทย
สรุป
ทัศนีได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ. สัญชาติฯ มาตรา 7(1) เพราะเกิดโดยบิดาชอบด้วย กฎหมายมีสัญชาติไทย
ข้อ 2 จงอธิบาย
(ก) ขั้นตอนแห่งการพิจารณาปัญหาว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย โดยการใช้กฎหมายต่างประเทศของศาลไทย จะต้องนําเรื่องใดมาพิจารณาก่อนเรื่องอื่นใด
(ข) หลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลให้ใช้กฎหมายภายในประเทศสยาม” หมายความว่าอย่างไร
ธงคําตอบ
(ก) ขั้นตอนแห่งการพิจารณาปัญหาว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย โดยการใช้กฎหมายต่างประเทศ ของศาลไทยนั้น จะต้องนําเรื่องเขตอํานาจศาลตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาพิจารณาก่อน เรื่องอื่นใด เพราะกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ย่อมอยู่ภายใต้บทบัญญัติเกี่ยวกับเขตอํานาจศาลตาม มาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477 และมาตรา 3 มาตรา 4 ทวิ มาตรา 4 ตรี มาตรา 4 จัตวา มาตรา 4 เบญจ มาตรา 4 ฉ และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 เช่นเดียวกับคดีธรรมดาทั่วไป ด้วยเหตุนี้ศาลหรือผู้ฟ้องคดี จะต้องพิจารณาในชั้นแรกให้ได้ความเสียก่อนว่า ปัญหาว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ใน อํานาจของศาลนั้นที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่
(ข) หลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์ กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาลให้ใช้กฎหมายภายในประเทศสยาม” นั้น หมายความว่า ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใด ที่จะพึงได้รับประโยชน์จากการใช้กฎหมายต่างประเทศ คู่กรณีฝ่ายนั้นย่อมมีหน้าที่นําสืบพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจแก่ ศาลว่ากฎหมายต่างประเทศในเรื่องนั้น ๆ มีอยู่อย่างไรเท่านั้น หากพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ ศาลไทย ก็จะใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศไทยบังคับ
ข้อ 3 เรือประมง “เอเอ ฟิชเชอรี่” ของบริษัทในประเทศไทย ถูกเรือไม่ทราบสัญชาติใช้อาวุธโจมตี และลูกเรือจากเรือลําดังกล่าวได้บุกยึดเรือประมง “เอเอ ฟิชเชอรี่” ในเขตทะเลหลวง รวมทั้งจับ ลูกเรือประมงชาวไทยของเรือประมง “เอเอ ฟิชเชอรี่” ทั้งหมด 80 คน เป็นตัวประกันและเรียกค่าไถ่ ดังนี้ การกระทําของเรือไม่ทราบสัญชาติดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
วินิจฉัย
อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1958 (Geneva Convention on High Sea 1958) มาตรา 15 ได้ให้ความหมายของคําว่า “การโจรสลัด” ว่าต้องประกอบด้วยการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1 การกระทําอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้กําลัง การกักขัง หรือการกระทําอันเป็นการปล้นสะดม ซึ่งกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสาร ของเรือเอกชนมุ่งกระทํา
(ก) ในทะเลหลวง ต่อเรือหรืออากาศยานอีกลําหนึ่ง หรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือหรืออากาศยานเช่นว่านั้น
(ข) ต่อเรือ อากาศยาน บุคคลหรือทรัพย์สินในที่ที่อยู่ภายนอกอํานาจของรัฐใด
2 การกระทําใดอันเป็นการเข้าร่วมด้วยใจสมัครในการดําเนินการของเรือ
3 การกระทําอันเป็นการยุยงหรืออํานวยความสะดวกโดยเจตนาต่อการกระทําที่ได้กล่าวไว้ในวรรคแรก หรืออนวรรคสองของมาตรานี้
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว การที่เรือสินค้าไม่ทราบสัญชาติได้ใช้อาวุธโจมตี และได้บุกยึดเรือประมง “เอเอ ฟิชเชอรี่” ในเขตทะเลหลวง รวมทั้งจับลูกเรือประมงชาวไทยของเรือประมง “เอเอ ฟิชเชอรี่” ทั้งหมด 80 คน เป็นตัวประกันและเรียกค่าไถ่ ถือเป็นการกระทําอันมิชอบด้วยกฎหมายโดยการใช้กําลัง การกักขัง หรือการกระทํา อันเป็นการปล้นสะดม ซึ่งกระทําเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัว โดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือเอกชนมุ่งกระทํา ในทะเลหลวงต่อเรือ หรือต่อบุคคลหรือทรัพย์สินในเรือ จึงถือเป็นความผิดฐานโจรสลัด ตามอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยทะเลหลวง ค.ศ. 1958 มาตรา 15
สรุป
การกระทําของเรือไม่ทราบสัญชาติดังกล่าว เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศฐานโจรสลัด
ข้อ 4 การส่งผู้ร้ายข้ามแดนหมายความว่าอย่างไร หลักเกณฑ์ทั่วไปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ว่า “ต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ” นั้น มีเหตุผลอะไร และเป็นอายุความของประเทศใดบ้าง เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
คําว่า “ผู้ร้ายข้ามแดน” หมายถึง บุคคลผู้กระทําผิดอาญา ซึ่งอาจจะอยู่ในฐานะผู้ต้องหา หรือจําเลย หรือผู้ซึ่งต้องคําพิพากษาให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้กระทําผิดอาญาในประเทศหนึ่งแล้วหลบหนี ข้ามแดนไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง ประเทศที่ความผิดได้กระทําลงร้องขอให้ประเทศที่ผู้ร้ายหลบหนีไปอยู่ส่งผู้ร้าย ข้ามแดนเพื่อนํามาพิจารณาโทษ
ดังนั้น “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน” คือการที่ประเทศซึ่งผู้ร้ายไปปรากฏตัวอยู่ได้ส่งมอบตัว ผู้ร้ายนั้นไปยังประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัวนั่นเอง
หลักเกณฑ์ทั่วไปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ว่า “ต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ” นั้น เป็นเพราะว่า ถ้าคดีที่ผู้ร้ายหรือบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทําความผิดทางอาญานั้นได้ขาดอายุความแล้ว โดยหลักทั่วไปสิทธิ ในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป คือจะนําตัวผู้ร้ายหรือบุคคลนั้นมาฟ้องเป็นคดีต่อศาลอีกไม่ได้นั่นเอง ซึ่ง ตามกฎหมายของไทยก็ได้บัญญัติไว้เช่นเดียวกันโดยได้บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 39(6) ว่า “สิทธินําคดีอาญา มาฟ้องย่อมระงับ เมื่อคดีขาดอายุความ”
สําหรับที่ว่าต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ และเป็นอายุความของประเทศใดนั้น ตามหลักเกณฑ์ ทั่วไปของการให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ไม่ได้กําหนดให้แจ้งชัดลงไปว่าให้ใช้อายุความตามกฎหมายอาญาแห่งประเทศ ผู้ร้องขอหรือประเทศผู้รับคําขอ แต่อย่างไรก็ดี ตามธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศนั้น ถ้าเป็นการขาดอายุความ ของประเทศผู้ร้องขอ ประเทศนั้นก็ไม่อาจร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนเด้ หรือถ้าเป็นการขาดอายุความของประเทศ ผู้รับคําขอ ประเทศผู้รับคําขอก็มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้เช่นเดียวกัน เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันไว้ เป็นอย่างอื่น แต่ก็ต้องไม่ขาดอายุความของประเทศผู้ร้องขอด้วย