การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายดำเป็นเจ้าของตึกแถวราคา 5 ล้านบาท นายแดงเป็นพี่ชายนายดำ นายดำอนุญาตให้นายแดงเข้ามาอาศัยอยู่และขายอาหารในตึกแถวนั้นได้ แต่นายแดงกลัวว่าถ้าไฟไหม้ตึกแถวนี้ตนจะได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องหาตึกแถวแห่งใหม่เพื่อทำการค้าต่อไป นายแดงจึงนำตึกแถวนี้ไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี วงเงินเอาประกัน 5 แสนบาท หลังจากทำสัญญาประกันภัยไปได้ 5 เดือน นายดำได้จดทะเบียนสิทธิอาศัยให้กับนายแดงเป็นเวลา 10 ปี อีก 1 เดือนต่อมาไฟไหม้ตึกแถวข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้ตึกแถวที่นายแดงเอาประกันภัยไว้เสียหายทั้งหมด ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า สัญญาประกันภัยระหว่างนายแดงกับบริษัทประกันภัยมีผลผูกพันคู่สัญญาหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้อธิบายโดยใช้หลักกฎหมายประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 869 อันคำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆบรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายแดงผู้เอาประกันภัยตึกแถวไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน ตามมาตรา 863 เพราะนายแดงไม่มีความสัมพันธ์ใดๆที่กฎหมายรับรองสิทธิ เนื่องจากนายแดงครอบครองตึกแถวของนายดำในฐานะผู้อาศัยเท่านั้น อีกทั้งเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นนายแดงไม่สามารถตีราคาความเสียหายออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ตามมาตรา 869 นายแดงจึงไม่ได้เสียหายเพราะนายแดงยังไม่มีสอทธิใดๆในตึกแถวนี้
ทั้งนี้แม้ต่อมาภายหลังนายแดงจะมีสิทธิอาศัยเกิดขึ้นเพราะมีการจดทะเบียนก็ไม่ทำให้สัญญาที่ไม่ผูกพันตั้งแต่ต้นกลายมาเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันภายหลังได้ เพราะส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันภัยต้องมีในขณะทำสัญญาเท่านั้น สัญญาจึงจะผูกพัน
ดังนั้น สัญญาประกันภัยระหว่างนายแดงกับบริษัทประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างใด เมื่อวินาศภัยเกิดขึ้น บริษัทประกันภัยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดงผู้เอาประกันภัย (ฎ. 1742/2520)
สรุป สัญญาประกันภัยระหว่างนายแดงกับบริษัทประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา
ข้อ 2 นายมีเป็นเจ้าของนุ่นที่เก็บไว้ในโกดังมีมูลค่าล้านกว่าบาท นายมีนำเอานุ่นไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทมั่นคงประกันวินาศภัยฯ วงเงินเอาประกันจำนวนหนึ่งล้านบาท โดยนายมีเป็นผู้รับประโยชน์ในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับ นุ่นที่เอาประกันภัยได้เกิดระอุลุกไหม้ขึ้นเองเพราะอุณหภูมิในโกดังสะสมจนถึงจุดติดไฟเนื่องจากอยู่ในระหว่างฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดกว่าทุกปี ดังนี้ การที่นุ่นถูกไฟไหม้หมด อยากทราบว่าบริษัทมั่นคงฯ ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายมีหรือไม่ เพราะเหตุใด ทั้งนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีข้อตกลงกันเป็นอย่างอื่น
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 879 วรรคสอง ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นุ่นซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเกิดระอุลุกไหม้ขึ้นเอง กรณีถือว่าความวินาศภัยเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย คือ เพลิงไหม้เกิดจากตัวทรัพย์ที่เอาประกันภัยนั้นเอง กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นมาตรา 879 วรรคสอง ที่บริษัทมั่นคงฯ ไม่ต้องรับผิด
ดังนั้น การที่นุ่นวัตถุเอาประกันภัยถูกไฟไหม้หมด บริษัทมั่นคงฯ จึงไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายมี อีกทั้งไม่มีการตกลงให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดแม้นุ่นเกิดลุกไหม้ขึ้นเอง
สรุป บริษัทมั่นคงฯ ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายมี
ข้อ 3 นางแก้วได้เอาประกันชีวิตนายขวดผู้เป็นสามีโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในวงเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท โดยระบุให้ตนเองและนายสุดหล่อบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์คนละครึ่ง อีก 5 ปีต่อมานางแก้วและนายขวดได้หย่าขาดจากกัน ในวันที่จดทะเบียนหย่านั้น นายสุดหล่อได้ทำปืนลั่นถูกนายขวดถึงแก่ความตาย ศาลพิพากษาจำคุกนายนายสุดหล่อฐานทำให้ผู้อื่นตายโดยประมาทมีกำหนด 1 ปี หลังจากนั้นนางแก้วและนายสุดหล่อได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิต แต่บริษัทประกันภัยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า นางแก้วได้หย่าขาดจากนายขวดไปแล้ว จึงไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายขวด และไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญา ส่วนนายสุดหล่อก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาเช่นเดียวกัน เพราะเป็นผู้ทำให้นายขวดตาย
จงวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อได้ความว่าในขณะที่นางแก้วได้เอาประกันชีวิตนายขวดผู้เป็นสามี โดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นนางแก้วและนายขวดยังมิได้หย่าขาดจากกัน และมีความสัมพันธ์ในฐานะคู่สมรส ดังนี้ เมื่อนางแก้วผู้เอาประกันชีวิตมีส่วนได้เสียกับนายขวดผู้ถูกเอาประกันชีวิตในขณะทำสัญญา สัญญาจึงมีผลผูกพันสมบูรณ์ตามมาตรา 863 ทั้งนี้ แม้จะฟังได้ความว่าภายหลังทำสัญญาแล้ว นางแก้วและนายขวดจะจดทะเบียนหย่ากันก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิของคู่สัญญาเปลี่ยนแปลงไปไม่
และเมื่อนางแก้วมีส่วนได้เสียและกำหนดให้ตนเป็นผู้รับประโยชน์ บริษัทประกันภัยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้นางแก้วตามสัญญา ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยที่ว่า นางแก้วได้หย่าขาดจากนายขวดไปแล้ว จึงไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายขวด และไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญา จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนกรณีของนายสุดหล่อนั้น ข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันชีวิตไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประการหนึ่งตามมาตรา 895(2) คือผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา ซึ่งหมายความว่าเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล หากมีเพียงเจตนาทำร้าย หรือเป็นเพราะประมาทเลินเล่อก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ว่า จากการที่นายสุดหล่อทำปืนลั่นถูกนายขวดถึงแก่ความตาย ศาลได้พิพากษาจำคุกนายสุดหล่อฐานทำให้ผู้อื่นตายโดยประมาท จะเห็นได้ว่า จากคำพิพากษานายสุดหล่อผู้รับประโยชน์หาได้มีเจตนาฆ่านายขวดผู้ถูกเอาประกันแต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 895(2) ดังนั้น เมื่อไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่บริษัทประกันภัยจะอ้างได้ บริษัทประกันภัยดังกล่าวจึงต้องจ่ายตามสัญญาประกันชีวิตให้นายสุดหล่อเช่นกัน ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยที่ว่า นายสุดหล่อไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญาเพราะทำให้นายขวดถึงแก่ความตายจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สรุป ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยฟังไม่ขึ้น