การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายจ้างทําสัญญาจ้างนายสมชายและนางสาวสมหญิงเป็นลูกจ้างทดลองงานมีกําหนดเวลา 6 เดือนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ในสัญญามีข้อตกลงกันว่าให้จ่ายสินจ้างเดือนละ 15,360 บาท (เฉลี่ยชั่วโมงละ 64 บาท) และให้นายสมชายได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางานชั่วโมงละ 70 บาท และ นางสาวสมหญิงได้ชั่วโมงละ 65 บาท นายจ้างได้มีคําสั่งให้ทั้งสองทํางานล่วงเวลาในวันทํางาน 20 ชั่วโมง และทํางานครบกําหนดเวลาในวันที่ 31 กรกฎาคมพอดี เช่นนี้ทั้งสองคนจะมีสิทธิอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 17 วรรคสอง “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจ บอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่าย ค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่ จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน”
มาตรา 53 “ในกรณีที่งานมีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่ากันให้ นายจ้างกําหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทํางานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเท่าเทียมกัน ไม่ว่า ลูกจ้างนั้นจะเป็นชายหรือหญิง”
มาตรา 61 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันทํางานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา ให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือ ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”
มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้น เป็นโมฆะ”
วินิจฉัย
โดยหลักของการทําสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างกับลูกจ้างจะทําข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ข้อตกลงนั้นจะมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ข้อตกลงนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 150) อย่างไรก็ตาม หากข้อตกลงนั้นเป็นคุณแก่ลูกจ้าง แม้ว่าจะขัดต่อกฎหมาย ก็ถือว่าข้อตกลงนั้นใช้ได้ ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างทําสัญญาจ้างนายสมชายและนางสาวสมหญิงเป็นลูกจ้าง โดยให้สินจ้างเดือนละ 15,360 บาท (เฉลี่ยชั่วโมงละ 64 บาท) โดยในสัญญามีข้อตกลงกันว่าให้นายสมชายได้รับ ค่าล่วงเวลาในวันทํางานชั่วโมงละ 70 บาท และนางสาวสมหญิงได้ชั่วโมงละ 65 บาทนั้น ย่อมขัดต่อมาตรา 61 จึงมีผลเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงต้องคิดตามมาตรา 61 กล่าวคือ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาใน วันทํางานให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา ดังนั้นนายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างเป็นเงิน 96 บาทต่อชั่วโมง เมื่อทั้งสองคนได้ทํางานล่วงเวลาในวันทํางาน 20 ชั่วโมง จึงต้องได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางานเป็นเงิน 1,920 บาท และทั้งนายสมชายและนางสาวสมหญิง จะต้องได้รับเท่ากันด้วย นายจ้างจะกําหนดให้ค่าล่วงเวลาแตกต่างกันระหว่างชายกับหญิงไม่ได้ตามมาตรา 53
และเมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทดลองงานตามมาตรา 17 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็น สัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา ดังนั้นเมื่อนายจ้างจะเลิกจ้างจึงต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ เมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกัน เมื่อถึงกําหนด จ่ายค่าจ้างคราวถัดไป
และเมื่อนายสมชายและนางสาวสมหญิงได้ทํางานมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งเกิน 120 วัน ถ้านายจ้าง เลิกจ้าง ทั้งสองย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (1) คือจะได้รับค่าชดเชยในอัตราไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงินคนละ 15,360 บาท
สรุป
นายสมชายและนางสาวสมหญิง มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางานคนละ 1,920 บาท และถ้านายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้า โดยทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีกคนละ 15,360 บาท
ข้อ 2. นายสมัยเป็นลูกจ้างช่างเครื่องยนต์ในโรงงานแห่งหนึ่งทํางานมาแล้ว 7 ปี 7 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท ต่อมานายจ้างได้ติดตั้งเครื่องจักรเพื่อทํางานแทนลูกจ้างจึงได้บอกกล่าวแก่นายสมัย ให้ทราบว่าจะเลิกจ้างในวันที่ 30 เมษายน และได้บอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยจ่ายค่าชดเชยให้ 100,000 บาท เช่นนี้นายสมัยจะต่อสู้ว่าไม่ถูกต้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
(4) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”
มาตรา 121 “ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจําหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนําเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจํานวนลูกจ้าง ห้ามมิให้นํามาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้าง แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้าง ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าที่กําหนด ตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทํางานหกสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วยด้วย
ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่า นายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย”
มาตรา 122 “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทํางานติดต่อกัน เกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สิบห้าวันต่อการทํางานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทํางานครบหนึ่งปี สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยตามมาตรานี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้าง อัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทํางานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย
เพื่อประโยชน์ในการคํานวณค่าชดเชยพิเศษกรณีระยะเวลาทํางานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของ ระยะเวลาทํางานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทํางานครบหนึ่งปี”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างจะเลิกจ้างนายสมัยลูกจ้างนั้น ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างด้วย และในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยนําเครื่องจักรมาใช้นั้น ให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้างให้ลูกจ้าง ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่จะเลิกจ้าง (มาตรา 121 วรรคแรก) ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้าง ทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้าง จ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน (มาตรา 121 วรรคสอง)
และในกรณีที่ลูกจ้างได้ทํางานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้น จากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทํางานครบหนึ่งปี (มาตรา 122 วรรคแรก) และในกรณีที่ระยะเวลาทํางานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของระยะเวลาทํางานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทํางานครบหนึ่งปี (มาตรา 122 วรรคสอง)
ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อนายสมัยลูกจ้างได้ทํางานมาแล้ว 7 ปี 7 เดือน โดยได้รับ ค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท เมื่อนายจ้างได้บอกกล่าวแก่นายสมัยว่าจะเลิกจ้างในวันที่ 30 เมษายน และให้มีผล เป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน โดยจ่ายค่าชดเชยให้ นายสมัย 100,000 บาทนั้น นายสมัยสามารถต่อสู้ได้ว่าไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะนายสมัยมีสิทธิได้รับค่าชดเซยดังนี้ คือ
1 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 121 เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวันเป็นเงิน 44,000 บาท
2 ค่าชดเชยในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างตามมาตรา 118 (4) เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน) เป็นเงิน 176,000 บาท
3 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 122 เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทํางาน ครบหนึ่งปี (ทํางานปีที่ 7 = 15 วัน และปีที่ 8 ทํางานมากกว่า 180 วัน ซึ่งคิดได้อีก 15 วัน) เป็นเงิน 22,000 บาท
ซึ่งรวมทั้งหมดนายสมัยจะต้องได้รับค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 242,000 บาท
สรุป
การที่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ 100,000 บาท นายสมัยสามารถต่อสู้ว่าไม่ถูกต้องได้ เพราะนายสมัยควรจะได้รับค่าชดเชยทั้งหมดเป็นเงิน 242,000 บาท ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3. นายอุทัยและนายพิจิตรเป็นลูกจ้างทําหน้าที่พนักงานขับรถยนต์ได้รับสินจ้างเดือนละ 12,000 บาทนายจ้างมีคําสั่งให้นายอุทัยขับรถไปส่งสินค้าที่จังหวัดแพร่ นายพิจิตรได้นั่งรถไปด้วยเพราะจะกลับบ้านที่จังหวัดแพร่ ในระหว่างทางมีรถบรรทุกวิ่งมาชนทําให้รถคว่ำ นายอุทัยบาดเจ็บสาหัสต้อง รักษาตัวถึง 4 เดือน แต่ก็เสียชีวิตในที่สุด นายพิจิตรแขนซ้ายขาดต้องรักษาตัวถึง 6 เดือน เช่นนี้ ทั้งสองคนจะมีสิทธิอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537
มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้
“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง”
มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการ รักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”
มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ํารายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”
มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทํางานติดต่อกันได้ เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทํางานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทํางานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายอุทัยและนายพิจิตรจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอย่างไรบ้าง หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของนายอุทัย
การที่นายอุทัยซึ่งเป็นลูกจ้างทําหน้าที่พนักงานขับรถยนต์ ได้รับคําสั่งจากนายจ้างให้ขับรถไปส่ง สินค้าที่จังหวัดแพร่ ในระหว่างทางมีรถบรรทุกวิ่งมาชนทําให้รถคว่ําและนายอุทัยบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวถึง 4 เดือน แต่ก็เสียชีวิตในที่สุดนั้น ถือว่านายอุทัยประสบอันตรายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 ดังนั้น นายอุทัยจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่นายอุทัย ดังนี้
1 ค่ารักษาพยาบาล ตามาตรา 13 โดยนายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ตามความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง คือรวมกันแล้วไม่เกิน 150,000 บาท ซึ่งในกรณีนี้ ถือว่านายอุทัยประสบอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง จึงได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น 50,000 บาท และใน กรณีบาดเจ็บอย่างรุนแรงอีกไม่เกิน 100,000 บาท (ตามกฎกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 2. และข้อ 3.)
2 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้ ตามมาตรา 18 (1) เมื่อนายอุทัยไม่สามารถ ทํางานได้ 4 เดือน ซึ่งถือว่าติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่นายอุทัยไม่สามารถทํางานได้ เมื่อนายอุทัยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 บาท จึงเท่ากับ 7,200 บาท (ซึ่งไม่เกินค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานฯ ประกาศกําหนด คือ 12,000 บาท) ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่นายอุทัยเดือนละ 7,200 บาท เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 28,800 บาท (7,200 บาท x 4 เดือน)
3 ค่าทําศพ เมื่อนายอุทัยเสียชีวิต นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทําศพให้แก่ผู้จัดการศพเป็น จํานวน 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด (300 บาท) ตามมาตรา 16 เป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 30,000 บาท
กรณีของนายพิจิตร
แม้นายพิจิตรจะเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกับนายอุทัยและเมื่อเกิดรถคว่ำนายพิจิตรได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายขาดต้องรักษาตัวถึง 6 เดือนก็ตาม แต่นายพิจิตรได้นั่งรถไปกับนายอุทัยเพื่อจะกลับบ้านเท่านั้น มิใช่ กรณีที่นายจ้างสั่งให้ไป จึงไม่ถือว่านายพิจิตรประสบอันตรายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 ดังนั้น นายพิจิตรจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากนายจ้าง
สรุป
นายอุทัยมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากนายจ้าง ดังนี้
1 ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 150,000 บาท
2 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้เป็นเงิน 28,800 บาท
3 ค่าทําศพ เป็นเงิน 30,000 บาท ส่วนนายพิจิตรไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนใด ๆ จากนายจ้าง
หมายเหตุ : กฎกระทรวง กําหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558
(ออกโดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 13 วรรคหนึ่ง
แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537)
ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกําหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551
ข้อ 2 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่ จ่ายจริงตามความจําเป็น แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
ข้อ 3 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษา พยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 100,000 บาท สําหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ของลูกจ้างในลักษณะดังต่อไปนี้
ข้อ 4 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่า รักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 และข้อ 3 แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท
ข้อ 4. บริษัทแห่งหนึ่งมีลูกจ้าง 100 คน มีลูกจ้าง 49 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้แก่ฝ่ายนายจ้างเพื่อขอให้มีการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง 4 ข้อ ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจากัน 3 ครั้งแล้ว (มีการเจรจาครั้งที่ 3 ในวันพุธที่ 27 พฤษภาคม) แต่ก็ไม่อาจตกลงกันได้ เช่นนี้ จะมีวิธีระงับข้อพิพาทแรงงานอย่างไร จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
มาตรา 13 วรรคแรก และวรรคสาม “การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็น หนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ
ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น…”
มาตรา 21 “ในกรณีที่ไม่มีการเจรจากันภายในกําหนดตามมาตรา 16 หรือมีการเจรจากันแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ถือว่าได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น และให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องแจ้งเป็น หนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่พ้นกําหนดตามมาตรา 16 หรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ แล้วแต่กรณี”
มาตรา 22 “เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งตามมาตรา 21 แล้ว ให้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดําเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง และฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลง กันภายในกําหนดห้าวันนับแต่วันที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับหนังสือแจ้ง
ถ้าได้มีการตกลงกันภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นํามาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้น เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ตามมาตรา 26 หรือนายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ก็ได้ ทั้งนี้ภายใต้บังคับ มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 หรือมาตรา 36”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทมีลูกจ้าง 100 คน และมีลูกจ้าง 49 คน ซึ่งมีจํานวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมดได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้แก่ฝ่ายนายจ้างเพื่อขอให้มีการแก้ไขข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้าง 4 ข้อนั้น ถือว่าได้กระทําถูกต้องตามมาตรา 13 วรรคแรก ประกอบวรรคสาม
ในกรณีที่ได้มีการเจรจากันแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไม่อาจตกลงกันได้ตามมาตรา 21 ให้ถือว่าได้มี ข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ดังนั้นฝ่ายลูกจ้างจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ “พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน” ทราบภายใน 24 ชั่วโมง คือต้องยืนภายในวันที่ 28 พฤษภาคม และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานต้อง ดําเนินการไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันภายในกําหนด 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งถ้าตกลงกันได้ก็ให้ไปดําเนินการ ตามมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 แต่ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ ให้ถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 26 หรือนายจ้างจะทําการปิดงานหรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ก็ได้ (มาตรา 22)
สรุป
เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงานเพราะตกลงกันไม่ได้ วิธีระงับข้อพิพาทแรงงานจึงต้องปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 21 และมาตรา 22 ดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น