การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4008 กฎหมายที่ดิน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายทวีได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดิน ทางราชการออกใบจองให้ในวันที่ 10 สิงหาคม 2548 ใน พ.ศ. 2552 ได้มีประกาศเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินแต่นายทวีไม่ได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการสํารวจรังวัดที่ดินของตน ใน พ.ศ. 2557 นายทวีขายที่ดินนั้นให้แก่นายบุญถึงโดยทําสัญญาซื้อขายกันเองแล้วส่งมอบที่ดินให้นายบุญถึงครอบครอง นายบุญถึงได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องตลอดเวลา ขณะนี้นายบุญถึงได้นําที่ดินไปยื่นขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้อยากทราบว่านายบุญถึงจะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 59 “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการ ทําประโยชน์เป็นการเฉพาะรายไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงาน เจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กําหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่ง ได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองด้วย”

มาตรา 59 ทวิ “ ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ ประมวลกฎหมายนี้ ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจําเป็นจะขอออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควรให้ ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ประมวลกฎหมายนี้กําหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยัง ไม่ได้รับคํารับรองจากนายอําเภอว่าได้ทําประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายทวีเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่มีใบจอง โดยทางราชการออกใบจองให้ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2548 ซึ่งที่ดินที่มีใบจองนี้เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคํารับรองจากนายอําเภอว่าได้ทําประโยชน์แล้ว นายทวีผู้ครอบครองจึงโอนให้ใครไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดกตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง

ในปี พ.ศ. 2557 การที่นายทวีขายที่ดินนั้นให้แก่นายบุญถึงโดยทําสัญญาซื้อขายกันเอง แล้วส่งมอบที่ดินให้นายบุญถึงครอบครองนั้น กรณีนี้เมื่อไม่ใช่เป็นการโอนโดยการตกทอดทางมรดก การขายที่ดิน ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 8 วรรคสอง ดังนั้นแม้นายบุญถึงจะได้ครอบครองต่อเนื่องมา

ก็ไม่ทําให้นายบุญถึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด เพียงแต่มีผลทําให้นายบุญถึง เป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้นโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเท่านั้น

และในขณะนี้การที่นายบุญถึงได้นําที่ดินไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีประกาศ ของทางราชการเพื่อจะออกโฉนดแบบทั้งตําบล ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ดังนั้น นายบุญถึงจะขอออก โฉนดที่ดินได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาการออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ แล้วแต่กรณี

สําหรับการขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ผู้ที่จะออกโฉนดที่ดินได้ จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กล่าวคือ เป็นเจ้าของที่ดินโดยมี หนังสือแสดงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนายบุญถึงเป็นเพียงผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวล กฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ดังนั้นนายบุญถึงจึงขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ไม่ได้ อีกทั้งในกรณีดังกล่าวนี้ นายบุญถึงจะอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองต่อเนื่อง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 วรรคสอง ไม่ได้เช่นกัน เพราะนายบุญถึงมิใช่ผู้ครอบครองต่อเนื่องจาก ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)

ส่วนผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้นั้น กฎหมายกําหนดว่า จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 เท่านั้น เมื่อปรากฏว่านายบุญถึงเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลัง วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2497) จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น นายบุญถึงจึงไม่สามารถขอออกโฉนดที่ดิน เป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ได้เช่นกัน

สรุป

นายบุญถึงเป็นผู้ครอบครองโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จะขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 และมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้เลย

 

ข้อ 2. นายเก่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2496 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดินและไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ใน พ.ศ. 2510 นายเก่งขายที่ดินนั้นให้แก่นายอาทิตย์ นายอาทิตย์ได้ครอบครองและ ทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ใน พ.ศ. 2558 ได้มีการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน นายอาทิตย์ ได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการรังวัดที่ดินจึงได้รับโฉนดที่ดินในปีเดียวกัน ขณะนี้นายอาทิตย์ ตกลงจะขายที่ดินนั้นให้แก่นางเดือน ดังนี้อยากทราบว่านายอาทิตย์จะจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 27 ตรี “เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกําหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสํารวจ ตามมาตรา 58 วรรคสอง ผู้ครอบครองเละทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มี หนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคําสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทําการสํารวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกําหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานําหรือส่งตัวแทนมานําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการ สํารวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกําหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิ์ในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

มาตรา 58 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคห้า “เมื่อได้สํารวจรังวัดทําแผนที่ หรือพิสูจน์ สอบสวนการทําประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรอง การทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครอง เป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตาม วรรคหนึ่งให้ได้ คือ

(2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทําประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทาง มรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชําระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์”

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2496 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดินและไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตร 5 แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ต่อมาใน พ.ศ. 2510 นายเก่งได้ขายที่ดินนั้นให้แก่นายอาทิตย์ นายอาทิตย์ ได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตลอดมานั้น ย่อมถือว่านายอาทิตย์เป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 27 ตรี วรรคสอง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ใน พ.ศ. 2558 ได้มีการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน นายอาทิตย์ ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง คือได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการสํารวจรังวัดที่ดิน จึงได้รับโฉนดที่ดินในปีเดียวกัน ย่อมถือว่านายอาทิตย์เป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) โฉนดที่ดินที่นายอาทิตย์ได้รับมาจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการห้ามโอนเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า ดังนั้น เมื่อนายอาทิตย์ตกลงจะขาย ที่ดินนั้นให้แก่นางเดือน นายอาทิตย์จึงสามารถจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นางเดือนได้

สรุป

นายอาทิตย์สามารถจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นางเดือนได้

 

ข้อ 3. นางฟ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม นางฟ้าต้องการจะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3ก) ซึ่งเป็นมรดก ที่ดินนั้นตั้งอยู่ที่อําเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น แต่นางฟ้ามีภูมิลําเนาอยู่กรุงเทพมหานครไม่สะดวกที่จะเดินทางไปที่จังหวัดขอนแก่น นางฟ้าจึงพานายสิงห์ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวของเจ้ามรดกไปยื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สํานักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อให้รับเรื่องและส่งไปที่สํานักงานที่ดินที่จังหวัดขอนแก่นดําเนินการ จดทะเบียนให้ พนักงานเจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินกรุงเทพมหานครตรวจสอบเอกสารแล้วเห็นว่าที่ดิน มี น.ส.3ก และสอบถามนายสิงห์ทายาทของเจ้ามรดกแล้วก็ไม่ได้คัดค้านจึงรับเรื่องเพื่อดําเนินการ ตามคําขอ ดังนี้อยากทราบว่าการดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 72 “ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้คู่กรณีนําหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 71

การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง สําหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินใบไต่สวน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ คู่กรณีอาจยื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน หรือสํานักงานที่ดิน แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ดําเนินการจดทะเบียนให้ เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมี การประกาศหรือต้องมีการรังวัด”

มาตรา 81 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง “การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้มาโดยทางมรดก ให้ผู้ได้รับมรดกนําหลักฐานสําหรับที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐาน ในการได้รับมรดกมายื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวนั้นได้

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐาน และเชื่อได้ว่าผู้ขอเป็นทายาทแล้ว ให้ประกาศ โดยทําเป็นหนังสือปิดไว้ในที่เปิดเผยมีกําหนดสามสิบวัน ณ สํานักงานที่ดิน เขตหรือที่ว่าการอําเภอ หรือกิ่งอําเภอ สํานักงานเทศบาล ที่ทําการองค์การบริหารส่วนตําบล ที่ทําการแขวงหรือที่ทําการกํานันท้องที่ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ และ บริเวณที่ดินนั้นแห่งละหนึ่งฉบับ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวให้บุคคลที่ผู้ขอแจ้งว่าเป็น ทายาททุกคนทราบเท่าที่สามารถจะทําได้ หากไม่มีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกโต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศ และมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ขอมีสิทธิได้รับมรดกแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียนให้ตามที่ ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 82 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิ ในที่ดิน ให้ยื่นคําขอพร้อมด้วยนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น และหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดกมาแสดงต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยคําสั่งศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการจดทะเบียน ให้ตามคําขอ แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและตรวจสอบหลักฐาน และ ให้นําความในมาตรา 81 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อไม่มีผู้โต้แย้ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อ ผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นได้”

วินิจฉัย

ผู้ที่ประสงค์จะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ นอกจากจะมายื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 แล้ว บทบัญญัติมาตรา 72 วรรคสอง ยังให้สิทธิ์คู่กรณีอาจจะมายื่นคําขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดินหรือสํานักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1 ที่ดินที่จะต้องจดทะเบียนนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ใบไต่สวน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ กล่าวคือ ถ้ามีเอกสารอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาจะยื่นคําขอไม่ได้

2 การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการประกาศก่อน กล่าวคือ กรณีใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องทําเรื่องประกาศก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจะมาใช้มาตรา 72 วรรคสองไม่ได้

3 การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการรังวัดก่อน

 

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางฟ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม ถือว่า นางฟ้าเป็นผู้จัดการมรดกโดยทางอื่นนอกจากโดยคําสั่งศาล ดังนั้น ในการจดทะเบียนลงชื่อนางฟ้าผู้จัดการมรดก ลงในหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3ก) ที่เป็นมรดกนั้น จึงต้องดําเนินการตามขั้นตอนตามประมวล กฎหมายที่ดินมาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 81 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อนางฟ้าได้ยื่นคําขอจดทะเบียนลงชื่อ ผู้จัดการมรดกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ จะต้องทําการประกาศเป็นหนังสือก่อนมีกําหนด 30 วัน และมีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวให้ทายาททุกคนทราบ เท่าที่จะทําได้ หากไม่มีผู้โต้แย้งภายในกําหนดเวลาที่ประกาศก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนลงชื่อนางฟ้า ผู้จัดการมรดกในหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3ก) นั้นได้

และเมื่อการขอจดทะเบียนลงชื่อนางฟ้าผู้จัดการมรดกลงในหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3ก) นั้น จะต้องมีการประกาศก่อนดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวล กฎหมายที่ดินมาตรา 72 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อที่ดินซึ่งเป็นมรดกตั้งอยู่ที่อําเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น แต่นางฟ้า มีภูมิลําเนาอยู่กรุงเทพมหานครไม่สะดวกที่จะเดินทางไปที่จังหวัดขอนแก่น นางฟ้าจึงได้ยื่นคําขอต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเพื่อให้รับเรื่องและส่งไปที่สํานักงานที่ดินที่จังหวัดขอนแก่นดําเนินการ จดทะเบียนให้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 72 วรรคสองนั้น จึงไม่อาจทําได้ ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ สํานักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้รับเรื่องของนางฟ้าไว้เพื่อดําเนินการตามคําขอนั้น การดําเนินการของพนักงาน เจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การดําเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่สํานักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ไม่ชอบด้วย กฎหมาย

Advertisement