การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016 กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. จงนํากฎหมายปกครองและหลักกฎหมายปกครองไปใช้ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตําบล ให้เป็นไปตามอํานาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตําบล
ธงคําตอบ
“กฎหมายปกครอง” หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับอํานาจหน้าที่ในทางปกครอง รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการใช้อํานาจทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกฎหมายปกครอง อาจจะเป็นกฎหมายที่อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด หรือ อาจจะอยู่ในรูปของกฎหมายอื่น ๆ เช่น ในรูปของประมวลกฎหมาย เป็นต้น แต่อํานาจหน้าที่ในทางปกครองตามกฎหมายปกครอง หมายถึง การใช้อํานาจปกครองในการ ออกกฎและคําสั่งทางปกครอง การกระทําทางปกครองรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองนั่นเอง ซึ่งหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีอํานาจหน้าที่ในทางปกครองต่าง ๆ ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมี กฎหมายปกครองบัญญัติไว้ และการใช้อํานาจปกครองดังกล่าวก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายปกครอง ได้กําหนดไว้ด้วย
สําหรับ “องค์การบริหารส่วนตําบล” เป็นหน่วยงานทางปกครองในรูปขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอํานาจปกครอง ซึ่งองค์การบริหารส่วนตําบล รวมทั้งผู้บริหาร เช่น นายกองค์การ บริหารส่วนตําบล ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอํานาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามที่กฎหมายปกครอง คือ พระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบลฯ ได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ เช่น หน้าที่ใน การจัดให้มีและบํารุงรักษาทางน้ำและทางบก หน้าที่ในการรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และ ที่สาธารณะ รวมทั้งมีหน้าที่กําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เป็นต้น
ในการใช้อํานาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนั้น ก็โดย จุดประสงค์เพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อการบริการสาธารณะนั้นเอง ซึ่งการใช้อํานาจและหน้าที่ของ องค์การบริหารส่วนตําบลและของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ก็จะต้องมีการใช้อํานาจปกครองใน การออกกฎ คําสั่งทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองด้วย ตัวอย่างเช่น
(1) องค์การบริหารส่วนตําบล ได้ออกข้อบัญญัติฯ ซึ่งเป็นกฎห้ามประชาชนเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ในขณะที่มีไข้หวัดนกระบาด เพื่อเป็นการป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ เป็นต้น
(2) การออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลได้มีคําสั่งเป็น หนังสือให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบลพ้นจากตําแหน่ง เป็นต้น
(3) การกระทําทางปกครองรูปแบบอื่น เช่น การที่เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตําบล ทําความสะอาดถนนหรือทางระบายน้ำ เป็นต้น
(4) การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่องค์การบริหารส่วนตําบลได้ทําสัญญาจ้าง บริษัทเอกชนทําถนนหรือเก็บและกําจัดขยะมูลฝอย เป็นต้น
ซึ่งในการใช้อํานาจทางปกครองดังกล่าวเพื่อการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตําบลนั้น องค์การบริหารส่วนตําบลจะใช้อํานาจทางปกครองดังกล่าวได้ ก็จะต้องมีกฎหมายปกครอง ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย และ การใช้อํานาจปกครองนั้น ก็จะต้องเป็นการใช้อํานาจปกครองตามหลักกฎหมายปกครองด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักประโยชน์สาธารณะ หลักความซื่อสัตย์สุจริต และหลักความเป็นธรรม เป็นต้น
1 หลักความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า จะใช้อํานาจได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมาย บัญญัติให้อํานาจไว้ด้วย เพราะถ้าเป็นการใช้อํานาจโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อํานาจ นอกเหนือจากที่กฎหมายได้บัญญัติให้อํานาจไว้ ก็จะเป็นการใช้อํานาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2 หลักประโยชน์สาธารณะ หมายความว่า การใช้อํานาจนั้นจะต้องกระทําเพื่อประโยชน์ แก่ประชาชนส่วนรวม มิใช่กระทําเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
3 หลักความซื่อสัตย์สุจริต หมายความว่า การใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องกระทํา ด้วยความเหมาะสมและตามสมควร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
4 หลักความเป็นธรรม หมายความว่า การใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่นั้นจะต้องกระทําต่อ บุคคลทุกคนโดยยึดหลักว่าบุคคลทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีความเสมอภาคกัน และต้องเป็นการกระทํา เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของกฎหมายเท่านั้น รวมทั้งจะต้องไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนจนเกินควร
และนอกจากนั้น การใช้อํานาจปกครองดังกล่าวขององค์การบริหารส่วนตําบล ก็จะต้อง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้กําหนดไว้ด้วย เช่น การออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตําบลก็จะต้อง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบลฯ ได้กําหนดไว้ หรือในการออก คําสั่งทางปกครองก็จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กําหนดไว้ เป็นต้น ถ้าองค์การ บริหารส่วนตําบลได้ออกข้อบัญญัติฯ หรือคําสั่งทางปกครองไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ย่อมถือว่าเป็นการออกกฎหรือคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะก่อให้เกิดข้อพิพาททางปกครองหรือที่เรียกว่า คดีปกครองขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครองขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องนําคดีนั้นไปฟ้องร้อง ยังศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้เพราะข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครองนั้นจะ อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครอง
ข้อ 2. เรื่องใดในบทบัญญัติของกฎหมายต่อไปนี้จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหมายถึงอะไร
(1) มาตรา…ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(2) มาตรา… การเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
(3) มาตรา… พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
(4) มาตรา… สิทธิการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ให้สามารถนําไปใช้เป็นหลักประกันการชําระหนี้โดยการจํานองได้
(5) มาตรา…การแก้ไขรายการที่จดทะเบียนการเช่า การให้เช่าช่วง การนําสิทธิการเช่าหลักประกันการชําระหนี้ การโอนสิทธิการเช่า หรือการตกทอดทางมรดก…
ธงคําตอบ
ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 5 “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้
จากความหมายของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การดําเนินการของ เจ้าหน้าที่ที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนั้น จะต้องเป็นกรณีการเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครองหรือกฏนั่นเอง
“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรืบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใด เป็นการเฉพาะ
โดย “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็น การสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
ดังนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายตามคําถาม เรื่องที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครอง ได้แก่
(1) มาตรา… ที่บัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอํานาจออก กฎกระทรวง” ซึ่งการออกกฎกระทรวงเป็นกฎ ดังนั้น จึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
(2) มาตรา… ที่บัญญัติว่า “การเช่า… ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่” ซึ่งเมื่อมีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การรับจดทะเบียนของ เจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
(3) มาตรา ไม่ได้เป็นเรื่องของการเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ในการจัด ให้มีคําสั่งทางปกครองหรือกฎ จึงไม่ต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
(4) มาตรา ที่บัญญัติว่า “ โดยการจํานอง” ซึ่งการจํานองนั้นจะต้องทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อมีการรับจดทะเบียน การรับจดทะเบียนถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
(5) มาตรา… ที่บัญญัติว่า “การแก้ไขรายการที่จดทะเบียนการเช่า..” ซึ่งการแก้ไข รายการที่จดทะเบียนเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ข้อ 3. ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 3/1 วรรคสาม บัญญัติว่า
“ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” ดังนี้ การบริหาร กิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อบรรลุเป้าหมายตามมาตรา 3/1 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นเป็นอย่างไร จงอธิบาย
ธงคําตอบ
ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 6 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
1 เกิดประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งได้แก่ การปฏิบัติราชการที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ความสงบและความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม ตลอดจนประโยชน์สูงสุด ของประเทศ โดยส่วนราชการจะต้องดําเนินการโดยถือว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับการบริการจากรัฐ
2 เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ซึ่งได้แก่ การบริหารงานมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการ ปฏิบัติงานที่สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับภารกิจและวัตถุประสงค์ที่กําหนดขึ้นไว้สําหรับงานนั้น ๆ โดยผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นจะต้องมีความคุ้มค่ากับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถกําหนดตัวชี้วัดผลการทํางานได้อย่างชัดเจน
3 มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ซึ่งเป็นการกําหนดวิธีการ ทํางานของส่วนราชการ ทั้งในกรณีที่ให้เกิดประสิทธิภาพในการทํางานและสามารถวัดความคุ้มค่าในการปฏิบัติ แต่ละภารกิจ โดยกําหนดให้ส่วนรายการต้องปฏิบัติตามหลักการ ดังนี้
(1) หลักความโปร่งใส ส่วนราชการต้องประกาศกําหนดเป้าหมาย และแผนการ ทํางาน ระยะเวลาแล้วเสร็จ และงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อให้ข้าราชการและประชาชนทราบ ซึ่งจะทําให้การ ทํางานมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบแผนการทํางานได้
(2) หลักความคุ้มค่า กล่าวคือในการใช้ทรัพยากร (รายจ่ายหรืองบประมาณ) นั้น ให้คํานึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรด้วย โดยให้คํานึงถึงประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะพึงได้รับจาก ภารกิจนั้น รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องกระทําโดยเปิดเผยและเที่ยงธรรม
(3) หลักความชัดเจนในการปฏิบัติราชการ (หลักความรับผิดชอบ) เช่น การสั่ง ราชการต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ามีการสั่งการด้วยวาจาต้องบันทึกคําสั่งนั้นไว้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนใน การสั่งเพื่อปฏิบัติราชการที่ต้องมีหลักฐานยืนยันคําสั่งที่แน่นอน มีความรับผิดชอบทั้งผู้สั่งและผู้ปฏิบัติงาน
4 ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจําเป็น ซึ่งได้แก่ การกําหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงาน และการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยกําหนดหน้าที่ให้ส่วนราชการปฏิบัติเพื่อเป็นการลดระยะเวลาในการพิจารณา การสั่งการอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการที่มีผลโดยตรงต่อประชาชนให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ดังนี้
(1) การกระจายอํานาจการตัดสินใจ ส่วนราชการต้องจัดให้มีการกระจายอํานาจ การตัดสินใจลงไปสู่ผู้ดํารงตําแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดําเนินการในเรื่องนั้นโดยตรง โดยมุ่งผลให้เกิด ความสะดวกและรวดเร็วในการบริการประชาชน แต่ต้องไม่เพิ่มขั้นตอนเกินความจําเป็น
(2) การจัดตั้งศูนย์การบริการร่วม โดยให้เป็นหน้าที่ของแต่ละกระทรวงต้องจัด ส่วนราชการภายในที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานกับประชาชนให้รวมเป็นศูนย์บริการร่วมแห่งเดียวที่ประชาชน จะสามารถติดต่อสอบถาม ขอข้อมูล ขออนุญาตหรือขออนุมัติได้พร้อมกันทุกเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กระทรวงนั้น เป็นการปฏิบัติงานในรูป One-Stop Service)
5 มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งได้แก่ การทบทวน และปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนการทํางานใหม่อยู่เสมอ ทบทวนลําดับความสําคัญและความจําเป็นทาง แผนงานและโครงการทุกระยะ การยุบเลิกส่วนราชการที่ไม่จําเป็น และปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้ เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ
6 ประชาชนได้รับการอํานวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ ซึ่ง ได้แก่ การปฏิบัติราชการที่มุ่งเน้นกับความต้องการและความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการเป็นหลัก โดยมี การกําหนดระยะเวลาการปฏิบัติงาน การจัดระบบสารสนเทศ การรับฟังข้อร้องเรียน การเปิดเผยข้อมูล รวมทั้ง ให้มีการสํารวจความต้องการของประชาชน และความพึงพอใจของผู้รับบริการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนํามา ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ
7 มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ เพราะการประเมินผลถือว่าเป็น สิ่งสําคัญ ซึ่งจะทําให้ทราบได้ว่า การปฏิบัติราชการต่าง ๆ ที่ได้ทําไปแล้วนั้นได้ผลหรือไม่ หรือแผนที่กําหนดไว้นั้น เมื่อนําไปปฏิบัติแล้วบรรลุผลหรือไม่
ข้อ 4. พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ให้เทศบาลมีอํานาจหน้าที่รักษาความสะอาดของถนน ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งกําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยาเห็นว่าจัดซื้อ รถกวาดดูดฝุ่นเพื่อรักษาความสะอาดของถนนต้องใช้งบประมาณจํานวนมาก เมื่อปี พ.ศ. 2554 เทศบาล เมืองพระนครศรีอยุธยาจึงตกลงทําสัญญาเช่ารถกวาดดูดฝุ่น จํานวน 5 คัน จากบริษัท อินเตอร์คลีนนิ่ง จํากัด โดยบริษัทฯ ต้องส่งมอบรถกวาดดูดฝุ่นให้เทศบาลเดือนละ 1 สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 1 ปี (12 ครั้ง) โดยเทศบาลฯ ให้พนักงานของเทศบาลเป็นผู้ขับรถและควบคุมการทํางานเอง ปรากฏว่าช่วง เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2554 เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ถนนหลายสายในตัวเมือง บางเส้นทางห้ามรถวิ่ง และทําให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามสัญญา ดังนี้ ให้ท่าน วินิจฉัยว่าสัญญาระหว่างเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา กับบริษัท อินเตอร์คลีนนิ่ง จํากัด เป็นสัญญาที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ (สัญญาทางปกครอง) หรือไม่ หรือเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ตามกฎหมายเอกชน
ธงคําตอบ
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ให้คํานิยามของ “สัญญา ทางปกครอง” ไว้ในมาตรา 3 คือ
“สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น หน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทํา บริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ”
จากนิยามตามหลักกฎหมายดังกล่าวที่ใช้คําว่า “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง นั้น ทําให้ตีความว่าสัญญาทางปกครองมี 2 ประเภท คือ
1 สัญญาทางปกครองโดยสภาพ เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้สร้างหลักเกณฑ์ของสัญญา ทางปกครองขึ้นมาคล้ายกับในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส กล่าวคือ เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคล
ซึ่งกระทําการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดําเนินการหรือเข้าร่วมดําเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกําหนดในสัญญา ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้อํานาจทาง ปกครอง หรือการดําเนินกิจการทางปกครองหรือบริการสาธารณะบรรลุผล
2 สัญญาทางปกครองตามที่กําหนดในมาตรา 3 ซึ่งต้องพิจารณาจากองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่
1) เป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือ เป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ
2) สัญญานั้นต้องเป็นสัญญาที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) สัญญาสัมปทาน หมายถึง สัญญาที่ให้เอกชนจัดทําบริการสาธารณะ โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง และจะต้องรับเสี่ยงภัยจากการขาดทุนเอง เช่น สัมปทานรถไฟฟ้า BTS หรือสัมปทาน ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น
(ข) สัญญาที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ หมายถึง สัญญาที่ทําขึ้นเพื่อคุ้มครอง หรือเพื่อส่งเสริมความต้องการของประชาชนในลักษณะที่เป็นการบริการ เช่น สัญญาที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้างเอกชนมาแก้ปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง สัญญาที่ทางราชการจ้างเอกชนให้ทําความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ หรือสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองจ้างเอกชนให้จัดเก็บและกําจัดขยะมูลฝอย เป็นต้น
(ค) สัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หมายถึง สัญญาที่จัดให้มีทรัพย์สินที่ เป็นถาวรวัตถุเพื่อที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยตรง เช่น สัญญาจ้างเอกชนให้ก่อสร้างโรงพยาบาล หรือโรงเรียน สะพาน ถนน เขื่อน เป็นต้น
(ง) สัญญาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สัญญาที่เกี่ยวกับ การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติระหว่างรัฐกับเอกชน เช่น สัญญาการทําเหมืองแร่หรือให้ขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น
กรณีตามปัญหา การที่เทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ทํา สัญญาเช่ารถกวาดดูดฝุ่น กับบริษัท อินเตอร์คลีนนิ่ง จํากัด เพื่อนํามาใช้ในกิจการตามอํานาจหน้าที่ของเทศบาล ตามกฎหมายนั้น จะเห็นได้ว่าแม้สัญญาดังกล่าว จะเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงาน ทางปกครองและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเอกชนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของสัญญาแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเพียง สัญญาเช่าทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น โดยบริษัทฯ มีหน้าที่เพียงส่งมอบรถกวาดดูดฝุ่นให้แก่เทศบาลฯ มิได้เป็นสัญญา ที่ให้บริษัทฯ ในฐานะคู่สัญญาไปจัดทําบริการสาธารณะ คือไปดําเนินการรักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลให้แก่ประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญา ที่ให้จัดทําบริการสาธารณะหรือสัญญาทางปกครอง เป็นเพียงสัญญาเช่าทรัพย์ตามกฎหมายเอกชน หรือสัญญา ทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น
สรุป
สัญญาระหว่างเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยากับบริษัท อินเตอร์คลีนนิ่ง จํากัด เป็น เพียงสัญญาเช่าทรัพย์ตามกฎหมายเอกชน มิใช่สัญญาทางปกครอง