การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3016 กฎหมายปกครอง (สําหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงนํากฎหมายปกครองและหลักการของกฎหมายปกครองไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามพ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบให้ครบถ้วนชัดเจน

ธงคําตอบ

“กฎหมายปกครอง” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงาน ทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอํานาจและหน้าที่ในทางปกครองนั้น ได้แก่ อํานาจหน้าที่ในการจัดทําบริการ สาธารณะซึ่งเป็นกิจกรรมของฝ่ายปกครอง รวมทั้งการใช้อํานาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในการออกกฎ ออกคําสั่ง ทางปกครอง การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ และการทําสัญญาทางปกครอง

1 การใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ เช่น การออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป เป็นต้น

2 การใช้อํานาจทางปกครองในการออกคําสั่งทางปกครอง เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การรับรอง การรับจดทะเบียน เป็นต้น

3 การกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การดับเพลิง การรื้อถอนอาคาร การรังวัดที่ดิน การวางท่อระบายน้ํา การซ่อมถนน หรือการซ่อมสะพาน เป็นต้น

4 การทําสัญญาทางปกครอง เช่น การที่หน่วยงานทางปกครองได้ทําสัญญากับเอกชน โดยให้เอกชนจัดทําสิ่งสาธารณูปโภค อาทิเช่น การทําสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน หรือถนน เป็นต้น

การบริหารราชการแผ่นดินของไทยตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1 ราชการบริหารส่วนกลาง หมายความถึง ราชการที่ฝ่ายปกครองจัดทําเพื่อประโยชน์ ส่วนรวมของประชาชนทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ เช่น การรักษาความสงบภายใน การป้องกันประเทศ การคมนาคม การคลัง เป็นต้น อยากเป็นในการประสานงาน องค์การที่จัดทําราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนกลาง และมีอํานาจหน้าที่จัดทําราชการในอํานาจหน้าที่ของตนตลอดทั้งประเทศ

2 ราชการบริหารส่วนภูมิภาค หมายความถึง ราชการของกระทรวง ทบวง กรม อันเป็น องค์กรของราชการบริหารส่วนกลางที่ได้แบ่งแยกออกไปจัดทําตามเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อสนอง ความต้องการส่วนรวมของประชาชนในเขตการปกครองนั้น ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง ซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ออกไปประจําตามเขตการปกครองนั้น ๆ เพื่อบริหารราชการภายใต้การ บังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง ซึ่งราชการบริหารส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัด และ อําเภอ รวมตลอดถึงตําบลและหมู่บ้าน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าในส่วนภูมิภาค

3 ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หมายความถึง ราชการบางอย่างที่รัฐมอบหมายให้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดทําเอง เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนเฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง ซึ่งตามหลักไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

การบริหารราชการแผ่นดินของไทยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม และการใช้อํานาจ ทางปกครองตามที่กฎหมายกําหนด ไม่ว่าจะเป็นการใช้อํานาจทางปกครองเพื่อการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําอื่นใดในทางปกครอง เช่น ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้บัญญัติให้อํานาจ แก่นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้กํากับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน หรือปลัดกระทรวง มีอํานาจในการออกกฏ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําอื่นใดในทางปกครองได้

ซึ่งในการใช้อํานาจปกครองตามกฎหมายปกครองของเจ้าหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายในการบริหารบ้านเมืองที่ดีนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องใช้อํานาจตามหลักการ ของกฎหมายปกครองด้วย ซึ่งการใช้อํานาจตามหลักการของกฎหมายปกครองนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น

1 หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ จะใช้อํานาจได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ อํานาจไว้ด้วย เพราะถ้าเป็นการใช้อํานาจโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อํานาจนอกเหนือจากที่กฎหมาย บัญญัติให้อํานาจไว้ ก็จะเป็นการใช้อํานาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2 หลักประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือ การใช้อํานาจนั้นจะต้องกระทําเพื่อประโยชน์แก่ ประชาชนส่วนรวม มิใช่กระทําเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

3 หลักความซื่อสัตย์สุจริต กล่าวคือ การใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องกระทําด้วย ความเหมาะสมและตามสมควร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

4 หลักความเป็นธรรม กล่าวคือ การใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่นั้นจะต้องกระทําต่อบุคคล ทุกคนโดยยึดหลักว่าบุคคลทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และมีความเสมอภาคกัน และต้องเป็นการกระทําเพียงเพื่อให้ บรรลุตามเป้าประสงค์ของกฎหมายเท่านั้น รวมทั้งจะต้องไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนจนเกินควร

 

ข้อ 2. พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า มาตรา 4 การเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว ผู้เช่าเเละผู้ให้เช่าอาจตกลงกันต่อระยะเวลาการเช่า ออกไปอีกได้มีกําหนดไม่เกินห้าสิบปีนับแต่วันที่ตกลงกันและต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 6 สิทธิการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้ให้สามารถนําไปใช้เป็นหลักประกันการชําระหนี้โดยการจํานองได้และให้นําบทบัญญัติเกี่ยวกับการจํานองอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 7 สิทธิและหน้าที่ตามการเข่าให้ตกทอดแก่ทายาทได้ และผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิการเช่าไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้ เว้นแต่จะกําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่า

มาตรา 8 การแก้ไขรายการที่จดทะเบียนการเช่า การให้เช่าช่วง การนําสิทธิการเช่าเป็นหลักประกันการชําระหนี้ การโอนสิทธิการเช่าหรือการตกทอดทางมรดกต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกมิได้

มาตรา 9 ให้นําบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการเช่าทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 10 ให้นําบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดินในหมวด 4 การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินและหมวด 6 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาใช้บังคับแก่การสอบสวน การจดทะเบียน และการเพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม

ให้ผู้ยื่นคําขอชําระค่าธรรมเนียมตามที่กําหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินโดยอนุโลม มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

จงอธิบายว่า วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหมายความว่าอย่างไร และในมาตราใดและเรื่องใดในแต่ละมาตรานั้นที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการปกครอง

ธงคําตอบ

“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการของ เจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฎและรวมถึงการดําเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5)

จากความหมายของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การดําเนินการของ เจ้าหน้าที่ที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองนั้น จะต้องเป็นกรณีการเตรียมการและ การดําเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคําสั่งทางปกครองหรือกฎ

ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง

“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใด เป็นการเฉพาะ

ดังนั้นบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ตามปัญหา มาตราและเรื่องต่าง ๆ ที่จะต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ได้แก่

1 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “การเช่า ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่” ซึ่งเมื่อมีการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การรับจดทะเบียนของเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

2 มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “ โดยการจํานอง.” ซึ่งการจํานองนั้นจะต้องทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อมีการรับจดทะเบียน การรับจดทะเบียนถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

3 มาตรา 8 ที่บัญญัติว่า “การแก้ไขรายการที่จดทะเบียนการเช่า” ซึ่งการแก้ไขรายการ ที่จดทะเบียนเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

4 มาตรา 10 ที่บัญญัติว่า “การออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การจดทะเบียน การเพิกถอนการจดทะเบียน…” ซึ่งการกระทําดังกล่าวถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง ดังนั้นจึงต้องมีการดําเนินการ ตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

5 มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย…มีอํานาจออกกฎ กระทรวง” การออกกฎกระทรวงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้นถือว่าเป็นกฎ ดังนั้นจึงต้องมีการ ดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ส่วนมาตรา 7 และมาตรา 9 ไม่ได้เป็นเรื่องของการเตรียมการและการดําเนินการของเจ้าหน้าที่ ในการจัดให้มีคําสั่งทางปกครอง หรือกฏ จึงไม่ต้องดําเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองแต่อย่างใด

 

ข้อ 3. จงอธิบายหลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการกระจายอํานาจปกครองมีสาระสําคัญเรื่องใดบ้าง และหากราชการบริหารส่วนกลาง (องค์กรกํากับดูแล) ใช้อํานาจกํากับดูแล ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น (องค์กรภายใต้กํากับดูแล) จะสามารถ ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของอํานาจกํากับดูแลอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักการกระจายอํานาจปกครอง เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ โดยวิธีการที่รัฐ จะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรทางปกครองอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของราชการบริหารส่วนกลาง เพื่อไปจัดทํา บริการสาธารณะบางอย่าง โดยมีความเป็นอิสระ เช่น การมอบอํานาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปดูแลและ จัดทําบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งองค์กรทางปกครองนั้นไม่ต้องขึ้นอยู่ใน ความบังคับบัญชาของส่วนกลางเพียงแต่ขึ้นอยู่ในความกํากับดูแลเท่านั้น

สําหรับหลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทําบริการสาธารณะนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 283 คือย่อมมีความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบายการบริหาร การจัดทําบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอํานาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ ตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ และมาตรา 282 ได้กําหนดให้องค์กรปกครองอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของราชการ บริหารส่วนกลาง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกํากับดูแล (ราชการบริหารส่วนกลาง) กับองค์กรภายใต้กํากับดูแล (ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น) ให้เป็นไปตามหลักการกํากับดูแล กล่าวคือ จะต้องกํากับดูแลเท่าที่จําเป็น สอดคล้อง และเหมาะสมกับรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และต้องเป็นไปเพื่อการ คุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม และจะกระทบถึงสาระสําคัญ แห่งหลักการปกครองตนเอง หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้

และหากราชการบริหารส่วนกลาง (องค์กรกํากับดูแล) ใช้อํานาจกํากับดูแลไม่เป็นไปตามที่ กฎหมายบัญญัติไว้ ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น (องค์กรภายใต้กํากับดูแล) สามารถฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ ศาลปกครองตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของอํานาจกํากับดูแลได้

 

ข้อ 4. นายพุธเป็นข้าราชการพลเรือนได้ปฏิบัติราชการอันเป็นการกระทําการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป ถือว่าเป็นการกระทําผิดวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะต้องดําเนินการทางวินัยกับนายพุธ ปรากฏว่ากฎหมายข้าราชการพลเรือนบัญญัติว่า กรณีข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทําผิดวินัย อย่างไม่ร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือนตามควรแก่กรณี ให้เหมาะสมกับความผิด ในกรณีมีเหตุอันควรลดหย่อน จะนํามาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่สําหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทําผิดวินัยเล็กน้อย ในกรณีกระทําผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยให้ทําทัณฑ์บน เป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ ผู้บังคับบัญชาของนายพุธเห็นว่านายพุธเป็นคนขยันขันแข็ง ไม่เกี่ยงงาน และตนเองมักใช้เพื่อทําธุระส่วนตัวเป็นประจําเสมอ ผู้บังคับบัญชาจึงเห็นว่าการกระทํา ของนายพุธเป็นกระทําผิดวินัยเล็กน้อย และอาศัยอํานาจตามมาตรา 57 ออกคําสั่งงดโทษโดยว่ากล่าว ตักเตือนเท่านั้น ดังนี้ ท่านคิดว่าคําสั่งฯ ดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่า จะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับ จดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

(2) การอื่นที่กําหนดในกฎกระทรวง กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองตาม (1) นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ

1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่

2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย

3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา การที่นายพุธข้าราชการพลเรือนได้กระทําผิดวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งผู้บังคับบัญชา ได้อาศัยอํานาจตามกฎหมายข้าราชการพลเรือน ออกคําสั่งงดโทษโดยว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น เพราะเห็นว่านายพุธ กระทําผิดวินัยเล็กน้อยนั้น คําสั่งดังกล่าวถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง เพราะเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่มีลักษณะ เป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายปกครอง และมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของนายพุธ และคําสั่ง ให้งดโทษโดยว่ากล่าวตักเตือนดังกล่าวนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยแท้ของฝ่ายปกครอง อีกทั้งเป็นการปิดกระบวนการ พิจารณาทางปกครองเกี่ยวกับวินัยของข้าราชการด้วย

สรุป

คําสั่งงดโทษโดยว่ากล่าวตักเตือนดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครอง

Advertisement