การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. สัญญาจ้างก่อสร้างระบุว่าจันทร์ผู้ว่าจ้างจะต้องจัดการขนย้ายอุปสรรคการก่อสร้าง เรื่องเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปา ตลอดจนการที่มีอาการของผู้อื่นบางส่วนกีดขวางอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่สําหรับการก่อสร้างภายในกําหนดวันที่ 20 มกราคม 2560 ให้แก่อังคาร (ผู้รับจ้าง) และอังคารผู้รับจ้างจะเข้าทําการก่อสร้างตามสัญญาทันที ปรากฏว่าจันทร์ ละเลยไม่ดําเนินการย้ายอุปสรรคการก่อสร้างต่าง ๆ จนสิ้นสุดวันที่ 20 มกราคม 2560 ไม่มีการส่งมอบ พื้นที่สําหรับการก่อสร้างให้แก่อังคาร ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 209 “ถ้าได้กําหนดเวลาไว้เป็นแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทําการอันใด ท่านว่าที่จะ ขอปฏิบัติการชําระหนี้นั้นจะต้องทําก็แต่เมื่อเจ้าหนี้ทําการอันนั้นภายในเวลากําหนด

วินิจฉัย

ตามมาตรา 209 มีหลักว่า ถ้าได้กําหนดเวลาไว้เป็นการแน่นอนเพื่อให้เจ้าหนี้กระทําการใด หากเจ้าหนี้มิได้กระทําการอันนั้นภายในเวลาที่ได้กําหนดไว้ ลูกหนี้ก็ไม่จําเป็นต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้ และถือว่า เจ้าหนี้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวก่อน ทั้งจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในการไม่ชําระหนี้หรือขอปฏิบัติการ ชําระหนี้หาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างจันทร์และอังคารระบุว่า จันทร์ผู้ว่าจ้าง จะต้องจัดการขนย้ายอุปสรรคการก่อสร้าง เรื่องเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปา ตลอดจนการที่มีอาการของผู้อื่น บางส่วนกีดขวางอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่สําหรับการก่อสร้างภายใน กําหนดวันที่ 20 มกราคม 2560 ให้แก่อังคารผู้รับจ้าง และอังคารผู้รับจ้างจะเข้าทําการก่อสร้างตามสัญญาทันทีนั้น ถือเป็นเรื่องการชําระหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชําระหนี้ โดยมีการตกลง กําหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการไว้เป็นที่แน่นอน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจันทร์ละเลยไม่ดําเนินการย้ายอุปสรรค การก่อสร้างต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นและส่งมอบพื้นที่สําหรับการก่อสร้างภายในกําหนดวันที่ 20 มกราคม 2560 ให้แก่ อังคาร ย่อมถือว่าจันทร์เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีเมื่อพ้นกําหนดเวลานั้นตามมาตรา 209 โดยที่อังคารลูกหนี้ หาจําต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้แต่ประการใดไม่

สรุป

จันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 2. นายเอกต้องการซื้อรถยนต์ยี่ห้อเอแอนด์บี 1 คัน จากบริษัท ถนอม มอเตอร์ จํากัด ซึ่งขายรถยนต์ใช้แล้ว นายเอกจึงจองรถไว้หนึ่งคันตามรุ่นและสีที่ต้องการ พร้อมทั้งกําชับขอให้เลือกคันที่หมายเลข ทะเบียนรถสวยให้ด้วย แล้วนายเอกแจ้งให้บริษัทจัดส่งรถไปให้ที่บ้านของนายเอกเนื่องจากนายเอก ยังขับรถไม่ชํานาญ นายเอกชําระราคาแล้วกลับไปรอที่บ้านของตน นายถนอมกรรมการผู้มีอํานาจ ของบริษัทจึงเลือกรถยี่ห้อดังกล่าวคันหนึ่งในรุ่นและสีตามที่นายเอกต้องการและมีหมายเลขทะเบียน กศ 123 กทม. นํามาจัดเตรียมเพื่อส่งมอบ จากนั้นนายถนอมมอบหมายให้นายโทนลูกจ้างของบริษัท ขับรถคันดังกล่าวไปส่งมอบให้นายเอกที่บ้าน ระหว่างทางนายโทนขับรถคันนี้ด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถชนแท่งปูนและพลิกคว่า รถได้รับความเสียหายสิ้นเชิง ดังนี้ นายเอกจะเรียกร้องให้ บริษัทดังกล่าวรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 195 “เมื่อทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นได้ระบุไว้แต่เพียงเป็นประเภท และถ้าตาม สภาพแห่งนิติกรรม หรือตามเจตนาของคู่กรณีไม่อาจจะกําหนดได้ว่าทรัพย์นั้นจะพึงเป็นชนิดอย่างไรไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้จะต้องส่งมอบทรัพย์ชนิดปานกลาง

ถ้าลูกหนี้ได้กระทําการอันตนจะพึงต้องทําเพื่อส่งมอบทรัพย์สิ่งนั้นทุกประการแล้วก็ดี หรือ ถ้าลูกหนี้ได้เลือกกําหนดทรัพย์ที่จะส่งมอบแล้วด้วยความยินยอมของเจ้าหนี้ก็ดี ท่านว่าทรัพย์นั้นจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้ จําเดิมแต่เวลานั้นไป”

มาตรา 218 “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทําได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่ง ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิด แต่การไม่ชําระหนี้นั้น

กรณีที่การชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทําได้นั้น จะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชําระหนี้ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทําได้นั้นแล้ว และเรียก ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชําระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้”

มาตรา 220 “ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนกับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ ในการชําระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกับว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 373 หาใช้บังคับ แก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่”

มาตรา 324 “เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชําระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านราต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชําระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่า ต้องชําระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลําเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกตกลงซื้อรถยนต์กับบริษัท ถนอม มอเตอร์ จํากัดนั้น แม้ ในขณะที่นายเอกได้ตกลงซื้อนายเอกได้ระบุแต่เพียงรุ่นและสีกับความต้องการพิเศษเกี่ยวกับหมายเลขทะเบียนรถ ก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อบริษัทได้เลือกรถยนต์ยี่ห้อเอแอนด์บี คันหมายเลขทะเบียน กศ 123 กทม. ในรุ่นและสีตามที่ นายเอกต้องการแล้ว รถคันดังกล่าวจึงเป็นวัตถุแห่งหนี้สําหรับการส่งมอบเพื่อชําระหนี้ตามมาตรา 195 วรรคสอง

ซึ่งตามปกติลูกหนี้ผู้ขายรถยนต์ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติการชําระหนี้นั้นด้วยตนเอง และสถานที่ส่งมอบโดยหลักแล้วคือ สถานที่ที่รถยนต์คันนี้ได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั่นเอง แต่เมื่อกรณีนี้ปรากฏว่าบริษัทฯ กับนายเอกได้แสดงเจตนา ให้ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวของนายเอกเจ้าหนี้ ดังนั้น บริษัทจึงต้องส่งมอบรถยนต์คันนี้เรียก นายเอก ณ ภูมิลําเนาของนายเอกตามมาตรา 324

ในการส่งมอบรถยนต์คันนี้ให้แก่นายเอกนั้น บริษัทฯ มิได้ดําเนินการเอง แต่ได้มอบหมายให้ นายโทนลูกจ้างของบริษัทฯ เป็นผู้ขับไปส่งมอบ ณ ภูมิลําเนาของนายเอก การที่นายโทนขับรถยนต์คันนี้ไปชน แท่งปูนและพลิกคว่ำ ทําให้รถได้รับความเสียหายสิ้นเชิงนั้น ถือเป็นกรณีที่ทําให้การชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย และแม้เหตุดังกล่าวจะเกิดจากการกระทําโดยประมาทเลินเล่อของนายโทน แต่กรณีนี้ถือได้ว่านายโทนเป็นตัวแทน ในการชําระหนี้ของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชอบในความผิดของนายโทนเสมอกับว่าเป็นความผิดของ ตนเอง ตามมาตรา 220 บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอกตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 220 ดังนั้น นายเอกจึงสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทฯ ได้

สรุป

นายเอกสามารถเรียกร้องให้บริษัท ถนอม มอเตอร์ จํากัด รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนได้

 

ข้อ 3. บริษัทกิ่งแก้วฯ (จําเลยที่ 1) ฝากสินค้าไว้ในโกดังของจําเลยที่ 2 (ผู้รับฝาก) สินค้าดังกล่าวมีประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย (โจทก์) เกิดไฟไหม้โกดังสินค้าเสียหาย จําเลยที่ 1 (ผู้ฝาก) ยอมรับเงินจากจําเลยที่ 2 (ผู้รับฝาก) และขอสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ทั้งทางแพ่ง และทางอาญาเพราะไฟไหม้เป็นเหตุสุดวิสัย (ไฟฟ้าลัดวงจร) บริษัท อาคเณย์ประกันภัยซึ่งได้ ชําระค่าสินไหมทดแทนให้จําเลยที่ 1 ไป 4,903,284.28 บาท จะรับช่วงสิทธิจากจําเลยที่ 1 มาฟ้อง เรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่ เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ยอมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

มาตรา 850 “อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน”

มาตรา 852 “ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทําให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่าย ได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทําให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทกิ่งแก้วฯ (จําเลยที่ 1) ฝากสินค้าไว้ในโกดังของจําเลยที่ 2 (ผู้รับฝาก) สินค้าดังกล่าวมีประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย และเมื่อเกิดไฟไหม้โกดังทําให้สินค้า ดังกล่าวเสียหาย จําเลยที่ 1 (ผู้ฝาก) ยอมรับเงินจากจําเลยที่ 2 (ผู้รับฝาก) และขอสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจําเลยที่ 2 นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่จําเลยที่ 1 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความ กับจําเลยที่ 2 ซึ่งจําเลยที่ 1 มีสิทธิทําได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท อาคเนย์ประกันภัย ผู้รับประกันภัย และมีผลทําให้การเรียกร้องค่าเสียหายของจําเลยที่ 1 ที่มีต่อจําเลยที่ 2 ระงับสิ้นไป กล่าวคือ จําเลยที่ 1 จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลยที่ 2 อีกไม่ได้ตามมาตรา 850 ประกอบมาตรา 852 ดังนั้น แม้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จะได้ชําระค่าสินไหมทดแทนให้จําเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไป 4,903,284.28 บาท ตามกรมธรรม์ ก็ตาม บริษัท อาคเนย์ประกันภัย ผู้รับประกันก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิของจําเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อมาฟ้อง เรียกค่าสินไหมทดแทนจากจําเลยที่ 2 ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 227 ได้

สรุป

บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จะรับช่วงสิทธิจากจําเลยที่ 1 มาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน จากจําเลยที่ 2 ไม่ได้

 

ข้อ 4. ทรายเป็นเจ้าของคอนโดหรูใจกลางเมือง กําลังจะร่วมเปิดธุรกิจร้านอาหารกับทะเล ต้องการระดมทุนจํานวนมาก จึงไปขอกู้ยืมเงินจากภูผาซึ่งเป็นผู้เช่าคนหนึ่งของคอนโดจํานวน 200,000 บาท ต่อมา เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระภูผาได้ทวงให้ทรายชําระหนี้ ทรายซึ่งกําลังทําบัญชีของคอนโดอยู่นั้นเห็นว่า ภูผาติดค้างค่าเช่าคอนโดอยู่จํานวน 100,000 บาท ซึ่งถึงกําหนดต้องชําระแล้ว จึงบอกกล่าวด้วยวาจา ว่าขอหักหนี้กันไป อย่ามาทวงถามอีก ภูผาไม่พอใจจึงฟ้องให้ทะเลชําระหนี้เต็มจํานวน 200,000 บาท ให้วินิจฉัยว่าทะเลต้องใช้หนี้ให้แก่ภูผาหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้ สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคง ต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

มาตรา 292 “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชําระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทําแทนชําระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชําระหนี้ และ หักกลบลบหนี้ด้วย

ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องอย่างไร ลูกหนี้คนอื่น ๆ จะเอาสิทธิอันนั้นไปใช้หักกลบลบหนี้ หาได้ไม่”

มาตรา 341 “ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่าง เดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกําหนดจะชําระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตน ด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจํานวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทรายและทะเลได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากภูผาจํานวน 200,000 บาทนั้น ย่อมถือว่าทรายและทะเลเป็นลูกหนี้ร่วมของภูผา โดยลูกหนี้ร่วมแต่ละคนจะต้องร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้ในการชําระหนี้ จนสิ้นเชิง และเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งชําระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่ จะเลือกตามมาตรา 291

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทรายเป็นเจ้าหนี้ในเงินค่าเช่าที่ภูผาติดค้างอยู่ 100,000 บาท และเป็นลูกหนี้ในเงินกู้ยืมจากภูผา จึงเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกัน โดยมีทรัพย์ซึ่งเป็นวัตถุ แห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นได้ถึงกําหนดชําระแล้ว ดังนี้เมื่อทรายได้แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ ด้วยวาจาฝ่ายเดียว การหักกลบลบหนี้ดังกล่าวย่อมเป็นผลสําเร็จ โดยไม่จําต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน และจะมีผลให้หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปในจํานวนที่ตรงกัน คือ จํานวน 100,000 บาท ตามมาตรา 341

และเมื่อทรายลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งขอหักกลบลบหนี้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ คือ ทะเลด้วย ดังนั้น หนี้ระหว่างทะเลกับภูผาจึงระงับสิ้นไปเท่ากับจํานวน 100,000 บาทด้วยตามมาตรา 292 จึงคงเหลือ หนี้ที่ต้องผูกพันอีกเพียง 100,000 บาทเท่านั้น ซึ่งภูผาเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ทะเลลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งเพียงคนเดียว ชําระหนี้จนสิ้นเชิงได้ตามมาตรา 291 ดังนั้น เมื่อภูผาฟ้องให้ทะเลชําระหนี้ ทะเลจึงต้องใช้หนี้ให้แก่ภูผาในจํานวน เพียง 100,000 บาท

สรุป

ทะเลต้องใช้หนี้ให้แก่ภูผาจํานวน 100,000 บาท

Advertisement