การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นางสาวเกดอายุ 18 ปี ได้รับเงินจากนายชัดซึ่งเป็นคุณปู่ของนางสาวเกดจํานวน 20,000 บาท โดยที่นางแก้วมารดาของนางสาวเกดไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใด ต่อมานางสาวเกดได้นําเงินทั้งหมดไป ซื้อกระเป๋าสะพายยี่ห้อดังตามลําพังโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางแก้ว นางแก้วมาทราบเรื่อง ทั้งหมดภายหลัง ดังนี้ นางแก้วจะบอกล้างนิติกรรมการรับเงิน และซื้อกระเป๋าสะพายของนางสาวเกดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการทํานิติกรรมของผู้เยาว์ไว้ดังนี้
1 ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน นิติกรรม ใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทําลงโดยปราศจากความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆยะ (มาตรา 21)
2 ผู้เยาว์อาจทํานิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นนิติกรรมเพียงเพื่อที่ผู้เยาว์จะได้ไปซึ่งสิทธิ อันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง (มาตรา 22)
3 ผู้เยาว์อาจทํานิติกรรมใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ถ้าเป็นนิติกรรมที่เป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจําเป็นในการดํารงชีพตามสมควร (มาตรา 24)
กรณีตามปัญหา แยกพิจารณาได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1
การที่นายชัดซึ่งเป็นคุณปู่ของนางสาวเกดผู้เยาว์ได้ให้เงินจํานวน 20,000 บาท แก่นางสาวเกด โดยที่นางแก้วซึ่งเป็นมารดาของนางสาวเกดและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวเกดไม่ได้รู้เห็น และให้ความยินยอมในการรับเงินของนางสาวเกดแต่อย่างใดนั้น กรณีนี้ถือว่านิติกรรมการรับเงินของนางสาวเกด มีผลสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เพราะเป็นนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง ซึ่งถือว่า เป็นนิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 22 คือเป็นนิติกรรมที่นางสาวเกด ผู้เยาว์สามารถทําได้โดยลําพังตนเองและจะมีผลสมบูรณ์ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนางแก้วผู้แทนโดย ชอบธรรม และเมื่อนิติกรรมการรับเงินของนางสาวเกดมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ ดังนั้นนางแก้วจะบอกล้าง นิติกรรมการรับเงินของนางสาวเกดไม่ได้
ประเด็นที่ 2
การที่นางสาวเกดผู้เยาว์ได้นําเงินจํานวน 20,000 บาท ที่ได้รับจากนายชัด ไปซื้อกระเป๋าสะพายยี่ห้อดังตามลําพังโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางแก้วผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น นิติกรรม การซื้อกระเป๋าสะพายของนางสาวเกดย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เพราะเป็นนิติกรรมที่นางสาวเกดผู้เยาว์ ได้ทําลงโดยปราศจากความยินยอมของนางแก้วผู้แทนโดยชอบธรรม และการซื้อกระเป๋าสะพายดังกล่าวไม่ใช่นิติกรรม ที่เป็นการสมแก่ฐานานุรูปและเป็นการอันจําเป็นในการดํารงชีพตามสมควรของผู้เยาว์ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม มาตรา 24 ที่ผู้เยาว์จะสามารถทําได้โดยลําพังตนเองได้ และเมื่อนิติกรรมการซื้อกระเป๋าสะพายดังกล่าวตกเป็นโมฆียะ ดังนั้นนางแก้วจึงสามารถบอกล้างนิติกรรมนี้ได้
สรุป
นางแก้วจะบอกล้างนิติกรรมการรับเงินของนางสาวเกดไม่ได้ แต่สามารถบอกล้างนิติกรรม การซื้อกระเป๋าสะพายของนางสาวเกดได้
ข้อ 2. นายเมฆต้องการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายหมอก ซึ่งมีเนื้อที่ 10 ไร่ ตกลงราคากัน 5 ล้านบาท พอถึงวันนัดทําสัญญากัน นายเมฆทําสัญญาเช่าที่ดินจากนายหมอก โดยที่นายเมฆเข้าใจว่า สัญญาเช่าที่ดินนี้ คือสัญญาซื้อขาย ดังนี้ สัญญาเช่าที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาอย่างไร และมีผลในทางกฎหมาย อย่างไร
ธงคําตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 156 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดใน ลักษณะของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สินซึ่ง เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”
ตามปัญหา การที่นายเมฆต้องการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายหมอก ซึ่งมีเนื้อที่ 10 ไร่ ราคา 5 ล้านบาท และเมื่อถึงวันนัดทําสัญญากัน นายเมฆได้ทําสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากนายหมอก โดยที่นายเมฆ เข้าใจว่า สัญญาเช่าที่ดินนี้คือสัญญาซื้อขายนั้น ถือว่านายเมฆได้แสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม กล่าวคือ นายเมฆต้องการแสดงเจตนาทํานิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่ได้แสดงเจตนาทํานิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นนิติกรรมที่ตนประสงค์จะทําและเมื่อการแสดงเจตนาเพราะสําคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม ดังนั้น การแสดงเจตนา ทําสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156
สรุป
สัญญาเช่าที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาเพราะสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่ง นิติกรรม และมีผลเป็นโมฆะ
ข้อ 3. นายเอกต้องการซื้อดินจากนายโทเพื่อนําไปถมที่ดินของตนจํานวน 20 คันรถ ตกลงราคากัน 20,000 บาท โดยนายเอกตกลงกับนายโทว่าจะไม่ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้ สัญญาซื้อขายดินระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด และมีผลในทาง กฎหมายอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคหนึ่ง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”
วินิจฉัย
ตามปัญหา การที่นายเอกได้ตกลงซื้อดินจากนายโทเพื่อนําไปถมที่ดินของตนจํานวน 20 คันรถ โดยตกลงราคา 20,000 บาทนั้น การตกลงซื้อดินดังกล่าวถือว่าเป็นการตกลงซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ และเมื่อทั้งสองได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขาย เสร็จเด็ดขาด
เมื่อเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันเป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ ธรรมดา ดังนั้นแม้ทั้งสองจะได้ตกลงกันว่าจะไม่ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขาย ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดานั้น กฎหมายมิได้กําหนดแบบของการทําสัญญาไว้แต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาซื้อขายดินระหว่างนายเอกและนายโท จึงไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง
สรุป สัญญาซื้อขายดินดังกล่าวระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ข้อ 4. ให้ตอบคําถามทั้งข้อ ก. และข้อ ข. โดยให้อธิบายหลักกฎหมาย
ก. ตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือจําเป็นหรือไม่ที่ผู้โอนตัวต้องเซ็นสลักหลังโอนตั๋ว เพราะเหตุใด ข. เช็คที่ผู้ทรงเซ็คยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน ธนาคารจะต้องจ่ายเงินให้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าเงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายมีไม่พอตามมูลค่าเช็คที่ยื่น
ธงคําตอบ
ก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับวิธีการโอนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือไว้ ดังนี้ คือ
1 ตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบตั๋วนั้นให้แก่กัน (มาตรา 918)
2 การสลักหลังตัวแลกเงินชนิดผู้ถือ ให้ถือว่าเป็นเพียงการอาวัล (รับประกัน) ผู้สั่งจ่าย(มาตรา 921)
ดังนั้น ในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือจึงไม่จําเป็นที่ผู้โอนตั๋วจะต้องเซ็นสลักหลังโอนตั๋ว เพราะ ตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้กําหนดไว้แล้วว่า ในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือนั้น การโอนย่อมสมบูรณ์ โดยการที่ผู้โอนเพียงแต่ส่งมอบตั๋วนั้นให้แก่ผู้รับโอนเท่านั้น ไม่ต้องมีการสลักหลังแต่อย่างใด ในกรณีที่มีการสลักหลัง กฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงการรับประกันหรือรับอาวัลผู้สั่งจ่ายเท่านั้น
ข. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการใช้เงินตามเช็คของธนาคาร ไว้ดังนี้ คือ
1 ธนาคารจําต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณี ที่ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 991 (1)
2 ถ้าธนาคารได้รับรองเช็คโดยเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่นคําว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคําใด ๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน ธนาคารต้องผูกพันในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงิน แก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น (ป.พ.พ. มาตรา 993 วรรคหนึ่ง)
โดยหลักแล้วธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค จะต้องจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น เมื่อ ผู้ทรงเช็คได้นําเช็คมายื่นเพื่อให้ธนาคารจ่ายเงิน แตธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่จ่ายเงินตาม เช็คนั้นก็ได้ ถ้าหากเงินในบัญชีของผู้ออกเช็คนั้นไม่มีหรือมีแต่ไม่พอที่จะจ่ายตามเช็คนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเช็คนั้น เป็นเช็คที่ธนาคารผู้จ่ายได้รับรองเช็คไว้แล้ว ธนาคารก็จะต้องผูกพันในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันที่จะต้องจ่ายเงิน ตามเช็คนั้น จะปฏิเสธไม่จ่ายเงินโดยอ้างว่าเงินในบัญชีของผู้ออกเช็คไม่มีหรือมีแต่ไม่พอจ่ายไม่ได้
สรุป
ก. ตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ ในการโอนผู้โอนไม่จําเป็นต้องเซ็นสลักหลังโอนตั๋ว
ข. เช็คที่ผู้ทรงเช็คยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน ถ้าปรากฏว่าเงินในบัญชีของผู้สั่งจ่ายมีไม่พอตามมูลค่าเช็ค ธนาคารจะจ่ายหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่ถ้าเป็นเช็คที่ธนาคารผู้จ่าย ได้รับรองไว้แล้ว ธนาคารก็จะต้องจ่ายเงินตามเช็คนั้น