การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. (ก) นายแดงรับราชการในหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ไม่ได้มาทํางานตามปกติเนื่องจากเดินทางไปร่วมงานอุปสมบทของน้องชายยังต่างจังหวัด 5 วัน ต่อมานายแดงจึงได้ทําการลาเนื่องจาก ติดภารกิจย้อนหลังซึ่งนายดําผู้บังคับบัญชามีคําสั่งไม่อนุญาตให้นายแดงทําการลาย้อนหลัง ดังกล่าว และเป็นเหตุให้นายแดงถูกตั้งกรรมการสอบสวนและถูกปลดออกจากราชการ ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าการไม่อนุญาตดังกล่าวของนายดําเป็นคําสั่งทางปกครองหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
(ข) นายขาวเป็นสมาชิกสภาเทศบาลแห่งหนึ่ง ต่อมากระทรวงมหาดไทยต้องการรับบุคคลเข้ารับราชการตําแหน่งปลัดอําเภอ นายขาวจึงมายื่นใบสมัครเข้าสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการ ดังกล่าว ขอให้ท่านวินิจฉัยว่านายขาวจะมีสิทธิสมัครสอบแข่งขันดังกล่าวได้หรือไม่ และถ้า นายขาวสอบแข่งขันได้ กระทรวงมหาดไทยจะบรรจุนายขาวให้ดํารงตําแหน่งปลัดอําเภอได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
(ก) หลักกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้ “คําสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
(1) การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และ การรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”
วินิจฉัย
กรณีที่จะเป็นคําสั่งทางปกครองโดยนัยของมาตรา 5 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทาง ปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ คือ
1 ต้องเป็นคําสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่
2 ต้องมีลักษณะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย
3 ต้องมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล
4 ต้องก่อให้เกิดผลเฉพาะกรณีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
5 ต้องมีผลโดยตรงไปสู่ภายนอกฝ่ายปกครอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงซึ่งรับราชการในหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้มาทํางานตามปกติ เนื่องจากเดินทางไปร่วมงานอุปสมบทของน้องชายยังต่างจังหวัด 5 วัน และต่อมานายแดงได้ทําการลาเนื่องจาก ติดภารกิจย้อนหลัง แต่นายดําผู้บังคับบัญชามีคําสั่งไม่อนุญาตให้นายแดงทําการลาย้อนหลังและเป็นเหตุให้นายแดง ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและถูกปลดออกจากราชการนั้น คําสั่งของนายดําที่ไม่อนุญาตให้นายแดงทําการลากิจ ย้อนหลังดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง เนื่องจากการไม่อนุญาตดังกล่าวเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย ของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล และมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของบุคคล ตามนัยของคําว่าคําสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รายงานสรุป การไม่อนุญาตดังกล่าวของนายดําเป็นคําสั่งทางปกครอง
(ข) หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
มาตรา 36 ข. (1) “ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
ข. ลักษณะต้องห้าม (1) เป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง”
มาตรา 54 “ผู้สมัครสอบแข่งขันในตําแหน่งใดต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตําแหน่งหรือได้รับอนุมัติจาก ก.พ. ตามมาตรา 62
สําหรับผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (1) ให้มีสิทธิสมัครสอบแข่งขันได้ แต่จะมีสิทธิ ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญที่สอบแข่งขันได้ต่อเมื่อพ้นจากการเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองแล้ว”
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวเป็นสมาชิกสภาเทศบาลแห่งหนึ่งนั้น ถือว่านายขาวเป็น ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามในการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 36 ข. (1) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงมหาดไทยต้องการรับบุคคลเข้ารับราชการตําแหน่งปลัดอําเภอ นายขาว มีสิทธิที่จะสมัครสอบแข่งขันเป็นปลัดอําเภอได้ แต่ถ้านายขาวสอบแข่งขันได้ กระทรวงมหาดไทยจะบรรจุนายขาว ให้ดํารงตําแหน่งปลัดอําเภอได้ก็ต่อเมื่อนายขาวต้องพ้นจากการเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง คือ ต้องลาออก จากตําแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลแล้ว (ตามมาตรา 54 วรรคสอง)
สรุป นายขาวมีสิทธิสมัครสอบแข่งขันเป็นปลัดอําเภอได้ และถ้านายขาวสอบแข่งขันได้ กระทรวงมหาดไทยจะบรรจุนายขาวให้ดํารงตําแหน่งปลัดอําเภอได้ก็ต่อเมื่อนายขาวได้ลาออกจากตําแหน่ง สมาชิกสภาเทศบาลแล้ว
ข้อ 2. หลักนิติรัฐ คืออะไร มีสาระสําคัญอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับกฎหมายปกครองอย่างไร จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา
ธงคําตอบ
“หลักนิติรัฐ” คือ หลักการปกครองโดยยึดกฎหมายเป็นใหญ่ และกฎหมายที่นํามาใช้นั้น จะต้องมาจากประชาชน มิใช่มาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการใช้อํานาจของฝ่ายปกครอง ต้องสามารถตรวจสอบและควบคุมได้
สาระสําคัญของหลักนิติรัฐ มีอยู่ 3 ประการ ดังนี้คือ
1 บรรดาการกระทําทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะมีอํานาจสั่งการให้ราษฎรกระทําการ หรือละเว้นไม่กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ก็ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อํานาจไว้อย่างชัดแจ้งและจะต้อง ใช้อํานาจนั้นภายในกรอบที่กฎหมายกําหนดไว้
2 บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วย รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ให้อํานาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ําเข้าไปในแดนแห่งเสรีภาพ ของราษฎรนั้น จะต้องมีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนพอสมควรว่าให้องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารองค์กรใดมีอํานาจ ล่วงล้ำเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างใด และกฎหมายดังกล่าว จะต้องไม่ให้อํานาจแก่องค์กรของรัฐฝ่ายบริหารล่วงล้ําเข้าไปในแดนแห่งสิทธิเสรีภาพของราษฎรเกินขอบเขต แห่งความจําเป็นเพื่อธํารงรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์สาธารณะ
3 การควบคุมไม่ให้การกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การ ควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอํานาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีความเป็น อิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ โดยองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการซึ่งทําหน้าที่ ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือของการกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหาร อาจจะเป็น องค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการอีกองค์กรหนึ่งแยกต่างหากจากองค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งทําหน้าที่พิจารณาพิพากษา คดีแพ่งและคดีอาญาก็ได้
หลักนิติรัฐมีความสัมพันธ์กับกฎหมายปกครอง ดังนี้คือ
1 กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่กําหนดให้องค์กรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐมีอํานาจรัฐ หรืออํานาจมหาชนที่จะกําหนดกฎเกณฑ์หรือออกคําสั่งให้เอกชนต้องปฏิบัติตามได้โดยไม่จําเป็นต้องอาศัย ความสมัครใจหรือความยินยอมของเอกชน เช่น กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองจะกําหนดว่าในพื้นที่ “สีเขียว” ห้าม การก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างใด ๆ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารจะกําหนดว่า การก่อสร้างอาคารจะต้องได้รับอนุญาต และอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานท้องถิ่น กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกจะกําหนดให้เจ้าพนักงานจราจร จัดระเบียบการจราจรให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องปฏิบัติตาม กฎหมายต่าง ๆ ที่ควบคุมการประกอบอาชีพของเอกชน ฯลฯ นอกจากนี้ กฎหมายปกครองยังเป็นกฎหมายที่กําหนดให้องค์กรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐมีอํานาจรัฐหรืออํานาจ มหาชนที่จะบังคับใช้กฎหมายโดยบังคับให้เอกชนปฏิบัติตามกฎหมาย หากเอกชนใดฝ่าฝืนกฎหมายก็ให้องค์กร ของรัฐหรือบุคลากรของรัฐมีอํานาจตามกฎหมายที่จะบังคับการได้เองโดยไม่ต้องไปร้องขอต่อศาลให้ศาลบังคับให้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกให้อํานาจแก่เจ้าพนักงานจราจรในอันที่จะใช้รถยกของตนลากรถยนต์ที่จอดใน ที่ห้ามจอดไปไว้ที่สถานีตํารวจได้ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารให้อํานาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นในอันที่จะเข้า ดําเนินการรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าของอาคารไม่ยอมปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ที่ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าว
2 กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่กําหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้อํานาจ โดยองค์กรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ และเป็นกฎหมายที่กําหนดกฎเกณฑ์ในการควบคุมการใช้อํานาจดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายที่กําหนดมาตรฐานกลาง เช่น กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เป็นต้น
ข้อ 3. รัฐวิสาหกิจ คืออะไร มีการแบ่งประเภทตามที่มาทางกฎหมายอย่างไรบ้าง จงอธิบายตามที่ได้ศึกษามา
ธงคําตอบ
“รัฐวิสาหกิจ” คือ นิติบุคคลที่รัฐได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับกับการกระจายอํานาจทางบริการและ เป็นการบริการสาธารณะทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และนิติบุคคลที่รับเอาการบริการสาธารณะด้าน อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมไปทําเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประปา เป็นต้น
ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ได้บัญญัติให้คํานิยามของ รัฐวิสาหกิจไว้ว่า “รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า
(ก) องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ค) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ก) และ/ หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ค) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(จ) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจตาม (ง) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) และ/หรือ (ค) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
การแบ่งประเภทตามที่มาทางกฎหมาย ถ้าแบ่งประเภทของรัฐวิสาหกิจตามที่มาทางกฎหมาย อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายมหาชน ซึ่งยังแยกออกเป็น 2 ประเภทย่อยคือ
(ก) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติเฉพาะหรือกฎหมายที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีระดับเดียวกับพระราชบัญญัติ (พระราชกําหนด ประกาศของคณะปฏิวัติ) เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐวิสาหกิจประเภทนี้จะได้รับมอบหมายให้มีอํานาจมหาชนในการดําเนินการใด ๆ ต่อทรัพย์สินหรือสิทธิของบุคคล เช่น เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ วางท่อ ปักเสาไฟฟ้าในที่ดินของเอกชน
(ข) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วย การจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2495 เช่น องค์การคลังสินค้า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
2 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเอกชน ซึ่งยังแยกออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
(ก) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น บริษัท ขนส่ง จํากัด (บ.ข.ส.)
(ข) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 เช่น บริษัท การบินไทย จํากัด
3 รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นในส่วนราชการโดยมติคณะรัฐมนตรีและไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เช่น โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต
ข้อ 4. นายเอกนายกเทศมนตรีฯ และเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหง ได้ให้นายโทคนขับรถเป็นผู้เข้าสอบวิชา LAW 3012 แทนตน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้มีคําสั่งลงโทษให้งดลงทะเบียนเรียนสอง ภาคการศึกษา และให้ปรับตกทุกวิชาในภาคการศึกษานั้น นายตรีสมาชิกสภาเทศบาลฯ ทราบเรื่อง จึงร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯ พิจารณาแล้วเห็นว่านายเอกเป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตจริง จึงมีคําสั่งเป็นหนังสือให้พ้นจากตําแหน่งฯ ทั้งนี้ไม่ได้แจ้งสิทธิเกี่ยวกับการอุทธรณ์ไว้ด้วย โดยได้แจ้งเพียงแต่สิทธิเกี่ยวกับการฟ้องคดีเท่านั้น นายเอกโต้แย้งว่าเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้แจ้งสิทธิเกี่ยวกับการอุทธรณ์ และกรณีก็มิใช่เป็นการทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่ วันรุ่งขึ้นนางแดงภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอกจึงยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อผู้ว่าฯ ในกรณีนี้ ซึ่งผู้ว่าฯ ปฏิเสธที่จะรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งของนายเอกแต่ละกรณี สามารถรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และการปฏิเสธของผู้ว่าฯ ที่ไม่รับอุทธรณ์ของนางแดงไว้ พิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบโดยชัดแจ้ง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผล เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อ สถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ”
มาตรา 44 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดย รัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คําสั่ง ทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว”
และตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496
มาตรา 73 “ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นว่า นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล หรือรองประธานสภาเทศบาล ปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของ ประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนํามาซึ่ง ความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตําแหน่ง หรือแกเทศบาล หรือแก่ราชการ ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยพร้อมด้วยหลักฐาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาลหรือรองประธานสภาเทศบาลพ้นจากตําแหน่งก็ได้ คําสั่งของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นที่สุด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การที่นายเอกนายกเทศมนตรีฯ ได้ให้นายโทคนขับรถเป็นผู้เข้าสอบวิชา LAW 3012 แทนตน ทําให้มหาวิทยาลัยฯ ได้มีคําสั่งลงโทษดังกล่าวนั้น แม้จะมิใช่เป็นการทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่การกระทําดังกล่าวของนายเอกถือได้ว่ามีความประพฤติในทางจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตําแหน่งหรือแก่ เทศบาล หรือแก่ราชการ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มีอํานาจในกรณีนี้ที่จะออกคําสั่งให้นายเอกพ้นจาก ตําแหน่งฯ ทั้งนี้เพราะอํานาจสั่งให้นายเอาออกจากตําแหน่งฯ นั้น เป็นอํานาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 73) ดังนั้น คําสังของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้นายเอกออกจากตําแหน่ง ซึ่งเป็นคําสั่งทางปกครอง (ตามนัยของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539) จึงเป็น คําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเนื่องจากเป็นการกระทําโดยไม่มีอํานาจ
ประเด็นที่ 2 ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น ในกรณีที่จะมีการอุทธรณ์คําสั่งทางปกครอง กฎหมายกําหนดให้แต่เฉพาะคู่กรณีเท่านั้นที่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ แต่นางแดงแม้จะเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเอกก็ตามแต่ก็มิใช่คู่กรณีแต่อย่างใด นางแดงจึงไม่มีสิทธิที่ จะยื่นอุทธรณ์แทนนายเอก ดังนั้น เมื่อนางแดงได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อผู้ว่าฯ ในกรณีดังกล่าว การปฏิเสธของ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่รับอุทธรณ์ของนางแดงไว้พิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป ข้อโต้แย้งของนายเอกรับฟังได้เฉพาะประเด็นที่ว่าเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่า เพราะไม่ได้แจ้งสิทธิเกี่ยวกับการอุทธรณ์ และกรณีมิใช่เป็นการทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น รับฟังไม่ได้ และการปฏิเสธของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่รับอุทธรณ์ของนางแดงไว้พิจารณานั้นชอบด้วยกฎหมาย