การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. (ก) ในการออกคําสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้นเจ้าหน้าที่จะกําหนดเงื่อนไขได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
(ข) นาย ก. เป็นข้าราชการพลเรือนรับราชการในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ต่อมานาย ก. ได้ไปทําการลักทรัพย์บุคคลอื่นและถูกศาลตัดสินลงโทษจําคุก หากท่านเป็นผู้บังคับบัญชาของนาย ก. ท่านจะต้องดําเนินการกระบวนการทางวินัยตลอดจนลงโทษนาย ก. อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
(ก) ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 39 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในการ ออกคําสั่งทางปกครองนั้น เจ้าหน้าที่อาจจะกําหนดเงื่อนไขใด ๆ ได้เท่าที่จําเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เว้นแต่กฎหมายจะกําหนดข้อจํากัดดุลพินิจเป็นอย่างอื่น
ในการกําหนดเงื่อนไขนั้น ให้หมายความรวมถึงการกําหนดเงื่อนไขในกรณีดังต่อไปนี้ตาม ความเหมาะสมแก่กรณีด้วย
(1) การกําหนดให้สิทธิหรือภาระหน้าที่เริ่มมีผลหรือสิ้นผล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
(2) การกําหนดให้การเริ่มมีผลหรือสิ้นผลของสิทธิหรือภาระหน้าที่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ใน อนาคตที่ไม่แน่นอน
(3) ขอสงวนสิทธิที่จะยกเลิกคําสั่งทางปกครอง
(4) การกําหนดให้ผู้ได้รับประโยชน์ต้องกระทําหรืองดเว้นกระทํา หรือต้องมีภาระหน้าที่หรือ ยอมรับภาระหน้าที่หรือความรับผิดชอบบางประการ หรือการกําหนดข้อความในการจัดให้มี เปลี่ยนแปลง หรือ เพิ่มข้อกําหนดดังกล่าว
(ข) ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
มาตรา 85 “การกระทําผิดวินัยในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
(6) กระทําความผิดอาญาจนได้รับโทษจําคุกหรือโทษที่หนักกว่าโทษจําคุก โดยคําพิพากษา ถึงที่สุดให้จําคุก หรือให้รับโทษที่หนักกว่าโทษจําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือ ความผิดลหุโทษ
มาตรา 93 “ในกรณีที่ผลการสืบสวนหรือพิจารณาตามมาตรา 91 ปรากฏว่ากรณีมีมูลอันเป็น ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ในการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งรับฟังคําชี้แจงของผู้ถูก กล่าวหา เมื่อคณะกรรมการสอบสวนดําเนินการเสร็จ ให้รายงานผลการสอบสวนและความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57
ถ้าผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทําผิดตาม ข้อกล่าวหาให้สั่งยุติเรื่อง แต่ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําผิดตามข้อกล่าวหาให้ดําเนินการต่อไปตามมาตรา 96 หรือมาตรา 97 แล้วแต่กรณี”
มาตรา 97 “ภายใต้บังคับวรรคสอง ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนํามาประกอบการพิจารณา ลดโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าปลดออก
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนหรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง หรือผู้มีอํานาจตามมาตรา 94 เห็นว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ แล้วแต่กรณีพิจารณา เมื่อ อ.ก.พ. ดังกล่าวมีมติเป็นประการใด ให้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีอํานาจ สั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎ ก.พ.
กรณีตามอุทาหรณ์
การที่นาย ก. ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็น ความผิดอาญาและถูกศาลตัดสินลงโทษจําคุกซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ซึ่งถือว่า เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 (6) ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทําการ สอบสวนว่า นาย ก. ได้กระทําความผิดอาญาและถูกศาลตัดสินลงโทษจําคุกจริงหรือไม่ เมื่อคณะกรรมการสอบสวน ดําเนินการเสร็จให้รายงานผลการสอบสวนและความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา (ตามมาตรา 93)
ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า นาย ก. ถูกศาลตัดสินลงโทษจําคุกในความผิดอาญาฐาน ลักทรัพย์จริง ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งนาย ก. สังกัดอยู่แล้วแต่กรณีพิจารณา เมื่อ อ.ก.พ. ดังกล่าวมีมติประการใดให้ผู้บังคับบัญชาสั่ง หรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น แต่ห้ามมิให้ลงโทษต่ํากว่าปลดออก (ตามมาตรา 97)
สรุป
ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับบัญชาของนาย ก. ข้าพเจ้าจะต้องดําเนินการกระบวนการทางวินัย ตลอดจนลงโทษนาย ก. ตามที่กล่าวไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2. การจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและการจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นคืออะไร เหมือนกันหรือไม่ ถ้าไม่แตกต่างกันอย่างไร
ธงคําตอบ
“การจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค” คือการจัดองค์กรของรัฐ ทางปกครองโดยใช้หลักการรวมอํานาจแบบการกระจายการรวมศูนย์อํานาจการปกครอง หรือการแบ่งอํานาจ การปกครอง โดยมีการแบ่งเขตการปกครองประเทศออกเป็นจังหวัดและอําเภอ แล้วรัฐบาลในส่วนกลางจะมอบ อํานาจในการตัดสินใจหรือในการสั่งการในทางปกครองในบางเรื่องบางระดับให้แก่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ซึ่ง เป็นตัวแทนของส่วนกลางที่ถูกส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาคทั่วราชอาณาจักรเพื่อจัดทําบริการสาธารณะ ตามที่กฎหมายกําหนด หรือตามที่รัฐบาลส่วนกลางหรือผู้บังคับบัญชามอบหมาย โดยที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังอยู่ ภายใต้บังคับบัญชาตามลําดับของรัฐบาลส่วนกลาง
สําหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคของไทยนั้น เป็นไปตามกฎหมายดังนี้คือ
1 ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งได้กําหนดให้ จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอําเภอ
2 ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 ซึ่งกําหนดให้ จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นตําบลและหมู่บ้าน
“การจัดองค์กรของรัฐในรูปของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น” คือการจัดองค์กรของรัฐ ทางปกครองโดยใช้หลักการกระจายอํานาจทางปกครองและเป็นการกระจายอํานาจในทางเขตแดนหรือในทางพื้นที่ โดยที่รัฐจะมอบความเป็นนิติบุคคลให้แก่ชุมชนในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดที่มีความพร้อมที่จะบริหารกิจการของตนเอง โดยการจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วรัฐบาลส่วนกลางก็จะกระจายอํานาจหรือถ่ายโอนภารกิจหรือบริการ สาธารณะบางส่วนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดําเนินการแทนรัฐ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้น มีอํานาจหน้าที่เป็นของตนเอง มีรายได้เป็นของตนเอง และมีองค์กรในการบริหารงานเป็นของตนเอง เพียงแต่ ยังคงอยู่ภายใต้อํานาจการกํากับดูแลของส่วนกลาง
สําหรับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของไทยนั้น มีอยู่ 2 ระบบ ได้แก่
1 ระบบทั่วไป ที่ใช้แก่ท้องถิ่นทั่วไป ซึ่งมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ
(1) เทศบาล ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
(2) องค์การบริหารส่วนตําบล ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตาม พระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 และ
(3) องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตาม พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
2 ระบบพิเศษ ที่ใช้เฉพาะท้องถิ่นบางแห่ง ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
(1) กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และ
(2) เมืองพัทยา ซึ่งการจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
ข้อ 3. “นิติกรรมทางปกครอง” คืออะไร จะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง “ปฏิบัติการทางปกครอง” คืออะไร แตกต่างจาก “นิติกรรมทางปกครอง” อย่างไร
ธงคําตอบ
“นิติกรรมทางปกครอง” หมายถึง การกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่น ของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่น พระราชบัญญัติแทน และในนามขององค์กรดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลคณะหนึ่งว่าตนประสงค์จะให้เกิดผลทางกฎหมายเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างองค์กร ดังกล่าวกับบุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้น โดยที่บุคคลนั้นหรือคณะบุคคลนั้นไม่จําเป็นต้องให้ความยินยอม
“นิติกรรมทางปกครอง” จะต้องประกอบด้วยลักษณะที่สําคัญ 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
(1) จะต้องเป็นการกระทําโดยองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับดังเช่นพระราชบัญญัติแทนและในนาม ขององค์กรดังกล่าวเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง
(2) การแสดงเจตนาให้ปรากฏต่อบุคคลคนหนึ่งหรือคณะบุคคลคณะหนึ่งโดยองค์กร ดังกล่าว จะต้องเป็นการแสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดผลทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่รวมถึงการที่ องค์กรดังกล่าวประกาศความตั้งใจว่าจะกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเพียงแต่ขอความร่วมมือหรือเตือนให้บุคคล หรือคณะบุคคลกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ขอให้งดจําหน่ายสุราในวันธรรมสวนะ หรือเตือนให้ยื่นคําขอต่อใบอนุญาต เป็นต้น
(3) ผลทางกฎหมายที่องค์กรดังกล่าวประสงค์จะให้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาของตนนั้น คือการสร้างความสัมพันธ์ทางกฎหมายหรือนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมีอํานาจหรือมีสิทธิ เรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่ง กระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่าง บุคคลจึงย่อมมีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของบุคคลที่เป็นคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เช่น การที่ผู้บังคับบัญชาออกคําสั่งแต่งตั้งหรือเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารออกใบอนุญาต ให้บุคคลก่อสร้างอาคาร ย่อมมีผลเป็นการสร้างสิทธิหรือหน้าที่ให้แก่ผู้ได้รับคําสั่งดังกล่าว
(4) นิติสัมพันธ์ดังกล่าว ต้องเป็นนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาที่แสดงออกมาขององค์กร ของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่นของรัฐ หรือองค์กรเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็น คู่กรณีในนิติสัมพันธ์ดังกล่าวไม่จําต้องให้ความยินยอมแต่อย่างใด
ซึ่งจากลักษณะที่สําคัญของนิติกรรมทางปกครองดังกล่าว จึงเห็นได้ว่านิติกรรมทางปกครอง ย่อมเป็นนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวเสมอ
“ปฏิบัติการทางปกครอง” หมายถึง การกระทําขององค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรอื่น ของรัฐ หรือองค์กรเอกชนที่กระทําโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเช่น พระราชบัญญัติแทนและในนามขององค์กรดังกล่าวโดยที่การกระทํานั้นไม่ใช่ “นิติกรรมทางปกครอง” กล่าวคือ การกระทํานั้นขาดลักษณะหนึ่งลักษณะใดของ “นิติกรรมทางปกครอง” ดังกล่าวแล้วข้างต้น
“ปฏิบัติการทางปกครอง” อาจเป็นการกระทําในกระบวนการพิจารณาเพื่อออกนิติกรรม ทางปกครองขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง เช่น การที่คณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแจ้งข้อกล่าวหา ให้ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาทราบและให้โอกาสข้าราชการผู้นั้นในการแก้ข้อกล่าวหา หรืออาจเป็นการกระทําที่เป็น “มาตรการบังคับทางปกครอง” เพื่อให้การเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติกรรมทางปกครองที่ได้มีการออกมาใช้ บังคับก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเข้าดําเนินการรื้อถอน อาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมาย หลังจากที่ได้ออกคําสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้ว แต่ เจ้าของอาคารไม่ยอมปฏิบัติตาม
“ปฏิบัติการทางปกครอง” อาจก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง ฯลฯ กับบุคคลอื่นได้เช่นกัน เช่น “ปฏิบัติการทางปกครอง” ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้บุคคลใดเสียหาย ย่อม เป็นการกระทําละเมิด ซึ่งองค์กรของรัฐฝ่ายปกครองที่กระทําการนั้น จําต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่
ผู้เสียหาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่องค์กรของรัฐฝ่ายปกครองต้องรับผิดนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาขององค์กร ดังกล่าว แต่เป็นผลบังคับของกฎหมาย
ข้อ 4. นายกองค์การบริหารส่วนตําบลฯ ได้มีคําสั่งเป็นหนังสือเพิกถอนหนังสือคําสั่งใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารที่เคยออกให้แก่นายแดง เนื่องจากตรวจพบว่านายแดงได้ยื่นหลักฐานประกอบคําร้องไม่ถูกต้อง ตามที่กฎหมายกําหนด นายแดงจึงได้ยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือภายใน 15 วัน ต่อนายก อบต. โดย ระบุว่า “ข้าพเจ้าประสงค์ขออุทธรณ์คําสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตการก่อสร้างอาคาร รายละเอียด จะจัดส่งมาภายหลัง” หลังจากเลยกําหนดระยะเวลาอุทธรณ์ นายก อบต. ได้ตรวจสอบหนังสืออุทธรณ์ ของนายแดงพบว่า ยังไม่ได้ส่งรายละเอียดที่จะจัดส่งมาภายหลังตามที่ได้แจ้งไว้แต่อย่างใด และเห็นว่า เป็นเพียงการผิดหลงบกพร่องเล็กน้อยจึงได้อาศัยอํานาจตามกฎหมาย มาตรา 27 พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แจ้งเป็นหนังสือให้นายแดงดําเนินการให้แล้วเสร็จ วันรุ่งขึ้นนายแดง จึงได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์เพิ่มเติมในส่วนที่บกพร่องจนสมบูรณ์ตามกฎหมาย หลังจากนั้น 6 เดือน นายก อบต. ก็ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของนายแดงแต่อย่างใด ดังนี้หากนายแดงมาปรึกษาท่านเพื่อ จะฟ้องกรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครองท่านจะแนะนํานายแดงในกรณีนี้อย่างไร ให้อธิบายโดยยก หลักกฎหมายประกอบคําตอบโดยชัดแจ้ง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 27 “ให้เจ้าหน้าที่แจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบ ตามความจําเป็นแก่กรณี
ถ้าคําขอหรือคําแถลงมีข้อบกพร่องหรือมีข้อความที่อ่านไม่เข้าใจ หรือผิดหลงอันเห็นได้ว่าเกิดจาก ความไม่รู้ หรือความเลินเล่อของคู่กรณี ให้เจ้าหน้าที่แนะนําให้คู่กรณีแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้อง”
มาตรา 44 วรรคแรกและวรรคสอง “ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองใด ไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองเป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณี อุทธรณ์คําสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทําคําสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ตนได้รับแจ้ง คําสั่งดังกล่าว
คําอุทธรณ์ต้องทําเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิง ประกอบด้วย”
และตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
มาตรา 42 “ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจ หลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอํานาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และ การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคําบังคับตามที่กําหนดใน มาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ในกรณีที่มีกฎหมายกําหนดขั้นตอนหรือวิธีการสําหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือ เสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทําได้ต่อเมื่อมีการดําเนินการตามขั้นตอน และวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลา ที่กฎหมายนั้นกําหนด”
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลฯ ได้มีคําสั่งเป็นหนังสือเพิกถอนหนังสือ คําสั่งใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารที่เคยออกให้แก่นายแดง ซึ่งถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครองนั้น เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า นายแดงได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองนั้นเป็นหนังสือต่อนายก อบต. ผู้ทําคําสั่งทางปกครองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคําสั่งดังกล่าว โดยระบุว่า “ข้าพเจ้าประสงค์ขออุทธรณ์คําสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาต การก่อสร้างอาคาร รายละเอียดจะจัดส่งมาภายหลัง” นั้น ถือว่า อุทธรณ์ของนายแดงดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 44 ทั้งนี้เพราะในอุทธรณ์ดังกล่าวของนายแดง ไม่ได้ระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย
ประเด็นที่ 2 การที่นายก อบต. ได้ตรวจสอบหนังสืออุทธรณ์ของนายแดงพบว่ายังไม่ได้ส่ง รายละเอียดที่จะจัดส่งมาภายหลังตามที่ได้แจ้งไว้ จึงได้แจ้งให้นายแดงดําเนินการให้แล้วเสร็จ และในวันรุ่งขึ้น นายแดงจึงได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์เพิ่มเติมในส่วนที่บกพร่องจนสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น เป็นการดําเนินการเมื่อ พ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ดังนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าหนังสืออุทธรณ์ฉบับที่สองเป็นส่วนหนึ่งของหนังสืออุทธรณ์ ฉบับแรกเนื่องจากหนังสืออุทธรณ์ฉบับที่สองได้ยื่นเมื่อพ้นกําหนดเวลาการยื่นอุทธรณ์แล้ว ”
ประเด็นที่ 3 การที่นายก อบต. ได้อาศัยอํานาจตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครองฯ ให้นายแดงดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น กรณีนี้ย่อมไม่สามารถ กระทําได้ เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามมาตรา 44 มิใช่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องเล็กน้อย ตามมาตรา 27 แต่อย่างใด จึงไม่มีผลทําให้อุทธรณ์ของนายแดงที่ยื่นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายกลับกลายเป็น อุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น เมื่อถือว่าการอุทธรณ์ของนายแดงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือเสมือนว่า นายแดงไม่ได้อุทธรณ์คําสั่งทางปกครองของนายก อบต. และให้ถือว่านายแดงยังมิได้ดําเนินการตามขั้นตอน และวิธีการสําหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกําหนดไว้ก่อนฟ้องคดีตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ดังนั้นนายแดงจึงฟ้องกรณีนี้เป็นคดีต่อศาลปกครองไม่ได้
สรุป
ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนําแก่นายแดงในกรณีนี้ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น