การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายสุขใจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีละเมิดที่นายยินดีคนขับรถสิบล้อเป็นจําเลยที่ 1 บริษัท สิบล้อขนส่งจํากัด เป็นจําเลยที่ 2 โดยนายยินดีได้ขับรถมาชนตนขาหัก ขณะยืนรอรถโดยสารประจําทางที่ ป้ายรถโดยสาร เรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 500,000 บาท จําเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าขับรถชนโจทก์จริง แต่เพราะเบรกแตกจึงควบคุมรถไว้ไม่ได้ จําเลยที่ 2 ให้การว่าจําเลยที่ 1 ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างตน แต่เป็นช่วงทดลองงาน และวันเกิดเหตุ เป็นช่วงเอารถไปใช้ส่วนตัวไม่ได้อยู่ในเวลางาน และฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ในวันนัดชี้สองสถาน จําเลยที่ 2 ให้การว่าจําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของตนไม่ได้ทดลองงาน ดังนี้
ก. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไร ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์
ข. หากในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์และจําเลยทั้งสองตกลงกันว่า จะขอนํารถสิบล้อส่งไปตรวจพิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญว่าเบรกแตกจริงหรือไม่ ถ้าเบรกแตกจริงโจทก์ยอมแพ้ แต่หากไม่ชํารุดจําเลยทั้งสอง ยอมแพ้ เมื่อผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าไม่สามารถทําได้เพราะรถสิบล้อไม่อยู่ในสภาพ งัดหรือแงะใด ๆ ได้เลย ศาลจะสั่งคดีนี้อย่างไรต่อไป จงอธิบาย
ธงคําตอบ
ก. หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”
มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”
มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”
มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้ เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วย กําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”
มาตรา 438 วรรคหนึ่ง “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควร แก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ
1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างหรือข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)
กรณีตามอุทาหรณ์ จากคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้
1 การที่นายสุขใจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีละเมิดที่นายยินดีคนขับรถสิบล้อเป็นจําเลยที่ 1 บริษัท สิบล้อขนส่ง จํากัด เป็นจําเลยที่ 2 โดยนายยินดีได้ขับรถมาชนตนขาหัก ขณะยืนรอรถโดยสารประจําทาง ที่ป้ายรถโดยสารจําเลยที่ 1 ให้การว่าได้ขับรถชนโจทก์จริง ถือเป็นการรับชัดแจ้งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) ส่วนจําเลยที่ 2 ไม่ได้กล่าวไว้ในคําให้การเรื่องจําเลยที่ 1 ได้ขับรถชนโจทก์จึงถือเป็นการยอมรับตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) เช่นกัน จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่จําเลยที่ 1 ขับรถชนโจทก์จริงหรือไม่
2 การที่จําเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าขับรถชนโจทก์จริง แต่เป็นเพราะเบรกแตกจึงควบคุมรถไม่ได้ จําเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น ถือเป็นคําให้การปฏิเสธที่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า “รถชนโจทก์เพราะเบรกแตกจริงหรือไม่” จึงต้องมีการสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้
3 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 แม้ตอนแรกจําเลยที่ 2 จะ ให้การว่าจําเลยที่ 1 ยังไม่ได้เป็นลูกจ้างของตนแต่เป็นช่วงทดลองงาน แต่เมื่อถึงวันนัดชี้สองสถาน จําเลยที่ 2 ให้การว่าจําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของตนไม่ได้ทดลองงาน จึงถือว่าเป็นการรับโดยชัดแจ้งแล้วตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องที่ว่าจําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 หรือไม่
4 การที่จําเลยที่ 2 ให้การว่า ในวันเกิดเหตุเป็นช่วงที่จําเลยที่ 1 เอารถไปใช้ส่วนตัว ไม่ได้อยู่ ในเวลางาน ถือเป็นการปฏิเสธโดยชัดแจ้งของจําเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้น ประเด็น ข้อพิพาทจึงมีว่า “จําเลยที่ 1 ได้ทําละเมิดไปในทางการที่จ้างจริงหรือไม่” จึงต้องมีการสืบพยานหลักฐานเพื่อ พิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้
5 การที่จําเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว แต่ในคําให้การของจําเลยที่ 2 ไม่ได้อธิบายว่าขาดอายุความเมื่อใด อย่างไร จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ดังนั้น จึงถือว่าจําเลยได้ยอมรับว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่อง ขาดอายุความ
6 การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดเป็นเงิน 500,000 บาทนั้น แม้จําเลยทั้ง 2 จะไม่ได้ให้การไว้เกี่ยวกับค่าเสียหายเลย ก็ต้องถือว่าจําเลยไม่ยอมรับในส่วนนี้ จึงก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับค่าเสียหายว่า “ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่”
สรุป
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
1 รถชนโจทก์เพราะเบรกแตกจริงหรือไม่
2 จําเลยที่ 1 ได้ทําละเมิดไปในทางการที่จ้างจริงหรือไม่
3 ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่
ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ที่ว่ารถชนโจทก์เพราะเบรกแตกจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลัง เครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ดังนั้น ภาระการพิสูจน์ จึงตกแก่จําเลยที่ต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย (เบรกแตก) ซึ่งหากจําเลยพิสูจน์ไม่ได้ จําเลยก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์
ประเด็นที่ 2 ที่ว่าจําเลยที่ 1 ได้ทําละเมิดไปในทางการที่จ้างจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า จําเลยที่ 1 ได้กระทําไปในทางการที่จ้าง แต่จําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างย่อมมีหน้าที่ นําสืบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1
ประเด็นที่ 3 ที่ว่าค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่ เมื่อโจทก์กล่าวอ้าง แม้จําเลยจะไม่ได้ ให้การโต้แย้งจํานวนเงินค่าเสียหาย ภาระการพิสูจน์ข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ (เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เรียกร้องจะ ต้องนําสืบถึงจํานวนค่าเสียหาย) แต่หากโจทก์ไม่นําสืบหรือนําสืบไม่ได้ตามฟ้อง ศาลก็มีอํานาจกําหนดค่าเสียหาย ให้โจทก์ได้เองตามสมควร โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 เรรคหนึ่ง
ข. หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”
วินิจฉัย
ในคดีแพ่ง “คําท้า” ถือเป็นคํารับอย่างหนึ่ง แต่เป็นคํารับในศาลซึ่งมีลักษณะพิเศษ และการที่ คู่ความทํากันในคดี ถือได้ว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3)
หลักเกณฑ์สําคัญของการทําคําท้า ได้แก่
1 ต้องเป็นการท้ากันในเรื่องการดําเนินกระบวนพิจารณา หรือเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี เพราะ ถ้าเป็นการท้ากันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีหรือการดําเนินกระบวนพิจารณาแล้ว ไม่ถือเป็นคําท้าที่ศาล จะอนุญาต
2 ต้องมีการกําหนดเงื่อนไขว่า ถ้าผลของการดําเนินกระบวนพิจารณาหรือการชี้ขาดออกมา ทางหนึ่งให้ฝ่ายหนึ่งชนะ แต่ถ้าผลออกมาอีกทางหนึ่งก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งชนะ
3 คําท้านั้นจะต้องกระทํากันต่อหน้าศาล และศาลต้องอนุญาต
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์และจําเลยทั้งสองตกลงกันในวันชี้สองสถานว่า จะขอนํารถสิบล้อ ส่งไปตรวจพิสูจน์กับผู้เชี่ยวชาญว่าเบรกแตกจริงหรือไม่ ถ้าเบรกแตกจริงโจทก์ยอมแพ้ แต่ถ้าหากไม่ชํารุด จําเลย ทั้งสองยอมแพ้นั้น ถือเป็นคําท้าตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) แล้ว แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถทําได้ เพราะรถสิบล้อไม่อยู่ในสภาพงัดหรือแงะใด ๆ ได้เลย ถือว่าเป็นกรณีที่คําท้านั้นไม่บรรลุผล ดังนั้น ศาลจึงต้องกําหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบหรือภาระการพิสูจน์ต่อไป
สรุป
ก. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบ ดังนี้
1 รถชนโจทก์เพราะเบรกแตกจริงหรือไม่ จําเลยมีหน้าที่นําสืบ
2 จําเลยที่ 1 ได้ทําละเมิดไปในทางการที่จ้างจริงหรือไม่ โจทก์มีหน้าที่นําสืบ
3 ค่าเสียหาย 500,000 บาท จริงหรือไม่ โจทก์มีหน้าที่นําสืบ ข. ศาลต้องกําหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบหรือภาระการพิสูจน์ต่อไป
ข้อ 2 โจทก์ฟ้องบังคับจําเลยให้ชําระหนี้ตามสัญญากู้จํานวน 500,000 บาท คืนแก่โจทก์ จําเลยให้การว่าสัญญากู้เป็นเอกสารปลอมเพราะลายมือชื่อในช่องผู้กู้มิใช่ลายมือชื่อของจําเลย ชั้นพิจารณา ทนายความโจทก์นํานายหนึ่งผู้เขียนสัญญาเข้าเบิกความต่อศาลโดยมีนายสองพยานโจทก์ ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา และนายสามพยานจําเลยนั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อนายหนึ่งเบิกความ จบคําถามติงแล้วนึกขึ้นได้ว่าก่อนเบิกความตนมิได้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณด้วยความพลั้งเผลอ จึงได้ปฏิญาณตนต่อหน้าศาลว่าคําให้การของตนเป็นความจริง จากนั้นทนายความโจทก์นํานายสอง เข้าเบิกความจนแล้วเสร็จ และทนายความจําเลยก็นํานายสามเข้าเบิกความได้เพียงจบข้อซักถามแล้ว ศาลให้เลื่อนคดีไปให้ทนายความโจทก์ซักค้านในนัดหน้า ครั้งถึงวันนัดนายสามไม่ได้มาศาล เพราะถึงแก่กรรมไปเสียก่อน ทนายความโจทก์จึงไม่ได้ซักค้านนายสามพยานจําเลย ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสอง และนายสามรับฟังได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณี แห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่…”
มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมี อํานาจที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้
แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความอีก ฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความเช่นว่านี้ เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัย ชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”
มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว…
เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้ เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ คําเบิกความของนายหนึ่ง นายสอง และนายสามรับฟังได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของนายหนึ่ง
การที่ทนายความโจทก์ได้นํานายหนึ่งผู้เขียนสัญญาเข้าเบิกความต่อศาล โดยมีนายสองพยานโจทก์ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาและนายสามพยานจําเลยนั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อนายหนึ่ง เบิกความจบคําถามตึงแล้วนึกขึ้นได้ว่าก่อนเบิกความตนมิได้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณด้วยความพลั้งเผลอ จึงได้ปฏิญาณตนต่อหน้าศาลว่าคําให้การของตนเป็นความจริงนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นายหนึ่งได้มีการ ปฏิญาณตนตามความมุ่งหมายของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 แล้ว (คําพิพากษาฎีกาที่ 217/2488) ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่งจึงรับฟังได้
กรณีของนายสอง
แม้ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง จะห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่น ที่จะเบิกความในภายหลัง ซึ่งคําว่า “พยานอื่น” และ “พยานคนก่อน” ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 หมายถึง พยานฝ่ายของตน แต่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคหนึ่ง ก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า หากมีการเบิกความต่อหน้า พยานฝ่ายของตนแล้วจะทําให้คําเบิกความนั้นรับฟังไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายตรงข้ามที่จะต้องแถลงให้ ศาลทราบ เพื่อให้ศาลสั่งให้พยานฝ่ายตนที่จะเบิกความในภายหลังออกไปจากห้องพิจารณาก่อน ดังนั้น แม้ว่า คําเบิกความของนายสองเป็นการผิดระเบียบ เพราะนายสองได้เบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนคือนายหนึ่ง มาแล้วก็ตาม แต่กฎหมายก็มิได้บัญญัติห้ามรับฟังโดยเด็ดขาด หรือห้ามมิให้รับฟังเสียทีเดียว เมื่อศาลเห็นว่า คําเบิกความของนายสองเป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของนายหนึ่งพยานคนก่อน มาแล้ว หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความของนายสอง ผิดระเบียบก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ดังนั้น คําเบิกความของนายสองจึงรับฟังได้หากเข้าข้อยกเว้น ดังกล่าว
กรณีของนายสาม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 วรรคสอง มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า หากยังไม่ได้ ถามค้านหรือซักค้านพยานคนใดแล้ว ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานปากนั้น ดังนั้น การที่ทนายความจําเลยได้นํานายสาม เข้าเบิกความได้เพียงจบข้อซักถามแล้วศาลให้เลื่อนคดีไปให้ทนายความโจทก์ซักค้านในนัดหน้า และเมื่อถึงวันนัด นายสามไม่ได้มาศาลเพราะถึงแก่กรรมไปเสียก่อน ทําให้ทนายโจทก์ไม่ได้ซักค้านนายสามพยานจําเลย ศาลก็มี อํานาจรับฟังคําเบิกความของนายสาม ส่วนจะรับฟังให้เชื่อได้มากน้อยเพียงใดเป็นดุลพินิจในการชั่งน้ําหนักคํา พยานบุคคลของศาล (คําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539) ดังนั้น คําเบิกความของนายสามพยานจําเลยจึงรับฟังได้
สรุป
คําเบิกความของนายหนึ่งและนายสามรับฟังได้ ส่วนคําเบิกความของนายสองย่อมรับฟังได้ ถ้าหากเข้าข้อยกเว้นดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้สองฉบับ ๆ ละ 100,000 บาท จําเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญาปลอมโดยมีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธชัดเจน ในกรณีดังต่อไปนี้ถ้าต้นฉบับ อยู่ที่โจทก์
(ก) โจทก์ไม่ได้ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลย แต่ถึงวันสืบพยานโจทก์นําต้นฉบับมาสืบฟังได้ว่าจําเลยกู้จริง หรือ
(ข) ถ้ากรณีตามข้อ (ก) ในระหว่างพิจารณา จําเลยรับว่ากู้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาท ตามสัญญาฉบับแรกจริง แต่ยังปฏิเสธสัญญาฉบับที่สองอยู่ หรือ
(ค) โจทก์ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลยโดยชอบแล้ว แต่เวลาสืบพยานโจทก์นําแต่พยานบุคคลมาสืบ เช่นนี้ ศาลจะพิพากษาทั้งสามกรณีอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน สํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
มาตรา 87 “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่
(2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจํานงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจําเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐาน อันสําคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสําคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอํานาจรับฟังพยาน หลักฐานเช่นว่านั้นได้”
มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวัน สืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”
มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์
ศาลจะพิพากษาทั้งสามกรณีอย่างไร แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ทั้ง 2 ฉบับ ๆ ละ 100,000 บาท จําเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญากู้ ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญาปลอมโดยมีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธชัดเจน เมื่อต้นฉบับอยู่ที่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ ส่งสําเนาสัญญากู้ให้จําเลย แต่ถึงวันสืบพยานโจทก์นําต้นฉบับมาสืบและฟังได้ว่าจําเลยกู้จริงนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ ส่งสําเนากู้ให้จําเลย ถือว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง ที่กําหนดให้โจทก์ต้องยื่นต่อศาล และส่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ดังนั้น กรณีนี้แม้โจทก์จะ นําต้นฉบับมาสืบ แต่เมื่อ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 87 ได้บัญญัติมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ศาลจึงต้องพิพากษา ยกฟ้องโจทก์
(ข) การที่จําเลยยอมรับในระหว่างพิจารณาว่า จําเลยกู้เงินโจทก์ 100,000 บาทจริงสําหรับสัญญากู้ ฉบับแรกนั้น ย่อมถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ต้องสืบพยาน ดังนั้น ศาลต้อง พิพากษาให้จําเลยชําระเงินตามสัญญากู้ฉบับแรก ส่วนสัญญากู้ฉบับที่ 2 ศาลต้องพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลใน ข้อ (ก)
(ค) การที่โจทก์ได้ส่งสําเนากู้ให้จําเลยโดยชอบแล้ว แต่เวลาสืบพยานโจทก์นําแต่พยานบุคคลมาสืบนั้น เมื่อการฟ้องบังคับเรียกเงินตามสัญญากู้เกินกว่าสองพันบาท กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จะนําพยานบุคคลมาขอสืบแทนพยานเอกสารไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 (ก) ดังนั้น กรณีนี้ ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 2 ฉบับ
สรุป
(ก) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์
(ข) ศาลต้องพิพากษาให้จําเลยชําระเงินตามสัญญากู้ฉบับแรก และพิพากษายกฟ้องสัญญากู้ฉบับหลัง
(ค) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 2 ฉบับ