การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายกรุงไทย นำรถยนต์ที่เช่าซื้อกับบริษัทกรุงเก่า ไปทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทมั่นคงประกันภัยจำกัด โดยนายกรุงไทยเป็นผู้เอาประกันภัย และระบุให้บริษัท กรุงเก่า เป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากทำสัญญาประกันภัยได้สามเดือน นายกรุงไทยได้ค้างชำระค่าเช่าซื้อกับบริษัทกรุงเก่า ทำให้บริษัทกรุงเก่า ฟ้องเรียกให้นายกรุงไทยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ นายกรุงไทยจึงเปลี่ยนแปลงข้อตกลง ในสัญญาประกันภัยกับบริษัทมั่นคงประกับภัย จำกัด โดยระบุให้นายกรุงไทยเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากนั้นรถยนต์คันดังกล่าวได้สูญหายไป นายกรุงไทยจึงเรียกให้บริษัทมั่นคงประกับภัย จำกัดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่บริษัทมั่นคงประกันภัย จำกัด ปฏิเสธใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยอ้างว่า นายกรุงไทยยังค้างชำระค่าเช่าฃื้ออยู่ ไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน

ดังนี้ ข้ออ้างของบริษัท มั่นคงประกันภัย จำกัด ฟังขึ้นหรือไม่ และนายกรุงไทยจะฟ้องให้บริษัท มั่นคงประกันภัย จำกัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่า บุคคลภายบอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

มาตรา 375 “เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลง หรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

มาตรา 376 “ข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาดังกล่าวมาในมาตรา 374 นั้น ลูกหนี้อาจจะ ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้จะได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

คำว่า ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คำว่า ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับคาสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินไช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกับภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด 

มาตรา 877 “ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง” 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกรุงไทยนำรถยนต์ที่เช่าชื้อไปทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทมั่นคงประกันภัย จำกัด โดยระบุให้บริษัท กรุงเก่า เป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมถือว่านายกรุงไทยเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในเหตุที่จะเอาประกันภัยตามมาตรา 863 สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

อย่างไรก็ตาม การที่นายกรุงไทยระบุในสัญญาให้บริษัท กรุงเก่า ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าชื้อเป็นผู้รับประโยชน์จึงเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยระบุให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จึงต้องปรับเข้ากับมาตรา 374375 และ 376 นั่นคือ ผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นจะต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยเสียก่อน สิทธิของผู้รับประโยชน์จึงจะเกิดขึ้น และเมื่อสิทธิของผู้รับประโยชน์เกิดขึ้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย จะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของผู้รับประโยชน์ในภายหลังไม่ได้

กรณีตามข้อเท็จจริง การที่บริษัท กรุงเก่า ฟ้องเรียกให้นายกรุงไทยชำระค่าเช่าชื้อที่ ค้างชำระนั้น ย่อมแสดงว่า บริษัท กรุงเก่า ได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยแล้ว

นายกรุงไทยผู้เอาประกันภัยจึงมีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาเข้าเป็บผู้รับประโยชน์เองได้ (มาตรา 862) นายกรุงไทยผู้เอาประกันภัยและบริษัท มั่นคงประกันภัย จำกัด จึงเป็นคู่สัญญาที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จาก สัญญาประกันภัยซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ที่นายกรุงไทยได้เอาประกันภัยไว้สูญหายไป บริษัท มั่นคงประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยจึงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับนายกรุงไทยตามมาตรา 877

ถึงแม้ว่านายกรุงไทยจะค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่ก็ตาม (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1950/2543) ดังนั้น ข้ออ้างของบริษัท มั่นคงประกันภัย จำกัด ที่ว่านายกรุงไทยยังค้างชำระค่าเช่าซื้ออยู่ ไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจึงฟังไม่ขึ้น และนายกรุงไทยสามารถฟ้องให้บริษัท มั่นคงประกันภัย จำกัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

สรุป ข้ออ้างของบริษัท มั่นคงประกันภัย จำกัด ฟังไม่ขึ้น และนายกรุงไทยสามารถฟ้องให้ บริษัท มั่นคงประกันภัย จำกัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

 

ข้อ 2. นายเอเจ้าของบ้านราคา 3 ล้านบาททำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กันบริษัท สยามประกันวินาศภัยฯ โดยกรมธรรม์ระบุผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์คือนายเอ ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี วงเงิน เอาประกันภัย 2 ล้านบาท หลังจากทำสัญญาไปได้ 5 เดือน นายเอขายบ้านนี้ให้แก่นายบีราคา 5 ล้านบาท โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนฯ อีก 2 เดือนต่อมาไฟไหม้ข้างบ้าน แล้วลุกลาม มาไหม้บ้านหลังดังกล่าวหมด นายเอเรียกให้บริษัท สยามฯ จ่ายค่าสินไหมทดแทนอ้างว่าตนเอง เป็นผู้เอาประกันจึงมีสิทธิและเป็นทั้งผู้รับประโยชน์ด้วย ส่วนนายบีก็เรียกค่าสินไหมทดแทนจาก บริษัท สยามฯ อ้างว่าตนรับโอนวัตถุที่เอาประกันภัยมาจึงทำให้รับเอาสิทธิตามสัญญาประกันภัยจาก นายเอมาด้วย

อยากทราบว่าข้ออ้างของบายเอและนายบีถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา 875 “ถ้าวัตถุอันได้เอาประกับภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรม ก็ดี หรือโดยบทบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย

ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัย และบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ

มาตรา 877 “ผู้รับประกันภัยจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอซึ่งเป็นเจ้าของบ้านได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัท สยามประกันวินาศภัยฯโดยกรมธรรม์ระบุผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์คือนายเอนั้น ในขณะที่นายเอได้เอาบ้าน ไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้นั้น นายเอเป็นเจ้าของบ้านและมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นโดยที่นายเอยังไม่ได้ขายบ้าน ให้แก่นายบี จึงถือว่านายเอผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อนายเอผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์ได้ขายบ้านหลังดังกล่าวให้แก่นายบี ซึ่งเป็นการโอนวัตถุที่เอาประกันไปแล้ว ส่วนได้เสียในบ้านที่ทำสัญญาประกันภัยไว้จึงหมดไป ทำให้นายเอ ไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งนายเอได้เงินจากการขายบ้านมา 5 ล้านบาท นายเอจึงไม่เสียหายแล้ว แต่คนที่เสียหายคือนายบี และหากบริษัท สยามๆ จ่ายเงิน 2 ล้านบาทให้นายเอ ย่อมมีผลทำให้นายเอได้กำไร จากสัญญาประกันภัย ซึ่งขัดต่อหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 877(1) ที่กำหนดให้ผู้รับประกันภัย จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงซึ่งต้องไม่ได้กำไรนั่นเอง

และตามข้อเท็จจริง การที่นายเอได้ขายบ้านให้แก่นายบี ซึ่งถือว่าเป็นการโอนวัตถุที่เอาประกันภัย โดยทางนิติกรรมสัญญาตามมาตรา 875 วรรคสอง มิใช่เป็นกรณีที่วัตถุที่เอาประกันภัยไว้นั้นเปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรม หรือโดยบทบัญญัติกฎหมายตามมาตรา 875 วรรคแรก ดังนั้นสิทธิอันมีอยู่ ในสัญญาประกันภัยนั้นจะโอนไปด้วยก็ต่อเมื่อได้มีการบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยด้วย แต่เมื่อการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยดังกล่าว มิได้มีการบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัย สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัย จึงไม่โอนไปยังนายบี ดังนั้นเมื่อบ้านที่ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด นายบีจึงไม่มีสิทธิเรียก ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท สยามฯ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 875 วรรคสอง

สรุป ข้ออ้างของนายเอและนายบีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ข้อ 3. นายสมคิดได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกับชีวิตแห่งหนึ่ง จำนวนเงินที่เอาประกัน 3 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี โดยระบุให้นางสมศรีภริยา เป็นผู้รับประโยชน์ นายสมคิดได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับนางสมศรี และนางสมศรีได้เดินทางไปแจ้งให้บริษัทประกันชีวิตทราบด้วยตนเอง ณ สำนักงานของบริษัทฯ ว่าตนไม่ขัดข้อง ในการเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฏว่าหลังจากนั้นอีก 3 ปี นายสมคิดกับนางสมศรีได้หย่าขาดจากกัน และนางสมศรีได้ไปแต่งงานใหม่กับนายพรชัยซึ่งนายพรชัยได้สืบทราบว่าถ้านายสมคิดถึงแก่ความตายแล้ว นางสมศรีจะไต้รับเงินเอาประกันจำนวน 3 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ นายพรชัยจึงได้ไป ลักลอบฆ่านายสมคิดถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต

ดังนี้ บริษัทผู้รับประกันชีวิตของนายสมคิด ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับนางสมศรีซึ่งเป็น ผู้รับประโยชน์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา 890 “จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1)           บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ

(2)           บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

โดยหลัก เมื่อผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตาย บริษัทผู้รับ ประกันชีวิตจะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นๆ เว้นแต่ บุคคลนั้นจะฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา หรือบุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมคิดได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุมรณะ และระบุให้นางสมศรีเป็นผู้รับประโยชน์นั้น แม้ต่อมานายสมคิดและนางสมศรีจะได้หย่าขาดจากกันก็ตาม สัญญาประกันชีวิตนั้นก็ยังคงสมบูรณ์ ไม่ทำให้สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด กล่าวคือ เมื่อนายสมคิดผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตจะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้แก่นางสมศรี ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาตามมาตรา 889 และมาตรา 890

และข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายสมคิดได้ถึงแก่ความตายนั้น ก็ไม่ได้เกิดจาก การกระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา หรือได้ถูกผู้รับประโยชน์คือนางสมศรีฆ่าตาย โดยเจตนาแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะถูกนายพรชัยสามีใหม่ของนางสมศรีฆ่าตายโดยเจตนา จึงไม่เข้าข้อยกเว้น ที่ผู้รับประกันชีวิตจะไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 895 ดังนั้น บริษัทผู้รับประกันชีวิตของ นายสมคิดจึงต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับนางสมศรีซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์

สรุป บริษัทผู้รับประกันชีวิตของนายสมคิดต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับนางสมศรี ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์

Advertisement