การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นาย ก มอบนาย ข ให้เป็นนายหน้าขายที่ดิน นาย ข ได้นำเสนอขายให้กับนาย ค นาย ค ตกลงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว แต่เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวมีคนต้องการซื้อหลายรายด้วยกัน ด้วยความกลัวจะไม่ได้ที่ดินแปลงนั้น นาย ค จึงมอบเงินค่าที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนาย ข มาทั้งหมดเลยเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท อยากทราบว่า นาย ข มีอำนาจที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบในการวินิจฉัย
ธงคำตอบ
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
มาตรา 849 การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา
วินิจฉัย
นาย ก มอบหมายนาย ข ให้เป็นนายหน้าขายที่ดิน นาย ข ในฐานะนายหน้ามีอำนาจจะจัดการได้ตามมาตรา 845 ดังต่อไปนี้คือ
1 ตกลง
2 ชี้ช่อง
3 จัดให้ทั้ง 2 ฝ่าย เข้าทำสัญญากัน
ดังนั้น การที่นาย ค ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวได้มอบเงินค่าที่ดินให้กับนาย ข เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท นาย ข ไม่มีอำนาจรับเงินจากนาย ค ผู้ซื้อที่ดิน เพราะไม่ได้รับมอบหมายอำนาจจากนาย ก ตัวการตามมาตรา 849
สรุป นาย ข ไม่มีอำนาจรับเงินจำนวน 1 ล้านบาท ดังกล่าวเอาไว้
ข้อ 2 บริษัท Silk India จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งทำการอยู่ที่ประเทศอินเดีย ประกอบกิจการขายผ้าไหมอินเดีย ได้แต่งตั้งให้นางฝ้ายคำเป็นตัวแทนทำสัญญาขายผ้าให้แก่นางแพรวาแม่ค้าที่ตลาดพาหุรัด เมื่อนางฝ้ายคำและนางแพรวาตกลงทำสัญญาซื้อขายผ้าไหมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาถึงกำหนดเวลาส่งมอบผ้าไหมอินเดีย บริษัท Silk India จำกัด ไม่นำผ้าไหมมาส่งมอบเป็นเหตุให้นางแพรวาได้รับความเสียหายเช่นนี้ นางแพรวาจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท Silk India จำกัด และหรือนางฝ้ายคำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 820 ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน
มาตรา 824 ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน
วินิจฉัย
บริษัท Silk India จำกัด ตกลงมอบอำนาจให้นางฝ้ายคำเป็นตัวแทนทำสัญญาซื้อขายผ้ากับนางแพรว โดยขณะทำสัญญาซื้อขายบริษัท Silk India จำกัด ตัวการได้อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อปรากกว่ามีการผิดสัญญาซื้อขายผ้า นางฝ้ายคำตัวแทนจึงต้องรับผิดต่อนางแพรวาบุคคลภายนอกตามมาตรา 824
นอกจากนี้ นางแพรวาบุคคลภายนอกยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท Silk Ibdia จำกัด ตัวการได้อีก ตามมาตรา 820 เพราะเมื่อทางฝ้ายคำตัวแทนทำการภายในของอำนาจแล้ว บริษัท Silk India จำกัด ตัวการต้องผูกพันกับทางแพรวาบุคคลภายนอกด้วย ทั้งนี้เพราะมาตรา 824 บัญญัติไว้เพื่อความสะดวกแก่บุคคลในประเทศไทยที่จะฟ้องร้องตัวแทนในประเทศไทยของตัวการที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลไทย แทนที่จะไปฟ้องในศาลต่างประเทศเท่านั้น มิได้หมายความว่าตัวการที่อยู่ในต่างประเทศจะไม่มีความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ทำสัญญากับตัวแทนของตนในประเทศ (ฎ. 50/2501)
สรุป นางแพรวามีสิทธิฟ้องให้นางฝ้ายคำรับผิดได้ตามมาตรา 824 หรือจะฟ้องให้บริษัท Silk India จำกัด รับผิดตามมาตรา 820 ก็ได้
ข้อ 3 นายเอกเปิดร้านขายเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ย่านบางกะปิ ได้ตกลงให้นายโทเป็นนายหน้าขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ตนในราคาเครื่องละ 46,000 บาท และตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าในราคาเครื่องละ 2,000 บาท วันที่ 15 ธันวาคม 2548 นายโทได้ไปเสนอขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่นายตรีซึ่งกำลังจะเปิดร้านให้เช่าอินเตอร์เน็ตเพื่อเล่นเกม นายตรีสนใจ นายโทจึงได้พานายตรีไปพบนายเอกและได้ตกลงต่อรองราคากันเหลือเครื่องละ 45,000 บาท นายตรีต้องการจะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 20 เครื่อง เป็นเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 900,000 บาท แต่เนื่องจากนายตรียังมีเงินไม่เพียงพอจึงขอชะลอการซื้อไว้ก่อน ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2549 นายเอกไปพบนายตรีและได้ชักชวนให้นายตรีซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ นายตรีจึงได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 10 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 450,000 บาท นายโททราบเรื่องการซื้อคอมพิวเตอร์จึงไปขอค่าบำเหน็จนายหน้าจากนายเอกจำนวน 20,000 บาท นายเอกไม่ยอมจ่ายโดยอ้างว่าการซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์เกิดจากการชักชวนของตน ไม่ได้เกิดจากการกระทำของนายโท ดังนี้อยากทราบว่าข้ออ้างของนายเอกฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และนายเอกจะต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายโทหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
วินิจฉัย
นายเอกตกลงให้นายโทเป็นนายหน้าขายเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จเครื่องละ 2,000 บาท นายโทได้ไปเสนอขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่นายตรีในวันที่ 15 ธันวาคม 2548 แต่นายตรียังมีเงินไม่เพียงพอจึงขอชะลอการซื้อไว้ก่อน ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2549 นายเอกได้ไปพบนายตรี และได้ชักชวนให้นายตรีซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ นายตรีจึงได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากนายเอกจำนวน 10 เครื่อง การซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์ แม้จะเกิดจากการชักชวนของนายเอก แต่การที่นายเอกรู้จักนายตรีก็เพราะนายโทเป็นคนพานายตรีไปพบนายเอก การที่นายเอกไปชักชวนนายตรีให้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงถือว่าการซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์สำเร็จย่อมเกิดจากการชี้ช่องของนายโท ข้ออ้างของนายเอกที่ว่าการซื้อขายเกิดจากการชักชวนของตนไม่ได้เกิดจากการกระทำของนายโทจึงฟังไม่ขึ้น นายเอกจึงต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายโทตามมาตรา 845
สรุป ข้ออ้างของนายเอกฟังไม่ขึ้น นายเอกต้องจ่ายค่านายหน้าแก่นายโท