การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 132435 จําเลยได้ทําสัญญาเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าวจากโจทก์เป็นระยะเวลา 2 ปี 11 เดือน ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อครบกําหนดระยะเวลา ตามสัญญาเช่าแล้วและไม่มีการต่อสัญญาเช่าออกไป โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จําเลยและบริวาร ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จําเลยเพิกเฉยไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว โจทก์จึงฟ้อง ขอให้บังคับจําเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ และขอให้ห้ามมิให้ จําเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป อีกทั้งขอให้จําเลยชําระค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งรับประทับฟ้องไว้พิจารณา ต่อมาโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่นายโมรีน จําเลยให้การว่า จําเลยได้ทําสัญญาเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าวจริงแต่ไม่ได้ผิดสัญญาเช่าต่อ โจทก์ และให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง อีกทั้งให้ การว่าความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมากเกินความเป็นจริงขอให้ยกคําฟ้อง ในระหว่างการพิจารณา ของศาลชั้นต้น นายโมรีนยื่นคําร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาต ให้ท่านวินิจฉัยว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด และนายโมรีนมีสิทธิขอ เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตาม บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”
มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคําพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจําต้องผูกพันตนโดยคําพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการ เข้าแทนที่กันเลย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยเป็นคดีหรือไม่ และนายโมรีนมีสิทธิขอเข้าเป็น โจทก์ร่วมได้หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับอํานาจฟ้องของโจทก์
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่โจทก์ยื่นคําฟ้องจําเลยต่อศาลนั้น โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ดินพิพาท เมื่อครบกําหนดตามสัญญาเช่าแล้วจําเลยไม่ยอมออกจากที่ดินพิพาทเป็นกรณีที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิโดยจําเลย โจทก์จึงมีอํานาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจําเลยซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทโดยละเมิดต่อโจทก์ได้ เพราะถือว่าได้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงมีอํานาจที่จะเสนอคดี ต่อศาลได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ถึงแม้ว่าภายหลังที่ศาลได้สั่งประทับรับฟ้องคดีของโจทก์แล้ว โจทก์จะได้ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่นายโมรีนโจทก์ร่วมก็ตาม ก็ไม่ทําให้อํานาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์ อยู่แล้วนั้นต้องเสียไป กล่าวคือ โจทก์ยังคงมีอํานาจฟ้องต่อไป
ประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนายโมรีน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นได้สั่งประทับรับฟ้องคดีของโจทก์แล้ว โจทก์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่นายโมรีน ดังนี้ย่อมถือว่านายโมรีนซึ่งเป็นผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากโจทก์ ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) เพราะเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคําพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีนั้นตามกฎหมายจะมีผล ไปถึงตนด้วย และเมื่อโจทก์ยังคงมีอํานาจฟ้องต่อไป นายโมรีนจึงมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2)
สรุป
โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยเป็นคดีได้ และนายโมรีนมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
ข้อ 2. นายแดง นายดํา และนายม่วงเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เดิมทั้งสามคนมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดลําปาง ภายหลังนายแดงย้ายภูมิลําเนาไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายแดงทําสัญญาขายที่ดิน 1 แปลงของตนในจังหวัดลําปางให้แก่นายขาว โดยนายขาวชําระราคาบางส่วนแก่นายแดงแล้ว ต่อมานายแดงไม่สามารถโอนขายที่ดินแปลงนี้แก่นายขาวตามที่ตกลงกันได้ นายขาวจึงบอกเลิก สัญญาและเรียกเงินค่าที่ดินที่ชําระไปแล้วคืนจากนายแดง โดยนายแดงนําเอกสาร น.ส.3 ก ของ ที่ดินที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายมาให้นายขาวยึดถือไว้เป็นประกัน เพื่อนําไปขายแล้วนําเงินที่ได้มา ชําระหนี้แก่นายขาว แต่ปรากฏว่าเมื่อนายแดงขายที่ดินไปแล้วไม่นําเงินมาคืนแก่นายขาว นายขาว จึงยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดลําปาง ระหว่างนั้นนายแดง นายดํา และนายม่วงประสบเหตุรถชนที่กรุงเทพมหานครและถึงแก่ความตายทั้งสามคน ดังนี้
(1) ศาลจังหวัดลําปางเป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาคดีที่นายขาวฟ้องนายแดงหรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นางเหลืองมารดาของนายแดง นายดํา และนายม่วง ยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายแดง นายดํา และนายม่วงที่ศาลจังหวัดลําปางได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”
มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”
มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง “คําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมี ภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย”
มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายแดงซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทําสัญญาขายที่ดิน 1 แปลงของตน ใน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดลําปางให้แก่นายขาว และต่อมานายแดงผิดสัญญาไม่สามารถโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายขาว ตามที่ตกลงกัน นายขาวจึงบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าที่ดินที่ชําระไปแล้วคืนจากนายแดง โดยนายแดงได้นํา เอกสาร น.ส.3 ก ของที่ดินที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายมาให้นายขาวยึดถือไว้เป็นประกัน เพื่อนําไปขายแล้วนําเงิน ที่ได้มาชําระหนี้แก่นายขาว แต่ปรากฏว่าเมื่อนายแดงได้ขายที่ดินไปแล้วก็ไม่นําเงินมาคืนนายขาว ทําให้นายขาว ยื่นฟ้องนายแดงต่อศาลจังหวัดลําปางนั้น การที่นายแดงได้นําเอกสาร น.ส.3 ก ให้นายขาวยึดถือไว้ โดยไม่ได้มอบ การครอบครองหรือมอบสิทธิในที่ดินให้แก่นายขาวแต่อย่างใดนั้น คําฟ้องของนายขาวจึงมิใช่คําฟ้องที่เกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ หากแต่ เป็นคําฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล ซึ่งนายขาวต้องฟ้องนายแดงต่อศาลที่นายแดงจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ใน เขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) ซึ่งได้แก่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ จะฟ้องต่อศาลจังหวัดลําปางไม่ได้ เพราะศาล จังหวัดลําปางไม่ใช่ศาลที่มีอํานาจในการพิจารณาคดีดังกล่าวนี้
(2) เมื่อนายแดง นายดํา และนายม่วงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และนางเหลืองมารดา ของนายแดง นายดํา และนายม่วง จะยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของทั้งสามต่อศาลจังหวัดลําปางได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลในขณะที่ เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งตามข้อเท็จจริงในกรณี ของนายแดงคือศาลจังหวัดเชียงใหม่ กรณีของนายดําและนายม่วงคือศาลจังหวัดลําปาง และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 ได้วางหลักไว้ว่า คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคล… ถ้ามูลความคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องขอจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใด ศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้ามรดกทั้งสามรายมีทรัพย์สินอันเป็นมรดกร่วมกัน คือ ที่ดินในจังหวัดลําปาง ย่อมถือได้ว่าคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสามรายดังกล่าว มีมูลความ แห่งคดีเกี่ยวข้องกันพอที่จะพิจารณาร่วมกันได้ ดังนั้นนางเหลืองจึงยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายแดง นายดํา และนายม่วงที่ศาลจังหวัดลําปางได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5
สรุป
(1) ศาลจังหวัดลําปาง ไม่ได้เป็นศาลที่มีอํานาจพิจารณาคดีที่นายขาวฟ้องนายแดง
(2) นางเหลืองยื่นคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกที่ศาลจังหวัดลําปางได้
ข้อ 3. ในคดีแรกนายดําเป็นโจทก์ฟ้องนายขาวเป็นจําเลยต่อศาลชั้นต้น อ้างว่านายดําซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากนายขาว โดยนายขาวขออาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมานายดําไม่ประสงค์ให้นายขาว อาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวอีกต่อไป จึงแจ้งให้นายขาวออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท รวมทั้งยังเรียกค่าเสียหายจากนายขาวอีกด้วย โดยนายขาวให้การและฟ้องแย้งว่าสัญญาซื้อขาย บ้านและที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอําพราง แท้จริงแล้วนายขาวโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้นายดํา เพื่อประกันหนี้เงินกู้ ขอให้บังคับนายดําโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทคืนนายขาว ศาลชั้นต้น เห็นว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องแย้ง และพิพากษาให้ขับไล่นายขาวและบริวาร ออกจากบ้านและที่ดินพิพาท นายขาวจึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ต่อมาในระหว่างที่คดีแรก อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายขาวยื่นฟ้องนายดําต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีที่สอง อ้างว่า สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทระหว่างนายดําและนายขาวเป็นนิติกรรมอําพราง ขอให้เพิกถอน นิติกรรมซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าว รวมถึงขอให้นายดําโอนบ้านและที่ดินพาทคืนนายขาว ศาลชั้นต้นในคดีที่สองมีคําสั่งรับฟ้องของนายขาวไว้พิจารณา ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งรับฟ้องของศาลชั้นต้นในคดีที่สองขอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และ ผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นและ…”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การฟ้องซ้อนมีบัญญัติไว้ในมาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งประกอบด้วย หลักเกณฑ์ดังนี้
1 คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา
2 คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน
3 คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
4 ห้ามโจทก์ฟ้อง
5 ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คําสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องของนายขาวใน คดีที่สองไว้พิจารณานั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า
ในคดีแรก นายดําเป็นโจทก์ฟ้องนายขาวเป็นจําเลยต่อศาลชั้นต้น อ้างว่านายดําซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากนายขาว ซึ่งนายขาวขออาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมานายดําไม่ประสงค์ให้นายขาวอาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวอีกต่อไป จึงแจ้งให้นายขาวออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท ทั้งยังเรียกค่าเสียหาย จากนายขาวอีกด้วย นายขาวให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอําพราง แท้จริงแล้วนายขาวโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้นายดําเพื่อประกันหนี้เงินกู้ขอให้บังคับนายดําโอนกรรมสิทธิ์ ในบ้านและที่ดินพิพาทคืนนายขาว ซึ่งคดีแรกอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ในคดีที่สอง นายขาวซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องแย้งในคดีแรกได้เป็นโจทก์ในคดีนี้อีก โดยได้ยื่นฟ้อง นายดําต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างเหตุเดียวกันกับที่ฟ้องแย้งในคดีแรกว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทระหว่าง นายดําและนายขาวเป็นนิติกรรมอําพราง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าว รวมทั้งขอให้นายดําโอนบ้านและที่ดินพิพาทคืนนายขาว กรณีนี้เมื่อนายขาวซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องแย้งคดีแรก ซึ่งฟ้องแย้ง ถือเป็นคําฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1 (3) และต่อมานายขาวได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายดําเป็นจําเลยในคดีที่สอง ในเรื่องเดียวกันอีก และในขณะที่นายขาวได้ยื่นฟ้องนายดําเป็นคดีที่สองนั้น คดีแรกยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ของศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ห้ามมิให้นายขาวยื่นคําฟ้องเรื่อง เดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก เพราะมิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อน ดังนั้น การที่นายขาวได้ยื่นฟ้อง นายดําต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีที่สองดังกล่าว และศาลชั้นต้นได้มีคําสั่งรับฟ้องของนายขาวไว้พิจารณา คําสั่งรับฟ้อง ของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
คําสั่งรับฟ้องของศาลชั้นต้นในคดีที่สองไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถด้วยความประมาทชนโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1 ล้านบาท จําเลยยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์เป็นฝ่ายขับรถประมาทชนจําเลย ขอให้ชดใช้ ค่าเสียหาย 8 แสนบาท แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้ง จําเลยจึงยื่นคําร้องตามมาตรา 198 ขอให้ตนชนะคดีโดยขาดนัด ศาลจึงนัดสืบพยานในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560 ปรากฏว่าในวัน สืบพยาน โจทก์จําเลยไม่มาศาล ศาลจึงจําหน่ายคดีที่โจทก์ฟ้องจําเลยออกจากสารบบความ เพราะ คู่ความขาดนัดพิจารณาส่วนในฟ้องแย้งนั้นศาลพิพากษายกฟ้อง ภายหลังศาลมีคําพิพากษาดังกล่าว แล้ว 5 วัน จําเลยจึงยื่นคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ในคดีฟ้องแย้ง ให้ท่านจงบอกหลักเกณฑ์การขอพิจารณาคดีใหม่ และตอบคําถามว่าศาลจะอนุญาตตามคําร้อง ขอพิจารณาคดีใหม่ของจําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 199 ตรี “จําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น จําเลยนั้นอาจมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่…”
มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง “คําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับจากที่ได้ส่งคําบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่งให้แก่จําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ”
มาตรา 199 เบญจ วรรคสอง “ในการพิจารณาคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่า การขาดนัดยื่นคําให้การนั้น มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร และศาลเห็นว่าเหตุผลที่อ้างมาในคําขอนั้น ผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้…”
วินิจฉัย
ในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรีนั้น ผู้ยื่นคําขอจะต้องเป็นจําเลยที่แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ โดยจะต้องมีคําขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ส่งคําบังคับตามคําพิพากษาให้ จําเลยตามมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง และต้องแสดงเหตุให้ศาลเห็นว่าตนไม่ได้จงใจหรือมีเหตุอันควรตาม มาตรา 199 เบญจ วรรคสอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถด้วยความประมาทชนโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1 ล้านบาท และจําเลยยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์เป็นฝ่ายขับรถประมาทชนจําเลย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 8 แสนบาท แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้งและจําเลยได้ยื่นคําร้องตามมาตรา 198 ขอให้ตนชนะคดีโดยขาดนัด ปรากฏว่าในวันสืบพยานโจทก์จําเลยไม่มาศาล ศาลจึงสั่งจําหน่ายคดีที่โจทก์ฟ้องจําเลย ออกจากสารบบความ ส่วนในฟ้องแย้งนั้นศาลพิพากษายกฟ้อง และภายหลังศาลมีคําพิพากษาดังกล่าวแล้ว 5 วัน จําเลยได้ยื่นคําร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีฟ้องแย้งนั้น จะเห็นได้ว่า การขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีฟ้องแย้ง ของจําเลยนั้น เมื่อจําเลยมีสถานะเป็นโจทก์ในคดีฟ้องแย้งจึงไม่ถือว่าเป็นจําเลยผู้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ดังนั้น จําเลยจึงไม่สามารถยื่นคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 199 ตรี และศาลจะอนุญาตตามคําร้อง ขอพิจารณาคดีใหม่ของจําเลยไม่ได้
สรุป
ศาลจะอนุญาตตามคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจําเลยไม่ได้