การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. สหายและมิตรรัก ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง กรรชัยเป็นจําเลย โดยอ้างว่ากรรชัยขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ที่สหายขับมาและมีมิตรรักนั่งมาในรถยนต์นั้นด้วย ทําให้รถยนต์ของสหายเสียหาย และมิตรรักได้รับบาดเจ็บ ขอให้ศาลพิพากษาให้กรรชัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรรชัยให้การต่อสู้ว่ากรรชัยไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาท สหายต่างหากที่ขับรถยนต์ตัดหน้ารถยนต์ที่กรรชัยขับมาห้ามล้อไม่ทันจึงชนรถยนต์ของสหาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ากรรชัยไม่ประมาทจึงพิพากษายกฟ้อง มิตรรักคนเดียวยื่นฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคําพิพากษากลับคําพิพากษาศาลชั้นต้นให้กรรชัย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้ คําพิพากษาศาลอุทธรณ์จะมีผลถึงสหายด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วม หรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้
(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสหายและมิตรรักต่างได้รับความเสียหายจากการกระทําละเมิดของกรรชัย ย่อมถือว่าสหายและมิตรรักมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงเข้าเป็นคู่ความร่วมกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมฟ้องกรรชัยเป็นจําเลยได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 ที่วางหลักไว้ว่าบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจ เป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ ร่วมกันในมูลความแห่งคดี
แต่อย่างไรก็ตาม แม้สหายและมิตรรักสามารถเป็นโจทก์ร่วมได้ แต่ระหว่างสหายและมิตรรักนั้น ถือว่ามูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันได้ เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น กรรชัยจะต้อง รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แต่ละคนตามความเสียหายที่พิสูจน์ได้ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และมิตรรักคนเดียวยื่นฟ้องอุทธรณ์ กระบวนการพิจารณาที่กระทําโดยมิตรรักคู่ความร่วมคนหนึ่งจึงไม่ถือว่า ทําแทนคู่ความร่วมคนอื่น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่กลับคําพิพากษาศาลชั้นต้นให้กรรชัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงไม่มีผลถึงสหายด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1)
สรุป
คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้กรรชัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยกลับคําพิพากษา ศาลชั้นต้นไม่มีผลถึงสหายด้วย
ข้อ 2. นายนนมีภูมิลําเนาที่จังหวัดตราดทําสัญญาซื้อขายโทรศัพท์มือถือให้กับนายบอสซึ่งมีภูมิลําเนาที่จังหวัดตราดเช่นกัน โดยมีการทําสัญญากันที่จังหวัดตราด และตกลงจะส่งมอบโทรศัพท์กันที่ จังหวัดระยอง เมื่อถึงวันส่งมอบ นายนนได้นําโทรศัพท์มือถือไปส่งให้นายบอสที่จังหวัดระยอง นายบอสจึงได้ออกเช็คชําระค่าโทรศัพท์กันที่จังหวัดระยอง ปรากฏว่าเช็คที่นายบอสออกถูกธนาคาร ปฏิเสธที่จังหวัดระยอง ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(1) หากนายนนฟ้องนายบอสให้รับผิดตามสัญญาซื้อขายเพียงอย่างเดียวที่จังหวัดระยองจะสามารถฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) หากเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่า นายนนต้องการฟ้องนายบอสให้รับผิดตามเช็คเพียงอย่างเดียว จะสามารถฟ้องที่จังหวัดระยองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(3) หากเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่า นายนนต้องการฟ้องนายบอสให้รับผิดทั้งตามสัญญาซื้อขายและตามเช็คในคดีเดียวกันที่จังหวัดระยองจะสามารถฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”
มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เพราะภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหา หลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่ง เช่นว่านั้นก็ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายนนได้ทําสัญญาซื้อขายโทรศัพท์มือถือให้กับนายบอสซึ่งมีภูมิลําเนาที่ จังหวัดตราด โดยได้ทําสัญญากันที่จังหวัดตราดนั้น เมื่อจังหวัดตราดเป็นสถานที่ที่ทําสัญญา จึงเป็นสถานที่ที่เกิดการโต้แย้งสิทธิขึ้น จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดตราด อีกทั้งนายบอสจําเลยก็มีภูมิลําเนาที่จังหวัดตราด ดังนั้น ถ้านายนนจะฟ้องนายบอสให้รับผิดตามสัญญาซื้อขายเพียงอย่างเดียว จึงต้องฟ้องที่จังหวัดตราดเท่านั้น จะฟ้อง ที่จังหวัดระยองไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)
(2) การที่นายนนจะฟ้องนายบอสให้รับผิดตามเช็คเพียงอย่างเดียวนั้น เมื่อการฟ้องใน ความผิดเกี่ยวกับเช็คนั้น ถือว่าสถานที่ออกเช็คเป็นต้นเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิ ดังนั้น นายนนจึงสามารถฟ้องนายบอส ต่อศาลจังหวัดระยองได้ เพราะมูลคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดระยองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 ได้วางหลักไว้ว่า คําฟ้องซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือ กว่านั้น เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดี โจทก์จะเสนอคําฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ ดังนั้นตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมื่อนายนนต้องการฟ้องนายบอสให้รับผิดทั้งตามสัญญาซื้อขายและตามเช็คในคดีเดียวกัน และเมื่อมูลคดีเกิดขึ้น ทั้งที่จังหวัดตราดและจังหวัดระยอง นายนนจึงสามารถฟ้องต่อศาลจังหวัดระยองได้
สรุป
(1) ถ้านายนนจะฟ้องให้นายบอสรับผิดตามสัญญาซื้อขายเพียงอย่างเดียวต้องฟ้องที่ จังหวัดตราด จะฟ้องที่จังหวัดระยองไม่ได้
(2) ถ้านายนนต้องการฟ้องนายบอสให้รับผิดตามเช็คเพียงอย่างเดียวสามารถฟ้องที่ จังหวัดระยองได้
(3) ถ้านายนนต้องการฟ้องนายบอสให้รับผิดทั้งตามสัญญาซื้อขายและตามเช็คในคดีเดียวกัน สามารถฟ้องที่จังหวัดระยองได้
ข้อ 3. นายพละยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์บนที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 ของนางส้มส้ม ศาลพิจารณาแล้วมีคําสั่งให้นายพละได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ คดีถึงที่สุด ต่อมาภายหลังคดีถึงที่สุด นางส้มส้มเพิ่งทราบว่าศาลสั่งให้นายพละได้กรรมสิทธิ์จึงนําคดีมาฟ้อง ต่อศาลโดยนางส้มส้มยื่นฟ้องขับไล่นายพละออกไปจากที่ดินเลขที่ 1234 อ้างว่านายพละไม่ได้ กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์เพราะนายพละอยู่ในที่ดินโดยอาศัยสิทธิของนางส้มส้ม ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางส้มส้มสามารถยื่นฟ้องนายพละในคดีหลังนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 144 “เมื่อศาลใดมีคําพิพากษา หรือคําสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดําเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วนั้น”
มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน..”
มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ ”
วินิจฉัย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น กรณีที่จะถือว่าเป็นการดําเนินกระบวน พิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 144 หรือกรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 หรือ กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) นั้น จะมีองค์ประกอบที่สําคัญ คือ เป็นกรณีที่คู่ความเดิมได้นํามูลความแห่งคดีเดิมมาฟ้องร้องบังคับคดีกันอีกครั้งหนึ่ง
กรณีตามอุทาหรณ์ คดีเรกที่นายพละยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์บนที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 ของนางส้มส้ม และศาลได้มีคําสั่งให้นายพละได้กรรมสิทธิ์โดย การครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นการยื่นคําร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท คู่ความในคดีจึงมีฝ่ายเดียว โดยนางส้มส้ม มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อนางส้มส้มจะนําคดีมาฟ้องนายพละเป็นคดีใหม่ โดยที่นางส้มส้มไม่เคยเป็นคู่ความ ในคดีมาก่อน จึงมิใช่กรณีที่คู่ความเดิมนํามูลความแห่งคดีเดิมมาฟ้องร้องบังคับคดีกันอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่เป็น การฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ํา หรือการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ําแต่อย่างใด ดังนั้นนางส้มส้มจึงสามารถยื่นฟ้องนายพละ ในคดีหลังนี้ได้
สรุป นางส้มส้มสามารถยื่นฟ้องนายพละในคดีหลังนี้ได้
ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 1 ทําสัญญากู้ยืมเงิน และจําเลยที่ 2 ทําสัญญาค้ำประกันหนี้รายนี้ จําเลยทั้งสองผิดนัดชําระหนี้ขอบังคับให้จําเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จําเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคําให้การ จําเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือปลอม โจทก์ยื่นคําขอให้ศาล วินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลพิเคราะห์คําฟ้องโจทก์ แล้วมีมูล และไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลสั่งให้โจทก์ส่งเอกสารสัญญากู้ต่อศาลแทนการสืบพยาน แล้ว รอการพิพากษาชี้ขาดคดี ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ 2 ศาลสั่งให้สืบพยานโจทก์จําเลย ในวัน สืบพยาน โจทก์และจําเลยที่ 1 ไม่มีผู้ใดมาศาล มาแต่จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 แถลงต่อศาลขอให้ศาล ดําเนินการพิจารณาคดีต่อไป ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้นจะมีคําพิพากษาหรือมีคําสั่งคดีนี้อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า “ถ้าโจทก์ไม่นําพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายใน ระยะเวลาที่ศาลกําหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์”
มาตรา 198 ตรี วรรคแรก “ในคดีที่จําเลยบางคนขาดนัดยื่นคําให้การ ให้ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การนั้นไปก่อนและดําเนินการ พิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ยื่นคําให้การต่อไป แต่ถ้ามูลความแห่งคดีนั้นเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยก จากกันมิได้ ให้ศาลรอการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การไว้ก่อน เมื่อศาลดําเนินการพิจารณา สําหรับจําเลยที่ยื่นคําให้การเสร็จสิ้นแล้วก็ให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีสําหรับจําเลยทุกคน”
มาตรา 200 วรรคแรก “ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา”
มาตรา 202 “ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จําเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดําเนินการพิจารณาคดีต่อไป ก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาด ตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องผู้กู้เป็นจําเลยที่ 1 และผู้ค้ำประกันเป็นจําเลยที่ 2 ให้ร่วมกัน รับผิดในหนี้กู้ยืม มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจําเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคําให้การ และศาลได้พิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ 1 โดยสั่งให้โจทก์ส่งเอกสารสัญญากู้ต่อศาลแทนการสืบพยาน แล้วรอการพิพากษาชี้ขาด ซึ่งเป็นไปตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ตรี วรรคแรก
สําหรับคดีระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ 2 จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การ ศาลสั่งสืบพยานโจทก์จําเลย ครั้นถึงวันสืบพยานโจทก์ไม่มาศาลและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี กรณีนี้ให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 200 วรรคแรก และจําเลยที่ 2 ได้แถลงต่อศาลให้ศาลดําเนินการพิจารณาคดีต่อไป กรณีเช่นนี้ ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในส่วนของจําเลยที่ 2 ไปฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 202 แล้วจึง มีคําพิพากษารวมทั้งสองคดีในคําพิพากษาเดียวกันตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ตรี วรรคแรก หรือแยกคําพิพากษา ก็ได้ โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่มาศาล ถือว่าโจทก์ไม่ส่งเอกสาร คดีโจทก์ไม่มีมูล ให้ศาลพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า และพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ 2 ตามที่ศาลได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งตามที่กล่าวข้างต้น