การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 นายจันทร์ได้ยืมรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์ 1 คัน เพื่อใช้ขับขี่ไปทำธุระโดยตกลงว่าจะนำไปคืนในวันที่ 18 สิหาคม 2549 ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2549 นายอาทิตย์ได้มอบให้นายจันทร์เป็นตัวแทนไปซื้อตู้เย็นให้แก่ตน 1 เครื่อง ราคา 20,000 บาท ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยตกลงให้นายจันทร์ออกเงินทดรองไปก่อน นายจันทร์ซื้อตู้เย็นเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้นำตู้เย็นไปส่งมอบให้แก่นายอาทิตย์ และได้ขอให้นายอาทิตย์ชำระเงินค่าตู้เย็นจำนวน 20,000 บาท ให้แก่ตนด้วย
นายอาทิตย์ได้รับมอบตู้เย็นเรียบร้อยแล้วจึงขอผัดผ่อนว่าจะชำระเงินให้ในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 แต่นายจันทร์ไม่ยินยอม ดังนี้อยากทราบว่า
(ก) นายจันทร์จะยึดตู้เย็นคืนจากนายอาทิตย์จนกว่าจะได้รับเงินทดรองที่ค้างจ่ายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) นายจันทร์จะยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์แทนเงินทดรองจ่ายที่ค้างชำระได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 819 ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน
วินิจฉัย
(ก) การที่นายอาทิตย์มอบให้นายจันทร์เป็นตัวแทนไปซื้อตู้เย็นโดยให้ออกเงินทดรองไปก่อนเมื่อซื้อตู้เย็นเสร็จเรียบร้อย นายจันทร์จึงนำตู้เย็นไปส่งมอบให้แก่นายอาทิตย์ แต่นายอาทิตย์ไม่ยอมชำระเงินให้โดยขอผัดผ่อนไปชำระให้ในภายหลัง กรณีนี้นายจันทร์จะยึดตู้เย็นคืนจากนายอาทิตย์ไม่ได้ เพราะการที่ตัวแทนจะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ ของตัวการทรัพย์นั้นจะต้องตกอยู่ในความครอบครองของตน แต่ตามอุทาหรณ์ นายจันทร์ได้ส่งมอบตู้เย็นให้แก่นายอาทิตย์แล้ว นายจันทร์ไม่ได้ครอบครองตู้เย็นที่ตนซื้อมาแล้ว จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะยึดหน่วงได้ตามมาตรา 819
(ข) นายจันทร์จะยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์แทนเงินทดรองที่ค้างชำระไม่ได้ เพราะการที่ตัวแทนจะยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวการได้จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ตกอยู่ในความครอบครองของตัวแทนเพราะการเป็นตัวแทนนั้น คือจะต้องเป็นทรัพย์ที่ตัวการมอบหมายให้ตัวแทนไปกระทำแทน แต่กรณีรถจักรยานยนต์ที่นายจันทร์ครอบครองมิใช่ทรัพย์ที่เกิดจากการเป็นตัวแทน แต่เกิดจากการที่นายจันทร์ไปยืมนายอาทิตย์มาใช้ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 819
สรุป นายจันทร์ไม่สามารถยึดตู้เย็นคืนและไม่สามารถยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์ได้
ข้อ 2 นายเอก เป็นเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ปรากฏว่านายเอกได้มอบกิจการให้นายโทเป็นผู้จัดการดูแลกิจการปั๊มน้ำมันแทน ปรากฏว่าในระหว่างที่นายโทดูแลกิจการปั๊มน้ำมันนั้น นายโทได้นำน้ำยาหล่อเย็นและที่ปัดน้ำฝนที่โรงงานของลุงมาขายที่ปั๊มน้ำมันของนายเอก ปรากฏว่านายโทนำน้ำยาหล่อเย็นไปขายให้นางสาวสวย โดยนางสาวสวยเข้าใจว่าปั๊มน้ำมันนายเอกจำหน่ายพวกน้ำยาเคมีเกี่ยวกับรถยนต์ด้วย เช่นนี้ถ้าปรากฏว่าน้ำยาหล่อเย็นที่นายโทเติมให้รถยนต์นางสาวสวยทำให้รถยนต์ของนางสาวสวยเสียหาย เพราะน้ำยาดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับรถของนางสาวสวย เช่นนี้ นางสาวสวยจะเรียกร้องให้นายเอก และนายโท ร่วมกันรับผิดตามสัญญาซื้อขายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 801 ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง
แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่ คือ
1 ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
2 ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป
3 ให้
4 ประนีประนอมยอมความ
5 ยื่นฟ้องต่อศาล
6 มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
มาตรา 820 ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน
มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ
วินิจฉัย
การที่นายเอก ได้มอบกิจการให้นายโทเป็นผู้จัดการดูแลกิจการปั๊มน้ำมันแทน ถือว่าเป็นการตั้งตัวแทนทั่วไป ตามมาตรา 801 ซึ่งนายโทตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป มีอำนาจที่จะกระทำกิจการได้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกิจการปั๊มน้ำมันตามมาตรา 801 วรรคแรก เว้นแต่กิจการตามวรรคท้าย (1) – (6) ที่นายโทตัวแทนไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้
ปรากฏว่าในระหว่างที่นายโทดูแลกิจการปั๊มน้ำมัน นายโทได้นำน้ำยาหล่อเย็นและที่ปัดน้ำฝนที่โรงงานของลุงมาขายที่ปั๊มน้ำมันของนายเอก ปรากฏว่านายโทนำน้ำยาหล่อเย็นไปขายให้นางสาวสวย ถือว่านายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน เพราะปั๊มน้ำมันของนายเอกตัวการไม่ได้จำหน่ายพวกน้ำยาเคมีรถยนต์ด้วย เช่นนี้นายเอกตัวการไม่ต้องร่วมรับผิด เมื่อปรากฏว่าน้ำยาหล่อเย็นที่นายโทเติมให้รถยนต์นางสาวสวย ทำให้รถยนต์ของนางสาวสวยเสียหาย ตามมาตรา 823 วรรคแรก เช่นนี้นางสาวสวยจะเรียกร้องให้นายเอกตัวการรับผิดไม่ได้ แม้ว่านางสาวสวยเข้าใจว่าปั๊มน้ำมันนายเอกจำหน่ายพวกน้ำยาเคมีเกี่ยวกับรถยนต์ด้วย แต่ไม่ปรากฏว่านายเอกตัวการได้ทำให้นางสาวสวยบุคคลภายนอกเชื่อว่านายโทตัวแทน กระทำการภายในขอบอำนาจแต่อย่างใด
แต่นางสาวสวยมีสิทธิเรียกให้นายโทตัวแทนรับผิดตามสัญญาซื้อขายได้ เพราะเมื่อนายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจต้องรับผิดต่อนางสาวสวยบุคคลภายนอกโดยลำพัง ตามมาตรา 823 วรรคแรก
สรุป นางสาวสวยมีสิทธิเรียกให้นายโทตัวแทนรับผิดตามสัญญาซื้อขาย เพราะเมื่อนายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบเขตอำนาจต้องรับผิดต่อนางสาวสวยบุคคลภายนอกโดยลำพัง ตามมาตรา 823 วรรคแรก
ข้อ 3 นาย ก ต้องการจะซื้อที่ดินเพื่อนำมาสร้างโรงงาน นาย ก จึงติดต่อกับนาย ข ได้จัดหาที่ดินมาให้นาย ข นำผู้แทนของนาย ก ไปดูที่ดินของนาย ค ปรากฏว่านาย ก พอใจในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงตกลงซื้อ และนาย ค ตกลงขาย ในที่สุดก็ได้ข้าทำสัญญาซื้อขายกัน นาย ข มาขอค่าบำเหน็จนายหน้ากับนาย ค แต่นาย ค ไม่ให้โดยอ้างว่านาย ข ไม่ได้ตกลงกันเรื่องค่านายหน้า และนาย ค คิดว่านาย ข เป็นฝ่ายผู้ซื้อ อีกทั้งนาย ค ก็ไม่ได้มอบหมายให้นาย ข เป็นนายหน้าฝ่ายผู้ขาย ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า นาย ค จะต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย ข หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ
มาตรา 846 วรรคแรก ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม
วินิจฉัย
นาย ก ติดต่อกับนาย ข ให้จัดหาที่ดินมาให้ นาย ข นำผู้แทนของนาย ก ไปดูที่ดินของนาย ค และนาย ก ก็ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว ดังนี้ การเป็นนายหน้าของนาย ข นั้น เป็นนายหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีการมอบหมายตกลงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะโดยทางตรงตามมาตรา 845 หรือจะโดยทางอ้อมตามมาตรา 846 แม้จะอ้างมาตรา 846 ก็จะต้องมีการมอบหมายแก่กัน ดังนั้นจึงวินิจฉัยได้ว่า นาย ค จึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้กับนาย ข (ฎ. 705/2505)
สรุป นาย ค ไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย ข