การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายเอกมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ นายโท นายเอกให้สิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินโฉนดเลขที่ 123 แก่นายชายเป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้นายเอกยังให้นางหญิงเช่าอพาร์ทเมนต์ 1 ห้อง เป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่นายเอกให้สิทธิแก่คนทั้งสองแล้วเป็นเวลา 1 ปี นายเอกและนางหญิงเดินทาง ไปต่างจังหวัดและประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ดังนี้ สิทธิเหนือพื้นดินและสิทธิตามสัญญาเช่าเป็นมรดกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1600 “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”
วินิจฉัย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ได้บัญญัติไว้ว่า มรดกซึ่งจะตกทอดแก่ผู้เป็นทายาทเมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย เว้นแต่สิทธิ หน้าที่และ ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ จะไม่ตกทอดไปยังทายาท
กรณีตามอุทาหรณ์ สิทธิเหนือพื้นดินและสิทธิตามสัญญาเช่าเป็นมรดกหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
1 กรณีสิทธิเหนือพื้นดิน การที่นายเอกให้สิทธิเหนือพื้นดินในที่ดินโฉนดเลขที่ 123 แก่ นายชายเป็นเวลา 10 ปี และหลังจากนั้นอีก 1 ปี นายเอกได้ถึงแก่ความตายนั้น ตามกฎหมายเมื่อนายเอกเจ้าของที่ดิน ถึงแก่ความตาย ย่อมไม่ทําให้สิทธิเหนือพื้นดินระงับสิ้นไป หน้าที่ที่จะต้องให้ผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดินใช้ประโยชน์ เหนือพื้นดินต่อไปนั้นไม่ถือว่าเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ดังนั้น เมื่อนายเอกถึงแก่ความตาย หน้าที่และ สิทธิดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท กล่าวคือ นายโททายาทของนายเอกจะต้องให้นายชายใช้ประโยชน์ เหนือพื้นดินนั้นต่อไปจนครบ 10 ปี
2 กรณีสิทธิตามสัญญาเช่า การที่นายเอกให้นางหญิงเช่าอพาร์ทเมนต์ 1 ห้อง เป็นเวลา 2 ปี และหลังจากนั้นอีก 1 ปี นางหญิงผู้เช่าถึงแก่ความตายนั้น สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าย่อมระงับสิ้นไป เพราะสิทธิตามสัญญาเช่านั้นผู้ให้เช่าได้คํานึงถึงคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของผู้เช่า สิทธิตามสัญญาเช่าโดย สภาพจึงเป็นการเฉพาะตัวของผู้เช่าโดยแท้ ดังนั้น สิทธิตามสัญญาเช่าจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
สรุป
สิทธิเหนือพื้นดินเป็นมรดก แต่สิทธิตามสัญญาเช่าไม่เป็นมรดก
ข้อ 2 นายหนึ่งจดทะเบียนสมรสกับนางศรีมีบุตรคือ นายสอง ต่อมานางศรีป่วยตาย นายสองอยู่กินกับนางเดือนมีบุตรคือนายเอและนายบี ซึ่งนายสองให้ใช้นามสกุล นายเอจดทะเบียนสมรสกับนางส้ม มีบุตรคือนายซี ส่วนนายบีได้อยู่กินกับนางแดงมีบุตรคือนายดํา ซึ่งนายบีได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่า เป็นบิดา ต่อมานายดําจดทะเบียนสมรสกับนางเกตแต่ไม่มีบุตร นายดําจึงจดทะเบียนรับนายธงมา เป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นนายสองป่วยถึงแก่ความตาย นายเอทําหนังสือ สละมรดกของนายสองมอบแก่ผู้อํานวยการเขตบางกะปิ ต่อมานายที่ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายดําป่วยและถึงแก่ความตาย ต่อมาไม่นานนายหนึ่งประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ดังนี้จงแบ่งมรดกของนายหนึ่งซึ่งมีเงินฝากในธนาคาร 240,000 บาท
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”
มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”
มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”
มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคราง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”
มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”
มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”
มาตรา 1645 “การที่บุคคลใดสละมรดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น ไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะ รับมรดกแทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมรดกของบุคคลอื่น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายหนึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกทั้งหมดจํานวน 240,000 บาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งนั้น โดยหลักแล้วคือนางศรีภริยาในฐานะคู่สมรสและนายสองซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1629 (1) และวรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางศรีและนายสองได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก ดังนั้นนางศรีและ นายสองจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่ง เพราะไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายสองซึ่งจะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) ถึงแก่ความตาย ก่อนเจ้ามรดก และนายสองมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือนายเอและนายบี ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมาย (เพราะนายสองกับ นางเดือนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน) ที่นายสองบิดาได้รับรองแล้ว (นายสองให้ใช้นามสกุล) ตามมาตรา 1627 ดังนั้น นายเอและนายบีย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายสองเพื่อรับมรดกของนายหนึ่งได้ตามมาตรา 1639 และ 1643
และตามมาตรา 1639 ตอนท้ายได้บัญญัติว่าในการรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้มีการรับมรดก แทนที่กันเป็นราย ๆ สืบต่อกันไปจนหมดสาย แต่ผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกแทนที่ผู้สืบสันดานคนก่อนนั้น จะต้องเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงด้วยตามมาตรา 1643 ดังนั้น เมื่อนายสองถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกนายเอ และนายบีรวมทั้งผู้สืบสันดานของนายบีจะรับมรดกแทนที่นายลองได้เพียงใด หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของนายเอ เมื่อนายเอเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายสอง นายเอย่อมมีสิทธิรับมรดก แทนที่นายสองได้ตามมาตรา 1639 และ 1643 และแม้จะปรากฏว่านายเอได้สละมรดกของนายสองโดยถูกต้อง ตามมาตรา 1612 แล้วก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิของนายเอที่จะรับมรดกแทนที่นายสองในการสืบมรดกของนายหนึ่ง ตามมาตรา 1645 ดังนั้น นายเอจึงมีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งโดยการรับมรดกแทนที่นายสองได้ ส่วนนายซี ซึ่งเป็นบุตรของนายเอจะเข้ามารับมรดกแทนที่นายเอไม่ได้ เพราะนายเอยังมิได้ถึงแก่ความตายแต่อย่างใด
กรณีของนายบี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายปีได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกเช่นเดียวกับ นายสอง นายบีจึงไม่อาจรับมรดกแทนที่นายสองได้ และแม้นายบีจะมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือนายดําซึ่งเป็นบุตร นอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว (นายบีได้แจ้งเกิดในสูติบัตรว่าเป็นบิดา) ตามมาตรา 1627 แต่นายดําก็ได้ถึงแก่ ความตายก่อนเจ้ามรดกเช่นเดียวกับนายบีและนายสอง ดังนั้น นายดําจะเข้ามารับมรดกแทนที่นายบีไม่ได้ เช่นเดียวกัน จึงเหลือเฉพาะนายธงซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนายดํา แต่เมื่อปรากฏว่านายธงเป็นเพียงบุตรบุญธรรม ของนายดํามิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายดํา นายธงจึงไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกแทนที่นายดําตามมาตรา 1639 และ 1643 ดังนั้น มรดกของนายสอง (ที่จะได้รับจากนายหนึ่ง) ในส่วนที่จะตกได้แก่นายบีนั้น จึงไม่มีผู้ใดที่จะมีสิทธิ รับมรดกแทนที่ได้ จึงมีผลทําให้มรดกทั้งหมดของนายหนึ่งจํานวน 240,000 บาท ตกได้แก่นายเอแต่เพียงผู้เดียว
สรุป
มรดกทั้งหมดของนายหนึ่งจํานวน 240,000 บาท ตกได้แก่นายเอแต่เพียงผู้เดียว
ข้อ 3 นายนิดจดทะเบียนสมรสกับนางหน่อย มีบุตรชื่อนายใหญ่ หลังจากนั้นนายนิดไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสวยมีบุตรชื่อเด็กชายจิ๋ว นายนิดอุปการะเลี้ยงดูและให้เด็กชายจิ๋วใช้นามสกุลตลอดมา ต่อมานายใหญ่โกรธที่นายนิดใบมีภริยาใหม่จึงใช้อาวุธปืนยิงนายนิดถึงแก่ความตาย นางหน่อยเห็นเหตุการณ์ แต่ไม่แจ้งผู้ใดเพราะเกรงว่านายใหญ่จะถูกจับ แต่ที่สุดนายใหญ่ถูกจับกุมและดําเนินคดีจนศาล มีคําพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจําคุกฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ขณะถึงแก่ความตาย นายนิดมีทรัพย์มรดก เป็นเงินสด 3,000,000 บาท และไม่ได้ทําพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใด ให้วินิจฉัยว่าทรัพย์มรดกของนายนิดตกทอดแก่ผู้ใด เพียงใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาแต่มิได้นําข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะ เอาตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มีให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริต ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง”
มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”
มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”
มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”
มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”
มาตรา 1635 “สําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้ เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายนิดถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกทั้งหมดของ นายนิดจํานวน 3,000,000 บาท ย่อมตาทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิ และไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายนิด แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
1 นายใหญ่ ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายนิดและเป็นทายาทโดยธรรมตาม มาตรา 1629 (1) นั้น เมื่อปรากฏว่า นายใหญ่ใช้อาวุธปืนยิงนายนิดเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จนถูกศาลพิพากษา ถึงที่สุดลงโทษจําคุกฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา นายใหญ่จึงเป็นบุคคลที่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ตามมาตรา 1606 (1) ดังนั้น นายใหญ่จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายนิด
2 นางหน่อย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายนิด และเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 วรรคสองนั้น การที่นางหน่อยเห็นเหตุการณ์ในขณะที่นายใหญ่ใช้อาวุธปืนยิงนายนิดถึงแก่ความตาย แต่มิได้นําความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษ แต่เมื่อผู้ที่ฆ่าเจ้ามรดกนั้นเป็น ผู้สืบสันดานโดยตรงของนางหน่อย จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1606 (3) ตอนท้าย ที่นางหน่อยจะไม่ถูกกําจัดมิให้ รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร ดังนั้น นางหน่อยจึงมีสิทธิรับมรดกของนายนิด และมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่า ตนเป็นทายาทชันบุตรตามมาตรา 1635 (1)
3 เด็กชายจิ๋ว ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายนิดเพราะเกิดจากนางสวยซึ่งมิได้ จดทะเบียนสมรสกับนายนิด แต่เมื่อนายนิดได้รับรองโดยการอุปการะเลี้ยงดูและให้เด็กชายจิ๋วใช้นามสกุลตลอดมา ดังนั้นเด็กชายจิ๋วจึงมีสิทธิรับมรดกของนายนิดในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627
4 นางสวย เมื่อนางสวยเป็นภริยาของนายนิดแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายนิด นางสวย จึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง ดังนั้น นางสวยจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายนิด
เมื่อบุคคลผู้มีสิทธิรับมรดกของนายนิดมี 2 คน ได้แก่ เด็กชายจิ๋วในฐานะผู้สืบสันดาน และ นางหน่อยในฐานะคู่สมรสซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกชั้นเดียวกับเด็กชายจิ๋ว ดังนั้นทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับมรดกในส่วนแบ่ง เท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1633 คือจะได้รับส่วนแบ่งคนละ 1,500,000 บาท
สรุป
ทรัพย์มรดกของนายนิดจะตกได้แก่ นางหน่อยและเด็กชายจิ๋วคนละ 1,500,000 บาท
ข้อ 4 นายเพชรและนางพลอยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย มีบุตร 2 คน คือ นายนิลและนางไพลินต่อมานายเพชรไปหลงรักนางสาวนก นายเพชรทิ้งนางพลอยแล้วไปอยู่กินกับนางสาวนกโดยไม่ได้ จดทะเบียนหย่ากับนางพลอย นายนิลอยู่กินกับนางทับทิมฉันสามีภริยา โดยทั้งสองคนตกลงกันว่า จะไม่จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางสาวมรกต นายนิลไม่ได้จดทะเบียนรับ นางสาวมรกตเป็นบุตร แต่นายนิลส่งเสียเลี้ยงดูนางสาวมรกตเป็นอย่างดี จนกระทั่งจบการศึกษา ระดับปริญญาตรี ส่วนนางไพลินมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อนายพงษ์ มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ ด.ญ.พิณ วันหนึ่งนายเพชรและนางไพลินประสบอุบัติเหตุถูกรถชน นางไพลินถึงแก่ความตายในที่ เกิดเหตุ ส่วนนายเพชรถึงแก่ความตายภายหลังที่โรงพยาบาล นายเพชรมีทรัพย์มรดกทั้งหมด 150,000 บาท นายนิลไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายเพชร นายนิลจึงทําหนังสือสละมรดก ของนายเพชรมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตบางซื่อ ดังนี้จงแบ่งมรดกของนายเพชร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”
มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงาน เจ้าหน้าที่หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”
มาตรา 1615 “การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น”
มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มี ผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”
มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็น ผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”
มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”
มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”
มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้ เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”
มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”
มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการี หามีสิทธิดังนั้นไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายเพชรถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายเพชร ทั้งหมดจํานวน 150,000 บาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิและ ไม่มีสิทธิในการรับมรดกของนายเพชร แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
1 นางพลอย เมื่อนางพลอยเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเพชร แม้นายเพชร จะทิ้งนางพลอยแล้วไปอยู่กินกับนางสาวนก แต่เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากับนางพลอย จึงถือว่านางพลอยยัง เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเพชร ดังนั้น นางพลอยจึงมีสิทธิรับมรดกของนายเพชรในฐานะคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคสอง ส่วนนางสาวนกซึ่งมิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเพชรจึงมิใช่ทายาทโดยธรรม และไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเพชร
2 นายนิล เมื่อนายนิลเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเพชร นายนิลย่อมมีสิทธิ รับมรดกของนายเพชรในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่นายเพชรถึง แก่ความตาย นายนิลได้ทําหนังสือสละมรดกของนายเพชรมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตบางซื่อ ซึ่งถือเป็นการสละมรดก โดยถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรา 1612 ดังนั้น นายนิลจึงเสียสิทธิในการรับมรดกของนายเพชร กล่าวคือ จะรับมรดกของนายเพชรในฐานะผู้สืบสันดานอีกไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายนิลได้สละมรดกนั้นเป็นการสละมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม เมื่อนายนิลมีผู้สืบสันดานคือนางสาวมรกตซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว (นายนิลได้ส่งเสียเลี้ยงดู เป็นอย่างดี) ตามมาตรา 1627 ดังนั้น นางสาวมรกตย่อมสามารถสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะ ได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่นายนิลจะได้รับตามมาตรา 1615 วรรคสอง
3 นางไพลิน ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเพชร และเป็นทายาทโดยธรรม ตามมาตรา 1629 (1) นั้น เมื่อได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก นางไพลินจึงไม่อาจรับมรดกของนายเพชรได้ เพราะไม่มีสภาพบุคคลในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านางไพลินมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือ ด.ญ.พิณ ดังนั้น ด.ญ.พิณจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นางไพลินได้ตามมาตรา 1639 และ 1643
เมื่อบุคคลผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายเพชรมีทั้งหมด 3 คน คือ นางพลอยซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก เสมือนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1) นางสาวมรกต และ ด.ญ.พิณ และเมื่อทั้ง 3 คนเป็นทายาทโดยธรรม ในลําดับเดียวกันตามมาตรา 1629 (1) ดังนั้นทั้ง 3 คน จึงต้องได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1633 คือ ทั้ง 3 คน จะได้รับส่วนแบ่งในมรดกของนายเพชรคนละ 50,000 บาท
สรุป
มรดกของนายเพชรจํานวน 150,000 บาท ตกได้แก่ นางพลอย นางสาวมรกต และ ด.ญ.พิณ คนละ 50,000 บาท