การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นาย ก มอบให้นาย ข ไปซื้อที่ดินโดยมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ นาย ข ไปซื้อที่ดินของนาย ค โดยนาย ข ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย ค ต่อมานาย ค ผิดสัญญา นาย ก จะฟ้องนาย ค ให้โอนที่ดินให้ได้หรือไม่ กรณีหนึ่ง
อีกกรณีหนึ่งจากกรณีข้างต้น หากนาย ก มอบหมายนาย ข ให้ไปซื้อที่ดินแต่สั่งด้วยปากเปล่า แล้วให้นำเงินไปวางประจำไว้ นาย ข เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย ค ดังนี้ หากนาย ค ผิดสัญญาไม่โอนที่ดินให้นาย ก นาย ก จะฟ้องนาย ค ให้โอนที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยทั้งสองกรณี
ธงคำตอบ
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
วินิจฉัย
กรรีแรก นาย ก มอบหมายให้นาย ข ไปซื้อที่ดินโดยมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ และนาย ข ตัวแทนได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนาย ค นาย ก ฟ้องนาย ค ได้ เพราะการมอบหมายมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา 798 ทำให้ผูกพันต่อกันระหว่างนาย ก กับนาย ค ถือว่ามีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามกฎหมาย
ส่วนกรณีที่สอง หากนาย ก มอบหมายให้นาย ข ไปซื้อที่ดินด้วยปากเปล่า แต่ให้นำเงินไปวางประจำไว้ และนาย ข ก็เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย ค ดังนี้ นาย ก ก็ฟ้องนาย ค ได้เช่นกัน เพราะกรณีที่ 2 นี้ เป็นเรื่องการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 ที่จะต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสอแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะใช้วิธี
(1) วางประจำ (วางมัดจำ) หรือ
(2) ชำระหนี้บางส่วนก็ได้ (ทั้งนี้ตามมาตรา 456 วรรคสอง)
ดังนั้น นาย ก จึงฟ้องนาย ค ได้ ถือว่ามีหลักฐานครบถ้วนโดยวิธีวางประจำแล้ว หากเลือกใช้วิธีวางประจำไว้ แม้การตั้งตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ระหว่างนาย ก กับนาย ค เพราะกรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798
สรุป นาย ก สามารถฟ้องบังคับนาย ค ให้โอนที่ดินได้ทั้งสองกรณี
ข้อ 2 นาย ก ซื้อที่ดินของนาย ข ความจริงนาย ก ซื้อแทนนาย ค ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายขณะที่จะเซ็นสัญญาต่อกันนาย ข ไปรู้มาแล้วว่านาย ก เป็นเพียงตัวแทน โดยความจริงนาย ค เป็นผู้ซื้อแต่นาย ก เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนี้ตามปัญหาให้ท่านวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นข้อกฎหมายเรื่องใด
ธงคำตอบ
มาตรา 797 อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการนั้น
อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้
มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆซึ่งตัวทแนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่
วินิจฉัย
มาตรา 806 มีหลักว่าก่อนเซ็นสัญญา หรือขณะเซ็นสัญญาบุคคลภายนอก หรือคู่สัญญาจะรู้ไม่ได้เลยว่าใครคือตัวการ จะต้องคิดว่าตัวแทนที่ออกหน้านั้นเป็นตัวการโดยสุจริต
ตามปัญหา ขณะเซ็นสัญญา นาย ข ได้รู้ความจริงแล้วว่า นาย ก เป็นเพียงตัวแทนไม่ใช่ตัวการ และรู้ด้วยว่า นาย ค คือตัวการ ดังนี้จึงไม่สามารถปรับเข้าได้กับมาตรา 806 เพราะมาตรา 806 คู่สัญญาจะต้องไม่รู้ว่าใครคือคัวการ ดังนั้นตามปัญญาจึงเป็นเพียงเรื่องตัวการตัวแทนตามปกติธรรมดาตามมาตรา 797 ไม่ใช่เรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา 806 (ฎ. 3179/2528)
สรุป กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการตัวแทนปกติธรรมดาตามมาตรา 797 มิใช่เรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามาตรา 806
ข้อ 3 ให้ท่านอธิบายโดยสังเขปว่าบำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้กี่ประการ อะไรบ้าง นาย ก มอบนาย ข ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยจะให้ค่าบำเหน็จ นาย ข นำที่ดินเสนอขายให้นาย ค และนาย ค ตกลงซื้อที่ดินแปลงนั้น ต่อมานาย ก ได้โอนที่ดินให้นาย ค และนาย ค ได้มอบเงินค่าที่ดินราคา 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าที่ดินทั้งหมด นาย ก มอบเงินค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย ข เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท แต่นาย ข ไม่พอใจบอกว่าน้อยไปโดยนาย ข ต้องการ 5 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย นาย ก บอกว่าจะให้เท่านี้ แต่นาย ข เถียงว่าตนควรจะได้ 5 แสนบาท คือ ห้าเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย นาย ก บอกว่าไม่ได้ตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นาย ก ยืนยันจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าตามความพอใจของนาย ก ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่านาย ข ควรจะได้ค่าบำเหน็จนายหน้าเท่าใด
ธงคำตอบ
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
มาตรา 846 วรรคแรก ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม
วินิจฉัย
บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้ 2 ประการ คือ
1 การมอบหมายตกลงกันชัดแจ้งตามมาตรา 845
2 แม้ไม่ชัดแจ้ง แต่พฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าน่าจะได้บำเหน็จนายหน้าตามมาตรา 846 คือ ได้บำเหน็จนายหน้าโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
นาย ก มอบนาย ข ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยจะให้ค่าบำเหน็จ นาย ข เสนอขายที่ดินให้นาย ค และนาย ค ซื้อที่ดินแปลงนั้นในราคา 10 ล้านบาท ดังนี้ เป็นกรณีที่นาย ก ตกลงว่า จะให้บำเหน็จนายหน้าแก่นาย ข แต่มิได้ตกลงว่าจะให้เท่าใดก็ต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามมาตรา 846 วรรคสอง เมื่อทางพิจารณาไม่อาจฟังเป็นยุติได้ ก็ให้ถือเอาตามธรรมเนียมคือร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อขายกันจริง ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3518/2526
ดังนั้น นาย ข ควรได้ 5 แสนบาท คือร้อยละ 5 ของยอดขายแท้จริง