การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายดีเป็นโจทก์ฟ้องว่าถูกนายเลวทําร้ายร่างกาย เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงมีคําสั่งประทับฟ้อง ไว้พิจารณา จําเลยให้การปฏิเสธอ้างเหตุป้องกัน ระหว่างสืบพยานโจทก์นายดียื่นคําร้องขอเพิ่มเติม ฟ้องว่านายดีเพิ่งทราบจากแพทย์ว่า ผลของการที่ถูกจําเลยทําร้ายเป็นเหตุให้นายดีเสียความสามารถ สืบพันธุ์จึงขอเพิ่มเติมฟ้องเป็นขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (2) จําเลย รับสําเนาคําร้องขอเพิ่มเติมฟ้องแล้วยื่นคําคัดค้านว่ากรณีไม่มีเหตุอันควรที่โจทก์จะขอเพิ่มเติมฟ้อง และคําร้องขอเพิ่มเติมฟ้องเช่นนี้ทําให้จําเลยเสียเปรียบ อีกทั้งศาลควรจะไต่สวนมูลฟ้องก่อนด้วย ศาลพิจารณาแล้วมีคําสั่งอนุญาตให้นายดีเพิ่มเติมฟ้องได้ โดยมิได้สั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อน
ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งอนุญาตให้นายดีโจทก์เพิ่มเติมฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 162 “ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้
(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจําเลย โดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)
มาตรา 163 วรรคหนึ่ง “เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอํานาจยื่นคําร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง ก่อนมีคําพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้ว ให้ส่งสําเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จําเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสํานวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้”
มาตรา 164 “คําร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิด หรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดีไม่ว่าจะทําเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าทําให้จําเลย เสียเปรียบ เว้นแต่จําเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดีเป็นโจทก์ฟ้องว่าถูกนายเลวทําร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับ อันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 295 ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับ ฟ้องไว้พิจารณานั้น ถือเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (1)
การที่ระหว่างสืบพยานโจทก์ นายดีโจทก์ยื่นคําร้องขอเพิ่มเติมฟ้องว่า นายดีเพิ่งทราบจากแพทย์ ว่าผลของการถูกทําร้ายเป็นเหตุให้นายดีเสียความสามารถสืบพันธุ์ จึงขอเพิ่มเติมฟ้องจากฐานทําร้ายร่างกายเป็นเหตุ ให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อาญา มาตรา 295 เป็นฐานทําร้ายร่างกายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ตาม ป.อาญา มาตรา 297 (2) นั้น ถือได้ว่ามีเหตุอันควรอีกทั้งการเพิ่มเติมฐานความผิดเช่นนี้ก็ไม่ถือว่าทําให้จําเลย เสียเปรียบ เว้นแต่จําเลยจะหลงต่อสู้ แต่เมื่อปรากฏว่า จําเลยให้การปฏิเสธอ้างเหตุป้องกันจึงไม่ถือว่าจําเลยหลงต่อสู้ กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164 ครบถ้วน ดังนั้น เมื่อศาล เห็นสมควรจะมีคําสั่งอนุญาต หรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับคําฟ้องเริ่มคดีตามที่บัญญัติไว้
ใน ปวิ.อาญา มาตรา 162 (1) ถ้าคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ศาลต้องสั่งไต่สวนมูลฟ้องก่อน จะสังประทับฟ้องไว้พิจารณา โดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้อง แม้เป็นการเพิ่มเติมฐานความผิด ศาลก็มี อํานาจที่จะสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องโดยไม่จําต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คําสั่งอนุญาตให้นายดีโจทก์เพิ่มเติมฟ้องของศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คําสั่งอนุญาตให้นายดีโจทก์เพิ่มเติมฟ้องของศาลเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท ในวันนัดพิจารณา โจทก์และจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้วจําเลยแถลงว่า “จําเลย ไม่มีทนายความและจะหาทนายความเอง หากในนัดหน้าจําเลยไม่มีทนายความก็ให้ศาลดําเนิน กระบวนพิจารณาต่อไปได้” ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดสอบถามคําให้การของจําเลยและสืบพยานโจทก์ นัดหน้า ในวันนัดหน้าต่อมาโจทก์และจําเลยมาศาล จําเลยแถลงว่ายังไม่มีทนายความ ขอให้ ศาลตั้งทนายความให้ ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่าจําเลยประวิงคดีและถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพ คดีไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ต่อไป และให้นัดฟังคําพิพากษา ให้วินิจฉัยว่า การดําเนิน กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 172 วรรคสอง “เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจําเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และ ศาลเชื่อว่าเป็นจําเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง และถามว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้ อย่างไรบ้าง คําให้การของจําเลยให้จดไว้ ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดําเนินการพิจารณาต่อไป”
มาตรา 173 วรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”
วินิจฉัย
โดยหลักในการพิจารณาคดีอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกนั้น ก่อนที่ศาลจะเริ่มทําการพิจารณาคดี ศาลต้องถามจําเลยก่อนว่ามีทนายความหรือไม่ ซึ่งถ้าจําเลยไม่มีและต้องการทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้ มิฉะนั้นกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง) ซึ่งคําว่า ก่อนเริ่มพิจารณา หมายความว่า ก่อนที่ศาลจะเริ่มพิจารณาโดยอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังและสอบถาม คําให้การจําเลยในคดีที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคสองนั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุก ในวันนัดพิจารณาศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จําเลยไม่มีทนายความและจะหาทนายความเอง ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปนัดสอบถาม คําให้การจําเลยและสืบพยานโจทก์ในนัดหน้า ซึ่งในวันนัดหน้าต่อมาจําเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จําเลยไม่มี ทนายความและขอให้ศาลตั้งทนายความให้นั้น กรณีนี้ถือได้ว่าจําเลยไม่มีและต้องการทนายความ และเมื่อคดีนี้ เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ดังนั้นก่อนเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นจะต้องตั้งทนายความให้จําเลยก่อนตาม ป.วิ.อาญา
มาตรา 173 วรรคสอง แล้วจึงสอบถามคําให้การของจําเลยว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คําให้การของจําเลยให้จดไว้ ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดําเนินพิจารณาต่อไปตามที่บัญญัติไว้ ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคสอง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งทนายความให้จําเลย และดําเนินการพิจารณาไป โดยมีคําสั่งเสียเองว่า ถือว่าจําเลยให้การรับสารภาพ คดีไม่จําต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ต่อไป และให้นัดฟัง คําพิพากษานั้น ย่อมเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาที่มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง และมาตรา 172 วรรคสอง ดังนั้น การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การดําเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของกลางคันหมายเลขทะเบียนตราด 123ของนายขาวไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) จําเลยทั้งสอง ให้การปฏิเสธ ศาลพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นคนลักรถจักรยานยนต์ ของนายขาว แต่หมายเลขทะเบียนที่ถูกต้องเป็นหมายเลขทะเบียน ตราด 132 ส่วนจําเลยที่ 2 ช่วยรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากจําเลยที่ 1 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่จําเลยที่ 1 ได้มาโดย การกระทําผิดการกระทําของจําเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ส่วนการกระทําของจําเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยทั้งสองหลงต่อสู้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ เพียงใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับ ความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ ความนั้นก็ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่า จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของกลาง คันหมายเลขทะเบียนตราด 123 ของนายขาวไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 335 (7) โดยจําเลย ทั้งสองให้การปฏิเสธ และเมื่อศาลพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นคนลักรถจักรยานยนต์ ของนายขาว แต่หมายเลขทะเบียนที่ถูกต้องเป็นหมายเลขทะเบียน ตราด 132 นั้น แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏ ในการพิจารณาจะแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญอันเป็นเหตุ ให้ศาลต้องยกฟ้อง และเมื่อปรากฏว่าจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 331 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง
ในส่วนของจําเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 2 ร่วมกระทําความผิดกับจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ แม้ในการพิจารณาจะได้ความว่าจําเลยที่ 2 กระทําความผิดฐานรับของโจรก็ตาม ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏใน การพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสําคัญ แต่เป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด ระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์กับรับของโจรเท่านั้น และเมื่อปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ก็มิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานรับของโจรตาม ป.อาญา มาตรา 357 ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง
สรุป ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ และจําเลยที่ 2 ฐานรับของโจรได้
ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยฐานใช้อาวุธมีดแทงนายสํารวมได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จําเลย ให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุเนื่องจากนายสํารวมได้เข้ามาทําร้ายตนก่อน จึงแทงนายสํารวม 1 ครั้งเพื่อป้องกันตน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจําเลยมีเจตนา ทําร้ายนายสํารวมจึงใช้อาวุธมีดแทงนายสํารวมทางด้านหลังขณะที่ยืนพูดคุยกับผู้อื่นเป็นเหตุให้ นายสํารวมได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน จึงพิพากษาว่าจําเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ลงโทษจําคุก 3 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษ จําคุกจําเลยให้หนักขึ้น และจําเลยอุทธรณ์อ้างว่าการกระทําของตนเป็นการป้องกันพอสมควรแก่ เหตุเนื่องจากนายสํารวมได้เข้ามาทําร้ายตนก่อนจึงใช้อาวุธมีดแทงนายสํารวม 1 ครั้งเพื่อป้องกันตน ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจําเลยได้กระทําความผิดจริงตามฟ้องโดยจําเลยเป็น ฝ่ายใช้อาวุธมีดแทงนายสํารวมได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน จึงพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 5 ปี เมื่อพ้นโทษแล้วให้รักกันภายหลังพ้นโทษเป็นเวลา 3 ปี โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้น จําเลยยังคงฎีกาอ้างว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เพราะนายสํารวมทําร้ายจําเลยก่อน จําเลยจึงแทงนายสํารวม 1 ครั้งเพื่อป้องกันตนไม่เป็นความผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์และจําเลย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลชั้นต้น ที่รับฎีกาของโจทก์และจําเลย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และ ให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุก จําเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”
มาตรา 219 ทวิ วรรคสอง “ในการนับกําหนดโทษจําคุกตามความในมาตรา 218 และ 219 นั้น ห้ามมิให้คํานวณกําหนดเวลาที่ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมเข้าด้วย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 297 ลงโทษจําคุก 3 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจําเลยได้กระทําผิดจริงตามฟ้อง ให้ลงโทษจําคุกจําเลย 5 ปี และเมื่อ พ้นโทษแล้วให้กักกันจําเลยภายหลังพ้นโทษเป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคําพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะโทษที่ลงแก่จําเลยจากจําคุก 3 ปี เป็นจําคุก 5 ปี โดยมิได้แก้บทมาตราด้วย ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และแม้ว่าศาลอุทธรณ์จะมีคําสั่งให้กักกันจําเลยหลังพ้นโทษอีกเป็นเวลา 3 ปี แต่กักกันนั้นมิใช่โทษเป็นเพียง วิธีการเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น และตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ทวิ วรรคสอง ก็ได้บัญญัติห้ามมิให้คํานวณ กําหนดเวลาที่ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมกับโทษจําคุกตามคําพิพากษา ดังนั้น คดีนี้ ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้นนั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกําหนดโทษ ของศาลอุทธรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการที่โจทก์ฎีกาและศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์ คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการที่จําเลยฎีกาโดยอ้างว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนเพราะโจทก์ทําร้าย จําเลยก่อน จําเลยจึงแทงโจทก์ 1 ครั้งเพื่อป้องกันตัวนั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ของศาล ซึ่งถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จําเลยฎีกา และศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของจําเลย คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คําสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของโจทก์และจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย