การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 270,000 บาท ต่อศาลจังหวัดอุดรธานีต่อมาจําเลยให้การโต้แย้งในเรื่องกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจําเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นวาคดีดังกล่าวอยู่ในอํานาจของศาลแขวงอุดรธานี จึงมีคําสั่งโอนคดีไปยัง ศาลแขวงอุดรธานี คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดอุดรธานีชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”
มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”
มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ให้ศาลนั้น พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป”
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 270,000 บาท ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งโดยหลักแล้วการฟ้องขับไล่นั้นเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อัน ไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อจําเลยให้การโต้แย้งว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของจําเลย คดีดังกล่าวจึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจ คํานวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์ในคดีนี้คือ 270,000 บาท ทําให้คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ใน อํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงอุดรธานีตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17
อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 และแม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนี้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์และเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ตาม ตามมาตรา 19/1 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติให้ ศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้นต่อไป ดังนั้น ศาลจังหวัดอุดรธานีจึงต้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีไม่ได้ การที่ศาลจังหวัดอุดรธานี้มีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงอุดรธานีนั้น คําสั่งโอนคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดอุดรธานีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หมายเหตุ มาตรา 18 และมาตรา 19/1 ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมใหม่ โดย พ.ร.บ. แก้ไข เพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558
ข้อ 2. นายกานต์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตากมอบหมายให้นายธันวาผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดตากไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ผู้เสียหายฟ้องนายมกราเป็นจําเลยข้อหาหมิ่นประมาทโดยการ โฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 (มีอัตราโทษจําคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท) นายธันวาได้ไต่สวนพยานโจทก์เสร็จแล้วเห็นว่า
ก) คดีโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องโจทก์ หรือ
ข) คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง เช่นนี้ นายธันวามีอํานาจทําคําสั่งตามข้อ ก) หรือมีคําพิพากษาตามข้อ ข) ได้หรือไม่ หรือจะต้องดําเนินการใดจึงจะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”
มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”
มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี
มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่ กําหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่ คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ก) ตามมาตรา 25 (3) ผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้ ดังนั้น การที่นายกานต์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตากได้มอบหมายให้นายธันวาผู้พิพากษาอาวุโสในศาล จังหวัดตากไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ผู้เสียหายฟ้องนายมกราเป็นจําเลยในคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตาม ป.อาญา มาตรา 328 และเมื่อนายรันวาได้ไต่สวนมูลฟ้องจากพยานโจทก์เสร็จแล้วเห็นว่าคดีโจทก์มีมูลนั้น นายธันวาย่อมมีอํานาจออกคําสั่งให้ประทับฟ้องคดีของผู้เสียหายได้ ตามมาตรา 25 (3)
ข) การที่นายธันวาได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้แล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลและจะพิพากษาให้ ยกฟ้องนั้น แม้ว่าคดีดังกล่าวจะมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีก็ตาม แต่คดีนี้มีโทษปรับ 200,000 บาท ซึ่งเกินกว่า 60,000 บาท กรณีนี้จึงเกินกว่าอํานาจผู้พิพากษาคนเดียวที่กําหนดไว้ในมาตรา 25 (5) ดังนั้น นายธันวาจึงไม่มี อํานาจพิพากษาให้ยกฟ้องได้เพียงคนเดียว และกรณีดังกล่าวนี้ถือได้ว่ามีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตาม มาตรา 31 (1) ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 29 ทําให้นายธันวาไม่อาจทําคําพิพากษาในคดีนี้ได้ ดังนั้น นายธันวาจึงต้องนําสํานวนคดีนี้ไปให้นายกานต์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสํานวนและลงรายมือชื่อร่วม ในคําพิพากษาด้วย คําพิพากษาจึงจะชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 26 ประกอบมาตรา 29 (3) และมาตรา 31 (1)
สรุป
ก) นายธันวามีอํานาจออกคําสั่งให้ประทับฟ้องคดีของโจทก์ได้
ข) นายธันวาเพียงคนเดียวจะพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์ไม่ได้ จะต้องนําสํานวนคดีนี้ ไปให้นายกานต์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสํานวนและลงรายมือชื่อทําคําพิพากษาด้วย
ข้อ 3. ศุขวงศ์เป็นโจทก์ฟ้องหน่อเมืองต่อศาลจังหวัดน่านข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี นางแม้นเมืองผู้พิพากษา หัวหน้าศาลได้จ่ายสํานวนคดีดังกล่าวให้นางเขียนคําและนายอินทรผู้พิพากษาศาลจังหวัดเป็น องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว ระหว่างพิจารณานางเขียนคําต้องพักรักษาตัวจากการผ่าตัด เป็นเวลา 1 เดือน นายอินทรจึงไปปรึกษานางแม้นเมืองผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แต่นางแม้นเมือง ได้เดินทางไปอบรมที่สถาบันพัฒนาข้าราชการตุลาการ นายอินทรจึงนําคดีไปให้นายแสนอินทะ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดน่านทําการพิจารณาคดีนี้ต่อไปจนกระทั่งพิพากษา เพราะเห็นว่า นายแสนอินทะมีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัดน่าน ในกรณีนี้ คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 9 “ในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ศาลละหนึ่งคนเมื่อตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อ ผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มี อาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน
ในกรณีที่ไม่มีผู้ทําการแทนตามวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็น ผู้ทําการแทนก็ได้
ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจําศาลจะเป็นผู้ทําการแทนในตําแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้”
มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”
มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษา ดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้น ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย”
มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อคดีที่ศุขวงศ์เป็นโจทก์ฟ้องหน่อเมืองต่อศาลจังหวัดน่านเป็นคดีอาญา ข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตาม ป.อาญา มาตรา 290 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี จึงต้องมี ผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะตามมาตรา 26
การที่นางแม้นเมืองผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นางเขียนคําและ นายอินทรผู้พิพากษาศาลจังหวัดเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างพิจารณา นางเขียนคําต้องพักรักษาตัวจากการผ่าตัดเป็นเวลา 1 เดือน จึงถือเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตาม มาตรา 30 กล่าวคือ เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาคดีนั้นได้ ดังนั้นจึงต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคือนางแม้นเมือง หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นตามที่นางแม้นเมือง มอบหมายนั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปตามมาตรา 28 (3)
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางแม้นเมืองได้เดินทางไปอบรมไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ในกรณีนี้ ตามมาตรา 9 วรรคสอง จะต้องให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน ดังนั้นเมื่อนายอินทร ได้นําเอาคดีดังกล่าวไปให้นายแสนอินทะผู้พิพากษาอาวุโสในศาลนั้นทําการพิจารณาคดีนี้ต่อไปจนกระทั้งพิพากษา การกระทําของนายอินทรถือเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 9 วรรคท้าย ที่ห้ามผู้พิพากษาอาวุโสทําการแทน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล คําพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
สรุป
คําพิพากษาดังกล่าว ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม