การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแอลได้รับมอบอำนาจด้วยวาจาจากนายคิระ  ให้ดูแลกิจการขายหนังสือการ์ตูนแทนนายคิระ  เพราะนายคิระจะต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น  ในระหว่างที่นายคิระไม่อยู่  นายไรส์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง  DEATH  NOTE  มาเสนอขายแผ่นภาพยนต์  DVD  ให้นายแอล  ซึ่งนายแอลเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการทำเป็นหนังสือการ์ตูนมาก่อน  ซึ่งหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมจากวัยรุ่น  (OTOKO)  เป็นอย่างมาก  นายแอลจึงได้ทำสัญญาซื้อแผ่น  DVD  มูลค่า  60,000  บาท  จากนายไรส์มาจำหน่ายที่ร้านของนายคิระ  เมื่อนายคิระกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น  นายคิระเห็นแผ่น  DVD  ภาพยนตร์  DEATH  NOTE  ก็มิได้ว่ากล่าวอะไรนายแอลเพราะตนเองก็คิดว่าน่าจะขายได้  แต่ปรากฏว่าวัยรุ่นต่างไปดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนต์เพราะเป็นช่วงปิดเทอม  ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายแผ่น  DVD  ได้จนขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1       นายคิระจะต้องรับผิดชำระค่าแผ่น  DVD  ให้นายไรส์เป็นเงิน  60,000  บาทหรือไม่  เพราะเหตุใด

2       นายคิระจะเรียกร้องให้นายแอลรับผิดที่ขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาทได้หรือไม่  เพราะการตั้งตัวแทนกระทำด้วยวาจามิได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้

ธงคำตอบ

มาตรา  797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน  มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  812  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ  เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี  เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี  หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี  ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นายคิระมอบอำนาจให้นายแอลด้วยวาจา  ให้ดูแลกิจการร้านขายหนังสือการ์ตูน  ถือว่านายแอลเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  จึงมีอำนาจทำได้ทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการร้านขายหนังสือการ์ตูน  ตามมาตรา  801

1       ในระหว่างทำการแทน  นายไรส์บุคคลภายนอกนำแผ่น  DVD  เรื่อง  DEATH  NOTE  มาจำหน่ายให้ราคา  60,000  บาท  ซึ่งนายแอลตัวแทนได้รับซื้อไว้  ถือว่าการซื้อแผ่น  DVD  ครั้งนี้เป็นเรื่องที่นายแอลตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน  นายแอลโดยหลักต้องรับผิดโดยลำพัง  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายคิระตัวการได้ยอมรับเอาสิ่งที่นายแอลตัวแทนกระทำลงไป  ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน  ดังนั้น  นายคิระตัวการจึงต้องผูกพันต่อนายไรส์บุคคลภายนอก  ตามมาตรา  823  วรรคแรก  ประกอบมาตรา 801  วรรคแรก

2       ตามกฎหมายตัวแทน  มาตรา  797  มิได้บัญญัติกำหนดแบบหรือหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวการตัวแทนไว้  ดังนั้น  แม้นายคิระตัวการจะได้ให้สัตยาบันสัญญาซื้อแผ่น  DVD  ไปแล้วก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่านายคิระตัวการต้องเสียหาย  และขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาท  นายคิระตัวการก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนายแอลตัวแทนได้  ตามมาตรา  812

ในการนี้นายแอลจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าการตั้งตัวแทนมิได้มีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร  มิได้มีหนังสือตั้งตัวแทน  ขึ้นมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่  เพราะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ที่ใช้บังคับเฉพาะตัวการกับบุคคลภายนอกเท่านั้น

สรุป

1       นายคิระตัวการต้องรับผิดต่อนายไรส์  เพราะให้สัตยาบันแก่การซื้อแผ่น  DVD  ของนายแอลตัวแทน  ตามมาตรา  823  วรรคแรก

2       นายคิระมีสิทธิเรียกร้องให้นายแอลตัวแทนรับผิดค่าเสียหาย  ตามมาตรา  812

 

ข้อ  2  ให้ท่านยกข้อเปรียบเทียบระหว่างตัวแทนธรรมดากับตัวแทนค้าต่างมาอย่างละ  5  ข้อ  พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายขึ้นมาเปรียบเทียบแต่ละข้อด้วย

ธงคำตอบ

ข้อเปรียบเทียบระหว่างตัวแทนธรรมดากับตัวแทนค้าต่าง  มีดังนี้

 

ตัวแทนธรรมดา

ตัวแทนค้าต่าง

 

1       จะมีอาชีพอะไรก็ได้  ตามมาตรา  797

2       จะต้องทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทน  ตามมาตรา  798

3       บำเหน็จตัวแทนจะมีก็ได้  ไม่มีก็ได้  แล้วแต่จะตกลงกัน  ตามมาตรา  803

4       ตัวแทนธรรมดาไม่มีหน้าที่ที่จะต้องแถลง  ความเป็นไปของเนื้องาน  และแถลงบัญชี  เว้นแต่ต้องการจะร้องขอตามมาตรา  809

5       ผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทนธรรมดาได้  ตามมาตรา  799

 

1       จะมีอาชีพในทางค้าขายเท่านั้น  ตามมาตรา  833

2       ไม่ต้องทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทนค้าต่างเช่นกับตัวแทนธรรมดา  ตามมาตรา  798

3       จะต้องได้บำเหน็จ  ตามมาตรา 834

4       เป็นหน้าที่ของตัวแทนค้าต่างว่าจะต้องแถลงความเป็นไปและแถลงบัญชีเมื่องานเสร็จ  ตามมาตรา  841

5       ห้ามบุคคลไร้ความสามารถเป็นตัวแทนค้าต่าง  เพราะอาจจะต้องเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยเองได้  ตามมาตรา  836

(หากไม่มีเลขมาตราในแต่ละข้อไม่ได้คะแนน)

 

ข้อ  3  บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้กี่ประการอะไรบ้าง  ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปประกอบมาด้วยกรณีหนึ่ง

กรณีที่สอง  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า  แต่ไม่ได้ตกลงว่าจะให้กี่เปอร์เซ็นต์  นาย  ข  นำที่ดินเสนอขายให้แก่นาย  ค  นาย  ค  ตกลงซื้อ  และนาย  ก  กับนาย  ค  เข้าทำสัญญากัน  เมื่อนาย  ก  โอนที่ดินให้นาย  ค  แล้ว  นาย  ก ได้จ่ายบำเหน็จนายหน้า  2  เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย  แต่นาย  ข  ไม่ยอม  โดยจะขอค่านายหน้า  5  เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย  นาย  ก  ไม่ยอมจ่ายให้โดยจะให้แค่  2  เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  นาย  ข  ไม่ยอมจึงฟ้องนาย  ก  เรียกค่านายหน้า  5  เปอร์เซ็นต์  ดังนี้  หากท่านเป็นศาลท่านจะสั่งว่านาย  ข  ควรจะได้ค่านายหน้าเท่าใด  ให้ท่านตอบพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วย   

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

กรณีที่  1  บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้  2  ประการ

1       เกิดจากการมอบหมายโดยตรงตามมาตรา  845  วรรคแรก  ซึ่งมีหลักดังนี้

ก  ตกลงระหว่างผู้ขายกับนายหน้า

ข  จะต้องเป็นผู้ชี้ช่อง

ข  ให้  2  ฝ่ายเข้าทำสัญญากัน

2       เกิดจากการมอบหมายโดยปริยายตามมาตรา  846  ซึ่งมีหลักดังนี้

ก  ต้องมีการมอบหมายเช่นกัน  แต่ไม่ใช่มอบหมายโดยตรง  เช่น  มาตรา  845

ข  จากพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่ายอมทำให้เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ

ค  ให้ถือว่าจากพฤติการณ์ได้ตกลงกันโดยปริยายว่าจะมีค่าบำเหน็จ

กรณีที่  2  บำเหน็จนายหน้า  คู่สัญญาจะต้องตกลงกันให้ชัดแจ้ง  มิเช่นนั้นต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม  ตามมาตรา  846  วรรคสอง  ตามปัญหาเมื่อทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้ว่าให้ค่านายหน้าเท่าใดแน่นอน  ก็ต้องถือเอาตามธรรมเนียมร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันจริง  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะสั่งว่า   ข   ควรจะได้ค่านายหน้าตามธรรมเนียมคือ  5  เปอร์เซ็นต์  ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่  3581/2526

Advertisement