การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 270,000 บาท ต่อศาลจังหวัดราชบุรี ต่อมาจําเลยให้การโต้แย้งในเรื่องกรรมสิทธิ์ ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจําเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลจังหวัดราชบุรีเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอํานาจศาลแขวงราชบุรีจึงมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงราชบุรี คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดราชบุรีชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”
มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”
มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องคดีนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ให้ศาลนั้น พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป”
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 270,000 บาท ต่อศาลจังหวัดราชบุรี ซึ่งโดยหลักแล้วการฟ้องขับไล่นั้นเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจ คํานวณเป็นราคาเงินได้ คําฟ้องเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อจําเลยให้การโต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ ในที่ดินพิพาทเป็นของจําเลย คดีดังกล่าวจึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคํานวณเป็น ราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์ในคดีนี้คือ 270,000 บาท ทําให้คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณา พิพากษาของศาลแขวงราชบุรีตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17
อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้น คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดตามมาตรา 18 และแม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนี้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์และเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ตาม ตามมาตรา 19/1 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติให้ ศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้นต่อไป ดังนั้น ศาลจังหวัดราชบุรีจึงต้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงราชบุรีไม่ได้ การที่ศาลจังหวัดราชบุรีมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงราชบุรีนั้น คําสั่งโอนคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
คําสั่งโอนคดีดังกล่าวของศาลจังหวัดราชบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หมายเหตุ มาตรา 18 และมาตรา 19/1 ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมใหม่ โดย พ.ร.บ. แก้ไข เพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558
ข้อ 2. กรณีต่อไปนี้
ก. นายอรรถผู้ให้เช่าต้องการยื่นฟ้องขับไล่นายวันชัยผู้เช่าออกจากคอนโดมิเนียมและเรียกค่าเช่าที่ค้างชําระจํานวน 200,000 บาท
ข. นายอรรถผู้ให้เช่าต้องการยื่นฟ้องเรียกค่าเช่าคอนโดมิเนียมจํานวน 200,000 บาท จากนายวันชัยผู้เช่า ศาลแขวงมีเขตอํานาจในการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองกรณีดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
วินิจฉัย
ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีแพ่งที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาไม่ได้ (มาตรา 25 (4) ประกอบกับมาตรา 17)
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้
ก การที่นายอรรถผู้ให้เช่าต้องการยื่นฟ้องขับไล่นายวันชัยผู้เช่าออกจากคอนโดมิเนียม และเรียกค่าเช่าที่ค้างชําระจํานวน 200,000 บาทนั้น การฟ้องขับไล่ถือว่าเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคํานวณเป็นตัวเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้ว่าจะเรียกค่าเช่าที่ค้างชําระมาด้วยก็ตาม ดังนั้น นายอรรถจึงไม่สามารถยื่นฟ้องขับไล่นายวันชัยที่ศาลแขวง เพราะศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีแพ่ง ที่มีทุนทรัพย์หรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาทเท่านั้นตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
ข การที่นายอรรถผู้ให้เช่าต้องการยื่นฟ้องเรียกค่าเช่าคอนโดมิเนียมจากนายวันชัยผู้เช่า จํานวน 200,000 บาทนั้น เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอากรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สินให้กลับมาเป็นของตน จึงถือว่า เป็นคดีมีทุนทรัพย์ และเมื่อจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท นายอรรถจึงสามารถยื่นฟ้องที่ศาลแขวงได้ เพราะคดีนี้อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
สรุป
ก ศาลแขวงไม่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ข ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ข้อ 3. นายสิงห์กระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกายให้นายหมีได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 มีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และมารดานายหมี ได้ยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัด นายเอกผู้พิพากษาศาลจังหวัดได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีนี้ไม่มีมูล เห็นสมควรยกฟ้อง โดยทราบว่าคดีนี้เกินขอบอํานาจตน จึงนําเอาคดีนี้ไปให้นายโทผู้พิพากษา อาวุโสอันเป็นผู้พิพากษาเพียงคนเดียวที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อใน คําพิพากษา ด้วยเหตุว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดและผู้พิพากษานายอื่นในศาลจังหวัดนั้นไปราชการที่ศาลสูง กรณีนี้นายเอกกระทําโดยชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 9 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ “เมื่อตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้พิพากษาที่ มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่ มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน
ในกรณีที่ไม่มีผู้ทําการแทนตามวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็น ผู้ทําการแทนก็ได้
ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจําศาลจะเป็นผู้ทําการแทนในตําแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้”
มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”
มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”
มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้นมีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี
ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”
มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่ กําหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่ คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และมารดานายหมีได้ ยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัด ดังนั้นจึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็นองค์คณะตามมาตรา 18 และมาตรา 26 เพียงแต่การไต่สวนมูลฟ้องนั้นนายเอกผู้พิพากษาศาลจังหวัดสามารถทําโดยลําพังคนเดียวได้ตามมาตรา 25 (3) เพราะมาตรา 26 อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 25
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเอกได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกเกินกว่าอัตราโทษ ตามมาตรา 25 (5) และต้องการพิพากษายกฟ้อง กรณีจึงเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31 (1) ดังนั้น จึงต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลทําการตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกับนายเอก ตามมาตรา 29 (3)
แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไปราชการที่ศาลสูงพร้อมกับผู้พิพากษา ศาลชั้นต้นนายอื่น ดังนั้นจึงต้องให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน และหาก ไม่มีก็ต้องให้ประธานศาลฎีกาสั่งให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งมาทําการแทนตามมาตรา 9 วรรคสองและวรรคสาม แต่ห้ามผู้พิพากษาอาวุโสมาทําการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตามมาตรา 9 วรรคสี่
ดังนั้น การที่นายเอาได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้และเห็นสมควรยกฟ้อง ได้นําคดีนี้ไปให้นายโท ผู้พิพากษาอาวุโสตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อในคําพิพากษา จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 29 (3) และมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 9
สรุป
การกระทําของนายเอกไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
หมายเหตุ – มาตรา 18 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5)
พ.ศ. 2558 – มาตรา 29 (3) แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2555