การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายพงษ์ศักดิ์ เป็นเจ้าของรถตู้บริการสายมีนบุรี-บางกะปิ โดยมีนายสมชายเป็นลูกจ้างขับรถเลขทะเบียน 1234 กท. นายสมชายได้ขับรถตู้คันดังกล่าวด้วยความเร็วสูงทําให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ ก่อให้เกิดความบาดเจ็บแก่นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นางสาวสี่ และนางห้า ที่ท้องที่เขตมีนบุรี อันมีศาลจังหวัดมีนบุรีเพียงศาลเดียวในเขตท้องที่ดังกล่าวไม่มีศาลแขวงผู้โดยสารทั้งห้าต้องการฟ้องคดีนี้ เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนคนละ 100,000 บาทจากนายพงษ์ศักดิ์และนายสมชาย อยากทราบว่า

(ก) ผู้โดยสารทั้งห้าสามารถฟ้องคดีแพ่งคดีนี้ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และ

(ข) หากนายอดิศรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมีนบุรีเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีเพียงลําพังคนเดียวจะสามารถเป็นองค์คณะได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ใน อํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ผู้โดยสารทั้งห้าสามารถฟ้องคดีแพ่งคดีนี้ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ เป็นคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์หรือคดีที่มีคําขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคํานวณราคาเป็นเงินได้ เมื่อโจทก์หลายคนฟ้อง จําเลยหลายคนจึงต้องพิจารณาว่าโจทก์ใช้สิทธิเฉพาะตัวหรือไม่ หากเป็นสิทธิเฉพาะตัวให้พิจารณาทุนทรัพย์แยกกัน และเมื่อปรากฏว่าจําเลยมีหลายคนก็ต้องพิจารณาว่า จําเลยเป็นหนี้ร่วมกันหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว กรณี โจทก์ทั้งห้าได้รับบาดเจ็บถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงต้องยกทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน และจําเลยทั้งสองเป็น ลูกจ้างกับนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกัน ทําให้คดีนี้มีทุนทรัพย์ คือ ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งหมดเรียกร้อง และ จําเลยทั้งสองต้องชําระไม่เกินคนละ 100,000 บาท ซึ่งอยู่ในอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวหรือศาลแขวง ตามมาตรา 17 และมาตรา 25 (4) แต่เนื่องจากเขตมีนบุรีมีเพียงศาลจังหวัดมีนบุรี จึงสามารถฟ้องคดีดังกล่าวนี้ที่ ศาลจังหวัดมีนบุรีได้เลย โดยคิดทุนทรัพย์แยกตามโจทก์แต่ละคน และความรับผิดของจําเลยร่วมดังกล่าว

(ข) หากนายอดิศรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมีนบุรีเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี เพียงลําพังคนเดียวจะสามารถเป็นองค์คณะได้หรือไม่ เห็นว่าเมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท และโจทก์สามารถฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ซึ่งโดยหลักจะต้องมีผู้พิพากษาเป็นองค์คณะ 2 คนตามมาตรา 18 และมาตรา 26 แต่เนื่องจากมาตรา 26 อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 25 ดังนั้น นายอดิศรจึงสามารถเป็นองค์คณะ พิจารณาพิพากษาคดีเพียงลําพังคนเดียวได้ตามมาตรา 25 (4)

สรุป

(ก) ผู้โดยสารทั้งห้าสามารถฟ้องคดีแพ่งคดีนี้ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีได้

(ข) นายอดิศรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมีนบุรีสามารถเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีเพียงลําพังคนเดียวได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลแขวงขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท มีนายแดงผู้พิพากษาศาลแขวง เป็นองค์คณะ เมื่อพิจารณาคดีเสร็จ นายแดงและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวง ได้ย้ายไปรับราชการ ยังศาลอื่น นายดําผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวง ได้เข้าตรวจสํานวน ลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาคนเดียว โดยพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยหนึ่งปี ปรับห้าพันบาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 การทําคําพิพากษาของนายดําชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 9 วรรคสอง “เมื่อตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้า ศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น เป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับ ในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งเกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงพิจารณาคดีเสร็จแล้วได้ย้ายไปรับราชการยังศาลอื่น ถือเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้กรณีพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ โดยเกิดเหตุในขณะทําคําพิพากษาคดี ในศาลชั้นต้นตามมาตรา 30 ซึ่งตามมาตรา 29 (3) กําหนดให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอํานาจตรวจสํานวนและ ลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงได้ย้ายไปรับราชการยังศาลอื่น พร้อมกับนายแดง ดังนั้น นายดําผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น จึงเป็นผู้ทําการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ตามมาตรา 9 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 วรรคท้าย นายดําจึงมีอํานาจตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคํา พิพากษาในคดีนี้ได้ตามมาตรา 29 (3) ด้วย แต่การที่นายตําพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โดยโทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 นั้นไม่ชอบตามมาตรา 25 (5) เพราะผู้พิพากษา คนเดียวเป็นองค์คณะจะพิพากษาลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือนไม่ได้ แม้จะรอการลงโทษก็ถือเป็นการลงโทษเกินกว่า ที่กฎหมายกําหนด การทําคําพิพากษาของนายดําจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การทําคําพิพากษาของนายดําไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. ในศาลจังหวัดแห่งหนึ่ง มีนายเก่งดํารงตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นายสองผู้พิพากษาอาวุโส นายสาม นายสี่ นายห้า และนายหก ผู้พิพากษาศาลจังหวัด (เรียงตามลําดับอาวุโส) นายเก่งได้ จ่ายสํานวนคดีอาญาเรื่องหนึ่ง (อัตราโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี) ให้นายสามและนายสี่ เป็นองค์คณะ พิจารณาพิพากษาเมื่อองค์คณะทั้งสองได้รับสํานวนคดีแล้ว นายสามพบว่าจําเลยเป็นเพื่อนสนิท กับตนตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย นายสามเกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการ พิจารณาพิพากษาคดี จึงเสนอความเห็นต่อนายเก่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลให้โอนสํานวนคดีให้แก่ ผู้พิพากษาอื่น นายเก่งเห็นด้วยกับนายสามจึงโอนสํานวนคดีดังกล่าวให้นายหกเป็นองค์คณะแทนนายสาม ท่านเห็นว่าการกระทําดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 33 “การเรียกคืนสํานวนคดีหรือการโอนสํานวนคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ องค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทําได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณา หรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ที่มิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทําได้

ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณีไม่อาจ ปฏิบัติราชการได้หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสํานวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้น ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธาน ศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับ ในศาลนั้น เป็นผู้มีอํานาจในการเสนอความเห็นแทน ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีหนึ่งคนหรือมีหลายคนแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสํานวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้นทั้งหมด ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลนั้นเป็น ผู้มีอํานาจในการเสนอความเห็น

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจในการเสนอความเห็นตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง…”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยหลักแล้วเมื่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาล จ่ายสํานวนคดีให้แก่ องค์คณะผู้พิพากษาในศาลไปแล้ว ก็ต้องให้องค์คณะดังกล่าวนั้นพิจารณาคดีไปจนเสร็จสํานวน จะเรียกคืนสํานวนคดี หรือโอนสํานวนจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นไม่ได้ เว้นแต่

1 เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และ

2 ในกรณีของศาลจังหวัด ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัด ซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีนั้น เสนอความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดีนั้น หรือให้โอนสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น ๆ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสํานวนคดีให้นายสาม และนายสี่ เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง และต่อมานายเก่งได้เรียกคืนสํานวนคดีดังกล่าว และโอนสํานวนคดีให้นายหกเป็นองค์คณะแทนนายสาม เนื่องจากนายสามได้เสนอความเห็นต่อนายเก่งให้โอน สํานวนคดีให้แก่ผู้พิพากษาอื่น เพราะนายสามพบว่าจําเลยเป็นเพื่อนสนิทกับตนตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยนั้น การกระทําดังกล่าวของนายสามย่อมไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 33 ทั้งนี้เพราะเมื่อปรากฏว่า นายสามซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวพบว่าตนเองเป็นเพื่อนสนิทกับจําเลย และจะทําให้ กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีนั้นของศาล นายเก่งซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะสามารถเรียกคืนสํานวนคดีหรือโอนสํานวนคดีจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบในสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะอื่น ได้ก็ต่อเมื่อผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีนั้นได้เสนอความเห็นให้เรียกคืน สํานวนคดี หรือให้โอนสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น

แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่าในศาลนั้นมีนายสาม นายสี่ นายห้า และนายหกเป็น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเรียงตามลําดับอาวุโส และเมื่อนายสามกับนายสี่ ได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีนั้น ดังนั้น ผู้ที่จะเสนอความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดีจึงต้องเป็นนายห้า ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงไปมิใช่นายสาม การที่นายเก่งได้เรียกคืนสํานวนคดีและโอนสํานวนคดีเนื่องจากการที่นายสามเป็นผู้เสนอความเห็นนั้นการกระทํา ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป

การที่นายเก่งได้เรียกคืนสํานวนคดีและโอนสํานวนคดีดังกล่าวนั้นเป็นการกระทําที่ ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement