การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 304 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3

ข้อ 1. ในศาลอาญามีนายใหญ่ดํารงตําแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายกลาง นายเล็ก และนายน้อยดํารงตําแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตามลําดับ นายใหญ่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จ่ายสํานวนคดีให้นายโทผู้พิพากษาศาลอาญาและนายดําผู้พิพากษาประจําศาลศาลอาญา เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง เมื่อเริ่มสืบพยานโจทก์ไปได้เพียงปากเดียว ฝ่ายจําเลย ทราบว่านายโทเป็นญาติทางฝ่ายภริยาของผู้เสียหาย ทนายจําเลยจึงร้องคัดค้านนายโท เมื่อนายใหญ่ ได้รับคําร้องคัดค้านแล้วเห็นว่า หากให้นายโทเป็นองค์คณะพิจารณาคดีต่อไปอาจจะกระทบกระเทือน ต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี นายใหญ่จึงเรียกคืนสํานวนคดีดังกล่าว และโอน สํานวนคดีให้นายเอกผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญาเป็นองค์คณะแทนนายโท

ท่านเห็นว่าการกระทําดังกล่าวข้างต้นชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 33 วรรคแรก “การเรียกคืนสํานวนคดีหรือการโอนสํานวนคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ ขององค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทําได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือ พิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ที่มิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทําได้”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 33 วรรคแรกดังกล่าว เมื่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาล จ่ายสํานวนคดี ให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลไปแล้ว ก็ต้องให้องค์คณะดังกล่าวนั้นพิจารณาคดีไปจนเสร็จสํานวน จะเรียกคืน สํานวนคดีหรือโอนสํานวนจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นไม่ได้ เว้นแต่

1 เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม และ

2 รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในคดีนั้น เสนอความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดีนั้น หรือให้โอนสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายใหญ่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้จ่ายสํานวนคดีให้นายโท ผู้พิพากษาศาลอาญาและนายดําผู้พิพากษาประจําศาลศาลอาญา เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อเริ่มสืบพยานโจทก์ไปได้เพียงปากเดียว ได้มีการร้องคัดค้านจากฝ่ายจําเลยว่านายโท เป็นญาติทางฝ่ายภริยาของผู้เสียหาย จึงถือว่าเป็นกรณีที่อาจจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ดังนั้น ในการเรียกสํานวนคดีคืนและโอนสํานวนคดีนี้ไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป ในกรณีนี้ เป็นศาลอาญา นายใหญ่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อให้รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่มี อาวุโสสูงสุดในศาลนั้นคือนายกลางได้เสนอความเห็นให้กระทําได้

แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ปรากฏว่านายใหญ่ได้เรียกคืนสํานวนคดีดังกล่าว และโอนสํานวนคดี ให้นายเอกผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญาเป็นองค์คณะแทนนายโท โดยที่นายกลางรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่ได้ทําความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดีและโอนสํานวนคดีนั้นเสนอต่อนายใหญ่ แต่อย่างใด ดังนั้นการกระทําดังกล่าวของนายใหญ่จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 33 วรรคแรก

สรุป การกระทําดังกล่าวของนายใหญ่ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 2. นายดํากระทําความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่จังหวัดนครปฐมศาลแขวงจังหวัดนครปฐม พิพากษาให้จําคุกนายดํา มีกําหนด 6 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 2 ปี ยังไม่พ้นกําหนดระยะเวลารอการลงโทษ นายดําไปกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่จังหวัดราชบุรีขึ้นอีก ศาลแขวงจังหวัดราชบุรีพิพากษาให้จําคุก นายดํา มีกําหนด 6 เดือน ให้รอการลงโทษจําคุกนายดําไว้มีกําหนด 2 ปี ยังไม่พ้นกําหนดระยะเวลา รอการลงโทษ นายดําไปกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่ จังหวัดชุมพร พนักงานอัยการศาลแขวงจังหวัดชุมพรขอให้ศาลแขวงจังหวัดชุมพรพิพากษาลงโทษ นายดําจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และให้นําโทษที่ศาลแขวงจังหวัดนครปฐม และศาลแขวงจังหวัดราชบุรีให้รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษของศาลแขวงจังหวัดชุมพร ศาลแขวงจังหวัดชุมพรพิจารณาแล้วพิพากษาให้จําคุกนายดํา 6 เดือน ปรับหกพันบาท ไม่เสียค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นายดําจําเลยแถลงว่าไม่มีเงินเสียค่าปรับ ศาลแขวงจังหวัดชุมพรจึงเปลี่ยนโทษปรับเป็นกักขังแทนมีกําหนด 30 วัน และให้นําโทษจําคุกที่ ศาลแขวงจังหวัดนครปฐมและศาลแขวงจังหวัดราชบุรีให้รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษของ ศาลแขวงจังหวัดชุมพร เป็นจําคุก 18 เดือน และกักขังอีก 30 วัน นายอุทธรณ์ว่า พนักงานอัยการศาลแขวงจังหวัดชุมพร ไม่มีอํานาจขอให้นําโทษที่ศาลแขวงจังหวัดนครปฐมพิพากษาให้รอการลงโทษมาบวกเข้ากับโทษที่ศาลแขวงจังหวัดชุมพรพิพากษา เพราะ ศาลแขวงจังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นศาลในคดีหลังของศาลแขวงจังหวัดนครปฐมมิได้บวกโทษจําเลย เป็นการล่วงเลยเวลามาแล้ว ศาลแขวงจังหวัดชุมพรเป็นศาลในคดีหลังของศาลแขวงจังหวัดราชบุรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ได้แต่เพิ่มโทษจําเลยเฉพาะที่ศาลแขวงจังหวัดราชบุรี มิได้ เพิ่มโทษจําเลยเท่านั้น ส่วนที่ศาลแขวงจังหวัดชุมพรพิพากษาจําคุกจําเลย 6 เดือน และกักขังอีก 30 วันนั้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจําเลยต้องถูกจองจําถึง 7 เดือน ซึ่งผู้พิพากษาศาลแขวงจังหวัดชุมพรไม่มีอํานาจกระทําได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ขอให้พิพากษายกฟ้อง ท่านเห็นว่าคําร้องขอบวกโทษของศาลแขวงจังหวัดนครปฐมและศาลแขวงจังหวัดราชบุรีเข้ากับโทษ ของศาลแขวงจังหวัดชุมพรของพนักงานอัยการศาลแขวงจังหวัดชุมพร และคําพิพากษาของ

ศาลแขวงจังหวัดชุมพรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก “เมื่อปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตาม คําแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกําหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทําความผิด อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจําคุกสําหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกําหนดโทษที่รอการกําหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอ การลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

ประเด็นที่ 1 คําร้องขอบวกโทษของศาลแขวงจังหวัดนครปฐมและศาลแขวงจังหวัดราชบุรี เข้ากับโทษของศาลแขวงจังหวัดชุมพรของพนักงานอัยการศาลแขวงจังหวัดชุมพรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก ได้วางหลักไว้ว่า ถ้าจําเลยเคยได้กระทําความผิดมาก่อน และศาลในคดีก่อนได้พิพากษาว่าจําเลยกระทําความผิดและได้กําหนดโทษจําคุกที่จะลงแก่จําเลยไว้ แต่โทษจําคุกนั้น ให้รอการลงโทษไว้ภายในเวลาที่ศาลกําหนด ถ้าจําเลยได้มากระทําความผิดขึ้นอีกภายในเวลาที่ศาลกําหนดอันมิใช่ ความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน เข้ากับโทษในคดีหลัง ซึ่งโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนนั้นจะเป็นโทษเพียงคดีเดียวหรือหลายคดีก็ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายดําได้กระทําความผิดมาก่อน 2 คดี และศาลในคดีก่อนคือศาลแขวงจังหวัดนครปฐมและศาลแขวงจังหวัดราชบุรีได้พิพากษาให้จําคุกนายดําคดีละ 6 เดือน แต่โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 2 ปี ดังนี้เมื่อนายดําได้มากระทําความผิดขึ้นอีกภายในกําหนดระยะเวลารอการลงโทษ ศาลในคดีหลัง คือศาลแขวงจังหวัดชุมพรก็ต้องนําโทษจําคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจําคุกในคดีหลัง ดังนั้น การที่พนักงานอัยการศาลแขวงจังหวัดชุมพรได้ยื่นคําร้องให้ศาลแขวงจังหวัดชุมพรนําโทษที่ศาลแขวงจังหวัดนครปฐม และศาลแขวงจังหวัดราชบุรีให้รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษของศาลแขวงจังหวัดชุมพรนั้น คําร้องดังกล่าวจึง ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่ 2 คําพิพากษาของศาลแขวงจังหวัดชุมพรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) ประกอบมาตรา 17 ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณา พิพากษาคดีอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับได้ แต่จะลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่ศาลแขวงจังหวัดชุมพรได้พิพากษาให้จําคุกนายดํา 6 เดือน และปรับ 6,000 บาทนั้น คําพิพากษาของศาลแขวงจังหวัดชุมพรชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะมิได้ลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาทแต่อย่างใด แม้ว่านายดําจําเลยจะแถลงว่าไม่มีเงินเสียค่าปรับ และศาลแขวงจังหวัดชุมพร ได้เปลี่ยนโทษปรับเป็นกักขังแทนค่าปรับมีกําหนด 30 วัน ทําให้นายดําจําเลยต้องถูกคุมขังถึง 7 เดือนก็ตาม เพราะ การกักขังแทนค่าปรับไม่ใช่โทษจําคุก และการที่ศาลแขวงจังหวัดชุมพรให้นําโทษจําคุกที่ศาลแขวงจังหวัดนครปฐม และศาลแขวงจังหวัดราชบุรีให้รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษจําคุกของศาลแขวงจังหวัดชุมพรทําให้นายดํา ต้องรับโทษจําคุก 18 เดือน และกักขังอีก 30 วันนั้น ก็เป็นการดําเนินการตามที่ ป.อาญา มาตรา 58 วรรคแรก ได้กําหนดไว้ ดังนั้นคําพิพากษาของศาลแขวงจังหวัดชุมพรจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําร้องขอให้บวกโทษของศาลแขวงจังหวัดนครปฐมและศาลแขวงจังหวัดราชบุรีเข้ากับโทษ ของศาลแขวงจังหวัดชุมพรของพนักงานอัยการศาลแขวงจังหวัดชุมพร และคําพิพากษาของศาลแขวงจังหวัดชุมพร ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. นายไก่ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายกาไปเป็นจํานวนสองแสนเก้าหมื่นบาท เมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ตามสัญญากู้ นายไก่ไม่มีเงินชําระหนี้ให้แก่นายกา นายกาจึงต้องการฟ้องนายไก่ให้ชําระหนี้เงินตาม สัญญากู้สองแสนเก้าหมื่นบาท และดอกเบี้ยที่ค้างชําระจนถึงวันฟ้องอีกเป็นจํานวนเงินหนึ่งหมื่นบาท พร้อมกับขอให้ศาลบังคับให้นายไก่ชําระดอกเบี้ยอีกร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะ ชําระเงินเสร็จสิ้น ถ้าในท้องที่นั้นมีทั้งศาลจังหวัดและศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ นายกาจะต้องฟ้องคดีดังกล่าวที่ศาลจังหวัด หรือศาลแขวง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีแพ่งที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาไม่ได้ (มาตรา 25(4) ประกอบกับมาตรา 17) จะต้องนําคดีนั้นไปฟ้องที่ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งแล้วแต่กรณี

ตามอุทาหรณ์ การที่นายกาต้องการฟ้องให้นายไก่ให้ชําระหนี้เงินตามสัญญากู้นั้น ถือว่าเป็น การฟ้องคดีที่มีทุนทรัพย์ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจํานวนเงินที่ฟ้องตามสัญญากู้นั้นมีจํานวน 290,000 บาท และดอกเบี้ยที่ค้างชําระจนถึงวันฟ้องเป็นจํานวนเงิน 10,000 บาท เมื่อรวมกันแล้วมีจํานวน 300,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท (ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชําระเสร็จไม่นํามารวมค่านวณเป็นทุนทรัพย์) จึงเป็นคดีแพ่งที่ อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ดังนั้นนายกาจึงต้องฟ้องคดีดังกล่าวที่ศาลแขวง

สรุป นายกาจะต้องฟ้องคดีดังกล่าวที่ศาลแขวง

Advertisement