การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ร่วมกันยื่นฟ้องจําเลยว่า โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทของนายทุเรียนร่วมกับจําเลยแต่เมื่อนายทุเรียนถึงแก่ความตายจําเลยได้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกไปแปลงหนึ่งมีมูลค่า 100,000 บาท แต่ไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ทั้งสามขอให้จําเลยแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม จําเลยยื่นคําให้การว่า ที่ดินดังกล่าวนายทุเรียนได้ให้ตนไว้ตั้งแต่ก่อนนายทุเรียนตายไม่ใช่ทรัพย์มรดกเป็นทรัพย์สินของ จําเลย จําเลยจึงไม่ต้องแบ่งให้โจทก์ทั้งสามขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ในระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสาม ขอสืบพยานบุคคล 10 ปาก แต่เมื่อได้สืบพยานไปแล้ว 8 ปาก ศาลใช้ดุลพินิจเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังมา เพียงพอแล้วจึงมีคําสั่งระหว่างพิจารณาให้สืบพยานโจทก์สองปาก แล้วพิพากษาว่า ที่ดินดังกล่าวนายทุเรียนยกให้จําเลยกอนตายไม่ใช่ทรัพย์มรดก ยกฟ้องโจทก์ โดยโจทก์ทั้งสามได้โต้แย้งคําสั่ง งดสืบพยานไว้แล้ว โจทก์ทั้งสามจึงต้องการอุทธรณ์ดังนี้
(1) อุทธรณ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายทุเรียนขอให้จําเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสาม
(2) อุทธรณ์คําสั่งที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งงดสืบพยานโจทก์
ให้ท่านวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามจะสามารถอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”
มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 หลัง
(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา
(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เป็นต้นไป…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ร่วมกันยื่นฟ้องจําเลยว่า โจทก์ทั้งสามเป็น ทายาทของนายทุเรียนร่วมกับจําเลย เมื่อนายทุเรียนถึงแก่ความตายจําเลยได้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกไปแปลงหนึ่ง มีมูลค่า 100,000 บาท แต่ไม่แบ่งให้โจทก์ทั้งสามขอให้จําเลยแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม จําเลยยื่นคําให้การ ว่าที่ดินดังกล่าวนายทุเรียนได้ให้ตนไว้ตั้งแต่ก่อนนายทุเรียนตายไม่ใช่ทรัพย์มรดกเป็นทรัพย์สินของจําเลย จําเลยจึง ไม่ต้องแบ่งให้โจทก์ทั้งสามขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสาม
ขอสืบพยานบุคคล 10 ปาก แต่เมื่อสืบพยานไปแล้ว 8 ปาก ศาลใช้ดุลพินิจเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังมาเพียงพอแล้ว จึงมีคําสั่งระหว่างพิจารณาให้งดสืบพยานโจทก์ 2 ปาก แล้วพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าว นายทุเรียนยกให้จําเลย ก่อนตายไม่ใช่ทรัพย์มรดกให้ยกฟ้องโจทก์ และโจทก์ทั้งสามได้โต้แย้งคําสั่งงดสืบพยานไว้แล้วนั้น โจทก์ทั้งสามจะ อุทธรณ์ได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) การที่โจทก์ทั้งสามจะอุทธรณ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายทุเรียนให้จําเลย แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้น เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจของศาลซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ แต่ละคนมีส่วนร่วมในทรัพย์ที่พิพาทคนละ 1 ใน 4 ส่วน จึงถือว่ามีทุนทรัพย์คนละเพียง 25,000 บาท ดังนั้น เมื่อเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงไม่สามารถอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวนี้ได้
(2) การที่โจทก์ทั้งสามจะอุทธรณ์คําสั่งที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งงดสืบพยานโจทก์นั้น โจทก์ทั้งสาม ไม่สามารถอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวนี้ได้ เพราะแม้คําสั่งดังกล่าวจะเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา และโจทก์ทั้งสามได้ โต้แย้งไว้แล้วตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 ก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์แล้ว คําสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งเกี่ยวกับคดีดังกล่าว จึงต้องห้ามอุทธรณ์ด้วย
สรุป
(1) โจทก์ทั้งสามจะอุทธรณ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายทุเรียนไม่ได้
(2) โจทก์ทั้งสามจะอุทธรณ์คําสั่งงดสืบพยานโจทก์ของศาลชั้นต้นไม่ได้
ข้อ 2. โจทก์ฟ้องว่า จําเลยโดยไม่สุจริตปลูกสร้างโรงเรือนโดยหลังคาโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา ทําให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากที่ดินส่วนที่รุกล้ําคิดค่าเสียหาย เป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท ก่อนฟ้องเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 12,000 บาท ขอให้บังคับจําเลยรื้อถอน หลังคาโรงเรือนออกไปให้พ้นแนวเขตที่ดินของโจทก์ และให้จําเลยใช้ค่าเสียหาย 12,000 กับเดือนละ 2,000 บาท แก่โจทก์ จนกว่าจําเลยจะรื้อถอนหลังคาโรงเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ จําเลย ให้การว่า หลังคาโรงเรือนของจําเลยอยู่ในเขตที่ดินของจําเลยไม่ใช่ในเขตที่ดินของโจทก์ หากหลังคา โรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์ จําเลยก็ปลูกสร้างโรงเรือนมากว่า 10 ปีแล้ว โจทก์ไม่เคย โต้แย้ง จําเลยย่อมได้สิทธิในที่ดินส่วนที่รุกล้ำของโจทก์โดยการครอบครอง โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง ขอให้รื้อถอน ขอให้ยกฟ้อง ก่อนสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นให้คู่ความตีราคาที่ดินส่วนที่โจทก์อ้างว่า หลังคาโรงเรือนของจําเลยรุกล้ําได้เนื้อที่ 20 ตารางวา คิดเป็นเงิน 30,000 บาท ศาลชั้นต้นพิจารณา แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า หลังคาโรงเรือนของจําเลยรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต พิพากษาให้จําเลยรื้อถอนหลังคาที่รุกล้ำนั้น และให้จําเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200 บาท ก่อนฟ้องเป็นเงิน 2,400 บาท และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปเดือนละ 200 บาท จนกว่าจําเลย จะรื้อถอนหลังคาโรงเรือนออกไปจากเขตที่ดินของโจทก์ จําเลยอุทธรณ์ว่า หลังคาโรงเรือนของจําเลยอยู่ในเขตที่ดินของจําเลย ไม่ใช่ที่ดินของโจทก์จําเลย ไม่ต้องรื้อถอน โจทก์ไม่เสียหายเพราะโจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ขอให้ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า จําเลยมีสิทธิอุทธรณ์หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 224 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ใน ข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควร อุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคําฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนด ในพระราชกฤษฎีกา
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการห้ามคู่ความอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ในคดีดังต่อไปนี้ คือ
1 คดีที่ราคาทรัพย์ที่พิพาทหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา
2 คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะ การยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จําเลยโดยไม่สุจริตปลูกสร้างโรงเรือนโดย หลังคาโรงเรือนรุกล้ําเข้ามาในที่ดินของโจทก์นั้น แม้จําเลยให้การต่อสู้ว่า หลังคาโรงเรือนของจําเลยอยู่ในเขตที่ดิน ของจําเลยไม่ใช่ในเขตที่ดินของโจทก์ และหากหลังคาโรงเรือนของจําเลยจะรุกล้ําเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์ จําเลยก็ได้สิทธิในที่ดินส่วนที่รุกล้ําของโจทก์โดยการครอบครอง ก็ไม่ทําให้คดีนี้กลายเป็นคดีที่พิพาทกันเกี่ยวกับ สิทธิในที่ดิน อันจะทําให้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินส่วนที่รุกล้ำเพราะคําฟ้องของโจทก์มิใช่เรื่องที่อ้างว่า จําเลยเข้าไปครอบครองที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจ คํานวณเป็นราคาเงินได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
“ส่วนอุทธรณ์ของจําเลยที่ว่า หลังคาโรงเรือนของจําเลยอยู่ในเขตที่ดินของจําเลยไม่ใช่ที่ดิน ของโจทก์ และโจทก์ไม่เสียหายนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกําหนด ค่าเสียหายของศาลชั้นต้น ซึ่งถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และอุทธรณ์ของจําเลยในข้อที่ว่า จําเลยไม่ต้องซื้อ ถอนหลังคาโรงเรือน เป็นคําขอประธานหรือคําขอหลักซึ่งเป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์ไม่ต้องห้ามมิให้จําเลยอุทธรณ์ใน ข้อเท็จจริง คําขอเรื่องค่าเสียหายซึ่งเป็นคําขอต่อเนื่องหรือคําขออุปกรณ์ย่อมไม่ต้องห้ามมิให้จําเลยอุทธรณ์ด้วย เช่นกัน แม้จะเป็นคําขออันมีทุนทรัพย์ซึ่งมีจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 2,400 บาท ซึ่งไม่เกิน 50,000 บาท ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งก็ตาม ดังนั้น จําเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้
สรุป จําเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้
ข้อ 3. (ก) ถ้าท่านเป็นศาล ท่านมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อมีคําสั่งอนุญาตตามคําขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 ที่คู่ความได้ยืนไว้ต่อศาลอย่างไร
(ข) ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยใช้เงินแก่โจทก์ 10 ล้านบาท ฐานผิดสัญญา จําเลยไม่เห็นด้วย จําเลยอุทธรณ์ แต่จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษาไม่นําเงิน 10 ล้านบาท มาชําระให้โจทก์ในชั้น บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดบ้านที่ดินของจําเลยเพื่อขายทอดตลาด จําเลยเห็นว่า หากบ้านที่ดินของจําเลยถูกขายทอดตลาดไปแล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์เห็นว่าจําเลยไม่ได้ผิดสัญญา และมีคําพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะ จําเลยก็จําต้องเสียหายและเสียสิทธิในบ้านที่ดิน
จําเลยจึงยื่นคําร้องต่อศาลให้มีคําสั่งงดการขายบ้านที่ดินของจําเลยไว้ก่อนมีคําพิพากษา ดังนี้ ตามข้อเท็จจริง ศาลจะมีคําสั่งกําหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองจําเลยไว้ก่อนมีคําพิพากษา ให้งดการขายบ้านที่ดินของจําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 264 “นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 254 คู่ความชอบที่จะยื่น คําขอต่อศาล เพื่อให้มีคําสั่งกําหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตาม คําพิพากษา เช่น ให้นําทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษา ทรัพย์สินของห้างร้านที่ทําการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก
คําขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 227 มาตรา 228 มาตรา 260 และมาตรา 262
วินิจฉัย
(ก) ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล การที่ข้าพเจ้าจะอนุญาตตามคําขอวิธีการชั่วคราวก่อนมีคําพิพากษาตาม มาตรา 264 นั้น ข้าพเจ้าจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือ ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนมีคําพิพากษา หมายความว่า หากผู้ขอไม่มาขอ ต่อมาผู้ขอเป็นฝ่ายชนะคดี ผู้ขอจะเสียสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาท
(ข) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยใช้เงินแก่โจทก์ 10 ล้านบาท ซึ่ง จําเลยไม่เห็นด้วยและได้ยื่นอุทธรณ์ แต่จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษาคือไม่นําเงิน 10 ล้านบาท มาชําระให้แก่โจทก์ และในชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดบ้านที่ดินของจําเลยเพื่อขายทอดตลาดนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ ร้องขอให้บังคับจําเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคําพิพากษา ดังนั้น การที่จําเลยได้ยื่นคําร้องขอต่อศาลให้มีคําสั่งงดการ ขายบ้านที่ดินของจําเลยไว้ก่อนมีคําพิพากษานั้น จําเลยจะมาขอวิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 เพื่อที่จะไม่ต้องถูกบังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลไม่ได้ เพราะคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จําเลย ชําระหนี้เป็นเงินฐานผิดสัญญา มิใช่พิพาทกันด้วยทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างใด จึงไม่อาจขอให้นําทรัพย์สินหรือเงินมาวางศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 ได้ ดังนั้น เมื่อจําเลยร้องขอ ศาลจะมีคําสั่ง กําหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองจําเลยไว้ก่อนมีคําพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 ไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม จําเลยยังมีทางออกที่จะไม่ต้องถูกบังคับในระหว่างอุทธรณ์ได้ โดยการที่จําเลย จะต้องร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 292 ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าพนักงานบังคับคดี
ต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีต่อไปนี้
(2) ถ้าศาลได้มีคําสั่งให้งดการบังคับคดีไว้” ซึ่งศาลจะมีคําสั่งให้งด “การบังคับคดีไว้หรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล
สรุป ศาลจะมีคําสั่งกําหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองจําเลยไว้ก่อนมีคําพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 ไม่ได้ แต่ศาลอาจมีคําสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 292 (2) ได้ หากจําเลย ได้ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้งดการบังคับคดีตามมาตรานี้
ข้อ 4. ในชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นได้ยึดที่ดินของจําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษาเพื่อขายทอดตลาดชําระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2560 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นําที่ดินที่ยึดออกขายทอดตลาดได้ในราคา 500,000 บาท วันรุ่งขึ้น นายเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาของจําเลยในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นอีกคดีหนึ่ง ยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นว่า นายเงินเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาของจําเลยซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 ให้จําเลยชําระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่นายเงิน จําเลย ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่นายเงินจะบังคับคดีได้ ขอให้มีคําสั่งให้นายเงินเข้าเฉลี่ยจากเงินที่ได้จากการ ขายทอดตลาดที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ในคดีนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นระรับคําร้องขอเฉลี่ยของนายเงินไว้พิจารณาหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”
มาตรา 290 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน อย่างใดของลูกหนี้ตามคําพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาอื่นยึด หรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ําอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาเช่นว่านี้มีอํานาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลที่ ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือ จําหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจําหน่ายโดยวิธีอื่น คําขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้น ระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจําหน่ายทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด หรือจําหน่ายได้ในครั้ง นั้น ๆ”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ได้กําหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีการยึดทรัพย์สิน ของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาด เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาอื่นอาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับ ให้ยึดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้ แต่คําขอ ดังกล่าวจะต้องยืนก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น และต้องยื่นคําร้องขอ ภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษาในคดีของตนด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้นได้ยึดที่ดินของจําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ ตามคําพิพากษา และได้นําออกขายทอดตลาดในวันที่ 10 มกราคม 2560 นายเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ของจําเลยในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นอีกคดีหนึ่ง ย่อมสามารถยื่นคําร้องขอเพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยเงินที่ได้ จากการขายทอดตลาดนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายเงินยื่นคําร้องขอเฉลี่ยเงินตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่งนั้น ถือว่าเป็นการร้องขอให้บังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อให้ตนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาได้รับชําระหนี้ จากเงินที่ได้จากการขายหรือจําหน่ายทรัพย์สินของจําเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษาของนายเงินที่ถูกเจ้าพนักงาน บังคับคดียึดไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา นายเงินจึงต้องร้องขอเฉลี่ยภายใน 14 วันนับแต่วันที่มี การขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ และต้องยื่นคําร้องขอภายใน 10 ปีนับแต่ วันมีคําพิพากษาในคดีของตนด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคําร้องขอของนายเงินว่า ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยชําระเงิน แก่นายเงิน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 นายเงินยื่นคําร้องขอเฉลี่ยต่อศาลชั้นต้นในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่มีการ ขายทอดตลาดในวันที่ 10 มกราคม 2560 จึงล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษา คือวันที่ 15 มีนาคม 2545 ดังกล่าวแล้ว นายเงินย่อมสิ้นสิทธิบังคับคดีจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจําเลย ในคดีนี้ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ได้ แม้ว่านายเงินจะได้ยื่นขอเฉลี่ยภายในระยะเวลาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ ก็ตาม ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะไม่รับคําร้องขอเฉลี่ยของนายเงินไว้พิจารณา
สรุป ศาลชั้นต้นจะไม่รับคําร้องขอเฉลี่ยของนายเงินไว้พิจารณา