การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า โจทก์นํารถยนต์ราคา 1,500,000 บาท ไปขายฝากไว้กับจําเลย ซึ่งโจทก์ต้องไถ่คืนในราคา 1,650,000 บาท ภายใน 12 เดือน ก่อนครบกําหนดตามที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก โจทก์ไปขอไถ่รถยนต์คืนจากจําเลย แต่จําเลยกลับบ่ายเบียงจนล่วงเลยระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ขายฝาก โจทก์จึงมาฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ศาลบังคับให้จําเลยคืนรถยนต์ที่ขายฝากแก่โจทก์ จําเลย ยื่นคําให้การอ้างว่า โจทก์ไม่ได้มาขอไถ่ภายในระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก โจทก์จึง ไม่มีสิทธิไถ่ทรัพย์คืนได้อีก ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่พอใจในคําพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงต้องการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์บังคับให้จําเลยคืนรถยนต์ที่ขายฝากแก่โจทก์ ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่ง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง กําหนดไว้ว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ ที่พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวน ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันนี้ให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นหลักในการพิจารณา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่าโจทก์นํารถยนต์ราคา 1,500,000 บาท ไป ขายฝากไว้กับจําเลย และโจทก์ไปขอไถ่คืนจากจําเลยก่อนครบกําหนดตามที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก แต่จําเลย กลับบ่ายเบี่ยงจนล่วงเลยระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก โจทก์จึงมาฟ้องคดีต่อศาลขอให้ศาลบังคับให้จําเลย คืนรถยนต์ที่ขายฝากแก่โจทก์ แต่จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า โจทก์ไม่ได้มาขอไถ่ภายในระยะเวลาตามที่ระบุไว้ใน สัญญาขายฝาก โจทก์จึงไม่มีสิทธิไถ่ทรัพย์คืนได้อีก ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง และต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา ให้ยกฟ้องโจทก์นั้น การที่โจทก์ไม่พอใจในคําพิพากษาของศาลชั้นต้น และโจทก์ต้องการยื่นอุทธรณ์คําพิพากษา ของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ซึ่งถือว่า เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและโจทก์ก็จะอุทธรณ์ได้หรือไม่นั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ ฟ้องให้จําเลยคืนทรัพย์สินตามสัญญาขายฝาก ซึ่งในขณะยื่นฟ้องนั้นทรัพย์ที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่ถ้าศาลพิพากษา ให้โจทก์ชนะคดี จะทําให้โจทก์ได้ทรัพย์พิพาทคืนมา จึงถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และเมื่อทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ เกิน 5 หมื่นบาท ดังนั้น โจทก์จึงสามารถอุทธรณ์ได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224

สรุป โจทก์สามารถอุทธรณ์ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยกู้เงินโจทก์จํานวน 5,000,000 บาท ต่อมาหนี้ตามสัญญากู้ถึงกําหนดชําระแต่จําเลยไม่ชําระหนี้ จึงขอให้ศาลบังคับให้จําเลยชําระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ จําเลยยื่นคําให้การอ้างว่า ไม่เคยกู้เงินโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง แต่จําเลยไม่ยื่นคําให้การภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคําสั่งไม่รับคําให้การของจําเลย จําเลยไม่พอใจคําสั่งของศาลชั้นต้น จึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นทันทีโดยไม่ได้โต้แย้งคําสั่งของศาล ดังนี้ จําเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 1 “ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(5) “คําคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคําฟ้อง คําให้การหรือคําร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาล เพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ”

มาตรา 18 วรรคท้าย “คําสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคําคู่ความตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์ และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247”

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น เป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่ง ระหว่างพิจารณา”

มาตรา 228 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคําสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(3) ไม่รับหรือคืนคําคู่ความตามมาตรา 18 หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่ง มิได้ทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คําสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคําสั่งเป็นต้นไป” วินิจฉัย คําสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณานั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1 จะต้องเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจําหน่ายคดี

2 เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทําคดีนั้นต่อไป 3 ไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227 และมาตรา 228

เมื่อเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว คู่ความจะอุทธรณ์คําสั่งทันทีไม่ได้ ต้องโต้แย้งคัดค้านคําสั่ง ไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คําสั่งนั้นตามมาตรา 226 (2) ส่วนคําสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ 3 ประการนี้ ไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)

กรณีตามอุทาหรณ์ คําให้การเป็นคําคู่ความอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1 (5) เมื่อศาลชั้นต้น มีคําสั่งไม่รับคําให้การของจําเลยด้วยเหตุว่าจําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด ซึ่งเป็นคําสั่งใน ชั้นตรวจคําคู่ความของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 18 จึงเป็นคําสั่งไม่รับคําคู่ความตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 18 ซึ่งมิได้ทําให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากแต่ทําให้ประเด็นบางข้อตามที่จําเลยยกขึ้นต่อสู้ในคําให้การเสร็จไปเท่านั้น จึงเป็นคําสั่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 (3) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณา อันจะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 (1) ดังนั้นจําเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นที่ ไม่รับคําให้การของจําเลยได้ทันทีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 วรรคสอง แม้คดีนั้นจะอยู่ในระหว่างพิจารณาของ ศาลชั้นต้นก็ตาม

สรุป จําเลยสามารถยื่นอุทธรณ์คําสั่งของศาลชั้นต้นได้ทันที โดยไม่ต้องโต้แย้งคัดค้านคําสั่งนั้น ไว้ก่อน

 

ข้อ 3. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ให้ชําระหนี้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาแก่โจทก์เป็นเงิน 10 ล้านบาท จําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา ในชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงาน บังคับคดีได้ยึดที่ดินไว้ตามคําขอของโจทก์ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ซึ่งอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็น ของจําเลย นายดีใจได้ยื่นคําร้องต่อศาลว่าที่ดินที่ยึดไม่ใช่ของจําเลย แต่เป็นของนายดีใจผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคําสั่งปล่อยที่ดินที่ยึด โจทก์ยื่นคําคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนสืบพยานโจทก์และนายดีใจ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายดีใจยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดิน ที่ยึดและยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน กท 2141 ของโจทก์ไว้ชั่วคราว ก่อนพิพากษา เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาล โจทก์มีพฤติการณ์ที่จะแอบยักย้ายถ่ายเท ทรัพย์สินของตนให้แก่บรรดาญาติพี่น้อง ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านายดีใจจะยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ในกรณีดังที่กล่าวมาข้างต้นได้หรือไม่ และศาลจะต้องสําเนาคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของนายดีใจ ให้โจทก์มีโอกาสได้คัดค้านก่อนหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 21 “เมื่อคู่ความฝ่ายใดเสนอคําขอหรือคําแถลงต่อศาล

(2) ถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ว่า คําขออันใดจะทําได้แต่ฝ่ายเดียว ห้ามมิให้ศาล ทําคําสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ มีโอกาสคัดค้านก่อน

(3) ถ้าประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้ว่า คําขออันใดอาจทําได้แต่ฝ่ายเดียวแล้ว ให้ศาล มีอํานาจที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคําสั่งในเรื่องนั้น ๆ ได้ เว้นแต่ในกรณีที่คําขอนั้น เป็นเรื่องขอหมายเรียกให้ให้การ หรือเพื่อยึดหรือเพื่ออายัดทรัพย์สินก่อนคําพิพากษา”

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อน พิพากษา รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย…”

มาตรา 264 “นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 253 และมาตรา 254 คู่ความชอบที่จะยื่น คําขอต่อศาล เพื่อให้มีคําสั่งกําหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับ ตามคําพิพากษา เช่น ให้นําทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการ หรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทําการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครอง ของบุคคลภายนอก

คําขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา 21 มาตรา 25 มาตรา 227 มาตรา 228 มาตรา 260 และมาตรา 262”

วินิจฉัย

วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษานั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 เป็นเรื่องของโจทก์ขอให้ศาล คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ส่วน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองประโยชน์ของ คู่ความผู้ขอในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษา ซึ่งเป็นวิธีชั่วคราวอันหนึ่งโดยคู่ความนั้นอาจจะ เป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจําเลยก็ได้ และในคดีร้องขัดทรัพย์นั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์จะมีฐานะเป็นโจทก์ ในส่วนร้อง ขัดทรัพย์ ส่วนโจทก์เดิมก็จะมีฐานะเป็นจําเลยในส่วนร้องขัดทรัพย์ ดังนั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์จึงสามารถที่จะขอใช้ วิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 คําร้องขอของนายดีใจที่ขอให้ศาลมีคําสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึด เป็นคําขอให้ ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณา เพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะมีคํา พิพากษา ดังนั้น หากเจ้าพนักงานบังคับขายทอดตลาดที่ดินพิพาทที่ยึดไปแล้ว และสุดท้ายศาลพิพากษาให้นายดีใจ ผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นฝ่ายชนะคดีก็จะเป็นที่เสียหายแก่นายดีใจเพราะที่ดินของตนถูกขายทอดตลาดไปแล้ว นายดีใจ จึงชอบที่จะร้องขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 โดยขอให้ศาลมีคําสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดิน ที่ยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาได้ เพราะสิ่งที่ขอคุ้มครองสอดคล้องกับประเด็นตามคําร้องขัดทรัพย์และคําขอให้ ศาลมีคําสั่งปล่อยที่ดินที่ยึด

และเมื่อการยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 กฎหมายมิได้ บัญญัติไว้ว่าจะทําได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 21 (2) กล่าวคือ ศาล จะต้องสําเนาคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของนายดีใจให้โจทก์มีโอกาสได้คัดค้านก่อน

2 คําร้องขอของนายดีใจ (โจทก์ในส่วนร้องขัดทรัพย์) ที่ให้ศาลมีคําสั่งยึดรถยนต์หมายเลข ทะเบียน กท 2141 ของโจทก์ (จําเลยในส่วนร้องขัดทรัพย์) ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา เนื่องจากในระหว่างการพิจารณา ของศาล โจทก์มีพฤติการณ์ที่แอบยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนให้แก่บรรดาญาติพี่น้องนั้น เป็นคําขอให้ใช้ วิธีการชั่วคราวโดยยึดทรัพย์สินของจําเลยไว้ก่อนมีคําพิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (1)

แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายดีใจผู้ร้องขัดทรัพย์ จะมีฐานะเป็นโจทก์ในส่วนร้องขัดทรัพย์ แต่โดยสภาพแห่งคําร้องขัดทรัพย์ไม่อาจร้องขอคุ้มครองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 ได้ เพราะผู้ร้องขัดทรัพย์ มีสิทธิเพียงขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึด (ที่ดิน) ไว้เท่านั้น ดังนั้น การที่นายดีใจขอให้ศาลมีคําสั่งยึดรถยนต์ของ โจทก์ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา : จําเลยในคดีร้องขัดทรัพย์) ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา จึงไม่สอดคล้องกับประเด็น ตามคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้อง นายดีใจจึงไม่สามารถขอคุ้มครองชั่วคราวในประเด็นดังกล่าวได้ ศาลชอบที่จะ ยกคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของนายดีใจในส่วนนี้ได้ทันที และกรณีนี้ไม่จําต้องวินิจฉัยว่าศาลจะต้องสําเนาคําร้อง ให้โจทก์มีโอกาสคัดค้านก่อนหรือไม่ และ

สรุป นายดีใจสามารถยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 264 โดยขอให้ ศาลมีคําสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาได้ และศาลจะต้องสําเนาคําร้องขอคุ้มครอง ชั่วคราวของนายดีใจให้โจทก์มีโอกาสได้คัดค้านก่อน แต่นายดีใจจะยื่นคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ศาลยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้ชั่วคราวก่อน พิพากษาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (1) ไม่ได้

 

ข้อ 4. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ให้จําเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจําเลยให้แก่โจทก์ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายและให้โจทก์ชําระค่าที่ดินที่ยัง ขาดอยู่ให้จําเลย ถ้าจําเลยโอนให้โจทก์ไม่ได้ ให้จําเลยคืนมัดจํา 1,000,000 บาท พร้อมค่าเสียหาย อีก 500,000 บาท ให้โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคําบังคับให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษา จําเลยยอมน้ําเงิน 1,500,000 บาท มาวางต่อศาลเพื่อชําระให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับ

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีจําเลยได้อีกหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 271 แห่ง ป.วิ.แพ่ง นั้น มีหลักว่า ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคําพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะหรือ เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับคดีนั้น เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจะต้องดําเนินการบังคับคดีภายใน ขอบเขตของคําบังคับที่ออกโดยคําพิพากษา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จะต้องดําเนินการบังคับตามลําดับก่อนหลัง ที่ระบุไว้ในคําพิพากษา เจ้าหนี้จะเลือกให้ลูกหนี้ตามคําพิพากษาปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามคําพิพากษาไม่ได้ และลูกหนี้ตามคําพิพากษา ก็ต้องปฏิบัติการชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาตามลําดับก่อนหลังที่ระบุไว้ใน คําพิพากษาเช่นเดียวกันด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ให้จําเลยไป จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจําเลยให้แก่โจทก์ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย และให้โจทก์ชําระราคาค่าที่ดิน ที่ยังขาดอยู่ให้จําเลย ถ้าจําเลยโอนให้แก่โจทก์ไม่ได้ให้จําเลยคืนมัดจํา 1,000,000 บาท พร้อมค่าเสียหายอีก 500,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น เป็นกรณีที่หนี้ตามคําพิพากษามีหลายอย่าง และมิใช่หนี้ที่ให้ลูกหนี้ตามคําพิพากษา มีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 แต่เป็นเรื่องการดําเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 ดังนั้น การที่โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีก็ต้องเป็นไปตามลําดับก่อนหลังที่ระบุไว้ในคําพิพากษานั้น และ จําเลย (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) ก็จะต้องปฏิบัติการชําระหนี้ต่อโจทก์ตามลําดับก่อนหลังที่ระบุไว้ในคําพิพากษาด้วย ซึ่งกรณีตามอุทาหรณ์ดังกล่าวนี้จําเลยจะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ก่อน จําเลย จะเลือกวิธีการชําระค่าเสียหายและคืนเงินมัดจําให้แก่โจทก์ทั้งที่จําเลยยังสามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ โดย โจทก์ไม่ยินยอมตกลงด้วยหาได้ไม่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคําบังคับให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษา จําเลย ยอมนำเงิน 1,500,000 บาท มาวางต่อศาลเพื่อชําระให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จึงเท่ากับว่าจําเลยยังมิได้ปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามคําพิพากษา ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษาโดยอาศัยคําบังคับที่ ออกตามคําพิพากษานั้นได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271

สรุป โจทก์มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีจําเลยได้อีก

 

Advertisement