การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลย อ้างว่าจําเลยบุกรุกเข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ทําให้โจทก์ไม่สามารถนําอสังหาริมทรัพย์ออกขายหรือออกให้เช่าได้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์มีราคา 50,000 บาท ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นและถ้านําออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาท จําเลย ยื่นคําให้การอ้างว่า อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของจําเลย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงต้องการยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อ ศาลอุทธรณ์ ซึ่งในขณะที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์อสังหาริมทรัพย์ของโจทก์มีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 บาท ดังนี้โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้ขับไล่จําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคแรก “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้า ไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก กําหนดไว้ว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ ที่พิพาทกันไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวน ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันนี้ให้ถือเอาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เป็นหลักในการพิจารณา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยโดยอ้างว่าจําเลยบุกรุกเข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ ของโจทก์ และจําเลยได้ยื่นคําให้การต่อสู้ว่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของจําเลยนั้น เป็นกรณีที่ จําเลยต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาท จึงทําให้คดีฟ้องขับไล่ซึ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ในตอนแรก กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์

เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีและโจทก์ต้องการยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาล ชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลซึ่งถือว่าเป็นการอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้นโจทก์จะยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่นั้น เมื่อเป็นคดีมีทุนทรัพย์จึงต้องคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งต้องพิจารณาราคาอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏว่าในขณะ ยื่นฟ้องอสังหาริมทรัพย์มีราคา 50,000 บาท โจทก์จึงไม่สามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ เพราะ ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก

สรุป โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้ขับไล่จําเลยไม่ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องขอศาลบังคับจําเลยชําระหนี้ค่าซื้อเนื้อบรรจุกระป๋องที่ค้างชําระจํานวน 10 ล้านบาท จําเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ส่งเนื้อบรรจุกระป๋องคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในสัญญา จําเลยจึงไม่ยอมรับเนื้อบรรจุกระป๋อง จึงเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับผิดใช้เงินค่าเนื้อบรรจุกระป๋องแก่โจทก์ ขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ให้จําเลยชําระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ จําเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ส่งเนื้อบรรจุกระป๋องหมดอายุ เนื้อที่บรรจุในกระป๋องเน่าเสีย คําฟ้องของโจทก์ เป็นฟ้องเคลือบคลุมและคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะรับอุทธรณ์ของจําเลยในประเด็นใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดี อันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้น หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการ ยื่นอุทธรณ์นั้น

1 ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2 ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และ

3 อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เว้นแต่ จะต้องด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ก็ยังมีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ได้ คือ

1 เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ

2 เป็นปัญหาที่คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือ

3 เพราะเหตุเป็นเรื่องศาลชั้นต้นที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์

กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องบังคับให้จําเลยชําระหนี้ค่าซื้อเนื้อบรรจุกระป๋องจํานวน 10 ล้านบาท จําเลยต่อสู้ว่าโจทก์ส่งเนื้อบรรจุกระป๋องคุณภาพต่ํากว่าเกณฑ์ และต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี การที่จําเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ส่งเนื้อบรรจุกระป๋องหมดอายุ เนื้อที่บรรจุในกระป๋องเน่าเสีย คําฟ้องของโจทก์เป็น ฟ้องเคลือบคลุมและคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ซึ่งข้อต่อสู้เหล่านี้จําเลยไม่เคยยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นมาก่อนนั้น

อุทธรณ์ของจําเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก อีกทั้งข้อต่อสู้ดังกล่าวก็ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จําเลยจะ มีสิทธิยกขึ้นอ้างอิงในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ดังนั้น อุทธรณ์ของจําเลยจึงไม่ชอบที่ ศาลชั้นต้นจะรับไว้พิจารณาได้ ศาลจึงไม่สามารถรับอุทธรณ์ของจําเลยในประเด็นดังกล่าวได้เลย

สรุป ศาลจะรับอุทธรณ์ของจําเลยในประเด็นดังกล่าวไม่ได้เลย

 

ข้อ 3. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งโจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยให้ออกจากตึกแถวของโจทก์ จําเลยให้การและฟ้องแย้งให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวที่พิพาทให้แก่จําเลยและรับเงินค่าที่ดินและตึกแถวพิพาทจากจําเลย ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จําเลยยื่นคําร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว โดย อ้างว่าหลังจากโจทก์ฟ้องแล้วโจทก์ได้กระทําละเมิดสิทธิและประโยชน์ของจําเลยโดยตัดท่อน้ําบาดาล ไม่มีการจ่ายน้ําบริโภคไปยังตึกแถวพิพาทที่จําเลยอยู่อาศัย จําเลยในฐานะผู้เช่าไม่สามารถร้องขอ ให้การประปานครหลวงเดินท่อน้ําให้ได้เพราะโจทก์ไม่ยอมให้วางท่อผ่านที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาล มีคําสั่งให้โจทก์ต่อท่อและจ่ายน้ําบริโภคให้ตึกแถวพิพาทโดยใช้น้ําบาดาลของโจทก์เช่นเดิมหรือ ให้โจทก์ดําเนินการยื่นคําร้องต่อการประปานครหลวง โจทก์ยื่นคําคัดค้านขอให้ศาลยกคําร้องของ จําเลยโดยอ้างว่า

(ก) จําเลยไม่มีสิทธิยื่นคําร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวตามกฎหมายได้

(ข) คําร้องของจําเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่ศาลจะอนุญาต

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าคําคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อน พิพากษา รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย

(2) ให้ศาลมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยกระทําซ้ำหรือกระทําต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือ การผิดสัญญาหรือการกระทําที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคําสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์ อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทําของจําเลยหรือมีคําสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จําเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจําหน่าย ซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลย หรือมีคําสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลาย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

(3) ให้ศาลมีคําสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นผู้มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับ ทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทําที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(4) ให้จับกุมและกักขังจําเลยไว้ชั่วคราว

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําคัดค้านของโจทก์ทั้งสองข้อฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า

(ก) การขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 ผู้มีสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวคือ คู่ความ ฝ่ายโจทก์ ในกรณีเมื่อจําเลยยื่นคําให้การและฟ้องแย้งโจทก์ จําเลยในคดีตามฟ้องแย้งย่อมอยู่ในฐานะโจทก์มีสิทธิ ยื่นคําขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3092/2524) ดังนั้น ข้อคัดค้าน ของโจทก์ในประเด็นที่ว่า จําเลยไม่มีสิทธิยื่นคําร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวตามกฎหมายจึงฟังไม่ขึ้น

(ข) วิธีขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 นั้น โจทก์จะต้องร้องขอให้ศาลมีคําสั่ง ภายในบังคับแห่งเงื่อนไขที่จะกล่าวต่อไปนี้ เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ คือ

1 วิธีการคุ้มครองชั่วคราวที่จะนํามาใช้แก่จําเลยจะต้องเป็นวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (1) – (4) กล่าวคือ (1) ขอให้ยึดอายัดชั่วคราว (2) ขอห้ามชั่วคราว (3) ขอห้ามเปลี่ยนแปลง ทางทะเบียนชั่วคราว (4) ขอให้จับกุมกักขังจําเลยชั่วคราว

2 สิ่งที่ขอคุ้มครองจะต้องสอดคล้องกับประเด็นตามคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้อง

ดังนั้น การที่จําเลยในฐานะโจทก์ตามฟ้องแย้ง ขอคุ้มครองชั่วคราวโดยขอให้ศาลมีคําสั่งให้ โจทก์ต่อท่อและจ่ายน้ําบริโภคให้ตึกแถวพิพาทโดยใช้น้ำบาดาลของโจทก์เช่นเดิม หรือให้โจทก์ดําเนินการยื่นคําร้อง ต่อการประปานครหลวง จึงไม่ใช่วิธีการขอคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 254 (1) – (4) อีกทั้งเป็นเรื่อง ที่ไม่สอดคล้องกับประเด็นตามฟ้องแย้งของจําเลย ซึ่งขอให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวที่พิพาท ให้แก่จําเลยและรับเงินค่าที่ดินและตึกแถวพิพาทจากจําเลยเท่านั้น จําเลยจึงไม่สามารถยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 ได้ ดังนั้น ข้อคัดค้านของโจทก์ในประเด็นที่ว่า คําร้องของจําเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามที่ศาลจะอนุญาตจึงฟังขึ้น

สรุป คําคัดค้านของโจทก์ในประเด็นที่ว่า จําเลยไม่มีสิทธิยื่นคําร้องขอคุ้มครองประโยชน์ ชั่วคราวตามกฎหมายฟังไม่ขึ้น ส่วนคําคัดค้านของโจทก์ในประเด็นที่ว่า คําร้องของจําเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่ ศาลจะอนุญาตนั้นฟังขึ้น

 

ข้อ 4. ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 ให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีและชําระเงินจํานวน 3,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ศาลมีคําบังคับให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษา เมื่อสิ้นระยะเวลาตามคําบังคับ จําเลยยังคงไม่ชําระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์ร้องขอให้ศาลชั้นต้นออก หมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 โจทก์แถลงขอให้ เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1234 ซึ่งมีชื่อจําเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานที่ดินได้ ยึดที่ดินดังกล่าวตามคําขอของโจทก์โดยประมาณราคาไว้ 1,500,000 บาท ในวันที่ 13 มกราคม 2551 จําเลยได้นําเงินสดจํานวน 500,000 บาท มาชําระให้แก่โจทก์และทําหนังสือรับสภาพหนี้ตาม คําพิพากษามอบไว้ให้แก่โจทก์ด้วย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดินที่ยึด เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 และในวันขายทอดตลาด โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ของจําเลยราคาประมาณ 1,000,000 บาทเพิ่มเติม จําเลยยื่นคําคัดค้านขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดที่ดินที่จะขายทอดตลาดและให้ยกคําขอ ให้ยึดรถยนต์เพิ่มเติมของโจทก์ โดยอ้างเหตุผลประการเดียวกันว่า โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแล้ว ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าข้อคัดค้านของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 271 “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตาม คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคําพิพากษา หรือคําสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยอาศัย และตามคําบังคับที่ออกตามคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น”

วินิจฉัย

ในการร้องขอให้บังคับคดีนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 ได้กําหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตาม คําพิพากษาจะต้องดําเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกําหนด 10 ปีนับแต่วันมีคําพิพากษาถึงที่สุด กล่าวคือต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี แล้ว และต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ดําเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินใดบ้าง (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 275, 276 และมาตรา 278) หลังจากนั้นถือว่าเป็นขั้นตอนของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ต้องดําเนินการต่อไป ซึ่งจะมีการบังคับคดีให้เสร็จสิ้นภายในกําหนด 10 ปีหรือไม่ ไม่เป็นข้อสําคัญ

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้อคัดค้านของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547 โจทก์ซึ่งเป็น เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาจึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในวันที่ 14 มีนาคม 2557 และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริง ว่าโจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2548 และต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 โจทก์แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1234 ซึ่งมีชื่อจําเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมถือได้ว่าเป็น การร้องขอให้บังคับคดี ซึ่งโจทก์ได้กระทําการภายในกําหนดเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 แล้ว และเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีสิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวต่อไปจนเสร็จสิ้น แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศ ขายทอดตลาดที่ดินของจําเลยในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ซึ่งล่วงพ้นกําหนดเวลาในการบังคับคดีแล้วก็ตาม ก็เป็น การบังคับคดีโดยชอบ โจทก์หาหมดสิทธิบังคับคดีไม่ ดังนั้น จําเลยจะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึด ที่ดินที่จะขายทอดตลาดไม่ได้ ข้อคัดค้านของจําเลยในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 2 ข้อคัดค้านของจําเลยที่ขอให้ยกคําขอของโจทก์ที่ให้ยึดรถยนต์ของจําเลยเพิ่มเติมนั้น แม้ในวันที่ 13 มกราคม 2551 จําเลยจะได้นําเงินสดจํานวน 500,000 บาท มาชําระให้แก่โจทก์และทําหนังสือ รับสภาพหนี้ตามคําพิพากษามอบไว้ให้แก่โจทก์ด้วยก็ตาม ก็ไม่ทําให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด เนื่องจาก ระยะเวลา 10 ปี ในการบังคับคดีมิใช่อายุความจึงไม่มีกรณีการสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 ประกอบ มาตรา 193/15 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์เพิ่งแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์ของจําเลยในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังเมื่อพ้นกําหนดเวลาที่โจทก์จะร้องขอให้บังคับคดีได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 271 แล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีตามคําพิพากษาเพื่อให้จําเลยชําระเงินที่ขาดอยู่ได้

ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบที่จะยกคําขอของโจทก์ที่ให้ยึดรถยนต์ของจําเลยเพิ่มเติมเสียได้ ข้อคัดค้านของจําเลย ในส่วนนี้จึงฟังขึ้น

สรุป ข้อคัดค้านของจําเลยที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อคัดค้านของจําเลยที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียกคําขอของโจทก์ที่ให้ยึดรถยนต์ของจําเลยเพิ่มเติม นั้นฟังขึ้น

Advertisement