การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายเอทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายปีจํานวน 5 ล้านบาท ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเอไม่ชําระหนี้ นายบีจึงฟ้องนายเอให้ล้มละลาย นายเอยื่นคําให้การแก้คดีตามกฎหมาย แต่ศาลมีคําสั่ง ไม่รับคําให้การของนายเอ นายเอจึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งไม่รับคําให้การต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมานายเอ และนายบีตกลงกันได้ นายบีจึงขอถอนฟ้อง ศาลล้มละลายมีคําสั่งอนุญาตให้นายบีถอนฟ้องได้ ดังนี้ คําสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 11 “เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาลเป็นจํานวนห้าพันบาท ในขณะยื่นคําฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคําฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย ต่อศาลแล้ว ห้ามมิให้ถอนฟ้อง เว้นแต่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้คือ
1 ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่
2 การถอนฟ้องจะกระทําได้เฉพาะแต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น
(ตามแนวคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2532)
3 จะต้องขอถอนฟ้องก่อนศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น (ตามแนวคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 3286/2530)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบีฟ้องนายเอให้ล้มละลาย นายเอได้ยื่นคําให้การแก้คดีตาม กฎหมาย แต่ศาลมีคําสั่งไม่รับคําให้การของนายเอ นายเอจึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งไม่รับคําให้การต่อศาลอุทธรณ์นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น การที่นายเอและนายปีตกลงกันได้ นายปี จึงขอถอนฟ้องนั้น เมื่อนายบีได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นและก่อนที่ ศาลจะมีคําสั่งพิทักษ์เด็ดขาด การที่ศาลล้มละลายมีคําสั่งอนุญาตให้นายปีถอนฟ้องได้นั้น คําสั่งของศาลจึง ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
คําสั่งของศาลล้มละลายที่อนุญาตให้นายปีถอนฟ้องเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2 นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 2 ล้านบาท มีนายลมเป็นผู้ค้ําประกัน ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆและนายลมไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงส่งหนังสือทวงถามถึง นายเมฆและนายลม นายเมฆและนายลมได้รับหนังสือทวงถามแล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน ไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเมฆและนายลมก็ไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆและนายลม ให้ล้มละลาย นายเมฆไม่ต่อสู้คดี แต่นายลมยื่นคําให้การอ้างว่า แม้ตนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชําระหนี้ได้ แต่นายเมฆมีทรัพย์สินพอชําระหนี้ จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาล ทานจะมีคําสั่งว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สิน ล้นพ้นตัว
(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมี ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชําระหนี้”
มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ (1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และ
(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลัน หรือ ในอนาคตก็ตาม”
มาตรา 14 “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคําฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณา เอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นําสืบได้ว่าอาจชําระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะมีคําสั่งเกี่ยวกับนายเมฆและนายสมอย่างไรนั้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
1 กรณีของนายเมฆ การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 2 ล้านบาท โดยมีนายสมเป็นผู้ค้ําประกันนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงส่งหนังสือทวงถาม ถึงนายเมฆและนายลมให้ชําระหนี้ 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเมฆและนายลม ก็ไม่ชําระหนี้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (9) ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ นายเมฆและนายสมที่จะต้องต่อสู้คดีพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานนั้น
เมื่อนายเมฆไม่ต่อสู้คดี ก็ต้องฟังว่านายเมฆมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งพิจารณาหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 9 แล้ว นายเมฆซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และหนี้นั้นกําหนด จํานวนได้แน่นอนและถึงกําหนดชําระแล้ว ศาลจึงต้องมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายเมฆเด็ดขาด ตามมาตรา 14 (ฎีกาที่ 4287/2543, ฎีกาที่ 1196/2541) โดยไม่จําต้องพิจารณาว่านายเมฆอาจชําระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่น ที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เพราะนายเมฆมิได้เข้าต่อสู้คดี
2 กรณีของนายลม ศาลจะมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วยหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่โจทก์ ฟ้องให้ลูกหนี้ร่วมหลายคนล้มละลายเป็นคดีเดียวกัน การพิจารณาว่า ลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถ ชําระหนี้ได้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ําประกันแต่ละคน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชําระหนี้ นายลมในฐานะผู้ค้ําประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับนายเมฆอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 การที่นายหมอก ฟ้องนายเมฆและนายลมให้ล้มละลายเป็นคดีเดียวกัน แม้นายลมจะต่อสู้ว่าแม้ตนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถ ชําระหนี้ได้ แต่นายเมฆมีทรัพย์สินที่พอชําระหนี้ได้ทั้งหมดก็ตาม นายลมก็จะนําข้อต่อสู้ของนายเมฆมาเป็นข้อต่อสู้ ของตนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายเมฆเท่านั้น จึงต้องฟังว่านายลมมีหนี้สินล้นพ้นตัว (ฎีกาที่ 2776/2540) ทั้งการที่นายเมฆมีทรัพย์สินพอที่จะชําระหนี้แก่นายหมอกได้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้นายลมล้มละลาย แต่อย่างใด (ฎีกาที่ 4287/2543) ดังนั้นเมื่อพิจารณาได้ความจริงตามมาตรา 8 (9) ประกอบมาตรา 9 ศาลจึงต้อง มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายลมเด็ดขาด ตามมาตรา 14
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเมฆและนายลมเด็ดขาด
ข้อ 3 บริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ได้ทําสัญญากู้เงินจากนายรวยจํานวน 10 ล้านบาท ต่อมาบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด กิจการการค้าขาดทุนและมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงถูก นายรวยฟ้องล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในวันที่ 14 มีนาคม 2561 บริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ไม่อยากล้มละลายเพราะต้องเลิกจ้างพนักงานจํานวนมาก อีกทั้งเห็นว่าบริษัทพอมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ จึงได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอไว้พิจารณา ระหว่างดําเนินการประกาศ วันนัดไต่สวน บริษัทได้ขายสินค้าอุปโภค บริโภคให้แก่นางสาวข้าวหอมเป็นเงิน 5,000 บาท และได้ทํา สัญญาขายที่ดินของบริษัทซึ่งใช้เป็นที่จอดรถของลูกค้าให้แก่บริษัท เอ จํากัด ในราคา 10 ล้านบาท โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) คําสั่งศาลที่รับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ไว้พิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) การขายสินค้าอุปโภค บริโภค และการขายที่ดินของบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัดมีผลทางกฎหมายอย่างไร จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 90/2 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 อาจร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ไม่ว่าลูกหนี้จะถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้ว หรือไม่”
มาตรา 90/3 “เมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกัน เป็นจํานวนแน่นอน ไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามี เหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา 90/4 อาจยื่นคําร้องขอต่อศาลให้มี การฟื้นฟูกิจการได้”
มาตรา 90/4 วรรคหนึ่ง ภายใต้บังคับมาตรา 90/5 บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาล ให้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(2) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา 90/3”
มาตรา 90/5 “บุคคลตามมาตรา 90/4 จะยื่นคําร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด”
มาตรา 90/12 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผนหรือวันที่ ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดี หรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟู กิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้
(9) ห้ามมิให้ลูกหนี้จําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้ สามารถดําเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
การออกคําสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มี อํานาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทํานิติกรรมหรือการชําระหนี้ใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติ ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) ตามมาตรา 90/2 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า เจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 90/4 อาจร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ ไม่ว่าลูกหนี้จะถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้วหรือไม่ เว้นแต่ศาลจะได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วตามมาตรา 90/5 (1)
ตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด เป็นหนี้นายรวยจํานวน 10 ล้านบาท เเละต่อมาบริษัทฯ มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงถูกนายรวยฟ้องให้ล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในวันที่ 14 มีนาคม 2561 ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2561 บริษัทฯ ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟู กิจการ และศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่งรับคําร้องขอไว้พิจารณานั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทฯ มีหนี้สิน ล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้เป็นจํานวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และคดีนี้ศาลยังไม่มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาด บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา 90/2 วรรคหนึ่ง มาตรา 90/3 ประกอบ มาตรา 90/4 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 90/5 (1) ดังนั้น คําสั่งศาลที่รับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ไว้พิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมาย
(ข) ตามมาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง (9) และวรรคท้าย ได้กําหนดไว้ว่า นับแต่วันที่ศาลได้มีคําสั่ง รับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา ห้ามมิให้ลูกหนี้จําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถ ดําเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น หากลูกหนี้ทํานิติกรรมหรือชําระหนี้ฝ่าฝืนต่อ บทบัญญัติดังกล่าว การนั้นเป็นโมฆะ
ตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทฯ ได้ขายสินค้าอุปโภค บริโภคให้แก่นางสาวข้าวหอม เป็นเงิน 5,000 บาทนั้น ถือว่าเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถ ดําเนินต่อไปได้ ดังนั้น กรณีนี้ลูกหนี้สามารถดําเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางก่อน ตามมาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง (9)
ส่วนการที่บริษัทฯ ได้ทําสัญญาขายที่ดินของบริษัทซึ่งใช้เป็นที่จอดรถของลูกค้าให้แก่ บริษัท เอ จํากัด ในราคา 10 ล้านบาทนั้น ไม่ถือว่าเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติ ของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ตามมาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง (9) ซึ่งหากลูกหนี้จะดําเนินการจะต้องได้รับอนุญาตจาก ศาลก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้ได้ดําเนินการโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง การขายที่ดิน ของบริษัทฯ ลูกหนี้ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 90/12 วรรคท้าย
สรุป
(ก) คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่รับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ไว้พิจารณาชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การขายสินค้าอุปโภค บริโภคของบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด
มีผลสมบูรณ์ แต่การขายที่ดินของบริษัทฯ ตกเป็นโมฆะ