การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยสวน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอาเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ตามมาตรา 31 ได้มติพิเศษออกมาว่าเจ้าหนี้ยอมรับคําขอประนอมหนี้ที่ ร้อยละห้าสิบ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทํามติพิเศษนั้นเสนอขึ้นมาให้ศาลพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เมื่อศาลได้รับมติพิเศษแล้วจึงสั่งให้ไต่สวนโดยเปิดเผย การสั่งไต่สวนโดยเปิดเผยนั้นศาลต้องการ ทราบอะไรบ้าง ให้ท่านตอบมาให้พอเข้าใจ

และในขณะไต่สวนนั้น ได้ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก ดังนี้เจ้าหนี้ทั้งหลายจึงคัดค้านว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้น้อยไป อีกทั้งเจ้าหนี้ยอมรับในการประชุมเจ้าหนครั้งแรกตามมาตรา 31 นั้น ก็เพราะไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นอยู่อีก การคัดค้านของเจ้าหนี้ฟังขึ้นหรือไม่ ศาลจําเป็นต้อง รับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้นั้นหรือไม่ ต้องใช้หลักเกณฑ์ใดในการรับฟังหรือไม่รับฟัง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 42 วรรคแรก “เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทําให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความ ประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทําหรือละเว้นกระทําการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข

มาตรา 52 “ในการที่ศาลจะมีคําสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณา รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ถ้ามี

เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วมีอํานาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติ ยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม”

วินิจฉัย

การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย เป็นกรณีที่ศาลได้ไต่สวนลูกหนี้ หลังจากที่มีการประชุมเจ้าหนี้ ครั้งแรกเสร็จแล้ว เพื่อทราบสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกหนี้ ดังนี้คือ

1 เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ว่าในขณะถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ได้ประกอบ กิจการหรือมีทรัพย์สินสิ่งใดอยู่บ้าง

2 เหตุผลที่ทําให้ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เช่น เป็นหนี้เงินกู้ บัตรเครดิตหรือค้ำประกัน เป็นต้น

3 ความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทําหรือละเว้นกระทําการใด ซึ่งเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย หรือกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอม ปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข (มาตรา 42 วรรคแรก)

ในการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยนั้น นอกจากจะค้นหาความจริงในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กฎหมาย กําหนดไว้แล้ว การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยยังเป็นเงื่อนไขสําคัญในการพิจารณาคําขอประนอมหนี้ กล่าวคือ ห้ามมิให้ศาลพิจารณาคําขอประนอมหนี้จนกว่าจะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้ว เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ ลูกหนี้ร่วมขอประนอมหนี้

ส่วนในกรณีที่มีการไต่สวนโดยเปิดเผยแล้วได้ทราบว่า ลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก การที่เจ้าหนี้ทั้งหลายคัดค้านว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ครั้งแรกน้อยเกินไป อีกทั้งการที่เจ้าหนี้ยอมรับคําขอประนอมหนี้ ของลูกหนี้ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ก็เพราะไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นอยู่อีกนั้น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิ คัดค้านต่อศาลได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง ที่กําหนดว่า เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วมีอํานาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม ดังนั้น การคัดค้านของเจ้าหนี้จึงฟังขึ้น และศาล จําต้องรับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้นั้น

 

ข้อ 2 คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง ในการพิจารณาตั้งผู้ทําแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเขียวเป็นผู้ทําแผน ส่วนลูกหนี้เสนอนายชาญเป็นผู้ทําแผน ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่านายชาญที่ลูกหนี้เสนอมีคุณสมบัติเป็นผู้ทําแผน จึงมีคําสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผน

ดังนี้ให้ วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/17 วรรคแรก “ในการพิจารณาตั้งผู้ทําแผน ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้ เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทําแผนด้วย เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคําสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทําแผนก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทําแผนก็ดี หรือลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็น ผู้ทําแผนด้วยก็ดี ให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณา เลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญ เป็นผู้ทําแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17 วรรคแรก ได้กําหนด หลักเกณฑ์การตั้งผู้ทําแผนไว้ดังนี้คือ

1 กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทําแผน ศาลอาจมีคําสั่ง ตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทําแผนก็ได้

2 กรณีที่ศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทําแผน หรือลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทําแผนด้วย ให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ศาลจะมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนไปเลยทีเดียวไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชียวเป็นผู้ทําแผน และลูกหนี้เสนอ นายชาญเป็นผู้ทําแผนด้วย ศาลจึงต้องมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ทั้งนี้ตามมาตรา 90/17 วรรคแรก ศาลจะมีคําสั่งตั้งนายเชียว หรือนายชาญเป็นผู้ทําแผนในทันทีหาได้ไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผนในทันที ก่อนมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ คําสั่งของศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผน โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ของมาตรา 90/17 วรรคแรก นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 นายแดง ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ขอหมายศาลเข้าตรวจและยึดทรัพย์สินในบ้านของนายแดง พบโทรศัพท์มือถือ IPhone 6 ที่นายรวยเพื่อนของนายแดง ลืมไว้ที่ บ้านของนายแดง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยึดเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ต่อมานายรวยมาติดตามหาโทรศัพท์ที่บ้านของนายแดง ทราบว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไป จึงนําหลักฐานการซื้อโทรศัพท์ไปแสดงเพื่อขอคืนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ไม่ยอมคืนอ้างว่ามีสิทธิยึดได้แม้จะเป็นของนายรวยก็ตาม เพราะพบอยู่ในบ้านของนายแดง จึง ถือเป็นทรัพย์อันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจยึดได้ตามกฎหมาย ล้มละลาย นายรวยจึงยื่นคําร้องต่อศาลขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนโทรศัพท์แก่ตน หาก ท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยกรณีนี้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 19 วรรคแรก “คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของศาล ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครอง ของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย”

มาตรา 109 “ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้

(3) สิ่งของซึ่งอยู่ในครอบครองหรืออํานาจสั่งการหรือสั่งจําหน่ายของลูกหนี้ในทางการค้า หรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ซึ่งทําให้เห็นว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของใน ขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะวินิจฉัยกรณีนี้ ดังนี้คือ เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอํานาจและหน้าที่เข้ายึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือที่มีอยู่ใน ครอบครองของลูกหนี้ตามมาตรา 19 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของ ศาล ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ใน ความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นที่อาจยึดได้ จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 109 (3) ด้วย คือ จะต้องเป็นสิ่งของซึ่งอยู่ในความครอบครองหรืออํานาจสั่งการ หรือสั่งจําหน่ายของ ลูกหนี้ในทางการค้าหรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ซึ่งทําให้เห็นว่า ลูกหนี้เป็นเจ้าของในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โทรศัพท์มือถือที่พบในบ้านของนายแดงนั้น แม้จะเข้าลักษณะที่อยู่ ในความครอบครองของนายแดงก็ตาม แต่เหตุที่โทรศัพท์อยู่ในบ้านของนายแดง เพราะนายรวยเจ้าของลืมไว้ หา ได้อยู่ในความครอบครองของนายแดงด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริงไม่ จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 19 และมาตรา 109 (3) ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอํานาจยึดได้ ดังนั้น เมื่อมีหลักฐานแสดงว่า นายรวยเป็น เจ้าของที่แท้จริง ศาลจึงต้องสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนโทรศัพท์มือถือที่ยึดไว้แก่นายรวย เพราะมิใช่ ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละสายตามมาตรา 19 แสะม่ ตรา 109 (3)

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยกรณีนี้ตามที่ได้อธิบายไปข้างต้น

Advertisement